|

อินเดียยังไม่พร้อม
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( พฤศจิกายน 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
อินเดียหวังจะจัดมหกรรมกีฬาเครือจักรภพให้ยิ่งใหญ่ทัดเทียมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพ แต่กลับไม่สมหวัง
ความสำเร็จของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ เปรียบประดุจการมอบมงกุฎให้แก่ปักกิ่ง ได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ทำให้คู่แข่งอย่างอินเดียหมายมั่นจะใช้การเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาเครือ จักรภพของตนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลักดันกรุงนิวเดลีให้ขึ้นสู่ฐานะที่ทัดหน้าเทียมตากับปักกิ่งบ้าง อินเดียเคยประกาศทันทีที่ชนะการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาเครือจักรภพปี 2010 ว่า การได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า อินเดียก็สามารถสลัดคราบความเป็นประเทศโลกที่สามทิ้งไปได้ โดยมีเป้าหมายต่อไปคือการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2020 หรือ 2024
แต่แทนที่อินเดียจะได้อวดความก้าวหน้าของตน มหกรรมกีฬาเครือจักรภพในปีนี้ กลับกลายเป็นการประจานตัวเองถึงความไม่พร้อมของอินเดีย การเตรียมการต่างๆ เจอกับโรคเลื่อนอยู่ตลอดเวลา มีแต่ปัญหาความล่าช้าในระบบราชการ ปัญหางบบานปลาย และปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ยังไม่นับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย และการระบาดของโรคไข้เลือดออก และทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนเป็นปัญหาเดิมๆ ของอินเดีย ที่ถูกชาวต่างชาติพร่ำบ่นมานานแล้ว และเป็นคำอธิบายได้อย่างดีว่า เหตุใดอินเดียจึงไม่เคยสามารถดึงดูดเงินทุนของโลกได้มากเท่ากับจีน
จีนไม่เพียงลงทุนสร้างสนามกีฬาใหม่ถึง 31 แห่ง แต่ยังสร้างผลงานชิ้นโบแดงทางสถาปัตยกรรม และลงทุนว่าจ้างนักออกแบบที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งออกแบบสนามกีฬาที่น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างสนาม “รังนก” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกและศูนย์กีฬาทาง น้ำ Water Cube ที่มีหน้าตาแปลกตาเหมือนฟองน้ำ แต่สำหรับอินเดีย ในบรรดาสนามกีฬาใหม่ๆ ทั้งหมด มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่พอจะอวดอ้างได้ คือศูนย์กีฬา Thyagaraj Sports Complex ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยตัวเอง ด้วยกังหันก๊าซธรรมชาติและแผงเซลล์สุริยะและสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ทั้งหมด อินเดียพยายามอวดว่า Thyagaraj เป็นสนามกีฬาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในโลก แต่การที่สนามแห่งนี้ใช้เป็นสนามกีฬาเน็ตบอล ซึ่งไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยม จึงไม่อาจเรียกเสียงฮือฮาได้มากนัก ส่วนสนามกีฬาอื่นๆ ส่วนใหญ่เพียงแต่ใช้การได้ หรือไม่ก็เป็นการปรับปรุงสนามกีฬาเก่าตั้งแต่ยุคที่อินเดียเคยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียน เกมส์เมื่อปี 1982 เท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นที่มาที่ทำให้อินเดียถูกวิจารณ์ ว่า ขาดวิสัยทัศน์ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างจีน สิงคโปร์หรือเกาหลีใต้
แต่อินเดียไม่ได้มีเพียงปัญหาด้านวิสัยทัศน์เพียงอย่างเดียว ปัญหาใหญ่จริงๆ คือปัญหาในการลงมือทำ จีนเตรียมการเพื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2008 อย่างรวดเร็วราวกับติดจรวด จนในปี 2006 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลถึงกับต้องให้จีนทำงานให้ช้าลง ศูนย์กีฬาทางน้ำ Water Cube เสร็จล่วงหน้า 8 เดือน รังนกเสร็จล่วงหน้า 2 เดือน แต่อินเดียกลับตรงกันข้าม สหพันธ์มหกรรมกีฬา เครือจักรภพต้องเฝ้าเตือนอินเดียครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ทำงานไม่เสร็จตามกำหนด อินเดียพลาดเส้นตายการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถึง 4 ครั้ง ศูนย์ฝึกซ้อมกีฬาฮอกกี้สนามซึ่งเป็นกีฬา ที่อินเดียเองครองความเป็นเจ้า ถึงกับต้องยกเลิกการสร้างและเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียยอมรับว่า ไม่มีทางจะสร้างได้เสร็จทันเวลา
