ปีที่ 60 ของโงวฮก รุ่นที่ 2 กับการเปลี่ยนแปลง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจพาณิชย์นาวีบ้านเราคึกคักเป็นพิเศษในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มว่าจะดีต่อไป เหตุผลหนึ่งเกิดมาจากนโยบายส่งเสริมการส่งออกอย่างจริงจังของรัฐ

บริษัทใหญ่ที่มีเรือของตัวเองและคุมเส้นทางการส่งออกทั่วโลกนั้นส่วนใหญ่เป็นของชาวต่างชาติ ของไทยเราเองมีเพียงไม่กี่บริษัท โงวฮกเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ที่สำคัญโงวฮกเป็นบริษัทแรกของคนไทย และยังคงครองความเป็นเจ้ายุทธจักรของวงการเดินเรือในปัจจุบัน

11 ตุลาคม 2531 เป็นวันที่โงวฮกมีอายุครบ 60 ปีพอดี นับว่าเป็นบริษัทเดินเรือของไทยที่มีอายุยาวนานมากที่สุด เก่าแก่กว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเพิ่งจะมีอายุ 37 ปีเสียอีก

ความที่บริษัทก่อตั้งมานานมาก ทำให้ประวัติช่วยต้นไม่แจ่มชัดนัก แต่จากคำบอกเล่าของเท้ง บุลสุข ซึ่งปัจจุบันอายุ 80 ปี และยังทำงานที่โงวฮกในตำแหน่งกรรมการ

"ผมก็ไม่ทราบแน่ชัด เพราะไม่ได้มาร่วมงานแต่แรก คนที่รู้เรื่องดีกว่าผมส่วนใหญ่ตายไปหมดแล้ว คนริเริ่มคือตันจินเก่ง หรือจิตติน ตันธุวนิตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำงานอยู่กับตระกูลหวั่งหลี ซึ่งขณะนั้นทำการค้าขายระหว่างไทยกับจีนโดยทางเรือ มีความคิดว่าน่าจะมีธุรกิจบริการขนส่งทางน้ำที่เป็นของคนไทยเอง จึงชักชวนเถ้าแก่โรงสี 4 คนเข้าร่วมคือ มาเลียบคุน หรือมา บุลกุล, เจียง กอวัฒนา, ตันลูเช็ง, โล่วเตี๊ยกชวน (พ่อของเท้ง) รวมกับตันจินเก่งเป็น 5 คน ตั้งชื่อ โงวฮก"

นั่นคือที่มาของชื่อโงวฮก ซึ่งป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า "โชคทั้งห้า"

ตันจินเก่งเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานธุรกิจในยุคแรก หลังจากเขาเสียชีวิต ยงกิตต์ โสธิกุล เพื่อนที่หวั่งหลีด้วยกันเป็นผู้บริหารต่อ ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการดำเนินธุรกิจตามแนวที่ตันจินเก่งวางเอาไว้ จนกระทั่งเมื่อลูกๆ ของตันจินเก่งเรียนจบและเริ่มเข้ามาบริหาร จึงมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายประการ

สุเมธ ตันธุวนิตย์ ลูกชายคนที่ 6 ของตันจินเก่ง เป็นผู้นำของโงวฮกในรุ่นที่ 2 ปัจจุบันอายุ 42 ปี จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์เกียรตินิยมจากจุฬาฯ และจบปริญญาโทวิศวกรรมจากเอไอที. เป็นคนที่เรียกได้ว่า WELL-TRAINED คนหนึ่ง

สุเมธเริ่มเข้าทำงานเมื่อ 16 ปีที่แล้ว หลังจากจับงานไประยะหนึ่งก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรจะมีเรือของตัวเองเสียที แทนที่จะเช่าเขาร่ำไป บริษัทอาร์ ซี แอล จึงเกิดขึ้นในปี 2523 ด้วยการร่วมทุนระหว่างโงวฮก และ SINGAPORE SHIPPING CORPORATION โดยสัดส่วน 75 : 25

สิ่งที่สุเมธได้เข้ามาสร้างอย่างมากๆ คือ MARKETING NETWORK ซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของธุรกิจประเภทนี้

