คำพิพากษาอโยธยา

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นช่วงที่อินเดียทั้งประเทศอยู่ในความตึงเครียดที่สุดช่วงหนึ่ง เหตุเพราะจะมีการตัดสินกรณีพิพาท ‘อโยธยา’ ว่าที่ดินผืนเล็กๆ อันเป็นที่ตั้งมัสยิด Babri ซึ่งถูกทุบทำลายโดยชาวฮินดูในปี 1992 ควรจะเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ฮินดูหรือมุสลิม คนทั่วทั้งประเทศต่างกลั้นใจรอ เพราะเกรงว่าผลของคำพิพากษาอาจนำไปสู่การนองเลือดอีกครั้ง แต่ที่สุดทุกฝ่ายก็หายใจทั่วท้อง เมื่อศาลพิพากษาให้คู่กรณีสามรายได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินไปเท่าๆ กัน และผู้คนที่มีทั้งพอใจและไม่พอใจกับคำพิพากษาต่างอยู่ในความสงบ

ที่ดินขนาด 90 X 110 ตารางฟุตนี้สำคัญเช่นไร และทำไมคดีนี้จึงถือเป็นคดีประวัติศาสตร์

มัสยิดบาบรีที่เป็นกรณีพิพาทนี้ตั้งอยู่ในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ จากหลักฐานทางจารึกถือกัน ว่า Babur กษัตริย์ราชวงศ์โมกุลพระองค์แรกรับสั่งให้ Mir Baqi สร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้นซึ่งแล้วเสร็จราวปี 1528-1529 ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและฮินดูปะทุขึ้นครั้งแรกในปี 1853 ด้วยชาวฮินดูเชื่อว่ามัสยิดนี้สร้างทับวัดฮินดูที่ถูกทุบทำลายลง ที่สำคัญบริเวณใต้โดมกลางของมัสยิดคือที่ประสูติของพระรามเทพองค์สำคัญในศาสนาฮินดู หลังจากมีการไกล่เกลี่ยโดยทาง การสถานการณ์ค่อยเย็นลง จากบันทึกใน Faizabad Gazetteer ทั้งชาวฮินดูและมุสลิมสวดสักการะในตัวอาคารเดียวกันอยู่จนถึงปี 1859 เมื่อทางการซึ่งอยู่ในอำนาจการปกครองของอังกฤษ สั่งให้มีการกั้นรั้วพื้นที่สำหรับทำพิธีทางศาสนา โดยด้านในมัสยิดเป็นพื้นที่ของชาวมุสลิม ด้านนอกเป็นของชาวฮินดู

ในปี 1885 Mahant Raghubar Das ยื่นเรื่องต่อศาลขอสร้างวัดฮินดูขึ้นในพื้นที่ด้านนอก แต่ไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 1949 มีคนลอบนำเทวรูปของพระรามเข้าไปตั้งไว้กลางมัสยิด ชาวมุสลิมพากันชุมนุมประท้วง ทั้งชาวมุสลิม และฮินดูต่างรวมกลุ่มกันยื่นฟ้องต่อศาลอ้างกรรมสิทธิ์ ในมัสยิดบาบรี รัฐบาลจึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรักษาการ ระหว่างรอกระบวนการในชั้นศาล

วันที่ 6 ธันวาคม 1992 กลุ่ม Kar Savek ซึ่งปลุกระดมโดย Vishwa Hindu Parishad (VHP) กลุ่มฮินดูขวาจัด บุกเข้าทุบทำลายมัสยิดบาบรี หวัง ยึดพื้นที่คืนเพื่อสร้าง Ram Temple เหตุการณ์ลุกลามไปสู่การปะทะระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน และเป็นต้นตอของการนองเลือดที่ตามมาอีกหลายครั้ง กรณีที่ชาวฮินดูในรัฐคุชราตบุกโจมตีและฆ่าชาวมุสลิม ในปี 2002 ก็สืบเนื่องจากข่าวลือว่าเหตุเพลิง ไหม้ในรถไฟที่สถานีโกรา เป็นฝีมือชาวมุสลิมที่มุ่งแก้แค้นชาวฮินดูที่จะไปแสวงบุญที่อโยธยา ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสองกรณี การทุบทำลายมัสยิดบาบรีและการนองเลือดในรัฐคุชราตต่างเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลแยกออกไป

สำหรับคดีสิทธิ์เหนือมัสยิดบาบรีนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มตัวแทนและองค์กรทั้งฮินดูและมุสลิม ยื่นฟ้อง ต่อศาลอ้างสิทธิ์รวม 28 ราย ซึ่งตลอดหกทศวรรษที่ผ่านมาศาลยังไม่เคยสรุปคดี กระทั่งเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ศาลสูงเมืองอัลลาห์บัดประกาศว่าจะมีการ พิพากษาในวันที่ 23 แต่ต้องเลื่อนออกไปถึงสองครั้ง ในที่สุดมีการอ่านคำพิพากษาขึ้นในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งในห้วงเวลานั้น หัวเมืองใหญ่ทุกเมืองในอินเดียโดยเฉพาะเมืองอัลลาห์บัด ล้วนอยู่ภายใต้การรักษาความปลอดภัยขั้นสูง และมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองกำลังพิเศษต่างๆ เต็มอัตราเพื่อรับมือกับสถานการณ์ หากผลคำตัดสินจุดชนวนให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ผู้นำศาสนาทั้งสองฝ่ายต่างเรียกร้องให้ศาสนิกชนรับฟังคำตัดสินโดยสงบ

