|

อีก 2 ปี ซีดีเพลงสูญพันธุ์? ฟันธง CD Collection มาแรง
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ตุลาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ปรากฏการณ์เปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา ของธุรกิจเพลงในเมืองไทยจากยุคอะนาล็อก ซึ่งมีรูปแบบดั้งเดิมเทปคาสเซตต์ ปัจจุบันกลายเป็นซีดีแผ่นวางขายตามร้านจำหน่ายซีดี มาสู่ยุคดิจิตอล มิวสิก ที่จำหน่ายเพลงผ่านการดาวน์โหลดจากมือถือและเว็บไซต์ออนไลน์ ก่อให้เกิดคำถามว่า อนาคตของธุรกิจซีดีเพลงในเมืองไทยจะไปไม่รอด ถึงขั้นสูญพันธุ์หรือไม่? อะไรคือสาเหตุทำให้ธุรกิจซีดีเพลงไม่เติบโตเท่าที่ควร? เป็นประเด็นที่ต้องหาคำตอบ…
จากการสำรวจของ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริหาร 2 ค่ายเพลงยักษ์ของเมืองไทยทั้ง เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซีอีโอ ค่ายอาร์เอส และเฮียเป็ด-สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม ค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เห็นตรงกันว่า ธุรกิจซีดีเพลงในปัจจุบันของบริษัทมีสัดส่วนรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตคาดว่าคงเหลือไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ และซีดีเพลงก็จะขายเป็นนิชโปรดักส์ (Niche Products) เป็นเพียงซีดี คอลเลกชั่น (CD Collection) สำหรับคอเพลงที่ชอบสะสมแผ่นเท่านั้น
“การเปลี่ยนจากยุคอะนาล็อก ที่ต้องพึ่งพาซีดีแผ่นมาเป็นยุคดิจิตอล มิวสิก เน้นดาวน์โหลดจากมือถือและเว็บไซต์ ทำให้อนาคตซีดีเพลงจะกลายเป็น CD Collection หรือสินค้าเฉพาะกลุ่ม(Niche Products) คาดว่าไม่เกิน 2 ปี ภาพดังกล่าวในอุตสาหกรรมเพลงในเมืองไทยจะเห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้น” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซีอีโอ ค่ายอาร์เอส บอก
ขณะที่ สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้ความเห็นด้วยว่า ตลาดซีดีเพลงหดตัวอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่เทคโนโลยี Mp3 และเว็บไซต์เกิดขึ้น อันส่งผลให้เทปผีซีดีเถื่อนเกลื่อนตลาด ส่วนหนึ่งเพราะซีดีแผ่นหนึ่งสามารถบรรจุไฟล์เพลง Mp3 ได้นับร้อยเพลง มีราคาจำหน่ายแตกต่างกันกว่า 10 เท่าตัว ดังนั้น ทำให้แผ่น Mp3 แพร่หลายอย่างรวดเร็วจนถึงจุดหนึ่ง ขณะเดียวกันผู้ผลิตเครื่องเล่นซีดีในตลาดมีปริมาณลดลงและถูกแทนที่ด้วยเครื่องเล่น Mp3 ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในตลาดโลกและเมืองไทยที่ไม่สนใจใช้ซอฟต์แวร์ประเภทดังกล่าว
“ยิ่งมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเกิดขึ้น ส่งผลให้ร้านจำหน่ายซีดีเพลงก็ลดจำนวนลง ประกอบกับปัญหาซีดีเถื่อน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการปกป้องหรือปราบปรามเข้มงวดเท่าที่ควร ทำให้ช่องทางจำหน่ายหดตัว หาซื้อสินค้าลำบาก ทำให้ธุรกิจซีดีเพลงจึงไม่เติบโตเท่าที่ควร”
ต้นตอใหญ่ซีดีไม่โต
เป็นแค่ของสะสม
