ครั้งหนึ่ง "ผู้จัดการ" เคยกล่าวถึง ดร.ปรัชญาทวี ตะเวทิกุล
ว่า เขาคือผู้สืบทอดและนักไต่เขาสูงแห่ง "บางกอกโพสต์" แต่สำหรับวันนี้
ดร.ปรัชญาทวี กลับมาสู่อ้อมอกที่ทำงานแห่งเดิมอีกครั้ง ที่เก่า ตำแหน่งเก่า
ต่างกันเพียงกาลเวลา
ดร.ปรัชญาทวีเป็นบุตรชายของ ทวี ตะเวทิกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
พ่อของเขาเสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์ "กบฎวังหลวง" เพราะถูกยิงที่สมุทรสงคราม
ขณะที่ ดร.ปรัชญาทวีเพิ่งมีอายุได้เพียง 1 ขวบ
ด้วยความมุมานะพยายาม เขามีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้รับปริญญามา 3
ใบ ปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศและปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ที่โอคลาโฮมาสเตท และปริญญาเอก สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศที่เนบราสกา
ดร.ปรัชญาทวีกลับมาเมืองเมื่อปี 2519 พร้อมกับภรรยาที่เป็นหลานสาว พล.อ.ท.
ประหยัด ดิษยศิริน (บิดาของพระสวามี น.ต.วีรยุทธ ดิษยศิริน)
เขาทำงานในกระทรวงการต่างประเทศสมัยพิชัย รัตตกุลเป็นรัฐมนตรี เมื่อถึงยุครัฐมนตรีอุปดิษฐ์
ปาจริยางกูร ก้าวขึ้นเป็นเลขานุการรัฐมนตรี เรื่อยมาจนสมัยรัฐมนตรีสิทธิ
เศวตศิลา แล้วเป้นผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ จากนั้นขึ้นสู่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมสารนิเทศ
หลังจากที่ทำงานในกระทรวงมาเกือบ 8 ปี
อายุเพียงสามสิบกว่า ๆ กับตำแหน่งรองอธิบดี นับว่ารวดเร็วและยังหนุ่มมาก
ๆ
"ผมตัดสินใจลาออกจากกระทรวงเมื่อ 1 กรกฎาคม 2529 เพราะปัญหาสุขภาพประการหนึ่ง
ผมทำงานหนักมากจนมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง จึงอยากพักผ่อน กับอีกประการหนึ่ง
การที่เราก้าวขึ้นมาเร็วมากในขณะที่อายุยังน้อย ทำให้บางคนอดอิจฉาไม่ได้
ซึ่งหลายเรื่องทำให้ผมไม่สบายใจ ผมเลยตัดสินใจลาออก" ดร.ปรัชญาทวีทบทวนความหลังให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ช่วงจังหวะพอดีนั้น หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์กำลังมีการปรับตัวครั้งใหญ่
เอียน ฟอเซท และเท่ห์ จงคดีกิจ จึงชวนเขาเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการร่วม (ASSOCIATED
EDITOR) คู่กับเท่ห์ เพราะแต่เดิมนั้น ดร.ปรัชญาทวีเขียนบทความประจำกับบางกอกโพสต์อยู่แล้วประกอบกับความผูกพันที่เชื่อมโยงมาแต่รุ่นพ่อ
"ผมอยู่บางกอกโพสต์ 1 ปี 1 เดือน มีปัญหาในการทำงานหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งคือนโยบายในการเสนอข่าว
บางครั้งมันไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ในฐานะสื่อมวลชน ผมคิดว่าเราต้องเสนอข่าวที่เราได้มาอย่างครบถ้วน
แต่หลายข่าวที่เราได้มากลับถูกปฏิเสธที่จะเสนอออกไป ผู้สืบทอดแห่งบอกกอกโพสต์ก็เลยต้องมานั่งอยู่ตรงนี้แหละครับ"
ดร.ปรัชญาทวีกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
ดร.ปรัชญาทวีออกมาตั้งบริษัทยูไนเต็ด คอมมิวนิเคชั่น จำกับ หรือยูนิคอม
