อีบีซีไอวันนี้ได้เกิดและได้ใหญ่


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจที่ปรึกษามักถูกประเมินว่า เป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่ได้ยากและขยายได้จำกัด เพราะการขาย "คำปรึกษา" และบริการต่าง ๆ เช่น ทำชิปปิ้ง ปรึกษาด้านกฎหมายธุรกิจ ฯลฯ เป็นเพียงงานเสี้ยวเล็ก ๆ ไม่ได้นำได้เนื้อมากนัก และคู่แข่งก็มีทั้งที่เป็นพวกสำนักงานเอกชนเล็ก จนถึงบริการของแบงก์ใหญ่

"ผู้จัดการ" เคยจับตาธุรกิจทำนองนี้มาแล้ว โดยดูบริษัทเอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น (อีบีซีไอ) ของสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์เป็นตัวอย่างตั้งแต่เมื่อครั้งบริษัทนี้เปิดตัวเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2529

จนถึงวันนี้เกือบ 3 ปีแล้ว จากออฟฟิศขนาดย่อม ๆ ที่ตึกเอ็กซ์เซล มาเป็นที่โอ่โถง ณ ตึกยูเอ็มดับบลิว ชั้น 6 และจากสินทรัพย์แค่ 1 แสนบาท วันนี้ 4 แสนบาทแล้ว

ข้อเท็จจริงประดานี้ทำให้อีบีซีไอขึ้น "รายงานผู้จัดการ" อีกครั้งหนึ่ง ด้วยข้อประเมินที่ลงรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

อีบีซีไอได้เกิดเพราะอาศัย "ช่องว่างทางตลาด" อันเนื่องจากการปรับตัวของระบบราชการไม่ทันกับกระแสการส่งออกที่บูมนับแต่ปี 2529 ซึ่งสภาพัฒน์ออกแผน 6 เน้นการส่งออก และถึงขีดสุดที่คาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกจะเหยียบ 380,000 ล้านบาท

"นโยบายของพลเอกเปรมต้องชมไว้ตรงนี้ว่า วางแผน 6 ไว้ดีเน้นการส่งออก แต่ยังลืมสิ่งที่จะ SUPPORT การส่งออกในเรื่องกำลังคน ถ้าไปดูที่กรมศุลในฝ่ายที่เกี่ยวกับการชดเชยภาษี เช่นมุมน้ำเงินพวก 19 ทวิ เอกสารนี้เป็นตั้ง ๆ เจ้าหน้าที่เซ็นไม่ทัน ตรวจสอบไม่ทัน เพราะการขอคืนมันเยอะมาก แล้วกำลังคนที่ให้คือ 2%" แหล่งข่าวเล่าสภาพให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

นอกจากนี้ขั้นตอนของหน่วยราชการซับซ้อนมาก เช่น ถ้านักธุรกิจรายหนึ่งต้องการได้สิทธิประโยชน์จากพิธีการศุลกากร ซึ่งมีหลากหลายแบบ อาทิ การคืนอากร ม.19 ทวิ การชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร (มุมน้ำเงิน) การจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าและสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ

เขาต้องติดต่อถึง 5 หน่วยงาน ผ่านโต๊ะทำงานนับเป็นสิบ ๆ ตัวกว่าจะรับรู้ในระดับหลักการ มิพักต้องพูดถึงการปฏิบัติ ซึ่งซับซ้อนซิกแซกกว่ามาก เวลาที่เสียไปคิดเป็นมูลค่ามากมาย

แต่ถ้ามาหาอีบีซีไอเพียงหน่วยงานเดียว เรื่องราวซับซ้อนเหล่านี้ก็จะกระจ่างชัดในเวลาอันสั้น แน่นอนว่านักธุรกิจย่อมเลือกใช้บริการที่นี่

งานของอีบีซีไอที่เข้าไปลดความน่าปวดหัวจากความซับซ้อนของระบบราชการนี้ให้นัยสำคัญอย่างน้อย 2 ประการคือ หนึ่ง - นี่เป็นธุรกิจที่ปรึกษาของคนไทยที่ฝรั่งทำไม่ได้และเป็นคู่แข่งก็ไม่ได้ เพราะรู้ไม่ซึ้งและตามไม่ทันกลไกภายในของระบบราชการ

