สงครามกระดาษชำระไม่ใช่ศึกสายเลือด


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

สรรพสิ่งในใต้หล้าบางครั้งไม่เป็นไปตามที่คาด ยิ่งเรื่องราวบางเรื่องแล้วเบื้องหลังนั้นซับซ้อนกว่าที่คิด

เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ ที่ประสิทธิ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ดังที่ "ผู้จัดการ" นำเสนอโดยพิสดารฉบับเดียวเดือนกุมภาพันธ์นั้น ดูตามรูปการณ์แล้วหลายคนคงสรุปว่ามันคือศึกสายเลือดระหว่างสองพี่น้องณรงค์เดชแน่ๆ เพราะเมื่อประสิทธิ์มีปัญหาแทนที่เกษมจะอยู่เคียงข้างพี่ชาย กลับถือหางฝ่ายตรงข้าม

ยิ่งการที่ประสิทธิ์ตัดสินใจฟ้องบริษัทไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ เรียกค่าเสียหาย 78 ล้านบาท อันเนื่องมาจากใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบ ทั้งโฆษณา แผ่นปลิว เพื่อพยายามให้ผู้ซื้อเชื่อว่ากระดาษชำระยี่ห้อสก๊อตต์นั้นสูญหายไปจากท้องตลาดแล้วอย่างสิ้นเชิงโดยบริษัทไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การผลิตเอง ทั้งที่ความจริงอนามัยภัณฑ์เป็นเจ้าของที่แท้จริง

เกษม ณรงค์เดช ในฐานะประธานบริษัทไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการถูกฟ้องร้องในครั้งนี้ "จริงๆ แล้ว การฟ้องครั้งนี้เป็นการฟ้องไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ ไม่ใช่เรื่องที่นายประสิทธิ์ฟ้องน้องชาย ผมพยายามจะหลีกเลี่ยงด้วย แต่หนังสือพิมพ์ก็พยายามจะโยงว่าเป็นศึกสายเลือดให้ได้" ประสิทธิ์ ณรงค์เดชบอก "ผู้จัดการ" เย็นวันหนึ่งที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์

เหตุการณ์นั้นเกิดวันที่ 29 เมษายน 2531

ทางฝ่ายไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ ปิดปากเงียบไม่ว่า "ผู้จัดการ" จะพยายามสอบถามอยู่หลายครั้ง

แหล่งข่าวหลายคนรายงานตรงกันว่า ช่วงเวลานั้นสถานการณ์ไทย-สก๊อตต์ ไม่เป็นปกตินัก คนงานระดับฝีมือลาออกเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเครื่องจักรต้องหยุดเดินหนึ่งเครื่อง หรือพนักงานแผนกอื่นๆ หลายคนที่อยู่มานานสมัยประสิทธิ์ หลายคนอึดอัดใจและเตรียมพร้อมที่จะอยู่กับฝ่ายประสิทธิ์ ทันทีที่โรงงานเสร็จ

ทุกอย่างตรงตามที่ "ผู้จัดการ" พยากรณ์ไว้

คนในวงการคาดกันว่าฝ่ายไทย-สก๊อตต์ จะต้องตอบโต้อย่างรุนแรงแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า การฟ้องร้องครั้งนี้น่าจะจบลงด้วยการประนีประนอมมากกว่าอย่างอื่น

เรื่องนี้สงบไปได้พักใหญ่จนหลายฝ่ายคาดว่าคงจะตกลงกันเรียบร้อยแล้ว แต่แล้วจู่ๆ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ ก็เปิดฉากฟ้องกลับโดยกล่าวหาว่า อนามัยภัณฑ์และประสิทธิ์ ณรงค์เดช ละเมิดเครื่องหมายการค้า เรียกค่าเสียหายถึง 83 ล้านบาท