ผู้พิพากษาที่ร่วมตัดสินคดีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ประกอบด้วยผู้พิพากษา Dharam Veer Sharma, Sudhir Agarwal และ Sibghat Ullah Khan ทั้งสามขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาแยกกัน โดยที่ผู้พิพากษา 2 ใน 3 ตัดสินให้แบ่งที่ดินผืนดังกล่าว เป็น 3 ส่วนเท่าๆ กันและมอบสิทธิ์ในการจัดการดูแลแก่ผู้ยื่นร้อง 3 ราย ได้แก่ Ram Lalla (กลุ่มตัวแทนเทวรูปของพระราม), Sunni Central Waqf Board (ตัวแทนฝ่ายมุสลิมกลุ่มสำคัญ) และ Nirmohi Akara (ชาวฮินดู นิกายหนึ่งที่อ้างสิทธิ์การจัดการดูแลที่ประสูติของพระรามมาแต่ต้น) โดยที่ประดิษฐานของเทวรูปพระราม ปัจจุบันหรือพื้นที่ใต้โดมกลางของมัสยิดเดิมให้เป็นสิทธิ์ของ Ram Lalla

นอกเหนือจากเรื่องสิทธิ์ ผู้พิพากษายังตัดสินประเด็นสำคัญหลายประเด็นในคดีนี้ แม้จะมีคำตัดสินต่างกันไปบ้าง พอสรุปได้ว่าไม่มีผู้ใดถือสิทธิ์ขาดในที่ดิน ดังกล่าวเพราะชาวมุสลิมและฮินดูต่างสวดสักการะในที่เดียวกันมาก่อนปี 1859 ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าโครงสร้าง ที่ตกเป็นข้อพิพาท (มัสยิดบาบรี) สร้างโดยบาเบอร์กษัตริย์โมกุล โครงสร้างดังกล่าวสร้างบนซากศาสนสถานของฮินดู แต่ไม่มีหลักฐานบอกได้แน่ชัดว่ามีการทุบทำลายศาสนสถานเดิม สำหรับที่ตั้งเทวรูปของพระรามในปัจจุบัน ศาลตัดสินว่ายึดตามศรัทธา และความเชื่อของชาวฮินดูแล้วที่ดังกล่าวถือเป็นที่ประสูติของพระราม ส่วนเทวรูปนั้นไม่ได้มีมาแต่เดิม แต่มีผู้นำเข้าไปวางในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 1949

ชาวอินเดียโดยรวมรับฟังคำพิพากษาโดยสงบ ไม่มีรายงานการปะทะหรือความรุนแรงใดๆ นายกฯ มานโมฮัน ซิงห์กล่าวชื่นชมประชาชนที่ให้ความเคารพต่อศาลและตอบรับสถานการณ์ครั้งนี้อย่างสง่างาม ฝ่ายรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยนอกจากจะ ร่วมชื่นชมปฏิกิริยาตอบรับของประชาชนยังได้เสริม ย้ำว่าคำตัดสินนี้ไม่ได้ให้ความถูกต้องแก่กรณีการทุบทำลายมัสยิดบาบรี การกระทำนั้นยังถือว่าผิดตามกฎหมาย ความเห็นของเขาแม้จะถูกในหลักการ แต่ถูกประณามโดยพรรคฝ่ายค้านว่าไม่ถูกกาลเทศะ อาจทำให้เชื้อไฟที่คุนิ่งอยู่ลุกโหมขึ้นมาอีก

คำพิพากษาครั้งนี้หลายฝ่ายเรียกว่าเป็นงานเซอร์ไพรส์ บ้างเรียกว่าเป็นฉบับประนีประนอม แต่หลายภาคส่วนก็ผิดหวัง และแสดงความเห็นคัดค้าน ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของรัฐอุตตรประเทศกล่าวว่า ชาวมุสลิมรู้สึกเหมือนถูกโกง และตนผิดหวังที่ศาลยุติธรรมให้น้ำหนักกับศรัทธาความเชื่อมากกว่าหลักฐานข้อเท็จจริงและตัวบทกฎหมาย

ประเด็นที่ศาลยึดหลักศรัทธาความเชื่อมาใช้ในการพิพากษานี้ ได้รับการโจมตีอย่างหนักจากหลาย แวดวงวิชาการ ดร.ราจีฟ ธาวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นการไกล่เกลี่ยแบบ ‘ศาลหมู่บ้าน’ “หนึ่งส่วนให้มุสลิม สองส่วนให้ฮินดู ทั้งๆ ที่เดิมเป็นของชาวมุสลิม เป็นคำตัดสินที่ไม่ได้ยึดในตัวบทกฎหมาย ไร้ความถูกต้องทางศีลธรรม และวางมาตรฐานที่จะก่อผลเสียในอนาคต” ขณะที่ผู้พิพากษาราจินดาร์ ซาชาร์ อดีตผู้พิพากษาศาลสูง เดลีให้ความเห็นว่า ศรัทธาความเชื่อไม่มีนัยสำคัญในระบบศาลสถิตยุติธรรม คำตัดสินครั้งนี้มีแต่จะให้ความถูกต้องแก่เรื่องที่ประสูติของพระราม ซึ่งเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ แบบ ‘ขวาจัด’ และยังเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันในทางประวัติศาสตร์

