|
อนาคตของการศึกษาในนิวซีแลนด์
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ผมเล่าถึงวิสัยทัศน์ของนิวซีแลนด์ที่พูดถึงการศึกษาคือสินค้าส่งออกของประเทศ และเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาผมได้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการศึกษาที่ไครส์เชิร์ช โดยมีบุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาทั้งจากในประเทศนิวซีแลนด์และต่างประเทศ ทำให้ผมหันมามองภาพตลาดการศึกษาโดยรวมอีกครั้ง ในช่วงเศรษฐกิจซบเซาไปทั่วโลกนี้ ธุรกิจการศึกษากลับได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในโลกการศึกษาปัจจุบันนี้หลายประเทศเริ่มหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมการศึกษากันอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนจะไปเรียนต่างประเทศคิดเสมอคือจะไปประเทศไหน เพราะหลายคนมีภาพในหัวว่าประเทศอะไรดีกว่าอีกประเทศหนึ่ง เช่น ไปเรียนอังกฤษดีกว่าไปแคนาดา หรือไปเรียนอเมริกาดีกว่ามานิวซีแลนด์ แต่สองประเด็นสำคัญที่หลายๆ คนไม่เคยทราบคือ คุณภาพของสถาบันที่ เข้าไปเรียนนั้นจะดีหรือไม่อย่างไร เช่นหลายคนเชื่อว่าไปอเมริกาดีกว่าออสเตรเลีย แต่หารู้ไม่ว่าอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยดังๆ ในอเมริกาหลายแห่งจบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของออสเตรเลีย เช่น มหาวิทยาลัยซิดนีย์ และโดยเฉพาะ Australian National University นั้นได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 15 ของโลกโดย THES และอยู่ในอันดับที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งในอเมริกาหรืออังกฤษ เช่นเดียวกันมหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์เช่น โอ๊กแลนด์ แคนเทอเบอรี่ วิกตอเรีย หรือโอทาโกนั้นมีอันดับเหนือกว่ามหาวิทยาลัยนับร้อยๆ แห่งในอเมริกา หรืออังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับโดยอเมริกาหรืออังกฤษ นอกจากนี้รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศว่า ปัจจุบันความร่วมมือระหว่างนิวซีแลนด์กับเยอรมนี อังกฤษและไอร์แลนด์ ทำให้มาตรฐานการศึกษาของนิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับจากสนธิสัญญาโบโลนยาของสหภาพยุโรปว่าดีกรีจากนิวซีแลนด์มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่าดีกรีจาก EU
ประเด็นที่สองคือความพร้อมในการรับนักศึกษาจากต่างประเทศ เพราะสิ่งที่เราต้องยอมรับอย่าง หนึ่งคืออเมริกากับอังกฤษเป็นเพียงสอง ประเทศในโลกที่ได้นักศึกษาต่างประเทศมาเข้าเรียน โดยไม่ต้องทำการตลาด และไม่สนใจ ในอุตสาหกรรมการศึกษา เนื่องจากนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ต้องการที่จะไปอังกฤษกับอเมริกา เพราะชื่อเสียงที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้สถาบันหลายแห่งในอเมริกาหรืออังกฤษขาดความพร้อมทั้งนโยบายจากภาครัฐหรือการสนับสนุนนักศึกษาจากต่างประเทศและภาคเอกชน
ประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษานั้นโดยมากจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการพัฒนาการศึกษาทั้งในด้านการวิจัยและการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องมา เป็นระยะเวลานาน นิวซีแลนด์เองก็เป็นหนึ่งในประเทศ ที่อยู่ในกลุ่มประเทศชั้นนำด้านการศึกษา ข้อมูลที่น่าสนใจ อีกอย่างหนึ่งคือ ในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลก อุตสาหกรรมการศึกษากลับขยายตัวอีก 6.5% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 61 ล้านดอลลาร์หรือ 1,525 ล้านบาท จากนักเรียนที่เพิ่มต่ำกว่า 10% ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมการศึกษาในนิวซีแลนด์ทำเงินถึง 938 ล้านดอลลาร์หรือ 23,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่จำนวนเงินกว่าสองหมื่นล้านบาทนั้นก็มากพอที่จะทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์หันมาให้ความสำคัญและมองถึงปัญหา ทั้งเรื่องกองตรวจคนเข้าเมือง ความน่าเชื่อถือของเอเย่นต์ รวมทั้งปัญหานักศึกษาปลอมที่เข้ามาเพื่อเหตุผลอื่น
ในช่วงที่ผมได้ร่วมสัมมนาทำให้ผมมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน สิ่งที่น่าสนใจคือการตื่นตัว จากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ immigration ซึ่งรับผิดชอบเรื่องวีซ่าเข้าเมืองโดยตรง และกระทรวงศึกษาธิการยังให้ความสนใจในเรื่อง Pastoral Care ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการคัดคุณภาพของโฮสต์แฟมิลี่ ที่นักศึกษาต้องไปอยู่ด้วย หรือแม้แต่คุณภาพของหอพักนักศึกษา ซึ่งออกมาเป็นกฎหมายที่มีผลต่อสถานศึกษาโดยตรง นอกจากนี้ความรวดเร็วในการอนุมัติเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาต่อหรือการทำวีซ่า ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเอเย่นต์หลายแห่ง รวมทั้งนักศึกษาที่ผ่านเน็ตเวิร์กดังกล่าว จากข้อมูลการศึกษาจะพบว่านักศึกษาในระดับมัธยม หรือแม้แต่อุดมศึกษาจากประเทศไทยนั้นมากกว่าร้อยละหกสิบใช้เอเย่นต์ในการเข้าเรียน เพราะนอกจากจะได้รับความสะดวกในการทำเอกสารราชการแล้ว เอเย่นต์ที่ดีจะติดต่อกับมหาวิทยาลัยได้ง่ายกว่าการที่นักศึกษาจะติดต่อสถาบันโดยตรง
ผมมีประสบการณ์ในการแนะนำรุ่นน้องที่สนิทด้วยสองคนให้ติดต่อเข้าศึกษาโดยตรงกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในนิวซีแลนด์ ปรากฏว่าคนหนึ่ง ต้องรอนานถึงห้าหกเดือนกว่าที่จะได้รับคำตอบเป็นรูปธรรม ส่วนอีกคนหนึ่งเปลี่ยนใจอยากใช้เอเย่นต์ ทำให้ผมนึกถึงเอเย่นต์ด้านการศึกษาคือคุณเสริมชาติ จากบริษัท NZStudy เลยแนะนำให้รุ่นน้องคนเดิม ติดต่อผ่าน NZStudy เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ดีกว่าที่แรกที่เขาสมัครเข้าเรียน ผลปรากฏว่าที่นักศึกษาคนนั้นได้คำตอบจากมหาวิทยาลัยที่เกรดสูงกว่าที่เขาสมัครโดยตรงภายในระยะเวลาเพียงสิบวัน และเอกสารทั้งหมดเสร็จสิ้นและพร้อมที่จะเดินทางมาศึกษาต่อในเวลาไม่เกินสามสัปดาห์ เมื่อเทียบกับ ห้าหรือหกเดือนในการเข้าศึกษา ผมจึงถือโอกาสพูด คุยกับคุณเสริมชาติ ทำให้ทราบว่าในปัจจุบันการเข้า ศึกษาต่อในนิวซีแลนด์นั้นมีสองวิธีที่เรียกว่าสะดวกที่สุด วิธีแรกคือผ่านเอเย่นต์การศึกษา โดยเฉพาะเอเย่นต์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากทางการศึกษานิวซีแลนด์ เช่น NZStudy กับ Knowledge Plus ในกรุงเทพฯ มีการติดต่อกับสถาบันการศึกษาในนิวซีแลนด์อย่างใกล้ชิดทำให้มีการบริการที่ดีหลังจากที่นักศึกษาได้มาถึงนิวซีแลนด์แล้ว