เป็นผู้จัดรายการ "ช่องทางเศรษฐกิจ" ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง
5 แพร่ภาพทุกวันเวลา 22.45 น. เป็นเวลา 15 นาที เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
เป็นรายการข่าวที่เจาะด้านเศรษฐกิจ-ธุรกิจโดยเฉพาะ ซึ่งคนที่ชมแล้วหลายคนเอ่ยปากว่าเป็นรายการที่มีคุณภาพรายการหนึ่ง
"ผมกับคุณสันติ ภิรมย์ภักดีลงขันกันครั้งแรก 12 ล้าน ซื้อพวกอุปกรณ์กล้อง
สร้างสตูดิโอ ไม่รวมค่าเช่าเวลาสถานีอีกเดือนละ 8 แสน ระยะแรก ๆ ออกจะหนักมาก
ๆ เพราะเราเป็นโปรดิวเซอร์เจ้าใหม่ รายการก็แนวใหม่ ทางคุณสันติก็ช่วยผมมากทีเดียว
เขาเป็นเพื่อที่ดีสำหรับผมในสถานการณ์นั้นอย่างมาก" ดร.ปรัชญาทวีกล่าว
คนในวงการทีวีตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องแปลกไม่น้อยสำหรับช่อง 5 ที่เปิดโอกาสให้คนนอกเขามาแตะต้องรายการข่าว
ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่อง SENSITIVE สำหรับสถานีโทรทัศน์ที่ทุกคนบอกว่า "อนุรักษ์นิยม"
ทางช่อง 5 เขาไว้ใจและให้เกียรติผมมาก เขาไม่ค่อยมาตรวจสอบมากมายนัก เพราะถึงอย่างไร
เราก็ดำเนินไปตามนโยบายของเขาอยู่แล้ว"
แต่ ดร.ปรัชญาทวี ก็ไม่เคยไปแตะต้องรายการข่าว 2 ทุ่มเลย แม้จะมีลักษณะเกี่ยวข้องกันและน่าจะเป็นช่องทางเช่นที่บริษัทแปซิฟิกเข้าไปทำรายการข่าวของช่อง
9 อีกทั้งก็มีข่าวอีกว่ามีบางบริษัทพยายามเข้าไปในลักษณะเช่นนี้
"ผมเป็นคนเจียมเนื้อเจียมตัว เมื่อเขาให้มาเท่านี้ ผมก็รับเท่านี้"
ดร.ปรัชญาทวีไขข้อแคลงใจ
แต่ "ช่องทางเศรษฐกิจ" ก็ต้องยุติไปเมื่อขึ้นเดือนสิงหาคม หลังจากจัดรายการมาได้
6 เดือน ดร.ปรัชญาทวีกล่าวว่าเป็นเพราะเวลาแพร่ภาพค่อนข้างดึกมากเกินไป บางครั้งถ้ามีรายการพิเศษ
"ช่องทางเศรษฐกิจ" ก็ตกไปเกือบเที่ยงคืน กลายเป็นปัญหาแก่สปอนเซอร์
แล้วในที่สุดก็นำไปสู่การตัดสินใจกลับไปรับราชการอีกครั้งในตำแหน่ง "รองอธิบดีกรมสารนิเทศ"
ซี.9 มีเจตน์ สุจริตกุลเป็นอธิบดีคนใหม่เช่นเดียวกัน หลังจากที่เขาได้รับการชักชวนมาเป็นเวลานานแล้ว
เพราะแม้ว่า ดร.ปรัชญาทวีจะออกมาจากกระทรวงการต่างประเทศแต่ก็ยังมีความผูกพันและเข้าไปช่วยงานของกระทรวงบ่อยครั้ง
รวมทั้งตัว ดร.ปรัชญาทวีเองก็ได้รับวามไว้เนื้อเชื่อใจจาก พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลาเป็นอย่างดี
"ทางยูนิคอมค่อนข้างมั่นคงพอสมควรแล้ว ผมจึงกล้าไป เพราะแม้ว่าเราจะไม่มีรายการช่องทางเศรษฐกิจในช่วงนี้
แต่เราก็มีรายการสารคดีบ้านเรา และคิดว่ากำลังจะจัดทำรายการใหม่ที่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้เรายังรับงานผลิตสารดีสำหรับหน่วยงานที่ว่าจ้างอีกด้วย ถึงผมจะไม่อยู่
ทางยูนิคอมก็สามารถทำงานไปได้"
ดังนั้นการกลับไปรับราชการอีกครั้งของ ดร.ปรัชญาทวี จึงเป็นบรรยากาศที่ปลอดโปร่งมาก
ๆ
"ผมไม่ได้หวังจะเป็นนักการทูต แต่คิดว่าผมคงเป็นประโยชน์ ในแง่ที่จะเอาประสบการณ์ช่วงที่มาอยู่ข้างนอกไปใช้"
ดร.ปรัชญาทวีกล่าวสรุป
และบางทีการไต่เขาลูกนี้อีกครั้ง คงไม่ชันไม่ลื่นเช่นครั้งก่อน!