วิชาการฯททท.ชง 3 โครงการปฎิวัติท่องเที่ยว จัดทำดัชนีชี้วัด-ซัพพลายเชน


ASTV ผู้จัดการรายวัน(18 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กองวิชาการท่องเที่ยวเพิ่งตื่น ลุกปฏิวัติการทำงาน ชง 3 โครงการ งบ 5 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 บูรณาการกฎหมาย จัดทำดัชนีชี้วัด และ จัดการระบบซัพพลายเชน เตรียมพร้อมรับมือเปิดเขตการค้าเอฟทีเอ สอดรับนโยบายครีเอทีฟอีโคโนมี ดันท่องเที่ยวยั่งยื่น

น.ส.สุชาวดี ศรีสุวรรณกาฬ ผู้อำนวยการกองวิชาการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า แผนการทำงานสำหรับปีงบประมาณ 2554 ทางกองวิชาการจะเร่งดำเนินงานใน 3 โครงการ โดยใช้งบประมาณราว 5 ล้านบาท ได้แก่ 1.การรวบรวมแก้ไขสะสางกฎหมายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2.การจัดทำระบบซัพพลายเชน หรือห่วงโซ่อุปทานให้แก่ภาคผู้ประกอบการ และ 3 การจัดทำดัชนีชี้วัดให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

โดยทั้ง 3 โครงการดังกล่าวจะทยอยทำให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2554 โดยมุ่งหวังสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการมุ่งสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากล และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน พร้อมรับมือกับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(เอฟทีเอ) ภาคบริการ ที่จะมีขึ้นในปี 2558 โดยแผนการทำงานทั้งหมดจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของครีเอทีฟอีโคโนมี หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

ทั้งนี้ในเรื่องของการรวบรวมสะสางข้อกฎหมาย ก็เพื่อแก้ปัญหาข้อติดขัด เพราะจากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า การทำธุรกิจท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ร.บ.พื้นที่การใช้อุทยานแห่งชาติ หรือแม้กระทั้ง พ.ร.บ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น แต่ละฉบับที่ข้อบังคับที่สอดคล้องและขัดแย้งกันบ้าง ซึ่งเป็นอุปสรรค ดังนั้น ทางกองวิชาการ จะข้อเข้ามาบูรณาการให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว มีความสอดคล้องกัน ดูทั้งข้อดีข้อเสีย การใช้กฎหมาย เมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเพื่อพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตามลำดับ

“เราต้องจัดบุคลากรลงพื้นที่ ทำโฟกัสกรุ๊ป คุยและทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสำรวจความต้องการของคนในชุมชน แต่ละพื้นที่ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อบูรณาการกฎหมายร่วมกันให้สำเร็จ”

ส่วนเรื่องการจัดทำระบบซัพพลายเชน จะต้องมีการสำรวจก่อนว่าแต่ละแหล่งท่องเที่ยว มีที่พักแบบใด ขนาดเท่าใด การเดินทางเข้าถึงเป็นอย่างไร และแต่ละแหล่งท่องเที่ยวมีกิจกรรมใดให้แก่นักท่องเที่ยวบ้าง เราต้องนำมาจัดการให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว และ กระจายตัวของการลงทุน ให้เพียงพอ ไม่ใช่กระจุกตัวเช่นทุกวันนี้


อย่างไรก็ตามการทำดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรม จะเก็บข้อมูลใน 3 ประเด็นหลัก คือ วอนนิ่ง รีดดิ้ง และ คอมพาซีทอินเด็กซ์ เบื้องต้นจะแจ้งข้อมูลทุกครึ่งปี เพื่อเป็นตัวชี้วัดให้ภาคเอกชน ได้รู้ความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมไปพร้อมกับการพยากรไปข้างหน้า เพื่อเตรียมความพร้อม

“ความจริง กองวิชาการ มีงานที่จะต้องทำและศึกษาอีกมาก เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ให้พัฒนาสู่ความยั่งยืน ซึ่งทางกองจะทยอยจัดทำเป็นโครงการออกมาอย่างต่อเนื่อง” ผู้อำนวยการกองวิชาการกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.