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สาเหตุหลัก ทำให้ตลาดซีดีเพลงไม่เติบโตเท่าที่ควร อันส่งผลให้อนาคตซีดีเพลงกลายเป็นซีดี คอลเลกชั่นนั้น แหล่งข่าววงการเพลงให้ข้อมูลว่า มาจากปัจจัยหลัก 2 ข้อ ได้แก่ ข้อแรก-เทคโนโลยี โดยเฉพาะ Mp3 จัดเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้อุตสาหกรรมซีดีเพลงทั่วโลกและเมืองไทยได้รับผลกระทบหดตัวอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักคือ มีการนำเทคโนโลยี Mp3 มาใช้อัดเพลงที่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น ทั้งนี้ ถ้าหากทำไฟล์เองจากเทป หรือ CD โดยไม่นำออกเผยแพร่ เพียงแค่เก็บไว้ใช้เองก็ไม่เป็นการผิดกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ใช้มักนำ Mp3 เหล่านี้ออกแจกจ่ายให้ผู้อื่น ทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาระหว่าง MP3 กับธุรกิจเพลง ถือว่าเป็นปัญหาที่มีมานานไม่เฉพาะแต่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่ในอเมริกาก็มีปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของ MP3 เช่นกัน ดังเช่น กรณีพิพาทระหว่างค่ายเพลงต่างๆ กับเจ้าของเว็บ www.Audiogalaxy.com หรือ www.Napster.com เป็นต้น ซึ่งทั้งสองเว็บไซต์ต่างก็เป็นตัวกลางให้คนเข้าไปหาเพลงที่ต้องการและทำการดาวน์โหลด ซึ่งมีผู้เข้าไปใช้บริการอย่างมากมายจนทำให้ค่ายเทปต่างๆ ร้องเรียนว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลให้ยอดจำหน่ายแผ่นเสียงลด
ข้อสอง-ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ทางการไม่สามารถจัดการได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะการละเมิดที่มาจากผู้บริโภคมีอัตราเพิ่มขึ้น เพราะความสะดวกในเทคโนโลยีไรต์แผ่นซีดีจากคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำได้อย่างสะดวก นอกเหนือจากผู้ละเมิดที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาตที่ต้องผลิตโดยใช้เครื่องจักรปั๊มแผ่นซีดี อันมีต้นทุนและทำเป็นระบบ โดยจำหน่ายกันในท้องตลาดและแจกฟรีตามเว็บไซต์อย่างแพร่หลาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการจับกุมและปราบปรามให้หมดสิ้นไปได้ ส่งผลให้ซีดีเพลงลิขสิทธิ์ของศิลปินที่ค่ายเพลงผลิตออกมาจำหน่ายมียอดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
กับอีกภาพสะท้อน อันเป็นผลกระทบต่อธุรกิจเพลงอันเกิดจากปัญหาเทปผีซีดีเถื่อน เมื่อ 2 ค่ายเพลงยักษ์เมืองไทย ทั้งอาร์เอส และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หันมามุ่งเน้นตลาดดิจิตอล มิวสิกแทน โดยเน้นขายเพลงผ่านการดาวน์โหลดมือถือและเว็บไซต์ออนไลน์ ทำให้ยอดรายได้ผ่านช่องทางประเภทนี้ในระยะ 4-5 ปีของบริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมของดิจิตอล มิวสิกคิดเป็น 700-800 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ของค่ายเพลงผู้ผลิต (ไม่รวมโอเปอเรเตอร์มือถือ)
