|
เมื่อโลกล้อม “จีน”
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพนักบาสเกตบอลชายทีมชาติจีนรุมไล่กระทืบนักบาสเกตบอลทีมชาติบราซิลในเกมอุ่นเครื่องก่อนการแข่งขันเอเชียนเกมส์ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ณ เมืองสวี่ชาง มณฑลเหอหนาน กลายเป็นประเด็นใหญ่ในหน้าสื่อขึ้นมาทันที เพราะนักบาสเกตบอลจีนในฐานะเจ้าบ้านทั้งตัวจริงและตัวสำรองต่างประเคนลีลากังฟูใส่แขกผู้มาเยือน เพื่อระบายความโกรธหลังนักกีฬาบราซิลเล่นหนักในสนามจนผู้เล่นจีนได้รับบาดเจ็บ ทั้งนักกีฬาเจ้าบ้านยังตามไปกระทืบซ้ำนักบาสฯ จากอเมริกาใต้ หลังผู้มาเยือนตัดสินใจวอล์กเอาต์ออกจากสนามอีกหลายนาทีจนเกมต้องยุติ
แม้หลังเกม บ็อบ ดันวัลด์ โค้ชชาวอเมริกันของทีมชาติจีนจะออกมากล่าวโทษว่าเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเพราะผู้เล่นบราซิลเล่นสกปรกก่อน แต่ในเวลา ต่อมาสมาคมบาสเกตบอลจีน (ซีบีเอ) ต้องประกาศ ปรับเงินดันวัลล์ ผู้จัดการทีม และผู้เล่นอีก 9 คน เป็นการแก้เขิน
ในรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ CCTV9 ช่องภาษาอังกฤษของจีนถึงกับระบุว่าเป็น “ค่ำคืนแห่งความอับอาย (Night of Shame)” เพราะการทะเลาะวิวาทของนักบาสชายทีมชาติจีนครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2544 ที่คู่กรณีคือทีมชาติเลบานอน ครั้ง ที่สองในปี 2548 โดยคู่กรณีคือทีมชาติเปอร์โตริโก
ในความเป็นจริง ภาพการทะเลาะวิวาท ลงไม้ลงมือระหว่างนักกีฬาเกิดขึ้นบ่อยครั้งในเกมกีฬา อาชีพของหลายประเทศ อย่างเช่น กีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ในสหรัฐอเมริกา เกมรักบี้ในออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งเกมฟุตบอลในประเทศไทยที่หลายครั้งนักบอล เปลี่ยนสนามฟุตบอลเป็นสนามมวยกันดื้อๆ เสียอย่าง นั้น อย่างไรก็ตาม ในการแข่งขันเกมระดับชาติ เหตุการณ์การทะเลาะวิวาทเช่นนี้ถือว่า “ไม่ปกติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดขึ้นกับนักกีฬาของประเทศ ยักษ์ใหญ่ภายใต้ระบบการปกครองที่เข้มงวดอย่างจีน ซึ่งต้องดูแลภาพลักษณ์ของตัวเองอย่างละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว โดยเปรียบเทียบเห็นได้จากการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งผ่านไป อย่างเรียบร้อยและสวยสดงดงาม
ภาพการแสดงความเป็นอันธพาลของชาวจีน ที่เกิดจากเกมกีฬาระดับนานาชาตินั้นเกิดขึ้นไม่บ่อย นัก โดยครั้งหลังที่ผมพอจะจำได้ก็คือ การก่อจลาจลของแฟนบอลชาวจีนหลังการแข่งขันฟุตบอลเอเชียน คัพ นัดชิงชนะเลิศที่สนามกีฬากรรมกร กรุงปักกิ่ง ในปี 2547 ซึ่งทีมชาติจีนพ่ายแพ้ให้กับคู่แค้นตลอดกาลอย่างญี่ปุ่นไป 1 ต่อ 3 ประตู
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นที่ร่ำลือกันในหมู่ชาวต่างชาติ-นักลงทุนที่อาศัยอยู่ในเมืองจีนว่า รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถกดปุ่มเปิด-ปิด กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง-ม็อบได้ตามสถานการณ์ หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือถ้าจุดมุ่งหมายของการชุมนุมประท้วงดังกล่าวไม่ขัดหรือสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ชุมนุมก็จะได้รับไฟเขียว