สาเหตุของความล่าช้าส่วนใหญ่มาจากกระบบราชการและการเสียเวลาต่อสู้ทางคดีความเกี่ยวกับการซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบทั่วไปในอินเดีย ผลก็คือกว่าจะเริ่มก่อสร้างสนามกีฬาต่างๆ ได้ ก็ปาเข้าไปปี 2008 แล้ว หรือ 5 ปีให้หลัง นับจากที่อินเดียชนะการ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาเครือจักรภพ ความยากลำบากในการซื้อที่ดินในอินเดีย ยังเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ชาวต่างชาติลงทุนในอินเดียน้อยกว่าจีนมาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านการผลิต อุตสาหกรรม เนื่องจากการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงานหรือคลังสินค้า ในอินเดียทำได้ยากลำบากมาก จนแม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดียอย่าง Tata Motor ก็ยังแทบไม่อาจหาที่สร้างโรงงานผลิตรถเล็ก compact car รุ่นใหม่ที่มีน้ำหนักเบาพิเศษ และราคาถูก เป็นพิเศษที่มีชื่อว่า Nano ได้
ส่วนสนามกีฬาที่สร้างเสร็จแล้วก็ยังมีปัญหาความไม่ปลอดภัย เนื่องจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและใช้วัสดุคุณภาพต่ำ สนามแข่งบางแห่งยุบตัวลงเพราะไม่ได้ปรับพื้นให้แน่น ก่อนที่จะสร้างอุโมงค์ข้างใต้ หลังคาสนามมวยรั่ว นักกีฬาเทนนิสต่างบ่นเกี่ยวกับพื้นสนามที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้พวกเขากลัวว่าจะได้รับบาดเจ็บ สิ่งที่แย่ที่สุดคือ เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอินเดียเองตรวจพบว่า คอนกรีตที่ใช้ก่อสร้างสนามกีฬาบางแห่งไม่ได้มาตรฐานความแข็งแรงตามที่กฎหมายกำหนดและมีซีเมนต์น้อยกว่าที่ผู้รับเหมาอ้าง ทำให้สงสัย ว่า ใบรับรองความปลอดภัยที่ได้มาอาจเป็นของปลอม ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากต่างชาติบางคนถึงกับเตือนว่า อาจเกิดเหตุร้ายถึงขั้นสนามกีฬาพังถล่มในระหว่างการแข่งขันก็เป็นได้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของรัฐบาลอินเดียยังพบการฉ้อโกงรัฐอย่างมโหฬารของบรรดาผู้รับเหมา บริษัทรายหนึ่งคิดเงินค่าทิชชูถึงม้วนละ 90 ดอลลาร์ สมาชิกในคณะกรรมการจัดงานมหกรรมกีฬา เครือจักรภพของอินเดีย 3 คน ซึ่งรวมถึงเหรัญญิก ต้องลาออกหลังจากถูกกล่าวหาว่ารับสินบน
จีนก็มีปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอินเดีย แต่ไม่เคยมีใครกลัวว่า การก่อสร้างของจีนจะไม่ได้มาตรฐานในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก รัฐบาลจีนถือว่านี่คือความภาคภูมิใจของชาติและดูแลทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่า จะต้องไม่มีการเสียหน้าใดๆ เกิดขึ้น ในการเป็นเจ้าภาพของจีน จีนมีเพียงปัญหาเดียวที่น่าวิตกที่สุด ที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของนักกีฬาและผู้ชม คือปัญหามลพิษในอากาศ แต่รัฐบาลจีนก็ทำทุกวิถีทางที่จะทำความสะอาดอากาศใน กรุงปักกิ่งด้วยการสั่งปิดโรงงาน ห้ามใช้รถในช่วงที่มีการแข่งขัน และลงทุนทำแม้กระทั่งฝนเทียม ปัญหามลพิษในอากาศของนิวเดลียิ่งแย่ไปกว่าปักกิ่ง และนักกีฬายังจะต้องเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพอีกไม่หวาดไม่ไหว ตั้งแต่การระบาดของไข้เลือดออกไปจนถึงอาหารเป็นพิษ และการโจมตี จากผู้ก่อการร้าย มีนักกีฬาชั้นนำระดับโลกหลายคนอย่าง Usain Bolt นักวิ่งลมกรดชื่อดังชาวจาเมกา Stephanie Rice นักว่ายน้ำ จากออสเตรเลีย Chris Hoy นักปั่นน่องเหล็กจากอังกฤษ และ Andy Murray นักเทนนิสชื่อดัง ไม่เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาเครือจักรภพที่อินเดียในปีนี้ โดยอ้างว่าบาดเจ็บหรือติดแข่งรอบคัดตัวไปโอลิมปิก แม้กระทั่งสมเด็จพระราชินินาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษก็ไม่เสด็จฯ ไปในมหกรรมกีฬาใครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่พระองค์ทรงครองราชย์
อย่างไรก็ตาม ประธานกรรมการจัดงานมหกรรมกีฬาเครือจักรภพของอินเดีย Suresh Kalmadi ยังคงเชื่อมั่นว่า อินเดียจะประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ และจะทำให้นิวเดลีเป็น “ศูนย์กลางกีฬาของโลก” ชาวนิวเดลีบางคนเปรียบเทียบความวุ่นวายต่างๆ ในการจัดเตรียมงานครั้งนี้ว่า ก็เหมือนกับงานแต่งงานแบบอินเดียนั่นไง ที่ไม่เคยมีอะไรพร้อมจนกว่าจะถึงนาทีสุดท้าย แต่ทุกอย่างก็จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งเสมอและทุกคนก็มีความสุข แต่อินเดียอาจลืมไปว่า การจัดงานที่มีแต่แขกเหรื่อที่เป็นญาติสนิทมิตรสหายเพียงไม่กี่ร้อยคนร่วมงาน ซึ่งพร้อมจะให้อภัยและไม่ถือสาความขาดตกบกพร่องของเจ้าภาพ คงไม่เพียงพอที่จะชนะใจคนทั้งโลกได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|