ศศินทร์เกาะเทรนด์ Green HR แทรกแนวคิดสอนในหลักสูตร


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางกระแส CSR (Corporate Social Responsibility) และกระแสการสร้างองค์กรสีเขียว (Green Organization) ที่กำลังมาแรง สถาบันการศึกษาหลายแห่งจับตาความเคลื่อนไหวด้านองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อปรับปรุงหลักสูตรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับแนวโน้มความสนใจของผู้เรียนเพื่อนำไปปฏิบัติใช้กับองค์กร

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เล็งเห็นแนวโน้มดังกล่าวและสอดแทรกแนวคิด Green HR ให้กับผู้เรียนที่สนใจเรื่องการบริหาร HR ที่สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมด้าน CSR

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข กรรมการบริหารหัวหน้าหลักสูตรการบริหารบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่าเหตุผลของการนำแนวคิดGreen HR เข้ามาสอนใน หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์

เพราะกระแส Green HRเป็นแนวคิดที่ผู้บริหารองค์กรและนักวิชาการทั่วโลกให้ความสนใจจากกระแส CSR ที่มาแรง ความสนใจเรื่องการสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการสร้างแบรนด์ขององค์กรและแบรนด์นายจ้าง และยังมีผลสำรวจพบว่าพนักงานรุ่นใหม่หรือ Gen Y มีแนวโน้มที่อยากจะทำงานกับองค์กรที่มีนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารองค์กรสนใจเรื่อง Green HR

“การสอนจะเริ่มใส่เรื่อง Green HR เข้าไป เพราะCSRจะเริ่มเข้ามามีความสำคัญในองค์กร Green HR จะสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของ Human Research Development ซึ่งพูดถึงเทรนด์ของเอชอาร์ที่ให้ความสนใจกับ Green HR ซึ่งจะเป็นวิชาที่สอดแทรกให้ผู้เรียนรู้ถึงเทรนด์ใหม่ๆ แนวคิดที่จะนำมาใช้ ”

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวเริ่มจากที่ รศ.ดร.ศิริยุพา เข้าร่วมสัมมนา SHRM (The Society For Human Resource Management) สถาบันวิชาชีพด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุด เปิดมานานกว่า 50 ปี เห็นกระแสขององค์กรทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้นำแนวคิดของการทำ Green HR ในองค์กร มาสอดแทรกในการเรียนการสอนซึ่งแนวความคิดดังกล่าวในเรื่อง Green HR ต้องให้ผู้เรียนเข้าใจตั้งแต่การกำหนดแบรนด์นายจ้างว่าจะเน้นความเป็นสีเขียวอย่างไร จึงจะดึงดูดใจและสร้างความศรัทธาให้กับผู้ที่จะสมัครเข้าทำงานกับบริษัท เพราะแบรนด์ความเป็นสีเขียวของบริษัทต้องแสดงถึงความจริงใจของผู้บริหารตั้งแต่ความมุ่งมั่นอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ใช่ทำเพียงโฆษณา

และสอดแทรกในเรื่องของการสร้างกระบวนการคัดเลือก คัดสรรพนักงาน หรือ Green Recruitment ต้องมีขั้นตอนการทดสอบและการสัมภาษณ์ที่จะประเมินว่าผู้สมัครมีทัศนคติ ค่านิยมต่อเรื่องการอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมจริงๆ ซึ่งจะสอนถึงวิธีการต่างๆ ที่จะนำไปใช้ได้จริง

นอกจากนี้ยังมีความน่าสนใจของแนวคิด Green HR จาก Dr. Douglas Renwick แห่งมหาวิทยาลัย Sheffield ประเทศอังกฤษ ซึ่งแนวคิดและแนวทางปฏิบัติขององค์กรอย่างมีเป้าหมายและวิธีการทำงานที่ชัดเจน วัดผลได้และน่าจะให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

แนวคิดของ Dr. Douglas Renwick เริ่มจากการปฐมนิเทศพนักงานให้เป็น Green Employees โดยการใช้ผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้ สำหรับองค์กรที่มีกระบวนการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างทำปูนซิเมนต์ ขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น และมีระบบการประเมินซึ่งองค์กรมีการวัดผลว่าพนักงานมีพฤติกรรมทำงานตามนโยบายสีเขียวอยู่ในระดับใดระบุถึงปัจจัยที่เป็นตัวชี้วัดผลงานของพนักงานในเชิงเป้าหมายและพฤติกรรม ท้ายสุดการให้รางวัลเมื่อพนักงานมีผลงานสีเขียวที่เข้าตากรรมการ

“จะเห็นได้ว่ากระแสCSR มาแรงและทุกองค์กรเข้าสู่กระบวนการเหล่านี้หมด พอมาในแผนก HR ที่จะทำให้พนักงานตระหนักถึงเรื่องที่องค์กรจะทำเรื่อง CSR การทำ Green HR จึงเป็นความจำเป็นของ HR ต้องเข้าใจแนวคิด และรู้ถึงกระบวนการต่างๆ ดังนั้นศศินทร์จึงให้ความรู้ในแนวคิดใหม่นี้กับผู้เรียน” รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าวและว่า

นอกจากหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (หลักสูตรนานาชาติ) ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก SHRM และเดือนเมษายนที่ผ่านมายังได้รับรองมาตรฐานจาก AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) องค์กรกลางในการรับรองและประกันคุณภาพให้กับสถาบันการศึกษาทางธุรกิจ จึงยืนยันได้ว่ามาตรฐานหลักสูตรของศศินทร์ทุกหลักสูตรยึดตามมาตรฐานโลก

