‘3 ปท.’ เปิดศึกชิงลูกค้า อัดกลยุทธ์-แคมเปญสู้


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ธุรกิจการจัดประชุมสัมมนา หรือไมซ์ จากนี้ไปจะไม่ใช่แค่ธุรกิจที่หลายประเทศมองว่าเป็นส่วนเล็กๆ ของการท่องเที่ยวอีกแล้ว เพราะไมซ์กำลังเป็นธุรกิจที่หารายได้เข้าประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ จนทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญด้านนี้มากขึ้น

หากมองคู่แข่งธุรกิจไมซ์ที่อยู่ในรายเดียวกัน คงหนีไม่พ้นประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพราะ 3 ประเทศนี้เป็นคู่แข่งกันมาตลอดทั้งเรื่องการท่องเที่ยว ธุรกิจ การศึกษา เมื่อไมซ์คือธุรกิจสำคัญที่ช่วยให้การท่องเที่ยวเติบโต 3 ประเทศจึงต้องหากลยุทธ์มาห้ำหั่นกัน


‘มาเลย์’ สร้าง ‘MyCEB’
หวังช่วยดึงลูกค้าเข้า ปท.

แม้มาเลเซียจะเพิ่งเริ่มสร้าง Malaysia Convention & Exhibition Bureau (MyCEB) เมื่อปีที่ผ่านมา แต่มาเลเซียไม่ใช่น้องใหม่ในการทำธุรกิจนี้ เพราะจากการเก็บข้อมูลของ ICCA-International Congress and Convention Association มาเลเซียถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีคนเลือกเดินทางมาจัดสัมมนาหรือประชุมเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่สิงคโปร์ ไทย เกาหลี จีน ติดอยู่อันดับ 1 ถึง 4

อย่างไรก็ดี มาเลเซียไม่ได้แค่หวังที่จะอยู่ในอับดับ 5 แบบนี้ตลอดไป แต่การจะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1ได้นั้น จะต้องพัฒนาตัวเองให้มากกว่านี้ โดยนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้การส่งเสริม คือ การสร้างการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ด้วยการจัดตั้ง MyCEB ขึ้นมาเพื่อสร้างธุรกิจไมซ์ให้เติบโต ซึ่งตัวเลขลูกค้าที่เดินทางเข้ามาประชุมเมื่อปี 2009 คือ 180,000 คน ทำให้มาเลเซียมีรายได้จากธุรกิจไมซ์ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยปีนี้เชื่อว่าอัตราการเติบโตของตลาดไมซ์ หรือการจัดประชุมจะอยู่ที่ 5% จากปีที่ผ่านมา หรือมีลูกค้าเดินทางเข้ามาประชุม 1.2 ล้านคน มีรายได้ 9,900 ล้านริงกิต และภายในปี 2020 คาดว่าจะมีอัตราเติบโต 8% ซึ่งการจะอยู่ในอับดับที่สูงขึ้นกว่านี้ MyCEB ต้องได้รับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไมซ์ ไม่ว่าจะเป็น Convention หรือโรงแรมก็ดี หากมีลูกค้าเข้ามาจัดการประชุมต้องแจ้งให้กับ MyCEB ทราบเพื่อจะได้แจ้งยอดผู้มาจัดงานให้กับ ICCA

นอกจากนี้ ตัว MyCEB เองก็จะพัฒนาแบรนด์ MyCEB ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น โดยแนวทางในการสร้างแบรนด์จะต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าหากจะจัดงานสัมมนาเขาจะต้องมาจัดที่มาเลเซียเท่านั้น นอกจากนี้ ในแต่ละครั้งของการจัดงานจะต้องดึงคนให้เข้ามาร่วมงานไม่น้อยกว่า 500 คนต่อ 1 การประชุม โดยจุดแข็งสำคัญที่จะดึงลูกค้าให้เข้ามาจัดงาน คือ 1.ความเป็นประเทศที่หลากหลายด้านวัฒนธรรม ประเพณี เชื้อชาติ ทำให้ทุกคนได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่หลากหลาย

