ศูนย์โรคหัวใจ ธุรกิจขายบริการทางการแพทย์ ด้วย HIGH-TECT


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

โรคภัยไข้เจ็บที่หนักหนารุ่นแรงถึงกับชีวิตนั้น สถิติทางการแพทย์บ้านเรายกให้โรคหัวใจ มะเร็ง และอุบัติเหตุ หรือการได้รับการสารพิษ เป็นมัจจุราชที่ยืนอยู่หัวแถว

ว่ากันเฉพาะโรคหัวใจที่มักจะเกิดกับนักธุรกิจด้วยเหตุแห่งความเครียด ปีหนึ่ง ๆ นอกจากชีวิตที่ต้องสูญเสียไปแล้ว ยังเป็นรูรั่วให้เงินทองต้องไหลออกนอกประเทศไปเป็นจำนวนไม่น้อย

คิดกันอย่างต่ำ ๆ แล้ว เป็นเงินหย่อนหนึ่งร้อยล้านไปไม่กี่บาทในแต่ละปี

แม้ว่าหมอไทยจะมีฝีไม้ลายมือเข้าขั้นระดับโลกในการเยียวยารักษา แต่เรื่องของหัวใจ ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน มีผลถึงความเป็นความตายกันทีเดียว ลำพังความรู้ความสามารถเฉพาะตัวของหมอไม่ทำให้ความเสี่ยงลดลงไปได้ทั้งหมด

เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะในแง่ของการวินิจฉัย การบำบัดรักษา การผ่าตัวหรือแม้กระทั่งการผ่อนหนักให้เป็นเบาในยามฉุกเฉิน

คนไทยที่พอมีสตางค์จึงชอบที่จะบินไปรักษาตัวกันที่เมืองนอกมากกว่า เพราะไม่มั่นใจในเครื่องมือที่หมดบ้านเราใช้กันอยู่ ถึงจะยุ่งยากและสิ้นเปลืองก็อุ่นใจกว่ากันเยอะ

หมอผ่าตัดหัวใจคนไทยเก่ง ๆ หลายคนที่ไปทำมาหากินอยู่ไกลบ้านนั้น นอกเหนือจากเหตุผลในเรื่องของรายได้แล้ว ก็เพราะว่าอยู่เมืองไทยไม่มีเครื่องมือจะให้ใช้ด้วย

ศูนย์ตรวจโรคหัวใจของโรงพยาบาลกรุงเทพที่เกิดขึ้นมาก็เพราะมองเห็นปัญหาสองข้อนี้

"นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้คนไข้ไม่ต้องไปรักษากันที่ต่างประเทศแล้ว เครื่องมือที่เรามีอยู่ที่ศูนย์ฯ นี่ ยังจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาวิชาชีพในการรักษาโรคหัวใจของบ้านเราด้วย เพราะหมอสามารมาใช้เครื่องมือที่นี่ได้ ไม่ต้องไปทำผ่าตัดที่เมืองนอก" ศจ.นพ.สมชาติ โลจายะ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ สรุปสั้น ๆ ถึงแนวความคิดในการตั้งศูนย์นี้ขึ้นมา

ศูนย์ตรวจโรคหัวใจนี้เป็นหน่วยงานหนึ่งของโรงพยาบาลกรุงเทพ การดำเนินการตั้งศูนย์ฯ เริ่มเมื่อสามีปีก่อนหน้านี้แล้ว ในระยะแรกเป็นการเตรียมจัดหาบุคลากรและเครื่องมือ เริ่มบริการการตรวจรักษาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การผ่าตัดครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดจากที่นี่ 30 คน มีชีวิตอยู่เป็นปกติสบายดี

นอกจากเครื่องมือในการตรวจ วินิจฉัยและรักษาซึ่งลงทุนกันในวงเงิน 40 ล้านบาท และเป็นเครื่องมือประเภท ระบบเดียวกับที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลชั้นนำในอเมริกาแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังมีระบบการดูแลคนไข้หลังการผ่าตัดที่เรียกว่า หออภิบาลคนไข้ หรือ C.C.U.

"หลังการผ่าตัดเป็นระยะที่สำคัญมาก คนไข้จะอยู่หรือไปก็อยู่ตอนนี้แหละครับ ต้องดูแลกันอย่างใกล้ชิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง โดยหมอและพยาบาลที่ผ่านการอบรมมาโดยเฉพาะ มีเครื่องมือที่จะบอกอาการผิดปกติได้ในทันที ในเมืองไทยมีโรงพยาบาลศิริราชแห่งเดียวที่มี หออภิบาลซึ่งมีตั้งแต่ปี 2510 แต่เป็นหออภิบาลทางสมอง" หมอกัมพล ประจวบเหมาะ หัวหน้าแผนกศัลยกรรมของศูนย์ฯ ว่าให้ฟัง

หออภิบาลคนไข้โรคหัวใจของที่นี่จะเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และทำให้การตรวจรักษาเป็นไปแบบครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา และการติดตามดูแลหลังจากการรักษาหรือผ่าตัดแล้ว

บุคลากรที่ประจำอยู่ที่ศูนย์ฯ นี้มีหมอโรคหัวใจสำหรับผู้ใหญ่ 4 คน หมอโรคหัวใจเด็ก 1 คน หมอผ่าตัด 2 คน และพยาบาลที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรการดูแลคนไข้โรคหัวใจเป็นเวลาสามเดือนอีก 27 คน

"พวกนี้เป็นบุคลากรหลัก เวลาจะทำการผ่าตัดเราจะมีทีมผ่าตัดซึ่งเชิญหมอจากที่อื่นมาร่วมด้วยในทีม หรือในคนไข้บางรายเราอาจต้องเชิญหมอที่เก่ง ๆ มาเป็นที่ปรึกษาด้วย"

นอกจากจะเป็นศูนย์ที่ทำการตรวจรักษาเองแล้ว ศูนย์ตรวจโรคหัวใจยังเป็นเหมือนศูนย์เครื่องมือที่หมอจากโรงพยาบาลอื่นใช้เป็นที่ผ่าตัดรักษาคนไข้ของตน โดยใช้เครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกและพยาบาลของที่นี่

ค่าใช้จ่ายเฉพาะการผ่าตัดแต่ละครั้งนั้นตกประมาณ 200,000-300,000 บาท ซึ่งถ้าไปผ่าตัดที่อเมริกา จะมากกว่านี้อีก 4 เท่าตัว

ยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายของคนที่ต้องติดตามไปดูแลอีกต่างหาก

ใช่ว่าจะทำแต่เรื่องการผ่าตัดอย่างเดียว การรักษาโรคหัวใจโดยการผ่าตัดนั้นมีเพียง 10% เท่านั้นที่ต้องลงมีดผ่ากัน ที่เหลือเป็นการรักษาด้วยยาเสียมากกว่า คนไข้ที่เข้ามาตรวจรักษาในทุกวันนี้หมุนเวียนกันอยู่ในอัตรา 300 คนต่อเดือน

"เราคาดว่าจะคืนทุนกันใน 5-7 ปี และในปีที่สามจะดึงคนที่ไปรักษาที่เมืองนอกมากได้สัก 70 เปอร์เซ็นต์" หมอสมชาติพูดถึงความเติบโตของศูนย์ฯ ที่คาดหวังกันเอาไว้

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมาก็คือ ศูนย์ตรวจโรคหัวใจจะทำให้ภาพพจน์ของโรงพยาบาลกรุงเทพกลายเป็นโรงพยาบาลชั้นหนึ่งที่เล่นกันด้วยเทคโนโลยีสูง ๆ ขึ้นมาทันที



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.