ข้อสาม-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมานิยมฟังเพลงผ่านมือถือและอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แทนการฟังจากวิทยุและดูจากโทรทัศน์ เนื่องจากโทรศัพท์มือถือมีราคาถูกและมีระบบฟังก์ชั่นการทำงาน โดยระบบเสียงที่จัดว่าใช้ได้ระดับหนึ่ง ขณะที่อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันความเร็วได้ถูกพัฒนาให้เป็นแบบ Hi-Speed และมีราคาไม่แพง ทำให้เว็บไซต์จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคหันเข้าไปฟังและซื้อเพลงผ่านระบบดังกล่าว ขณะที่ร้านจำหน่ายซีดีเพลงในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงมากไม่เกิน 1,000 ร้านค้า จากเดิมมีจำนวนหลายพันร้านค้าทั่วประเทศ เมื่อ 4-5 ปีก่อน จึงทำให้ไม่สะดวกในการซื้อหาสินค้าเหมือนในอดีต จึงไม่แปลกที่ผู้บริโภคหันไปดาวน์โหลดจากมือถือและเว็บไซต์มากขึ้น
“ปัจจัยหลักทั้ง 3 ข้อ มีความเชื่อมโยงกัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจซีดีเพลงที่ไม่เติบโตเท่าที่ควรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคผู้ผลิตคอนเทนต์เพลงไทย อย่างอาร์เอสและจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รวมทั้งค่ายผู้จัดจำหน่ายเพลงสากลในเมืองไทยรู้อุปสรรคนี้จึงได้ปรับตัวและโมเดลธุรกิจ เพื่อหารายได้ชดเชยส่วนที่หายไป และทำให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างจริงจัง ตั้งแต่ 3-4 ปีก่อนจนถึงขณะนี้”
แกรมมี่ดิ้นสู้เพื่ออยู่รอด
ทำเพลง Mp3 ลงตลาดครั้งแรก
แน่นอนว่า เมื่อตลาดซีดีเพลงไม่เติบโตและมีแนวโน้มกลายเป็นของสะสมเหมือนแผ่นเสียงนั้น ทำให้ค่ายผู้ผลิตเพลงยักษ์ใหญ่อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยต่อไปได้ โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก้าวแรกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ได้ให้น้ำหนักในการทำตลาดดิจิตอล คอนเทนต์อย่างจริงจัง มีการลงทุนสร้างระบบรองรับเทคโนโลยีหลายสิบล้าน จัดทำเว็บไซต์จำหน่ายเพลงดาวน์โหลดกับมือถือและออนไลน์ เป็นการขยับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างจริงจัง จึงทำให้สายงานธุรกิจดิจิตอล คอนเทนต์ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เติบโตมีรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี โดยตั้งแต่ปี 2551 2552 และปี 2553 คิดเป็นจำนวน 611 ล้านบาท 890 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าเป็น 785 ล้านบาทในปีนี้
พร้อมกันนั้น ก้าวต่อไป บริษัทได้ลดสัดส่วนของซีดีแผ่นเพลงลง พร้อมกับหันไปให้น้ำหนักกับการผลิตคอนเทนต์เพลงรูปแบบใหม่ นั่นคือ รูปแบบ Mp3 โดยผู้บริหาร สุวัฒน์ บอกว่า แกรมมี่จำต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านโปรดักส์ (Products) และราคา (Prices) เพื่อสู้กับซีดีเถื่อนที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และเป็นครั้งแรกของบริษัทที่ผลิตเพลงโปรดักส์ แบบ Mp3 ลงสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้ โดยราคาของ Mp3 อาจทำเป็น 2 รูปแบบ ประเภทราคาถูกกว่าตลาดและราคาแพงระดับพรีเมียม ซึ่งอาจมีของแถม หรือทำเป็นสินค้าที่ระลึก โดยกำหนดวางตลาดในปลายปีนี้