ยกตัวอย่างเช่น การประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาจีนนับแสนคนหลังเกิดเหตุการณ์ เครื่องบิน สหรัฐฯ ยิงระเบิดพลาดไปถูกสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด ในปี 2542, การเดินขบวนของชาวจีนกลุ่ม ต่อต้านญี่ปุ่นหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่ง หลังจุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นเดิน ทางไปคารวะศาลเจ้ายาสุคุนิซึ่งเป็นสุสานของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2548 หรือครั้งล่าสุดคือ เมื่อเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมา เกิดเหตุเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นจับกุมกัปตันและลูกเรือ ประมงจีนที่เข้าไปใกล้เกาะเซนซากุ (ในภาษาญี่ปุ่น) หรือเกาะเตี้ยวหยู (ในภาษาจีน) ก็เกิดเหตุชาวจีนเดินทางไปประท้วงที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงปักกิ่ง เพื่อเรียกร้องให้ญี่ปุ่นส่งตัวกัปตันเรือประมง คืนมา เรียกร้องให้มีการคืนเกาะเตี้ยว หยูให้จีน รวมไปถึงด่าทอญี่ปุ่นในกรณีบุกรุกดินแดนแมนจูเรียตั้งแต่ช่วงสงครามโลก ตรงกันข้าม หากการชุมนุมดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเป็นปฏิปักษ์กับระบอบการปกครอง หรือส่อว่าจะเป็นอันตรายต่อพรรคฯ ก็จะมีการสั่งห้าม หรืออาจใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การประท้วงในทิเบต หรือการประท้วงในมณฑลซินเกียง รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งเป็นข่าวใหญ่ในหน้า สื่อโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
กลางปี 2553 เกิดเหตุการณ์สไตรก์หยุดงานของคนงานจีนในหลายมณฑลทางภาคใต้ของจีนเป็นวงกว้าง เพื่อเรียกร้องให้เจ้าของโรงงานชาวต่างชาติขึ้นค่าแรง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนให้รถโตโยต้า หรือกระทั่งฮอนด้า และสร้างความเสียหาย ทางเศรษฐกิจและธุรกิจเป็นวงกว้าง จากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นและนักลงทุนต่างชาติในจีนบางคนเคยตั้งข้อสังเกต (แกมบ่น) ให้ผมฟังว่า เหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลจีนน่าจะต้องรู้เห็นเป็นใจ หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องหรี่ตาข้างหนึ่งยอมปล่อยให้พนักงานในโรงงานประท้วงหยุดงาน
โดยพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า การประท้วงขอค่าแรงขึ้นจากโรงงานบริษัทต่างชาติในมณฑล/พื้นที่ทางตะวันออกซึ่งติดทะเลนั้น ถือว่าสอดคล้องกับนโยบาย Go West ( ) ของพรรคฯ ใน การผลักดันให้โรงงานต่างชาติย้ายไปลงทุนในพื้นที่ด้อยพัฒนาทางฝั่งตะวันตกของประเทศแทน เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ ฝั่งตะวันออก-ตะวันตกของประเทศจีน
สาเหตุที่ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมากล่าวถึงในบทความชิ้นนี้ มิได้มีเป้าประสงค์ที่จะตัดสินความถูก-ความผิด ในเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้น แต่อย่างใด แต่ประเด็นที่ผมสังเกตเห็นและพยายาม ที่จะชี้ให้ทุกคนได้เห็นด้วยก็คือ มุมหนึ่งในขณะที่ประเทศจีนกำลังผงาดขึ้นมามีบทบาทและอิทธิพลสูง ยิ่งในเชิงเศรษฐกิจ แวดวงการค้าและการเงินของโลก ในอีกมุมหนึ่งบรรดาชาติตะวันตกและประเทศคู่แข่ง ก็พยายามหยิบยก “จุดอ่อน” ขึ้นมากระหน่ำซ้ำเติม เพื่อเบรกความร้อนแรงและความอหังการของมังกรตื่นแห่งโลกตะวันออกตนนี้
