ความเห็นในการผลิตบัณฑิตทางวิศวกรรมศาสตร์


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในหลายแห่งว่า การผลิตวิศวกร 55 คนต่อประชากรล้านคนต่อปี หรือผลิตวิศวกร 4 คน ในบัณฑิตปริญญาตรี 100 คนของไทยนั้น เป็นการผลิตที่แย่มาก และประเมินว่า ถ้าเราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยขาของตนเอง เราก็จำเป็นต้องผลิตวิศวกรอย่างต่ำ 300-500 คนต่อประชากรล้านคน/ปี ซึ่งจำนวนการผลิตดังกล่าว จะมีอัตราถึง 17,000 คน ถึง 20,000 คนต่อปี แทนที่จะเป็น 2,500-3,000 คนต่อปี อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้เขียนยังคงแน่ใจและยืนยันตัวเลขดังกล่าว แม้ว่าการวิจัยทางตัวเลขจากหน่วยงานต่างๆ จะออกมาน้อยกว่านี้ก็ตาม เช่น ตัวเลขของ TDRI ซึ่งประเมินความต้องการแรงงานวิศวกรในภาคอุตสาหกรรมไว้เพียง 7,000-8,000 คน/ปี ในปัจจุบัน

ถ้าเราจะพิจารณาปริมาณแรงงานของไทยในปัจจุบัน ตัวเลขที่ใช้คงจะไม่ต่างกันมากนัก ถ้าจะยึด WORK FORCE ของไทยจากประชากร 55 ล้านคน เป็นประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งใน 30 ล้านคนนี้ ประมาณ 66% จะเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม, 22% เป็นแรงงานในภาคบริการ และ 12% เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเจริญเติบโตอย่างวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคิดเพียงการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่รวมงานวิจัยและพัฒนา และคิดว่าเราจะทำเฉพาะเทคโนโลยีระดับกลางและล่าง ในความเจริญปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก อัตราส่วนวิศวกร : ช่างเทคนิค : แรงงาน เฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จะเป็นราว 1 : 4 : 50 ดังนั้น ความต้องการวิศวกรในแรงงานอุตสาหกรรมที่ควรจะเป็นจะเฉลี่ยอยู่ราว 1.8-2% ซึ่งบางส่วนอาจสูงหรือต่ำกว่านี้ ดังนั้นแรงงานอุตสาหกรรม 3.6 ล้านคน จะต้องการวิศวกร 65,000 คน ส่วนในภาพบริการ โดยที่เทคโนโลยีด้านสื่อสารข้อมูลต่างๆ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ถ้าคิดว่าวิศวกรในแรงงานส่วนนี้เป็น 1% ซึ่งอาจยังน้อยไปเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าคิดเพียง 1% จะต้องการวิศวกรในภานี้เท่ากับ 66,000 คน ในแรงงาน 6.6 ล้านคน ถ้าคิดภาคเกษตรกรรมต้องการวิศวกรต่อแรงงานเป็น 0.25% จะต้องการวิศวกรในภาคนี้ถึง 50,000 คน ในแรงงาน 20 ล้านคน