ในงานดังกล่าวผมได้พูดคุยกับเอเย่นต์ซึ่งได้รับเชิญจากทางการศึกษานิวซีแลนด์ให้มาร่วมสัมมนานอกจาก NZ Study กับ Knowledge Plus ในกรุงเทพฯ คือ A&T New Zealand Centre จากเชียงใหม่กับ IM Education and Visa Service ที่หาดใหญ่ ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับเน็ตเวิร์กการศึกษาในปัจจุบันได้อาศัยอดีตนักศึกษาจากประเทศนั้นๆ ที่หันไปทำเอเย่นต์โดยอาศัยความสัมพันธ์และประสบการณ์ที่ตนเองได้รับในขณะที่มาศึกษาเพื่อช่วยเหลือนักศึกษา ที่จะมาเรียนต่อต่างประเทศในอนาคต ซึ่งผิดกับเอเย่นต์ การศึกษาในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งโดยมากเป็นบริษัทท่องเที่ยว อาจจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์จาก ประเทศหนึ่งแต่ไม่สามารถเข้าใจความแตกต่างด้านวัฒนธรรมในอีกประเทศได้อย่างชัดเจน ทำให้ผมสังเกต ว่าเอเย่นต์ที่ deal กับออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ในปัจจุบันจะเป็นแนวที่เรียกว่าเข้าใจและเจาะลึกในด้านข้อมูลมากกว่าอดีตและมีความเข้าใจนักศึกษามากกว่าอดีตที่ผ่านมา
นอกจากนี้การที่มีเอเย่นต์จะทำให้ผู้ปกครองติดต่อบุตรธิดาตนเองได้ง่ายเวลาที่จำเป็น เช่นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในนิวซีแลนด์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้พูดคุยกับทาง NZ Study เพราะเขาส่งนักเรียนมา ที่ไครส์เชิร์ชมากที่สุด เขาได้ติดต่อนักเรียนทุกคนรวมทั้ง ให้เจ้าหน้าที่ของเขาที่อยู่ในนิวซีแลนด์ติดต่อไปอีกทีรวมทั้งขับรถไปดูความเรียบร้อยในเขตที่เข้าไปได้ ซึ่งสามารถให้คำตอบกับผู้ปกครองได้ว่าบรรดา นักเรียน นักศึกษา ต่างปลอดภัยดี
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผมได้เห็นจากความพร้อมของรัฐบาลในการตอบรับอุทกภัย เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ไครส์เชิร์ช ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ ต่างบอกว่าความเป็นไปได้มีแค่หนึ่งครั้งในรอบพันปี ปรากฏว่ามาตรฐานของสิ่งก่อสร้างในนิวซีแลนด์และความพร้อมในการกู้ภัยทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเลย และสิ่งก่อสร้างเสียหายแค่ 5% ของตัวเมือง ส่วนมากจะเป็นอาคารและบ้านเก่า ที่มีอายุกว่าร้อยปี หรือบ้านที่โชคร้ายจริงๆ ที่อยู่ตามรอยแยกของแผ่นดิน เมื่อผมเอาสถิติมาดูพบว่าความแรงของแผ่นดินไหวคือ 7.4 ริกเตอร์ ความลึกจากพื้นดินสิบกิโลเมตร ส่วนผลกระทบคือคนเจ็บสองคนไม่มีคนเสียชีวิตเลย ในขณะที่ประเทศไฮติ เมื่อตอนต้นปี แผ่นดินไหว 7 ริกเตอร์ ความลึก 13 กม. คนตายกว่าสองแสนคน หรือแม้แต่ที่ญี่ปุ่นในปี 1995 ความแรง 6.8 ริกเตอร์ ความลึก 16 กม.ยังมีคนตาย ถึง 6,400 คนและไม่มีบ้านอยู่อาศัยกว่าสามแสนคน เช่นเดียวกับที่ลอสแองเจลิส เมื่อปี 1994 ที่มีคนตาย เกือบร้อยบาดเจ็บเกือบหมื่น ทั้งที่ความแรงคือ 6.7 ริกเตอร์ และความลึกเกือบ 20 กม. หรือในเอเธนส์ เมื่อ 11 ปีก่อนที่มีความแรง 6.0 ความลึก 10 กม. เท่ากัน มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน บาดเจ็บและไร้ที่อยู่อาศัยหลายหมื่นคน
วิธีการที่สองในการเรียนต่อต่างประเทศคืออาศัยเน็ตเวิร์กจากสถาบันมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่ทำความร่วมมือระหว่างสถาบัน ยกตัวอย่างเช่นระดับความร่วมมือมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเรียกว่า MOU หรือ Memorandum of Understanding ซึ่งหลายท่านอาจจะสับสนกับคำดังกล่าว เพราะเวลารัฐบาลเราจะทะเลาะกับใครมักจะอ้างว่ามาจาก MOU ที่จริงแล้ว MOU คือเอกสารตกลงความร่วมมือไม่ใช่เพื่อการทะเลาะกันอย่างที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจ มหาวิทยาลัย หลายต่อหลายแห่งในไทยและต่างประเทศได้ทำ MOU เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ ไม่ว่าจะการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ หรือวิจัยร่วมกัน นอกจากนี้โรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งในเอเชียได้ทำ MOU กับมหาวิทยาลัยเพื่อส่งนักศึกษาของตนเองไปเรียนต่อต่างประเทศโดยได้รับทุนช่วยเหลือบางส่วน เช่นลดค่าเล่าเรียนให้กับนักศึกษาดังกล่าว นอกจากนี้ยังสามารถส่งอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศมาช่วยฝึกอบรมหรือส่งครูจากโรงเรียนมัธยมในเอเชีย
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เรียกว่าเรียนในประเทศของตนเอง 1-2 ปีและไปต่อต่างประเทศอีกสองปี และจะได้รับปริญญาตรีสองใบจากทั้งในและนอกประเทศ เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในตุรกี ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และจีน ได้เริ่มโครงการใหม่คือการอนุมัติให้สถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศรวมทั้งนิวซีแลนด์มาเปิด Campus ในประเทศของตนเองโดยใช้ความร่วมมือจาก MOU กล่าวคือมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ มี MOU กับ มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน มหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์จะส่งอาจารย์ 1-2 คนไปประจำที่จีน โดยสถาบันในจีนจะยกพื้นที่ใน Campus ของตนเองให้เป็น Campus พิเศษของมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ โดยนักศึกษาจีน ที่เรียนคอร์สที่ใช้ภาษาอังกฤษจะเข้าไปเรียนพื้นฐานปี 1 และปี 2 กับอาจารย์ที่มาจากนิวซีแลนด์ ควบคู่ไปกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยจีน นักศึกษาที่จะต่อ ปีสามก็สามารถที่จะเลือกว่าจะเรียนปีสามกับปีสี่ที่จีนเพื่อรับปริญญาตรีจากสถาบันจีน หรือเดินทางมา นิวซีแลนด์ เพื่อทำสองปีสุดท้ายและได้ปริญญาตรีทั้งจากจีนและนิวซีแลนด์
คำถามแรกคือจีน สิงคโปร์ ตุรกี และประเทศ อื่นๆ ที่เข้าโปรแกรมดังกล่าวนี้แล้วจะได้อะไร คำตอบ คือเขาได้อาจารย์ต่างประเทศมาสอนนักศึกษาของเขาฟรีๆ สองคนเป็นเวลาสองปี นักศึกษาพันคนที่เข้าไปเรียนจะมีแค่ยี่สิบสามสิบคนที่ตัดสินใจไปต่างประเทศ นักศึกษาของพวกเขาที่ไม่ไปต่อต่างประเทศ จะได้ความรู้จากอาจารย์ต่างประเทศโดยไม่ต้องดั้นด้นมาถึงนิวซีแลนด์ แถมไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเข้าโปรแกรมพิเศษแบบในบ้านเรา ส่วนที่ต้องการที่จะไปต่อต่างประเทศซึ่งนับได้ไม่เกิน 3% ก็สามารถได้ปริญญาตรีสองใบจากระยะเวลาเรียนเท่าเดิม แถมมาจากต่างประเทศอีกใบหนึ่ง แถมอาจารย์ฝรั่งเหล่านี้ กินเงินเดือนจากนิวซีแลนด์ ทางจีนหรือสิงคโปร์เสียแค่พื้นที่ในมหาวิทยาลัยและอาจจะห้องพักในสถาบัน สักห้องสองห้อง ในทางกลับกันนิวซีแลนด์ได้สองอย่าง คือการส่งอาจารย์ไปต่างประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและชื่อเสียงที่ดีในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้นักศึกษาปีละยี่สิบสามสิบคนจากสถาบันพันธมิตร
