เตือนรัฐอย่าใช้ยาแรงสกัดบาทแข็ง หวั่นซ้ำรอยวิกฤติปี 40 เศรษฐกิจพัง


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กรณ์ จาติกวณิช - ประสาร ไตรรัตนวรกุล

มาตรการเก็บภาษี 15% เงินต่างชาติในพันธบัตร สกัดบาทแข็งไม่อยู่ นักบริหารเงินแนะรัฐ-คลัง-แบงก์ชาติ อย่าหักลำเงินบาทแข็ง ชี้เป็นทั้งโลก ย้ำดูปี 2540 เป็นตัวอย่าง ทำได้แค่ประคองสถานการณ์ วอนกลุ่มผู้ส่งออกทำใจปรับตัวรับสภาพ ชี้หาทางสร้างความสมดุลย์ระหว่างกลุ่มนำเข้า-ส่งออก

รัฐบาลออกมาตรการในการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย อัตรา 15% จากเงินได้ดอกเบี้ยและกำไรจากการขายพันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยของนักลงทุนต่างประเทศ มีผล 13 ตุลาคม 2553 นับเป็นมาตรการล่าสุดที่กระทรวงการคลังนำมาใช้เพื่อการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท หลังจากที่แข็งค่าจากต้นปีกว่า 11% ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย

มาตรการดังกล่าวทุกคนรู้ดีว่าไม่สามารถทัดทานการแข็งค่าของเงินบาทได้ เพียงแต่เป็นการชะลอการไหลข้าวของเงินตราต่างชาติระยะหนึ่งเท่านั้น หรือแม้กระทั่งผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 20 ตุลาคมจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 1.75% ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยลดผลตอบแทนจากเงินทุนไหลเข้า แต่ในภาพใหญ่แล้วค่าเงินบาทก็ยังคงมีทิศทางแข็งค่าต่อไป

ยึดปี 40 เป็นบทเรียน

นักบริหารเงินรายหนึ่งมองว่า ประเทศไทยยังคงใช้มาตรการที่ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเราไม่สามารถไปฝืนกระแสหลักของทิศทางค่าเงินได้ อีกทั้งการแข็งค่าของเงินสกุลในแถบเอเชียถือว่าเป็นกันทุกประเทศ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจในสหรัฐที่ยังไม่อยู่ในสภาวะฟื้นตัว การสร้างความสมดุลระหว่างค่าเงินกับภาคการส่งออกจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ธุรกิจส่งออกก็ต้องทำใจรับสภาพว่าหลังจากที่ปล่อยเงินบาทลอยตัวเมื่อปี 2540 อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของธุรกิจประเภทนี้ เมื่อเงินบาทแข็งค่าก็ต้องหาทางบริหารจัดการค่าเงิน

หากจะให้ทางการหันมาดูแลทุ่มกำลังทั้งหมดเพื่อปกป้องค่าเงินบาทเหมือนในอดีตนั้น ท้ายที่สุดก็จะเจ็บตัวกันทั้งประเทศ จะเห็นได้ว่าเกือบทุกประเภทในเอเชียใช้วิธีการประคอง หรือลดโอกาสและผลตอบแทนของเงินทุนต่างชาติทั้งนั้น ไม่มีใครกล้าที่จะออกมาตรการแรง ๆ ออกมาสกัดหรือปล่อยให้แบงก์ชาติออกไปต่อสู้กับเงินทุนไหลเข้าเพียงลำพัง

ที่ผ่านมาเรายังไม่ประสบความสำเร็จในเปิดให้ทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยในต่างประเทศด้วย เห็นได้จากเมื่อผลตอบแทนพันธบัตรเกาหลีลดลง กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศก็เสนอขายน้อยลง ทำให้เงินบาทไม่มีทางระบายมากนัก

จากนี้ไปภาครัฐควรเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางให้เงินบาทไหลออกในช่วงที่เกิดวิกฤติได้มากขึ้น โดยลองหันมาเพิ่มในภาคบุคคลให้มากขึ้น เช่น กลุ่มนักเรียนไทยที่เดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ กลุ่มท่องเที่ยวที่ค่าเงินบาทที่แข็งทำให้มีคนไทยนิยมเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง ทั้งกลุ่มนำเข้าหรือบริษัทน้ำมัน ภาครัฐควรเกลี่ยประโยชน์ที่ได้มาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น การผุดโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าหรือเมกะโปรเจคอื่น ๆ เพื่อนำเอาความได้เปรียบในเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งนำเข้าสินค้าและอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามาสร้างงานในประเทศให้มากขึ้น

แนะหาเครื่องมือบริหารจัดการ

จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในปี 2540 และปี 2553 นักลงทุนต่างชาติยังคงสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ทั้ง 2 ช่วงเวลา การโจมตีค่าเงินบาทในปี 2540 ที่พุ่งเป้ามายังประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในขณะนั้นใช้ระบบคงที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ และภาวะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงในขณะนั้นทำให้เป็นช่องโจมตีของทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาปกป้องค่าเงินจนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศหายไปจำนวนมากและระบบการเงินของไทยจึงต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่

มาในครั้งนี้เศรษฐกิจของไทยอยู่ในสถานะมั่นคง ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาทางการเงินเหมือนกับประเทศไทยในปี 2540 แต่ความสามารถทางด้านการบริหารจัดการลงทุนก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากค่าเงินได้อัตราแลกเปลี่ยนได้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน แตกต่างจากประเทศไทยที่ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติด้านอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใด เรายังไม่สามารถสร้างหรือผลตอบแทนได้คล่องตัวเหมือนกับเงินทุนจากต่างประเทศ

ถึงเวลานี้น่าจะมีการวางแผนในระดับชาติถึงมาตรการในการรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีว่า ควรจะมีทางออกอย่างไรบ้างหรือควรจะมีเครื่องมือในการผ่อนคลายหรือบรรเทาผลกระทบจากโลกการเงินในยุคปัจจุบันให้มากขึ้น ทั้งการสร้างขึ้นใหม่หรือปรับปรุงของเดิมให้ดีขึ้น

งานนี้จะเป็นบทพิสูจน์ถึงความสามารถในการบริหารจัดการท่ามกลางวิกฤติด้านอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ว่าจะสามารถประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นช่วงเงินดอลลาร์อ่อนได้อย่างไร โดยที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.