ในลักษณะดังกล่าว จำนวนวิศวกรที่ควรจะมีในปัจจุบัน ถ้าไม่ต้องการซื้อลูกเดียว จะต้องเป็น 180,000 คน ในแรงงาน 30 ล้านคน คิดเป็น 0.6% ของแรงงานรวมของประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศนิกส์ เขาจะมีอัตราส่วนวิศวกรต่อแรงงานสูงกว่า 1% ทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นนิกส์ ซึ่งมีสัดส่วนวิศวกรต่อแรงงานสูงขึ้นไปอีก และเป็นที่แน่นอนว่า ในอนาคตความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะบีบให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการโตขึ้น และทุกภาคจะใช้วิศวกรในสัดส่วนที่สูงขึ้น ออสเตรเลียเองปัจจุบันมีอัตราส่วนวิศวกรต่อแรงงานเพียง 0.8% หรือ 67,000 คน แต่เขาก็รู้ตัวและพยายามที่จะให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1% ให้ได้ภายในปี 2000 ไทยเราปัจจุบันมีวิศวกรปริญญาที่ทำหน้าที่วิศวกรไม่เกิน 35,000 คนทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนวิศวกรต่อแรงงานเพียง 0.12% เท่านั้น!!! ถ้าจะมีจำนวนวิศวกรให้ได้ 180,000 คน โดยที่ไม่มีการตาย ไม่มีการย้ายอาชีพไปทำบริหาร ไม่มีการเกษียณอายุ (ซึ่งในปกติถ้าคิดอายุการทำงานของวิศวกรฯ รวมการเปลี่ยนอาชีพ เกษียณ ตาย ฯลฯ) และประชากรไม่เพิ่ม พร้อมทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการไม่เพิ่มขึ้นเลย ถ้าผลิตปีละ 17,000 คนจะใช้เวลากว่า 10 ปีและอีก 10 ปีข้างหน้า ในความเจริญเราจะมีวิศวกรเพียง 0.6% ของแรงงาน ในขณะที่ประเทศต่างๆ ถึงเวลานั้นคงมีสัดส่วนวิศวกรมากขึ้นไปอีก ตามความเจริญของเทคโนโลยี

นี่ขนาดคิดเบาะๆๆ ว่าผลิตปีละ 17,000 คน ซึ่งในปัจจุบันผลิตปีละ 2,500 คน แนวทางค่อนข้างหดหู่มาก แต่ถ้าเราเห็นพ้องต้องกันว่า ควรมีการผลิตวิศวกรให้มากๆ นับจำนวนหมื่น เราจะทำอย่างไร เราอาจทำได้โดย

1. เริ่มต้นถ้าดูด้าน INPUT ว่าปัจจุบันมีพอไหม ทั้งปริมาณและคุณภาพ ปี 2530 มีผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายรวมสามแสนคนเศษ เป็นสายอาชีพแสนสองหมื่นคน เป็นสายสามัญประมาณ แสนแปดหมื่นคนเศษ ในจำนวนนี้สายสามัญวิทยาศาสตร์มีประมาณแปดหมื่นสามพันคน ถ้าคิดว่ามีเพียง 2% ของสายอาชีพที่จะมีความสามารถพอที่จะต่อขึ้นเป็น ปวส. และเป็นวิศวกรปริญญาได้ ก็จะมีวัตถุดิบทางสายนี้พร้อมอยู่ราว 2,500 คน/ปี ถ้าคิดว่าสายสามัญวิทยาศาสตร์นั้น คุณสมบัติทางวิชาการที่พอจะใช้เรียนแพทย์ วิศวะ ได้เป็น 25% แรกของชั้น ก็จะมีบุคลากรวัตถุดิบได้ 21,000 คน จะเห็นว่าเกลี่ยพอดีๆ แต่ในระยะสั้น วัตถุดิบที่สามารถนำมาเรียนวิศวกรได้จะเหลือ เพราะถึงอย่างไรการผลิตวิศวกรปีละ 20,000 คน จะต้องชะลอออกไปในระยะยาวหลายปี พอจะเพิ่มจำนวนนักเรียนในมัธยมปลายได้ทัน

2. การเพิ่มวิศวกร ควรกำหนดนโยบายให้ชัดเจน เช่นว่าจะมีเป้าหมายผลิตวิศวกรเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน/ประชากรล้านคน/ปี ภายใน 8 ปีข้างหน้า และ 400 คนต่อประชากรล้านคน/ปี ภายใน 12 ปีข้างหน้าเป็นต้น

3. รัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ชัดเจน ที่จะให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตวิศวกรของตนเอง ส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนในการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา และการจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ของภาคอุตสาหกรรม สามารถมี INCENTIVE ที่เหมาะสม เช่น การออกกฎหมาย การตัดบัญชี ASSET (ซึ่ง ปัจจุบันใช้เป็นแบบ INTANGIBLE ASSET ตัดบัญชีใน 5 ปี 10 ปี๗ ให้สั้นลง เช่น การวิจัยและพัฒนาให้ตัดได้หมดภายในปีเดียว เช่นในต่างประเทศ เพื่อให้มีการสนับสนุนให้มีงาน R+D และมีสถาบันวิจัย เพื่อผลิตวิศวกรของภาคอุตสาหกรรมเองให้มากขึ้น เฉพาะในหน่วยงานที่เป็นของไทยและใช้วิศวกรไทยโดยสมบูรณ์ เพื่อให้แข่งขันกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมลูกครึ่ง หรืออุตสาหกรรมพันธุ์เทศได้

4. ในทันทีรัฐบาลน่าจะวางนโยบายการจัดการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ให้เท่าเทียมกัน ในการกระทำดังนี้ จะทำให้สถาบันที่ทำการผลิตในประสิทธิภาพไม่เต็มกำลังเพิ่มจำนวนนักศึกษาขึ้น และสถาบันที่ผลิตอยู่เต็มกำลังแล้วสามารถพัฒนา และมีการวางแผนพัฒนาได้ดีขึ้น ปัจจุบันบางแห่งมีอาจารย์ต่อนักศึกษาถึง 1 : 19 แต่ไม่สามารถขอเพิ่มอัตราให้เหมาะสมได้ งบประมาณที่ได้จากรัฐบาล ก็มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมาก ชนิดมือใครยาวสาวได้สาวเอา ควรจัดการให้เท่าๆ กัน และมีนโยบายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ต้องสอนวิศวกรให้มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรม จะทำตัวเป็นเสือกระดาษไม่ได้ ดังนั้นรายได้หลักอันหนึ่งของคณะต้องมีความสามารถที่จะนำเข้ามาได้จากภาคเอกชน

5. ในทันทีจะต้องเสริมที่นั่งจากการโหว่ ที่เหลืออยู่ในภาควิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่างๆ ให้เต็ม โดยคัดนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ หรือผู้จบ ปวส. ที่มีแต้มเฉลี่ยสะสมสูงพอที่จะมีคุณภาพของวัตถุดิบที่จะเรียนทางวิศวกรรมศาสตร์ได้ อาจต้องมีการลดชั้นลงด้วย แต่จะเพิ่มการผลิตได้ทันที 20-30%

6. จัดชั้นรับนักศึกษาเพิ่ม อาจะเป็นภาคค่ำ โดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ทั้งในด้านทรัพยากร บุคคล เครื่องมือเครื่องใช้ และด้านการเงิน ซึ่งบางสถาบันก็ได้เริ่มทำอยู่แล้ว

7. ในระยะยาวมองเห็นชัดว่า ในความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นจุดสื่อสารข้อมูล ความต้องการวิศวกรไฟฟ้าสาขาต่างๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์, คอมพิวเตอร์, เครื่องมือวัด, ไฟฟ้ากำลัง, โทรคมนาคม, ระบบควบคุมเป็นจำนวนมาก และในบางสาขา เช่น อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สามารถจัดการเรียนการสอนทางไกลได้ โดยการให้นักศึกษาซื้ออุปกรณ์ทำปฏิบัติการเอง ซึ่งต้องเป็นอุปกรณ์ที่ส่วนใหญ่พัฒนามาขึ้นในประเทศ เพราะจำนวนผลิตน่าจะพอและต้องควบคุมคุณภาพของบัณฑิตให้เคร่งครัด แต่แม้ว่าจะมีนักศึกษาจบน้อย แต่ก็จะมีประโยชน์ แม้คนที่เรียนไม่จบ สามารถเพิ่มพูนความรู้ไปใช้เสริมในการประกอบการอุตสาหกรรม ดีกว่าปล่อยให้เรียนทางสังคมศาสตร์มากๆ

