|

เดอะ บิ๊กเกรต วาไรตี้ คีย์ซักเซส ซีคอนสแควร์
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ตุลาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ซีคอนฯ เผย คีย์ซักเซส 20 ปี ศูนย์การค้าชานกรุงฝั่งตะวันออก ฝ่ามรสุมวิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
“เราก้าวช้าๆ แต่มั่นคง เราใช้ซีคอนสแควร์เป็นเบส โดยช่วงแรกเราไม่ได้ขยายธุรกิจใหม่ๆ จนยอดขาดทุนสะสมหมด จึงเริ่มโปรเจกต์ใหม่ๆ เช่นโรงแรมที่ภูเก็ตซึ่งใช้เวลากว่า 3 ปี เปิดให้บริการไปเมื่อเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่การซื้อกิจการฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค ก็มีการพิจารณามาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว” เป็นคำกล่าวของ ตะติยะ ซอโสตถิกุล กรรมการผู้จัดการ ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ ผู้บริหารศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ เกี่ยวกับกุญแจแห่งความสำเร็จ ด้วยสาขาเพียงแห่งเดียว ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ทั้งเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ ต่างขยายอาณาจักรจนมีสาขามากมาย
ทั้งนี้ โมเดลศูนย์การค้าชานเมืองค่อนข้างมีความเสถียร ไม่หวือหวา ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าเบสิก จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ลูกค้าอาจจะมาเดินเล่น ซื้ออาหารรับประทานเล็กน้อย ซึ่งต่างจากสินค้าราคาเป็นหมื่นเป็นแสน พอเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคไม่มีเงิน ก็กระทบธุรกิจบ้าน และรถ เพราะลูกค้าไม่มีเงินผ่อน
ปัญหาการเมืองรอบล่าสุดก็ส่งผลกระทบธุรกิจใจกลางเมือง เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ทำให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหว ขณะที่ซีคอนฯ และห้างชานเมืองอื่นๆ กลับได้รับอานิสงส์จากการที่คนไม่ไปห้างกลางเมือง แต่จะเดินห้างชานเมืองที่ใกล้บ้านมากขึ้น
ในขณะที่การแข่งขันในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามียักษ์ใหญ่เพียง 4 ศูนย์ฯ ในรัศมีใกล้เคียง คือ ซีคอน สแควร์, เสรีเซ็นเตอร์ ซึ่งล่าสุดเปลี่ยนเจ้าของพร้อมกับชื่อใหม่ พาราไดซ์พาร์ค, เซ็นทรัล บางนา ซึ่งกำลังจะมีการรีโนเวตในเร็วๆ นี้ และเดอะมอลล์ บางกะปิ
“คนกรุงมีมากขึ้น ประกอบกับกฎหมายโซนนิ่งเกิดขึ้นหลังจากซีคอนฯ สร้างเสร็จ ปัจจุบันศรีนครินทร์เป็นพื้นที่สีเหลือง สร้างอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ไม่ได้ เราจึงไม่เห็นศูนย์การค้าใหม่ๆ เกิดขึ้น อีกทั้งแต่ละศูนย์ฯ ก็มีฐานลูกค้าของตัวเอง อย่างเซ็นทรัลเป็นเรื่องของคนชอบแบรนด์เดอะมอลล์เป็นจุดต่อรถ พาราไดซ์ ก็ไฮอัพ ขณะที่ซีคอนฯ เป็น เดอะ บิ๊กเกรต มีวาไรตี้ที่หลากหลาย ลูกค้ามาที่เดียวได้ครบ ขณะที่คอมมูนิตี้มอลล์แม้จะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่การตอบโจทย์ความต้องการแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะเน้นแต่เรื่องอาหารการกิน” ตะติยะ กล่าว
ปัจจุบันซีคอนฯ มีร้านค้ากว่า 400 ร้านค้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงปีละ 5% เพื่อปรับเปลี่ยนแม่เหล็กใหม่ๆ ในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งนอกจากตัวร้านค้าเองแล้ว ที่ผ่านมาซีคอนฯ ยังมีการอัปเกรดโซนต่างๆ ภายในศูนย์ฯ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มทราฟฟิก ล่าสุดมีการปรับพื้นที่ชั้น G ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่ม Young & Upper ให้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีทราฟฟิกเพิ่มจาก 10% เป็น 20% ของทราฟฟิกที่เดินเข้ามาในศูนย์ฯ ทั้งหมด
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซีคอนฯ มีการใช้งบรีโนเวตในศูนย์ฯ ไปแล้ว 300 ล้านบาท ยังเหลืออีก 180 ล้านบาทในการปรับโฉมภายนอกให้มีความทันสมัย นอกจากนี้บริษัทยังมีที่ดินอีก 200 ไร่ ซึ่งรอจังหวะที่มีการปรับพื้นที่โซนนิ่ง เนื่องจากเล็งเห็นว่าเมืองจะต้องขยาย ดังนั้น โอกาสที่กฎหมายจะผ่อนผันให้สร้างอาคารใหญ่ในอนาคตน่าจะมีความเป็นไปได้ โดยซีคอนฯ มีแผนในการทำเป็นซิตี้รีเทล แต่ถ้ากฎหมายผังเมืองไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจปรับเป็นคอนโดมิเนียม ซึ่งจะช่วยดึงดูดดีมานด์เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น
นอกจากวาไรตี้ของร้านค้าและบริการแล้ว ซีคอนฯ ยังมีการทำลอยัลตี้โปรแกรมผ่านบัตรสมาชิกแพลตินัม ซึ่งมี 7,000 ราย แม้จะเป็นจำนวนที่น้อย ทว่าถือเป็นกลุ่มครีมที่มีกำลังซื้อสูง โดยซีคอนฯพิจารณาจากผู้ถือบัตรเครดิตที่มีรายได้ 75,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าภายในสิ้นปี 53 จะมีฐานสมาชิกเพิ่มเป็น 10,000 ราย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|