สอง - ถ้าธุรกิจที่ปรึกษาใดรวบรวมงานบริการไว้ได้อย่างหลากหลาย และครอบคลุม ทุกปริมณฑลก็จะเป็นธุรกิจที่ "ได้ใหญ่" เหนือกว่าคู่แข่ง

อีบีซีไอทำได้ถึงขั้นนี้จึง "ได้ใหญ่" ในวงการจะมีคู่แข่งก็เฉพาะงาน แต่ยังไม่มีบริษัทใดให้บริการได้ครอบคลุมเท่า

อีบีซีไอมีข่ายการให้บริการ 4 หมวดสำคัญคือ หนึ่ง - ด้านพิธีการศุลกากรซึ่งแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ การนำเข้าส่งออก (โดยเฉพาะชิปปิ้ง) และการได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรเพื่อการส่งออกเช่น 19 ทวิ มุมน้ำเงิน มุมเหลือง การชดเชยภาษี เป็นต้น

สอง - ด้านการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอรับพิจารณาโครงการเพื่อหาความเป็นไปได้ให้ได้รับการส่งเสริม

สาม - ด้านการค้าระหว่างประเทศ ให้บริการประสานงานระหว่างผู้ส่งออกในประเทศกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ

สี่ - ด้านการจัดสัมมนาอบรม ให้ความเข้าใจและข้อมูลสำคัญด้านการส่งออก

ในประดางานเหล่านี้ งานพิธีการศุลกากรด้านการขอรับสิทธิประโยชน์เป็นงานที่เข้าบริษัทมากที่สุด และเป็นรายได้สำคัญที่สุด นอกจากนี้ยังขยายตัวไปอย่างมากตามความต้องการของผู้ส่งออก ทั้งนี้ก็เพราะเป็นเงินทองที่ผู้ส่งออกจะได้มาลดต้นทุนการผลิต

งานที่บูมและขยายตัวรองลงมาก็คือ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ-คลื่นที่ถาโถมมายังไทยเป็นระลอก

ส่วนงานการค้าระหว่างประเทศ ก็มีเป็นกระแสเช่น นำผู้ส่งออกไปดูนิทรรศการอาหารที่ฝรั่งเศส เยี่ยมชมโรงงาน และพบผู้นำเข้า และงานด้านสัมมนาก็จัดขึ้นอย่างมากตามความต้องการเพื่อสร้างภาพพจน์ และความเข้าใจต่อบริษัท

ลูกค้าของอีบีซีไอทุกวันนี้นับเป็นบริษัทรายใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น อาทิ บริษัทเอสโซ่ให้ช่วยขอคืนอากร ม.19 ทวิ บริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ให้ทำชิปปิ้งนำเข้าเม็ดพลาสติก บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติให้ทำชิปปิ้งนำเข้าคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้

ส่วนค่าบริการที่คิดตามลักษณะงานโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินที่ได้คืนจากกรณีเงินชดเชยภาษี การคืนภาษี เป็นต้น ในกรณีของบีโอไปก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินลงทุนตลอดจนการเก็บข้อมูลให้ เปอร์เซ็นต์ของค่าบริการนั้นอยู่ในระหว่าง 0.5-10% ยกตัวอย่างว่า ถ้าได้คืนภาษี 5-10 ล้านบาท บริษัทได้ 5 % ก็คิดเป็นเงิน 250,000-500,000 บาท

ประสบการณ์เช่นนี้ทำให้เห็นจริงเห็นจังได้ว่า ธุรกิจที่ปรึกษาเพื่อการส่งออกอย่างอีบีซีไอจะต้องทะยานไปข้างหน้า ใหญ่โตขึ้นท่ามกลางการแสวงหาตลาดและการผลิตเพื่อการส่งออกของพ่อค้าและนักอุตสาหกรรมล

เห็นตัวอย่างแบบนี้ ใครจะลองเล่นบ้างก็โดดลงมาเลย!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.