แน่นอนว่าการที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลตัดสินใจมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2553 ให้แก่นายหลิว เสี่ยวโป ( ) อดีตนักเขียนและอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการเมืองและเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นนักโทษทางการเมืองของจีนย่อมจะเป็นหนึ่งในหมากของเกมการเมืองระดับโลกดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากนั้น นาโอโตะ คัง ผู้นำของญี่ปุ่นก็รีบออกมาแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปล่อยตัวหลิว เสี่ยวโป ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย
ไม่นับรวมกับการที่ทุกๆ ปี สหรัฐฯ จะต้องทำตัวเป็นพ่อพระของชาวสิทธิมนุษยชนโลก ด้วยการ แถลงตำหนิการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน (และทำให้รัฐบาลจีนต้องออกสมุดปกขาวมาตอบโต้ทุกปีเช่นกัน) นอกจากนั้น ทุกๆ ปี สหรัฐฯ โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็จะต้องประพฤติตัวเป็นตำรวจโลกด้วยการจัดทำและเผยแพร่รายงาน ชี้แจง สถานะของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนต่อสภาคองเกรส
ในรายงานฉบับล่าสุดของเพนตากอนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ อ้างว่า รัฐบาลปักกิ่งกำลังทุ่มเงินลงทุนพัฒนากองทัพปลดแอกฯ ใน 5 ด้านหลักด้วยกันคือ อาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธระยะไกล เรือดำน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบิน และสงครามในโลกไซเบอร์
“แนวโน้มสมรรถภาพของกองทัพจีนในปัจจุบันคือ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางการทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อันจะทำให้จีนมีกำลังพอที่จะปฏิบัติการทางการทหาร ในทวีปเอเชีย นอกเหนือไปจากไต้หวันได้” รายงานชิ้นดังกล่าวระบุ พร้อมกันนั้นยังโจมตีด้วยว่า การขาดความโปร่งใสในกองทัพจีนทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเข้าใจผิด และการคิดคำนวณที่ผิดพลาดได้
จากข้อกล่าวหาดังกล่าวแม้ผู้นำและกระทรวง ต่างประเทศของจีนจะพยายามย้ำบนเวทีในประเทศ และเวทีระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องว่า จีนเลือกที่จะเดินบนเส้นทางของการพัฒนาอย่างสันติ (Path of Peaceful Development) แต่การกระทำ และพฤติกรรมหลายๆ อย่างที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรมชาตินักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ย่อมจะทำให้คนภายนอกอดสุมหัวกันระแวงและติฉินนินทาไม่ได้ว่า ยักษ์ใหญ่-มหาอำนาจใหม่-เศรษฐีใหม่ที่ถูกควบคุมแบบเบ็ดเสร็จโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนตนนี้กำลังจะทำอะไรต่อไป
ในฐานะสื่อมวลชนที่มีโอกาสได้สัมผัสกับจีนมาบ้าง ผมเห็นว่า ในการคลายแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงแรงบีบสังคมโลกที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับอิทธิพลทางเศรษฐกิจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองและสื่อมวลชนในเร็ววัน
ก่อนที่ความสำเร็จจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของชนชั้นกลางจะเปลี่ยนเป็นแนวร่วมมุมกลับของสังคมโลก และกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่ย้อนกลับมาทำลายพรรคฯ เอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|