ฆ่ากันในวงการธุรกิจ


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

การตายของเสกสรร สัตยา นักธุรกิจด้านบันเทิง ที่ถูกตั้งฉายาว่า เฮฟเนอร์เมืองไทยนั้น นอกจากจะเป็นการตายที่ค่อนข้างจะหฤโหดแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงสัจธรรมในการทำการค้าขายในเมืองไทยด้วยว่า ลูกปืนยังมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจในสังคม ที่ค่อนข้างจะด้อยพัฒนามากๆ ในจิตใจของนักธุรกิจส่วนใหญ่ของเมืองไทย

การกำจัดคู่แข่งขันในเชิงธุรกิจสำหรับต่างประเทศแล้วคือการต่อสู้กันในเชิงธุรกิจ จนกระทั่งคู่ต่อสู้อีกฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ไหวก็จะต้องพับฐานไป

ซึ่งเป็นลักษณะธรรมดาของธุรกิจในระบบเสรีทุนนิยม

แต่ในระบบลูกปืนนิยมในเมืองไทยนั้น การฆ่ากันก็จะเป็นทางออกที่มักจะใช้กันอยู่เสมอ

อาจจะเป็นเพราะว่าลักษณะธุรกิจที่ต้องฆ่ากันนั้น มักจะเป็นลักษณะธุรกิจที่ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจอิทธิพล ที่มักจะเป็นของเจ้าของคนเดียวที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นองค์การ

และการฆ่ากันจะไม่ค่อยมีในวิชาชีพที่มีเกียรติ!

แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้แต่ระดับธุรกิจที่เป็นสากล ก็เริ่มมีมาตรการ การกำจัดกันในวงการแล้ว เช่นกรณีการลอบยิง ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว สถาปนิกเจ้าของดีไซน์ 103 ซึ่งเพิ่งจะเข้าไปรับงานโครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ของกลุ่มธนาคารศรีนคร

เดชะบุญที่ชัชวาลย์เพียงแต่บาดเจ็บสาหัสและก็รอดชีวิตในที่สุด

ถ้าเราแบ่งลักษณะธุรกิจในเมืองไทย ก็จะมีอยู่ไม่กี่ลักษณะ :-

ลักษณะแรกคือ ธุรกิจขนาดใหญ่ ที่พัฒนาตัวเองเข้ามาจนเป็นรูปแบบขององค์การที่ทำงานกันเป็นระบบต่อเนื่องกัน โดยไม่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญว่า ผู้จัดการใหญ่จะอยู่หรือจะไป องค์การประเภทนี้ก็จะดำเนินไปได้ตามวิถีทางของมันที่วางเป็นระบบเอาไว้แล้ว

องค์การประเภทนี้จะไม่มีการถูกลูกปืนนิยมเข้ามา ถ้าจะเกิดขึ้นก็จะเป็นเรื่องของระดับล่างท้องถิ่นเท่านั้น

การแข่งขันขององค์การประเภทนี้ก็จะเป็นการแข่งขันแบบในเชิงการค้า ส่วนการกำจัดกันก็เป็นทั้งในเชิงไหวพริบทางการค้า และการใช้อำนาจอิทธิพลทางการเมือง เพื่อพลิกกฎหมายหรือสร้างระเบียบข้อบังคับให้ตัวเองได้เปรียบคู่ต่อสู้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การแข่งขันในสถาบันการเงินระหว่างกลุ่มธนาคาร กับกลุ่มที่ไม่มีธนาคารหนุนหลัง ซึ่งในสภาวะของความไม่แน่อน ยิ่งถ้ากระทรวงการคลัง และธนาคาชาติออกกฎระเบียบมาบีบมากขึ้นเท่าไร ประโยชน์ก็จะไปตกอยู่กับกลุ่มธนาคารมากเท่านั้น

หรือในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น สมมติว่าการที่กลุ่มกระจกอาซาฮี เป็นกลุ่มเดียวที่ผลิตกระจกได้ และหาทางป้องกันไม่ให้กลุ่มอื่นเกิดขึ้น โดยใช้การวิ่งเต้นทางการเมือง ก็จะเป็นการกำอำนาจการผลิตในมือแต่ผู้เดียว

หรือในกลุ่มการค้า สมมติว่ากลุ่มสหพัฒน์วิ่งเต้นให้สภาฯ ออกกฎหมายห้ามต่างชาติมีหุ้นส่วนในการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคในประเทศได้ก็เท่ากับว่าเป็นการกำจัดกลุ่มลีเวอร์ หรือกลุ่มคอลเกตโดยปริยาย (หมายเหตุ สมมติฐานทั้งสองย่อหน้านั้นเป็นการสมมติเท่านั้น)