ปัจจุบันโงวฮกและบริษัทในเครือเป็นผู้ดำเนินกิจการพาณิชย์นาวีแทบจะครบวงจร มีเรือของตัวเอง 8 ลำ และเรือเช่าอีกนับร้อย เป็นโบรกเกอร์จัดเรือขนส่งสินค้าไปทั่วโลก มีอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าพร้อมสรรพเช่น เครน (CRANE)

ล่าสุด 7 กันยายน 2531 กรมศุลกากรได้ประกาศผลการคัดเลือกบริษัทเอกชน 4 บริษัทจากที่ยื่นขอ 28 บริษัทให้สร้างคอนเทนเนอร์ยาร์ด หรือสถานที่ตรวจและบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออก เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดอย่างหนักของท่าเรือในปัจจุบัน งานนี้โงวฮกเป็น 1 ใน 4 บริษัทนี้ด้วย

การขยายตัวของโงวฮกนั้นเป็นความพยายามที่จะขยายตัวให้ครบวงจรในแนวดิ่ง (VERTICAL INTEGRATION) ขาดก็เพียงการบริหารท่าเรือเองเท่านั้น ซึ่งเป็นความฝันของกลุ่มโงวฮกที่อยากจะไปให้ถึง

ปลายปี 2530 รัฐบาลประกาศให้เอกชนเข้าประมูลเพื่อเข้าบริหารท่าเรือสงขลาและภูเก็ตโงวฮกเป็นบริษัทหนึ่งที่สนใจโครงการนี้อย่างมากๆ เพราะเขาได้ไปบุกเบิกธุรกิจเดินเรือที่ภาคใต้มากว่า 10 ปีแล้ว

โครงการนี้มีผู้ยื่นความจำนงที่จะเข้ามาบริหารจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมาถึงขั้นเปิดซองประมูลเพียง 4 บริษัท

บริษัทสงขลา-ภูเก็ต อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างโงวฮกกับพีแอนด์ไฮแห่งประเทศออสเตรเลีย ซึ่เงป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับนับถือกันในต่างประเทศเรื่องการบริหารท่าเรือ ส่วนโงวฮกนั้นเป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีความชำนาญและคุ้นเคยกับการท่าเรือเป็นอย่างดี เป็นสูตรผสมที่ลงตัว จึงเป็นตัวเก็งว่าจะเป็นบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกในที่สุด

แต่เมื่อมีการเปิดซองประมูลพิจารณาข้อเสนอของทั้ง 4 บริษัท ปรากฏว่าคณะกรรมการตัดสินใจเลือก บริษัทซีทีไอ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2527 เป็นบริษัทที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารท่าเรือเลย แต่เนื่องจากเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐมากที่สุด ห่างจากบริษัทอื่นค่อนข้างมาก

(อ่านเรื่องราวการประมูลโดยละเอียดจาก "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ปีที่ 5 (2) ฉบับที่ 118 (85))

ภายหลังการประกาศผล ปรากฏว่า มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ผลตอบแทนที่ซีทีไอให้เป็นสิ่งที่ทำได้ไหม? ซีทีไอบริหารได้จริงหรือ? จนกระทั่งหมดยุครัฐบาลเปรม 5 ก็ยังไม่มีการเซ็นสัญญา

เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลชาติชาย กระแสที่จะล้มประมูลรุนแรงขึ้นโดยสหภาพแรงงานการท่าเรือประท้วงว่า ความจริงเมื่อคำนวณผลตอบแทนแล้วน่าจะได้มากกว่าที่ซีทีไอเสนอเสียอีก เรื่องดูจะยุ่งยากไปอีกเมื่อ ถาวร จุณณานนท์ รองผู้อำนวยการท่าเรือออกมาให้ข่าวว่าการท่าควรจะเข้าเป็นผู้บริหารการท่าเรือทั้ง 2 แห่ง โดยที่อาจจะให้เอกชนเข้าดำเนินการแทนทั้งหมด จนกระทั่งวันที่เขียนต้นฉบับนี้ ท่าเรือสร้างเสร็จไปแล้วเดือนกว่า แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการเซ็นสัญญา และพร้อมจะเข้าบริหารเมื่อไหร่!?