น่าเสียดายว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าวเพราะผมได้คุยกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่ง ซึ่งศาสตราจารย์ท่านหนึ่งได้บอกผมว่าเป็นกฎของกระทรวง ที่ไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศมาเปิด Campus ในไทยได้ ผมไม่ทราบว่ากฎดังกล่าวเปลี่ยนไปหรือยัง เพราะถ้ายังไม่เปลี่ยน ผมห่วงว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะตอนนี้สิงคโปร์ มาเลเซีย ทำมาได้หลายปีแล้ว ขณะที่ผมเขียน อยู่นี้ อินโดนีเซียได้เริ่มโครงการนี้มาหลายเดือนแล้ว ขณะที่ประเทศเวียดนามก็กลัวจะตกรถด่วนขบวนสุดท้าย ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยนิวซีแลนด์ที่ทำ MOU กับมหาวิทยาลัยในเวียดนาม ทำการเปิด Campus ต่างประเทศในมหาวิทยาลัยเวียดนามได้เกือบปีแล้ว
จากที่ผมได้ศึกษาและพูดคุยกับเอเย่นต์และอาจารย์จากสถาบันต่างๆ จึงทราบได้ว่าการศึกษาในต่างประเทศนั้นเป็นยี่ห้อ หรือแบรนด์ซึ่งมีผลต่ออนาคตของนักศึกษาในประเทศเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน มหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งได้สร้างแบรนด์ของตนเอง ในการหานักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน การที่นักศึกษาเหล่านั้นเดินทางมาศึกษาในไทย ก็เพื่อหาความรู้ และประสบการณ์ชีวิตซึ่งเงินไม่สามารถหาซื้อได้ เช่นเดียวกับคนไทยที่เดินทางมาเรียนต่อต่างประเทศนั้นมักจะได้รับประสบการณ์ชีวิตควบคู่ไปกับวิชาการ
ข้อดีของชาวไทยที่ยังเหนือกว่าเพื่อนบ้านในเอเชีย ส่วนมากคือความพร้อมและความต้องการที่จะเรียนต่อต่างประเทศ และศักยภาพของเอเย่นต์ที่ได้รับการยอมรับของไทยอย่างเอเย่นต์สี่แห่งที่ผมได้อ้างอิงไปก่อนหน้านี้ ทำให้นักศึกษาไทยสามารถที่จะได้รับความรู้ควบคู่ไปกับประสบการณ์และการดูแลที่ดีและจากความร่วมมือระหว่างนิวซีแลนด์กับสหภาพยุโรปทำให้ปริญญาบัตรจากนิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรฐานและคุณภาพเดียวกันกับคนที่จบจากยุโรปทุกประการ และสามารถนำไปใช้ในการหางานหรือเรียนต่อได้ในออสเตรเลีย ยุโรป แคนาดา หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม การศึกษาหาความรู้ในโลกยุคดิจิตอลนี้เราต้องยอมรับว่าสถาบันการศึกษาในประเทศไทยและต่างประเทศไม่ได้อยู่ในสถานะของเสือนอนกินอย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอีกต่อไป ในโลกการสื่อสารที่ไร้พรมแดนนี้ การศึกษาได้ก้าวพ้นพรมแดนไปไกลแล้วจากการที่มี campus ต่างประเทศเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในเอเชียได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งการแชร์ข้อมูลในการ วิจัยและการสรรหาอาจารย์จากต่างประเทศมาสอนในความร่วมมือแบบ MOU และมีการจัดโปรแกรมร่วมมือทั้งดีกรีร่วมสองสถาบันหรือแคมปัสของมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
ผมหวังว่าประเทศไทยจะปฏิรูปนโยบายดังกล่าวเพื่อเปิดกว้างทางการศึกษาให้มากขึ้นเพื่อยกระดับการศึกษาของเราไปสู่สากล เพราะถ้าไม่รีบทำตั้งแต่วันนี้ อีกไม่นานเราจะตกรถด่วนขบวนสุดท้าย และจากที่เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้เราจะกลายเป็นผู้ตามไปอย่างน่าเสียดาย ไม่ใช่เพราะว่าสถาบันของเราขาดศักยภาพแต่อย่างใด เพราะพิสูจน์แล้วว่าสถาบัน ในไทยมีศักยภาพที่ดีมาก แต่จะมาจากการขาดความเข้าใจและความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและการเมืองของเราเอง
ในขณะที่เวียดนามหรืออินโดนีเซียได้ตื่นตัวแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าเราหันมาเอาใจใส่ในการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้เราจะสามารถคงความเป็นผู้นำของเราได้ต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|