8. ยอมรับกันเสียทีว่า ความเจริญในสาขาวิศวกรรมศาสตร์นั้น ควรยอมให้มีคณะวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมอุตสาหกรรม หรือคณะวิศวกรรมโยธาได้แล้ว ในสถาบันที่เน้นการผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือสถาบันที่มีความพร้อมพอ มหาวิทยาลัยแพทย์ มีทั้งคณะแพทย์ศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทย์ คณะพยาบาล ฯลฯ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีทั้งคณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ฯลฯ ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะโบราณคดี ฯลฯ ได้ คณะวิศวกรรมก็ควรได้รับการขยายตัวแบ่งสาขาออกไป

9. ในท้ายที่สุดในขณะที่ DEMAND และ SUPPLY ทางบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์ของเราเป็นอย่างนี้ ต้องเร่งแก้ไขผลตอบแทนของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยในสายดังกล่าวให้เร็วที่สุด หรือมี INCENTIVE อย่างอื่นที่ชัดเจนขึ้น เช่น ความสบายใจและคล่องตัวในการวิจัยและพัฒนาทางวิชาการ มิฉะนั้น นอกจากภาคอุตสาหกรรมจะแย่งบัณฑิตวิศวะในสถาบันต่างๆ แล้ว ก็จะถึงจุดที่อุตสาหกรรมจะเริ่มซื้อแม่ไก่แทนที่จะรอไข่ไก่ ข้าราชการตุลาการมีเงินเดือนมากกว่าธรรมดาได้ รัฐวิสาหกิจก็เช่นกันแถมมีโบนัส บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ที่เริ่มรับราชการกับเอกชน จะมีเงินเดือนต่างกัน 3 เท่า เมื่อทำงานไป 5 ปี จะต่างกัน 5 เท่า และทำงาน 15 ปี ต่างกันเป็นสิบเท่า อย่ารอให้เหลือแต่บุคลากรที่คุณภาพไม่ดีในระบบราชการเลย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นเงินเดือนอาจไม่ใช่ข้อสำคัญสำหรับหลายคนอยู่ แต่ขวัญและกำลังใจที่สามารถทำให้เขาสามารถทำงานต่างๆ ได้ทางวิศวกรรมศาสตร์ ที่จะไม่ได้เป็นเสือกระดาษ ซึ่งในสภาพของผู้เขียนเองก็ตั้งใจปวารณาตัวไว้นานแล้ว ว่าสำหรับ OUTSIDE DEMAND PULL ละก็ ผู้เขียนคงจะไม่ไป แต่ถ้าเมื่อใดที่ INSIDE SUPPLY PLUS ละก็ เมื่อไรก็เมื่อนั้น

ซึ่งถ้าเราจะสามารถทำตามนี้ได้โดยเฉพาะในข้อ 2 ซึ่งเป็นแม่บทอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศเราอาจพัฒนาขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ชนิดที่เริ่มได้เปรียบดุลการค้า แต่อย่าได้ฝันว่าจะได้เปรียบดุลทางเทคโนโลยี เพราะแม้ในปัจจุบันมีเพียง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเท่านั้น ที่ได้เปรียบดุลทางเทคโนโลยี และก็อย่าลืมว่า อเมริกายังเป็นประเทศที่เสียเปรียบดุลการค้าอยู่อย่างมหาศาล

ถึงเวลานั้นเราคงจะไม่ต้องเอาผู้หญิงของเราเป็นเหยื่อกาม เป็นพาหะนำโรคเอดส์ เพื่อจะทำให้ ประเทศไทยเกินดุลชำระเงินอีกต่อไป

และในภาวะการแข่งขัน กีดกันอย่างรุนแรงของตลาดโลกในอนาคต สินค้าอุตสาหกรรมที่คุณภาพดีกว่าและราคาถูกกว่าเท่านั้น จึงจะยืนหยัดอยู่ได้ และทางเดียวที่จะได้ก็คือ ต้องมีวิศวกรที่มีคุณภาพดีได้เพียงพอที่จะทำการวิจัยและพัฒนา และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.