เรื่องทั้งหมดนี่มันเกี่ยวกับโงวฮกตรงที่โงวฮกประมูลไม่ได้จึงถูกกล่าวหาว่าพยายามตีรวนและอยู่เบื้องหลังการล้มประมูลครั้งนี้

"ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเราจึงถูกโจมตี ทั้งๆ ที่เราอยู่เฉยๆ ทำทุกอย่างตามขั้นตอนเมื่อไม่ได้สำหรับเราก็จบเพียงเท่านั้น" สุเมธกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

อีกด้านหนึ่งคนในวงการเรืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับโงวฮกว่า "โงวฮกเป็นบริษัทเก่าแก่ที่มีปรัชญาในการทำการค้าแบบบบที่เรียกว่าทุกอย่างต้องทำด้วยมือตัวเองมาตลอด โงวฮกเพิ่งเปิดตัวออกมาประมูลแบบนี้เป็นครั้งแรก ผมกลับเห็นว่าโงวฮกไม่เป็นมวย ไม่ทันเกมการต่อสู้ที่ต้องมีการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วย"

โอกาสของโงวฮกที่จะบริหารท่าเรือยังมีอีก เพราะท่าเรือแหลมฉบังจะเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่เริ่มให้เอกชนแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมประมูลแล้ว โงวฮกศึกษาข้อมูลอย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งส่ง LETTER OF INTENT ไปแล้ว บทเรียนจากการประมูลคราวที่แล้วคงช่วยยกระดับความรับรู้ของโงวฮกมาทีเดียว ถ้าพวกเขารู้จักสรุปบทเรียน

โงวฮกเป็นบริษัทที่ LOW PROFILE อย่างมากๆ ขนาดตึกที่ทำการ 12 ชั้น และ 15 ชั้น ด้านหลัง ไม่มีป้ายชื่อติดเหมือนอาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่กลับมีชื่อ CITI BANK ซึ่งเช่าที่บางส่วนเป็นสำนักงาน น้อยคนนักที่จะรู้ว่าตึกนี้เป็นของโงวฮก!

โงวฮกเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีสไตล์การบริหารแบบ CONSERVATIVE มาช้านาน จุดแข็งคือ มีคนที่มีความชำนาญ (SKILL) ในธุรกิจนี้จำนวนมาก ขณะที่ยังขาดมืออาชีพสำหรับการบริหารงานภายในให้เป็นองค์กรที่ทันสมัยและคล่องตัวในการทำงาน

สุเมธ หัวเรือใหญ่ของคนรุ่นที่ 2 ดูจะตระหนักถึงประสิทธิภาพของระบบงานภายในจึงผลักดันให้มีการนำเอาระบบ COMPUTER มาใช้เป็นบริษัทแรกของวงการเรืออีกเช่นกัน แม้จะต้องใช้เวลามากทีเดียวกว่าจะทำให้พนักงานยอมรับและเห็นถึงประโยชน์ใช้สอยของมัน

การนำเอาบริษัทอาร์ซีแอลเข้าเป็นหลักทรัพย์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยเข้าไปอยู่ในกระดานที่หนึ่งนับเป็นบริษัทเรือแห่งแรกที่เข้าสู่ตลาดฯ นับเป็นจุดเริ่มของการเปิดตัวสู่สาธารณชนมากขึ้น

งานเซ็นสัญญา UNDERWRITE หุ้นอาร์ซีแอลกับโบรกเกอร์ 9 ราย ที่โรงแรมรีเจ้นท์ วันที่ 1 กันยายน 2530 เป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโงกฮก นพพร พงษ์เวช กรรมการรองผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี ให้ความเห็นกับหุ้นตัวนี้ว่า

"หุ้นตัวนี้น่าจะไปได้ดี เพราะโงวฮกเป็นบริษัทเรือใหญ่ เป็นมือโปรด้านนี้ คู่แข่งในเมืองไทยที่ใกล้เคียงกันยังไม่เห็น เขามีคอนแทร็กกับบริษัทเรือใหญ่ๆ มากมาย และการเพิ่มทุนครั้งนี้ก็เพื่อซื้อเรือเพิ่ม อนาคตน่าจะไปได้ไกล"

ปีที่ 60 ของโงวฮกมีความเคลื่อนไหวภายนอกคึกคักพอสมควร "ผู้จัดการ" ทราบว่า ทางโงวฮกมีโครงการที่จะขยายงานอีกมาก แต่โงวฮกและบริษัทในเครือจะไปได้ไกลเพียงใด? ขึ้นอยู่กับว่าการบริหารภายในจะเปลี่ยนแปลงได้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่กำลังจะขยายตัวได้รวดเร็วแค่ไหน?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.