ออร์แกนิก... โอกาสบนความท้าทาย


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(17 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่ากระแสการใส่ใจในสุขภาพจะเป็นหนึ่งในกระแสหลักที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมาระยะหนึ่งแล้ว และยังจะเป็นแนวโน้มต่อไปอีกนาน แต่ในภาพรวมธุรกิจเกษตรอินทรีย์ (Organic) ยังเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ในเร็ววัน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มักจะมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่เพาะปลูกทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์กลไกทางการตลาดได้ ขณะเดียวกัน การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้มีอุปสรรคในเรื่องของราคาที่สูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การอยู่รอดและเติบโตบนเส้นทางสายเกษตรอินทรีย์มีให้เห็นและติดตามอยู่เป็นระยะ ล่าสุด 2 ผู้ประกอบการ “ไร่ปลูกรัก” กับ “บ้านไร่วิมานดิน” เป็น 2 ตัวอย่างที่กำลังเดิมตามโอกาสทางธุรกิจบนความท้าทาย


๐ ไร่ปลูกรัก
วางโมเดลธุรกิจยั่งยืน

“ไร่ปลูกรัก”ก็เช่นกัน กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่ง่าย ต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปีจึงจะเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่กำลังก้าวสู่ความสำเร็จ จากความตั้งใจจริงของคู่สามีภรรยา “กานต์ ฤทธิ์ขจร กับอโณทัย ก้องวัฒนา” ที่เริ่มต้นเพาะปลูกพืชผักไร้สารพิษ สารเคมี และยาฆ่าแมลง บนที่ดิน 60 ไร่ ในจังหวัดราชบุรี ในปีพ.ศ. 2543 และมุ่งมั่นสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ปัจจุบันธุรกิจเกษตรอินทรีย์ของไร่ปลูกรัก แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์ (product) ซึ่งประกอบด้วยผักสดหลากหลายชนิดที่ปลูกตามฤดูกาลโดยเฉพาะผักสลัดเป็นสินค้าหลักเพราะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด กับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผักออร์แกนิก โดยมีจุดเด่นที่แตกต่างจากรายอื่นๆ เช่น น้ำส้มสายชูซึ่งทำจากข้าวหอมมะลิ นอกเหนือจาก น้ำสลัด น้ำจิ้มไก่ และซอสต่างๆ ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการมากอยู่แล้ว

สำหรับผลิตภัณฑ์ “ผักสด”ของไร่ปลูกรัก มีช่องทางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เช่น ท็อปส์ ฟู้ดแลนด์ และเลมอนฟาร์ม ส่วนช่องทางในแบบดิลิเวอรี่ให้กับสมาชิกที่เคยมองว่าจะทำให้ได้ฐานลูกค้าประจำกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก ขณะที่ “ผลิตภัณฑ์แปรรูป”มุ่งเน้นการส่งออกเพราะมีโอกาสสูงกว่าตลาดในประเทศ โดยเริ่มมีการส่งออกไปบ้างแล้วในแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย และมองว่าผลิตภัณฑ์แปรรูปมีแนวโน้มที่ดี จึงเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้ดีที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้ง การรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อการขยายตลาดได้ง่ายขึ้น

ในอีกส่วนที่เป็นเรื่องของบริการ (service) หรือการท่องเที่ยว ที่ไม่ใช่แค่การให้มาเที่ยวชมไร่และบอกเล่ากระบวนการเพาะปลูกเท่านั้น แต่ยังเน้นให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ตรงให้เกิดการเรียนรู้ มีความเข้าใจและจดจำมากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรม “Organic Family Day”ที่จัดขึ้น ใช้เวลาครึ่งวันหรือ 1 วัน ยังเน้นให้แตกต่างแหวกแนวจากที่อื่นอีกด้วย เช่น เวิร์คช็อปการทำไอศกรีมโฮมเมด ทำน้ำสลัด ทำไข่เค็มจากเป็ดที่เลี้ยงไว้ การเล่นเกมออร์แกนิก ได้เห็นไส้เดือน แมลงต่างๆ รวมทั้ง การเล่นคอนเสิร์ตที่มีเพลงเกี่ยวกับเรื่องเกษตรอินทรีย์ซึ่งแต่งขึ้นมาเอง