ฉะนั้นการต่อสู้ระหว่างองค์การต่อองค์การเป็นการต่อสู้ของชั้นเชิงและไหวพริบที่ต้องใช้อำนาจทางการตลาด การเงิน และการเมือง ลักษณะของการต่อสู้จึงค่อนข้างจะ Sophisticated มาก ที่บางครั้งถึงกับต้องใช้ตัวแทนรัฐบาลต่างชาติเข้าแทรกแซง เช่น ในกรณีที่สถานทูตอเมริกาโดยเอกอัครราชทูตกันเธอร์ดีน ติดต่อกับพล.ต.ท.เภา สารสิน ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ให้เป็นตัวกลางในการเจรจากับนายพชร อิศรเสนา ณ อยุธยา อธิบดีกรมการค้าภายใน ในกรณีที่กรมการค้าภายในกำลังดำเนินคดีกับบริษัทคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ ที่โกงมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ โดยกรมการค้าภายในได้แจ้งความไปยังกองปราบ ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของกองบัญชาการสอบสวนกลาง ซึ่งพล.ต.ท.เภา สารสิน เป็นผู้บังคับบัญชา

การฆ่ากันโดยเอาชีวิตในระดับองค์การจึงทำกันไม่ได้ เพราะความสลับซับซ้อนขององค์การและการตัดสินใจที่ต้องใช้คณะกรรมการเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่การฆ่ากันในเชิงธุรกิจการค้าก็เป็นของธรรมดา ซึ่งจะออกมาในคำพูดทางธุรกิจที่เรียกว่า "การแข่งขันกัน"

ลักษณะที่สองคือธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดใหญ่แต่เป็นธุรกิจที่อยู่ในมือของคนคนเดียว หรือมีลักษณะเป็นหุ้นส่วน ธุรกิจประเภทนี้เป็นธุรกิจที่เริ่มจากผู้ประกอบการและเจริญเติบโตขึ้นมาจากชั้นเชิงการค้าขาย ซึ่งมีตั้งแต่การทำงานหนักในระยะเริ่มต้นหรือแม้แต่การคดโกงหุ้นส่วนมา ฯลฯ

ธุรกิจประเภทนี้เป็นธุรกิจที่เคลื่อนที่เร็วและตัดสินใจเร็ว และถ้ามีช่องทางที่จะใช้อิทธิพลเข้ามาช่วยก็จะใช้ทันที

ผู้บริหารธุรกิจประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของเอง และการเกิดตลอดจนการเจริญเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ มักจะต้องพึ่งพาอำนาจอิทธิพลตลอดจนกฎหมายในมือข้าราชการโดยทำให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง

ธุรกิจประเภทนี้จะเห็นได้หลายรูปแบบและจะมีมากในเขตภูธร ที่ความยุติธรรมเข้าไปไม่ถึง เช่น ธุรกิจการค้าไม้ การขนส่ง การประกอบอุตสาหกรรมขนาดเล็กและกลาง ซึ่งต้องพึ่งทรัพยากรหรือแรงงานในท้องถิ่นนั้น เช่น ธุรกิจเหมืองแร่ ฯลฯ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การฆ่ากันที่เขาศูนย์นครศรีธรรมราช หรือกรณีแร่วุลแฟรมที่มีการฆ่าเสี่ยจิวที่จังหวัดชลบุรี หรือเมื่อเร็วๆ นี้คือการฆ่าเจ้าของภัตตาคารโบ๊ตที่พัทนาซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเรือนำนักท่องเที่ยวไปเกาะล้านด้วย

ธุรกิจบันเทิงก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการฆ่ากันอย่างหนัก เพราะธุรกิจบันเทิงคือต้นตอของการเกิดธุรกิจผิดกฎหมายหลายประเภทซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง

ธุรกิจบันเทิงที่พูดถึงในที่นี้จะหมายถึงธุรกิจไนต์คลับ คาเฟ่ อาบอบนวด ซึ่งธุรกิจประเภทนี้เป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอิทธิพลทั้งสิ้นเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตจากตำรวจ ฉะนั้นการทำอะไรที่เกินขอบเขตที่กฎหมายให้ไว้ย่อมหมายถึงการต้องมีกำลังทรัพย์ ที่จะเซ่นสังเวยผู้เกี่ยวข้องในวงการราชการได้อย่างเต็มที่

ธุรกิจบันเทิงเป็นธุรกิจที่มีกำไรสูง และสามารถต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจที่ผิดกฎหมายได้สบาย เช่น การเปิดบ่อนการพนันในไนต์คลับหรือคาเฟ่ การเป็นแหล่งกลางในการจำหน่ายยาเสพติด และการเป็นศูนย์ของโสเภณีระดับสูง ซึ่งทั้งหมดที่พูดมานี้เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ capital intensive แต่เป็นธุรกิจที่อยู่ในธุรกิจบริการซึ่งใช้แต่คนและพึ่งพาอำนาจกับอิทธิพล