แวดวงนักประวัติศาสตร์เองก็มีผู้แสดงความเห็น คัดค้าน โดยเฉพาะการที่ศาลดูเหมือนจะใช้รายงานของ Archeological Survey of India เป็นตัวตั้ง ทั้งที่ข้อมูล และข้อสรุปหลายส่วนยังเป็นประเด็นร้อนที่โต้เถียงกันอยู่ในทางวิชาการ ศาสตราจารย์ ดี. เอ็น จา หนึ่งในทีมนักประวัติศาสตร์อิสระที่เข้าไปสำรวจมัสยิดบาบรีและยื่นรายงานต่อรัฐบาลไว้ตั้งแต่ปี 1991 ก่อนมัสยิดจะถูกทุกทำลายลง ชี้ว่ารายงานของ ASI เต็มไปข้อมูลที่ลักลั่นและอโยธยาเริ่มกลายเป็นที่แสวงบุญก็ราวปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งในรายงานที่นักประวัติศาสตร์อิสระทีมนี้ยื่นต่อรัฐบาล กล่าวว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา VHP กลุ่มฮินดูขวาจัดไม่เคยสามารถอ้างอิงจารึกหรือคัมภีร์โบราณใดๆ ที่ระบุถึงที่ประสูติของพระราม ตำนานที่ว่า มัสยิดบาบรีสร้างโดยการทุบทำลายวิหารฮินดูและตั้งอยู่บนที่ประสูติของพระรามนั้น เริ่มแพร่พลายก็ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 นอกจากนี้จากการตรวจสอบจารึกภาษาเปอร์เซียในตัวมัสยิดบาบรีเองและคัมภีร์โบราณของฮินดูที่ร่วมสมัยกับการสร้างมัสยิดดังกล่าว ก็ไม่มีการกล่าวถึงการทุบทำลายวิหารฮินดูหรือเรื่องที่ประสูติของพระรามไว้เลย

หลังคำพิพากษา ตัวแทนฝ่ายมุสลิมและฮินดู ต่างเฉดต่างสีที่เป็นโจทย์ในคดีนี้ แสดงปฏิกิริยาต่าง กันไป ส่วนใหญ่รับฟังแต่ไม่ยอมรับ หลายกลุ่มประกาศชัดว่าจะอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุด บางกลุ่มหันมาเจรจาหาข้อตกลงนอกศาล หนึ่งในแกนนำของ Nirmohi ตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าปล่อยให้เป็นเรื่องของชาวฮินดูและมุสลิมเมืองอโยธยาจัดการกันเอง คุยกันไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็คงตกลงกันได้” คำกล่าวนี้มีนัยว่าเรื่องนี้ถูกทำให้บานปลายกลายเป็นเหตุนองเลือดก็เพราะคนนอก โดยเฉพาะกลุ่มก้อนที่หวังผลทางอำนาจและการเมือง

คำกล่าวนี้ไม่ได้เพ้อพกเกินเลย ดังมีตัวอย่าง กรณีหมู่บ้าน Gotkhindi ในเมือง Sangli ที่ชาวบ้าน ฉลองเทศกาลบูชาพระพิฆเนศด้วยการตั้งเทวรูปในมัสยิด ประเพณีที่หาได้ยากนี้เริ่มขึ้นในปี 1979 ในเทศกาลครั้งนั้นชาวฮินดูทำพิธีกันกลางแจ้งเนื่องจาก ไม่มีปัจจัยสร้างปะรำพิธีแล้วเกิดฝนตกหนัก ชาวมุสลิมในหมู่บ้านเห็นว่าพระพิฆเนศต้องตากฝน จึงเรียกให้เพื่อนบ้านชาวฮินดูนำเทวรูปเข้าหลบฝนบูชา ในมัสยิด ความภูมิใจในความสมานฉันท์ของคนในชุมชนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติมาจนถึง ทุกวันนี้

แม้ข้อพิพาทมัสยิดบาบรี-ที่ประสูติพระรามมีเค้าว่าจะยังหาข้อยุติที่ลงตัวไม่ได้ในเร็ววัน แต่การที่ชาวอินเดียรับฟังคำพิพากษาครั้งนี้โดยสงบ ก็น่าจะเป็นความหวังได้ว่า ‘ความอดกลั้น’ ต่อความคิดต่างเห็นต่าง ต่อความไม่ชอบธรรม และความต่างทางศาสนา อาจจะกลับมานำรัฐนาวาของอินเดียข้ามพ้นปมความขัดแย้งโดยสันติไปได้อีกห้วงหนึ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.