“ต่อไปเพลงของแกรมมี่อาจไม่ได้ขายแบบซีดีแผ่น แต่ขายเป็นแบบ Mp3 แทน เพื่อเป็นทางรอดของธุรกิจ โดยโปรโมชั่นอาจต้องเปลี่ยนวิธีการทำกลยุทธ์โฆษณา หันมาใช้สื่อหลักที่กลุ่มเป้าหมายนิยมเสพกันอยู่บ่อยๆ เช่น มือถือ และคอมพิวเตอร์ ส่วนแมสมีเดียอย่างวิทยุและโทรทัศน์ต้องลดน้ำหนักลง เพราะพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายหันมาบริโภคสื่อออนไลน์มากขึ้น และทำให้กลุ่มเป้าหมายเห็นโฆษณาดังกล่าวได้ง่ายและบ่อยขึ้น”
อาร์เอส First Mover
เดินต่อ โมเดล Fully Digital Music
ขณะที่ค่ายอาร์เอสนั้นดูเหมือนว่า ขณะนี้กำลังเก็บเกี่ยวดอกผลกำไรจากรายได้ของกลุ่มดิจิตอล คอนเทนต์อย่างจริงจัง เพราะบริษัทได้เตรียมความพร้อมเดินหน้าปรับโมเดลธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อ 3-4 ปีก่อนหน้าแล้ว โดยบอสใหญ่เฮียฮ้อเล่าให้ฟังว่า เมื่อสัญญาณการหมดยุคธุรกิจเพลงแบบอะนาล็อกเข้าสู่ดิจิตอล มิวสิกเกิดขึ้นในระยะแรก เมื่อ 3-4 ปีก่อน อาร์เอสถือโอกาสปรับโมเดลทำธุรกิจขนานใหญ่ คือ ยกเลิกสายการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ เครื่องจักร โรงงานผลิต เคลียร์สต๊อกสินค้าทั้งหมดหันไปใช้รูปแบบว่าจ้างผลิตแทน
หลังจากที่รายได้จากกลุ่มธุรกิจเพลงลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมาได้ออกแบบและใช้โมเดลธุรกิจให้เป็น “Fully Digital Music”ครบเครื่องขับเคลื่อนธุรกิจในกลุ่มคอนเทนต์เพลง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาคือ รายได้ดิจิตอล คอนเทนต์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเกินเป้าหมายกว่า 40-50เปอร์เซ็นต์ มียอดดาวน์โหลดในแต่ละเดือนทุบสถิติใหม่ตลอด ตอกย้ำว่า สิ่งที่ตัดสินใจช่วงเวลานั้นถูกต้อง เพราะธุรกิจเพลงได้เข้าสู่ยุคดิจิตอล มิวสิกอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่า โมเดลธุรกิจเพลงของอาร์เอสแบบ Fully Digital Music กำลังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
“การลดการพึ่งพาซีดีเพลงมาเป็นดิจิตอล มิวสิก อาจต้องสูญเสียและเจ็บปวด เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ยุคดิจิตอลยังเพิ่งเริ่มต้น โดยรายได้ของช่องทางดิจิตอลยังมีน้อยมาก โดยอาร์เอสได้ปรับโมเดลธุรกิจเวลานั้นซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก ยอดขายซีดีเพลงลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้ฟังหันไปนิยมบริโภคเทปผีซีดีเถื่อนมาก”
อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามช็อตไปในปีหน้า เฮียฮ้อ เชื่อว่า หาก 3G เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จะยิ่งส่งผลให้คอนเทนต์เพลงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะระบบ 3G จะทำให้ดาวน์โหลดรวดเร็วยิ่งขึ้นและส่งผลให้ช่องทางจำหน่ายเพลงสะดวกขึ้น โดยคอนเทนต์ของอาร์เอสในส่วนของเพลงทำรายได้ให้บริษัทตั้งแต่ปี 2551 2552 และ 2553 เป็นจำนวน 461 ล้าน, 471 ล้าน และคาดการณ์ไว้ 400 ล้านตามลำดับ ส่วนคอนเทนต์แบบดิจิตอล ทำรายได้ 297 ล้านในปี 2551 และ 455 ล้านในปี 2552 และปีนี้คาดว่าทำรายได้เป็น 600 ล้านบาท