ขณะเดียวกันศศินทร์จับตาการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาหลักสูตร โดยมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรตลอดเวลา ทั้งวิชาหลักและวิชาเลือก มีเนื้อหาทันสมัยเข้ากับสถานการณ์และทำให้หลักสูตรนำสมัยกว่าหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาที่คงการสอน HRในการรีคูส เทรนนิ่ง การรักษาและจิตวิทยา แต่หลักสูตรของศศินทร์ คือ Strategic Management ซึ่งนำหลักการบริหารจัดการที่ว่าผู้เรียนเ HRต้องมีความคิดในเชิงกลยุทธ์ เข้าใจธุรกิจไม่ใช่รู้แต่ HR

“HRที่มาเรียนกับเราต้องเรียน Strategic Management ต้องเรียนไฟแนนซ์ บัญชี การตลาด โอเปอเรชั่น ต้องทำงานวิจัย ฉะนั้นคน Hrก็คือต้องรู้การบริหารทั้งหมดและเชี่ยวชาญด้านHRความแกร่งของหลักสูตรเราอยู่ที่ตรงนี้ว่า HRของเรารู้ธุรกิจ พูดรู้เรื่อง รู้ตัวเลข ซึ่งที่อื่นบางทีเน้นเรื่องจิตวิทยาแต่เพียงอย่างเดียว ของเราเน้นเรื่องแมเนจเมนท์ ผู้เรียนที่จบไปเขาก็สามารถวางแผนกลยุทธ์ วางวิสัยทัศน์ร่วมกับผู้บริหารได้ เพราะสามารถอ่านตัวเลขทางการเงินเป็น อ่านงบดุลบัญชีเป็น เข้าใจลอจิสติกส์ของระบบโอเปอเรชั่นในระดับหนึ่ง และเขาทำการตลาดเป็น

เมื่อธุรกิจธุรกิจเปลี่ยนไป เมื่อก่อน HRเป็นหน่วยงานสนับสนุน แต่หน่วยงานใหญ่ๆ กลายเป็นว่าHRเป็นหน่วยงานหลัก เพราะเวลาคุณต้องการขยายบริษัทออกไป เขาก็ต้องขยายคน โดยเฉพาะ MMC ถ้า HRไม่แข็งไม่รอด เพราะมันจะมีสำนักงานอยู่ในประเทศต่างๆ เขาก็ต้องวางแผนว่า คนในประเทศนั้นมีหลักการในการบริหารแบบไหน ที่เราพูดถึงเรื่องของ diversity เรื่องเพศ เรื่องวัย บทบาทของ HRมันเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนไปเรื่อยๆ”

บทบาทที่เปลี่ยนไปสะท้อนมาที่ตัวหลักสูตร หลักสูตรของศศินทร์ต้องพานิสิตของเข้าประชุมเวิร์กชอปของ SHRMทุกปี เพื่อให้นักศึกษาเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมและเพิ่มเติมองค์ความรู้ ซึ่งพบว่าในแต่ละปีผู้เรียนสามารถเรียนรู้และเข้าใจ ขณะเดียวกันองคืความรู้บางอย่างทางศศินทร์ได้สอนไปแล้วแต่ไปเก็บความรู้เพิ่มในสิ่งที่ขาด ซึ่งเป็นความภูมิใจของศศินทร์ที่สามารถให้ความรู้ได้เท่าเทียมมาตรฐานโลก

“ในอนาคตการพัฒนาหลักสูตร มั่นใจว่าหลักสูตรปัจจุบันที่ใช้อยู่ล้ำสมัย ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวคือคนที่มาเรียน HR มีน้อย ที่คนให้ความสำคัญ เรื่อง HR อย่างความจริงจัง ยังมีน้อย HR มืออาชีพที่เรียนสายนี้มาโดยตรงและแข็งด้าน Strategic ยังมีน้อยนับตัวได้ มาจากสายอื่นหรือรู้กฏหมาย ไม่ได้พูดเรื่องความสามารถ แต่เทรนด์ HR สมัยใหม่ต้องเก่งด้าน Management รู้กระแสโลกาภิวัฒน์ รู้เศรษฐศาสตร์ ซึ่งผู้เรียนที่จบจากเราจึงมือระดับ Top ระดับเงินเดือนที่รายได้ 6 หลัก และทำงานในระดับองค์กรนานาชาติ รวมถึงบริษัทชั้นนำในไทย” รศ.ดร.ศิริยุพากล่าว

ปัจจุบันหลักสูตรระดับปริญญาได้มีการปรับระยะเวลาเรียนกระชับขึ้นเป็น 18 เดือน ส่วนประกาศนียบัตรบัณฑิตจาก 1 ปีลดเหลือ 7 เดือน ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารที่ต้องการมีความรู้เรื่องการบริหารคน ดังนั้นประกาศนียบัตรบัณฑิตจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการมีความเชี่ยวชาญการบริหารคนโดยไม่จำเป็นต้องเป็น HR



อัพเดดล่าสุด 10/15/2010 2:11:17 PM โดย Chaotip Kleekhaew

หมายเหตุ เส้นแบ่งข่าว หมายถึง ข่าวถูกแบ่งเป็นหน้า ๆ
keyword :

Close


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.