ปรากฏการณ์ครั้งนี้คนนอกวงการมักจะคิดว่า "ศึกสายเลือดภาค 2" อุบัติแล้วอะไรเทือกนั้น แต่จริงๆ แล้วการฟ้องกลับครั้งนี้ ไม่ใช่การตัดสินใจที่มาจากเกษม ณรงค์เดชโดยตรง" เกษมเขามีหุ้นแค่ 10% เท่านั้น จะไปมีอำนาจการตัดสินใจอะไร" ประสิทธิ์บอก "ผู้จัดการ"

เมื่อฟังประสิทธิ์แบบนี้ บางคนอาจจะบอกว่าประสิทธิ์อาจจะไม่ยอมเผยความจริงและอาจจะยังมีเยื่อใยอยู่ระหว่างพี่กับน้อง แต่จริงๆ แล้วการตัดสินใจฟ้องกลับครั้งนี้เป็นคำสั่งที่มาจากสก๊อตต์ เปเปอร์ โดยตรง

ประจักษ์พยานสำคัญเห็นได้จากการทอดระยะเวลาการฟ้องร้องระหว่างคดีแรกและคดีสองนานถึง 4 เดือน "ถ้าเป็นศึกสายเลือดแล้ว เกษมต้องฟ้องกลับในทันที อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรเกินหนึ่งเดือน" คนที่ติดตามเรื่องนี้วิเคราะห์

ก่อนการฟ้องกลับของไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์นั้น ได้มีความพยายามประนีประนอมกันระหว่างไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ และประสิทธิ์ ณรงค์เดช แต่เรื่องยังไม่เป็นที่ตกลงกัน ฝ่ายแรกก็ฟ้องกลับในทันที

หากลองหวนกลับไปดูไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์ ในช่วงก่อนการฟ้องกลับไม่นานนัก เกษม ณรงค์เดช และคุณพรทิพย์ ผู้ภริยา ได้มีโอกาสต้อนรับนายจอห์น บัทเลอร์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นแปซิฟิกของสก๊อตต์ เปเปอร์

นายบัทเลอร์คนนี้ หากผู้อ่านยังจำได้ เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากกับการกำหนดกลยุทธ์ใหม่ของสก๊อตต์ เปเปอร์ในภูมิภาคนี้

หลังจากนายคนนี้เข้ามาไม่นาน ก็มีการฟ้องร้องในทันทีทันควัน

สงครามที่แท้จริงเพิ่งจะเริ่มกันตรงนี้ มันเป็นการต่อสู้ระหว่างบริษัทท้องถิ่นกับบริษัทข้ามชาติ "เขาประกาศว่าจะเอาเราให้ตาย" ประสิทธิ์เผยเบื้องหลัง

ภารกิจของนายประสิทธิ์ และอนามัยภัณฑ์ จึงหนักหน่วงกว่าปกติหลายเท่า

"มันเป็นกรณีแรกที่บริษัทต่างชาติต้องการจะเข่นบริษัทท้องถิ่นชนิดที่เรียกว่าใครดีใครอยู่" ประสิทธิ์ ณรงค์เดช กล่าวเสียงเครียด

จากนี้ไปการต่อสู้ระหว่างประสิทธิ์และไทย-สก๊อตต์ เปเปอร์จะทวีดีกรีกว่าเดิมหลายขุม

ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างประสิทธิ์ ณรงค์เดช และเกษม ณรงค์เดช หรือศึกสายเลือดอย่างที่เข้าใจแต่ประการใด "เกษมเขาไม่สนใจด้วยว่าไทยสก๊อตต์เขาจะเอาอย่างไร เดี๋ยวนี้เขาเป็นประธานสยามยามาฮา ยอดขายมากกว่าไทยสก๊อตต์ไม่รู้สักกี่เท่า ที่เขาลงมาดูแลไทย-สก๊อตต์มาหน่อย ก็เพราะตอนนั้นทางพรประภาเขามีปัญหาหรอก แต่ตอนนี้เขาไปฉิวแล้ว" วงในสรุป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.