ยูนิเวอร์แซล+โซนี่+วอร์นเนอร์
แก้เกมเปิดโมเดิร์นเทรดออนไลน์
ไม่เพียงค่ายเพลงยักษ์เพลงไทยเท่านั้น ที่จำต้องปรับโมเดลธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หลังจากเผชิญกับวิกฤตละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งช่องทางจำหน่ายซีดีเพลงปัจจุบันลดลงอย่างมาก ล่าสุด บรรดาค่ายผู้จำหน่ายเพลงสากลในเมืองไทย 3 ค่าย อย่าง ยูนิเวอร์แซล มิวสิค, ค่ายโซนี่ มิวสิค และค่ายวอร์นเนอร์ มิวสิค ได้รวมตัว เพื่อแก้ปมธุรกิจครั้งนี้ด้วยการจับมือ 2 ค่ายเพลงไทยสุดฮิป รีโวล์ มิวสิค ครีเอชั่น สไปร์ซซี่ ดิสก์ กลุ่มทายาทบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ และไอออนไลน์ บริษัทดิจิตอลและสื่อโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์ เปิดช่องทางจำหน่ายเพลง “มิวสิค วัน” เจาะตลาดเพลงดิจิตอล
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิวสิค วัน จำกัด บูรพากร มุสิกสินธร ให้เหตุผลในการรวมตัวครั้งนี้ว่า เนื่องจากพฤติกรรมการฟังเพลงของกลุ่มผู้ฟังทั้งในและต่างประเทศเปลี่ยนไป จากการฟังเพลงด้วยแผ่นซีดี ไปสู่การฟังเพลงแบบดิจิตอล ส่งผลให้ยอดขายแผ่นซีดีเพลงลดลงไปเรื่อยๆ สวนทางกับการเติบโตของการฟังเพลงแบบดิจิตอล เห็นได้ชัดทั้งจากยอดขายเครื่องเล่นเพลงดิจิตอลแบบพกพา หรือผู้เปิดให้บริการดาวน์โหลดเพลงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งร้านจำหน่ายซีดีเพลงสากลในปัจจุบันก็ลดจำนวนอย่างมากเหลือเพียงไม่กี่แห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายช่องทางจำหน่ายเพลงสากลในยุคดิจิตอล คอนเทนต์ ผ่านเว็บไซต์ www.musicone.com ทำหน้าที่เสมือนโมเดิร์นเทรดจำหน่ายเพลงสากลในเครือและเพลงไทยในกลุ่มพันธมิตร เช่น เลิฟอิส เบเกอรี่ มิวสิค เปิดบริการเต็มที่ในปี 2554 นี้
สำหรับปริมาณเพลงในช่วงเปิดดำเนินการจะมีไม่ต่ำกว่า 300,000 เพลง ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านโทรศัพท์มือถือที่ *248 และหากใช้โทรศัพท์มือถือแบล็กเบอร์รี่ ก็ดาวน์โหลดผ่านมิวสิค วัน แอปพลิเคชั่น ที่ดาวน์โหลดได้ฟรีจาก www.themusicone.com ทั้งประเภทของไฟล์ดิจิตอล และช่องทางการดาวน์โหลดหลากหลาย ตามความสะดวกและความต้องการของแฟนเพลง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลงที่มีทั้งแบบเต็มเพลง, เสียงเรียกเข้า และเสียงเพลงรอสาย นอกจากนั้นแล้ว มิวสิค วัน ยังมีคลิปเบื้องหลัง มิวสิกวิดีโอ คอนเสิร์ตของศิลปิน ให้ได้เลือกชมผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ และจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเป็นที่แรกในโลก ที่แฟนเพลงดาวน์โหลดเพลงแล้วจัดระบบเสียงเพลงรอสายให้เบอร์โทร.พิเศษที่โทร.เข้ามาได้ด้วยตัวเอง มีทั้งเพลงไทย เพลงสากล
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|