เตือนรับมือสึนามิการเงินระลอกใหม่ เดือนหน้า นิด้าคาด กนง.คง ดบ.นโยบาย


ASTV ผู้จัดการรายวัน(22 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

อ.นิด้า เตือนสึนามิการเงินระลอกใหม่ เดือนหน้า สหรัฐฯ ปั๊มดอลลาร์ถล่ม ศก.โลก เอกชนระทึก! ลุ้น กนง.ประชุม วันนี้ กำหนดทิศทาง ดบ.นโยบาย ชี้ชะตาค่าเงินบาท-ส่งออก 3 กลุ่มอุตฯ ไม่กล้ารับออร์เดอร์ใหม่แล้ว เตรียมเสนอมาตรการให้รัฐช่วยด่วน

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันนี้ (20 ต.ค.) โดยคาดว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ย หรืออาจลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็เป็นไปได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

นายมนตรี กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการตอบรับกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อเร็วที่เกิดขึ้น จนส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลเงินในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาเก็งกำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่า ในเดือนหน้า สหรัฐอเมริกา อาจจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพิ่มเติม (Quantitative Easing 2 หรือ QE2 ) โดยพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาอีกเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะไทยย่อมได้รับผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินอีกระลอก

รายงานเพิ่มเติมระบุว่า การประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และผู้ประกอบการส่งออกในอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ไม้ยางพารา กาแฟ และอาหารกระป๋อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งกลุ่มนี้ มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องเรือนไม้ยางพารา และกาแฟ ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศถึง 100% ทำให้ได้รับผลกระทบมากจากเงินบาทแข็งค่า

ผู้ประกอบการดังกล่าว ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถรับคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ หรือหากจะรับ ก็จะกำหนดราคากันเป็นล็อตๆ เท่านั้น และคงไม่ทำสัญญาระยะยาว

ด้านผู้ประกอบการเครื่องเรือนชี้แจงว่าในภาวะปกติก็แข่งขันลำบากอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับคู่แข่งจากจีนและเวียดนาม เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก ทำให้ทำให้ราคาสินค้าที่เสนอขายแพงขึ้นจากปกติอีก 15%

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมองว่า เงินบาทที่แข็งค่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ความผันผวนของค่าเงินที่เกิดขึ้น ทำให้บริการจัดการลำบาก จึงเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยลดต้นทุน ด้วยการลดค่าเบี้ยประกันสังคม ,การจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากร หรือภาษีมุมน้ำเงิน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการขยายระยะเวลาการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้นานขั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.