2.ความคุ้มค่าในเรื่องของเงินที่ต้องเสียไป ไม่ว่าจะเป็นอัตราห้องพักที่จ่ายในระดับ 3-4 ดาว แต่ลูกค้าได้พักในห้องพักระดับ 5 ดาว 3.มีความหลากหลายด้านแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทั่วไป หรือเชิงนิเวศ 4.โลเกชั่นของมาเลเซียอยู่ในจุดเชื่อมของประเทศอินเดีย และจีน ทำให้การเดินทางเข้ามาของลูกค้าชาวอินเดียและจีนทำได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ MyCEB จะจับมือกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่มีความชำนาญด้านการจัดประชุมนานาชาติ เจ้าของศูนย์ประชุมต่างๆ โรงแรม หรือหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเกี่ยวข้องกับการจัดประชุมสัมมนา อย่าง หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทำตลาดร่วมกัน

ส่วนแผนการตลาดที่จะทำนั้น MyCEB คงต้องรอดูงบประมาณที่รัฐจะให้ก่อน อย่างไรก็ดี MyCEB จะหาข้อมูลเกี่ยวกับการจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ของโลกและจะจับมือกับหน่วยงานที่มีความชำนาญในการจัดประชุมเฉพาะทาง เพื่อเข้าไปบิดงานเหล่านั้น อย่าง จับมือกับหน่วยงานแพทย์เพื่อบิดการจัดประชุมด้านแพทย์ ที่สำคัญจะมีการอัดโปรโมชั่นต่างๆ รวมทั้งทำโบรชัวร์ เว็บไซต์ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาจัดงานประชุมที่มาเลเซีย


‘สิงคโปร์’ ไม่น้อยหน้า
ใช้แหล่งท่องเที่ยวแข่ง

มาดูกันที่เบอร์หนึ่งของการจัดงานประชุมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างสิงคโปร์ ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ดันแบรนด์ใหม่ Your Singapore เพื่อสร้างสิงคโปร์ให้เป็นจุดหมายปลายทางชั้นเลิศสำหรับการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การจัดสัมมนา อินเซนทีฟ การจัดประชุมและนิทรรศการ หรือไมซ์ โดยแบรนด์ใหม่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนี้

โดยความโดดเด่นของแบรนด์ใหม่นี้เท่ากับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปณิธานอันแน่วแน่ของสิงคโปร์ ในการผนึกกำลังร่วมกันทำงานมากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจแบบมืออาชีพ และการมุ่งเน้นสู่ความสำเร็จแห่งอนาคต ตลอดจนความสามารถในการนำบรรดาผู้นำทางธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายจากนานาประเทศ ให้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจขึ้น

นอกจากนี้ การท่องเที่ยวสิงคโปร์ยังได้ประสานความร่วมมือทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมต่างๆ ในสิงคโปร์ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่างๆ อีกทั้งยังได้ทำงานร่วมกับบรรดาผู้วางแผนและผู้จัดงานอีเวนต์อย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันสรรค์สร้างงานอีเวนต์แปลกใหม่และยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาสาระ

สำหรับงานอีเวนต์ที่เข้ามาจัดงานในสิงคโปร์ หากแบ่งตามกลุ่ม อย่าง กลุ่มไลฟ์สไตล์ที่ผ่านมาก็มีการจัดงานมหกรรม LIVE! Singapore 2010 ซึ่งเป็นอีเวนต์งานศิลป์ระดับโลกรูปแบบใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในสิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การจะครองตำแหน่งเจ้าการจัดงานประชุมให้ได้นั้น โอลิเวอร์ อง ผู้อำนวยการฝ่ายการประชุมสัมมนา สำนักงานการจัดประชุมและนิทรรศการการสิงคโปร์ การท่องเที่ยวสิงคโปร์ มองว่า การจะสร้างสิงคโปร์ให้เป็นเจ้าตลาดด้านนี้ได้ต้องมีสถานที่ในการดึงลูกค้าให้เข้ามา ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมาในช่วง 2-3 ปีนี้ เชื่อว่าจะดึงลูกค้าให้เข้ามาจัดงานที่สิงคโปร์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Marina Bay Sands?, Resorts World? Sentosa และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เช่น International Cruise Terminal, Gardens by the Bay และ River Safari ซึ่งจะเพิ่มประสบการณ์อันหลากหลาย อีกทั้งสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับธุรกิจ MICE มากมายพร้อมรอต้อนรับผู้จัดอีเวนต์และผู้เข้าร่วมงาน

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น City Advantage สำหรับโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จัดงานอีเวนต์ต่างๆ และนักท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงโปรโมชั่นต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้มีฟังก์ชั่น City Advantage Guide ที่มีรายชื่อขนาดพกพาที่ประกอบด้วยรายการข้อเสนอและสิทธิพิเศษของกิจกรรมไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจมากมาย

โดยเฉพาะสำหรับนักเดินทางเพื่อธุรกิจและผู้จัดงานอีเวนต์ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งรวบรวมไว้อย่างครบถ้วน โดยผู้ใช้แอปพลิเคชั่นนี้สามารถสืบค้นข้อมูลรายชื่อธุรกิจที่ร่วมรายการและข้อเสนอสุดคุ้มต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จากสมาร์ทโฟนของตนเอง

‘ไทย’ ส่ง ‘Max Rewards’
ดึงสมาคม-บริษัทจัดงานในไทย

หากพูดถึงเบอร์หนึ่งแล้วจะไม่พูดถึงเบอร์สองอย่างประเทศไทยคงไม่ได้ สำหรับแนวทางการทำตลาดเพื่อดึงกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาจัดงานในไทยนั้น ถือเป็นหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ อรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการ

ในมุมมองของอรรคพลนั้นมองว่า ตลาดการประชุมนานาชาติของประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยตลาดการประชุมนานาชาติของไทยในปีนี้มีมูลค่า 19,188 ล้านบาท หรือ 36.9% ของรายได้เฉลี่ยของอุตสาหกรรมไมซ์ 52,000 ล้านบาท โดยปีหน้าคาดว่าตลาดการประชุมนานาชาติจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 28% หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 21,222 ล้านบาท

การที่อรรคพลตั้งเป้าหมายเติบโตไว้สูงเพียงนี้ เนื่องจากมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการจัดประชุมนานาชาติของไทยถือเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อย่างไรก็ดี เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาทั้งระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ การสร้างสรรค์รูปแบบการจัดประชุม การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เข้าร่วมประชุม

อย่างไรก็ดี การจะบุกตลาดนี้ให้ได้มากขึ้นนั้น สสปน.ยังได้พัฒนาเครื่องมือการตลาดเพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้เข้ามาจัดประชุมนานาชาติในประเทศ โดยได้พัฒนาแพกเกจ Max Rewards สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสมาคมในต่างประเทศหรือบริษัทท่องเที่ยวที่นำคนเข้ามาร่วมงานประชุมในประเทศไทย โดยให้ผลตอบแทนขึ้นกับจำนวนผู้ที่เข้างานประชุม และมอบสิทธิพิเศษ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม และ Extra Value ซึ่งประกอบด้วย Inspection Pack สำหรับผู้บริหารสมาคม เพื่อมาดูความพร้อมและตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงาน และ Value Park เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เข้าร่วมงานประชุม

ทั้งหมดนี้ คือกลยุทธ์ที่แต่ละประเทศต่างงัดขึ้นมาเพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาจัดงานประชุมและสัมมนาในประเทศของตน คงต้องรอดูต่อไปว่ากลยุทธ์ของประเทศไหนจะเด็ดกว่ากัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.