ธุรกิจประเภทนี้แหละที่การกำจัดคู่แข่งขันคือการฆ่าทิ้ง เพราะระบบธุรกิจประเภทนี้คือเจ้าของเพียงคนเดียวซึ่งถ้าถูกกำจัดไปแล้วโครงสร้างก็จะพังลงไปเอง

เราจะเห็นและได้ยินข่าวการตายของนักธุรกิจประเภทนี้เสมอว่า จะเป็นเจ้าของกิจการอาบอบนวด หรือเจ้าของภัตตาคาร ไนต์คลับ หรือเจ้าของศูนย์การค้าที่เจ้าตัวมีส่วนในกิจการบันเทิงอยู่ด้วย และหลังจากที่เจ้าของเสียชีวิตไปไม่ถึงปีกิจการนั้นก็จะเลิกไป หรือไม่ก็จะเปลี่ยนมือเจ้าของเสียใหม่

นายตำรวจท่านหนึ่งที่ตามเรื่องมือปืนรับจ้างเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ธุรกิจบันเทิง คือด่านแรกของการเข้าไปสู่การตั้งบ่อน การค้ายาเสพติด และโสเภณี

"ถึงคุณจะไม่ค้ามันแต่ลักษณะธุรกิจของคุณก็จะเปิดโอกาสให้มีการพบปะ และเป็นที่ติดต่อและเรียกได้ว่าแทบจะร้อยละเก้าสิบของธุรกิจบันเทิงคือ แหล่งของการหาความสุขกับผู้หญิง องค์ประกอบมันครบหมด มันมีเหล้า มีเพลง มีผู้หญิง มันก็มีโอกาสเพาะอาชญากรรมด้านอื่นได้" นายตำรวจคนเดิมพูดต่อ

เมื่อธุรกิจนั้นเป็นศูนย์รวมของการพบปะของบรรดาสิบแปดมงกุฎทั้งหลาย การค้าขายก็ย่อมเกิดขึ้น และ แน่นอนที่สุดที่ตามมาก็คือ ความขัดแย้งหรือการหักล้างกัน!

อย่างกรณี เสกสรร สัตยา นั้นก็ใช้คาร์เทียร์คลับเป็นแหล่งที่จะให้ความบันเทิงแก่ผู้มาเที่ยว และยังมีแถมพกโดยเปิดบ่อนการพนันระดับวีไอพีที่เล่นกันเป็นล้านๆ และเสกสรรเองจากการมีสายสัมพันธ์กับบรรดานักการพนันและจากการที่ตัวเองชอบการพนันอยู่เป็นทุนเดิม ความขัดแย้งก็ตามมาเมื่อมีการหักหลังขึ้นและการตามฆ่ากันก็เกิดขึ้น

ลักษณะที่สามคือธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ธุรกิจประเภทนี้ก็คงจะไม่ต้องอธิบายกันมากนักเพราะการแข่งขันในธุรกิจประเภทนี้คือการฆ่ากันลูกเดียว การฆ่ากันนอกจากจะฆ่าเพื่อลดคู่แข่งขันลงแล้ว ก็ยังเป็นการฆ่ากันเพราะหักหลังกันด้วย

นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้นการฆ่ากันในวงการธุรกิจยังรวมไปถึง เช่น :-

ฆ่าเพราะล้างหนี้ ส่วนใหญ่ในกรณีเช่นนี้จะเป็นลูกหนี้ที่ฆ่าเจ้าหนี้เพื่อลบล้างหนี้

ฆ่าเพราะไม่ใช้หนี้ ก็เป็นเจ้าหนี้ที่ฆ่าลูกหนี้ที่เบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินซึ่งอาจจะเป็นเงินกู้ยืมหรือหนี้การค้า ในกรณีนี้แทบจะทุกกรณีเจ้าหนี้ฆ่าเพราะต้องการสั่งสอนให้เป็นบทเรียนกับคนอื่น ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้การพนันที่ผู้เล่นยืมบ่อนแล้วไม่ใช้ ก็มีบ้างที่เจ้าหนี้การค้าถูกโกงไปดื้อๆ ก็เลยตัดสินใจลบความแค้นเสียด้วยการฆ่าทิ้ง

ฆ่าเพราะถูกบีบให้จนตรอก นี่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่นายทุน หรือนายธนาคารพึงสังวรใจในกรณีที่ไปบีบลูกหนี้ซึ่งกำลังประสบภาวะการผันผวนทางการค้าอย่างรุนแรง นอกจากไม่ให้ความช่วยเหลือเขาแล้วยังไม่มีข่าวว่าลูกหนี้คนไหนยิงผู้จัดการธนาคารทิ้ง แต่ที่มีแน่ๆ คือ การอาฆาตแค้นซึ่งออกมาในรูปคำพูดและแววตา

"ผู้จัดการ" เกรงว่าคงจะมีสักวันจากคำพูดอาจจะออกมาเป็นการกระทำก็ได้

และถ้ามีวันนั้นเกิดขึ้นก็อย่าลืมว่า "เราเตือนคุณแล้วนะ"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.