โดยมีพันธมิตรมาช่วยให้การนำเสนอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น “ชีวิน วิสาสะ” นักเขียนนิทานเด็ก มาถ่ายทอดแนวคิดให้เข้าใจกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มครอบครัวและเด็กได้ดียิ่งขึ้น นอกเหนือจาก กลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเกษตรอินทรีย์ และคนที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

“ตอนนี้การให้ความสนใจเข้ามาเที่ยวไร่ของเราเปลี่ยนไปมาก มีกลุ่มต่างๆ เช่น องค์กรทั้งของรัฐและเอกชนมาดูเรา นอกจากกลุ่มครอบครัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้แค่อธิบายว่าปลูกผักยังไง เลี้ยงเป็ดยังไง จัดการไร่ยังไง แค่นี้มันน่าเบื่อ แต่เราใส่กิจกรรม มีความลึกของเนื้อหาและใช้ศิลปะการนำเสนอให้คนที่มาชมซึมซับและมีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเรามองว่าคนที่มาซื้อประสบการณ์ต้องได้ความรู้ความประทับใจที่ดีไปเพื่อเป็นหนทางช่วยให้ธุรกิจของเรายั่งยืน”

๐ โชว์กิจกรรม
สร้างประสบการณ์แนวใหม่

สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้คือ “Thai Organic Festival” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ซึ่งให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยแบ่งเป็นโซนหรือเวทีต่างๆ และเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นกว่ากิจกรรมเดิมไม่ว่าจะเป็น โซนเพาะปลูก โซนอาหารซึ่งมีการเปิดร้านอาหารเล็กๆ ที่สร้างสรรค์เมนูเพื่อสุขภาพ โซนนวดผ่อนคลาย โซนช้อปปิ้ง และกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นช่วงที่มีความพร้อมในเรื่องของฤดูกาลที่จะมีผักสดออกมามาก และอากาศที่เย็นสบาย ดังนั้น ในตอนนี้จึงเน้นการพัฒนาสถานที่ให้สวยงามเพื่อเตรียมพร้อม

นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้บริหารสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์และสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (The German Technical Cooperation : GTZ) มีการเตรียมที่จะทำโครงการ “Organic to School” ซึ่งมีเป้าหมายให้ 25 โรงเรียนในกรุงเทพฯ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ผ่านกิจกรรมในรูปแบบบันเทิงและใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเด็กมีความเข้าใจและเกิดการตื่นตัวในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

เมื่อหันกลับมามองธุรกิจของไร่ปลูกรัก ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้ และมีกำไรพอที่จะลงทุนในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ได้กำไรมากมาย โดยมีบุคลากรกว่า 30 คนช่วยกันผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้า ภายใต้ผู้นำที่มีความคิดว่า การอยู่ในธุรกิจเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องของธรรมชาติ และการเป็นเกษตรกรมีข้อดีที่ได้พบเจอความจริงจากธรรมชาติ ทำให้ได้เรียนรู้ความเป็นจริง เช่น ได้รู้ว่าการปลูกพืชฝืนธรรมชาติทำให้บอบช้ำและบาดเจ็บได้ อย่างการที่มีที่ดินอยู่ราชบุรีแต่กลับปลูกแอ๊ปเปิ้ลหรืออโวควาโดสุดท้ายก็ย่อมจะไม่ได้ผลดีเหมือนปลูกอยู่ที่ออสเตรเลียแน่นอน

ขณะที่ส่วนสำคัญที่สุดหรือหัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์ คือการเชื่อมโยงวิถีทางของเกษตรอินทรีย์ การสร้างชีวิตเกษตรกรที่ลำบากให้มีความมั่นคงและมีหนทางของธุรกิจที่ยั่งยืนให้ได้ เพราะเกษตรอินทรีย์นั้นทุกอย่างมีความเชื่อมโยง ตั้งแต่พื้นดิน ไส้เดือนที่อยู่ในดิน ฤดูกาล และพืชผักที่เหมาะสมในการปลูก ต้องสัมพันธ์กันจึงจะได้ผลผลิตที่ดีและเป็นไปตามแนวทางของการใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

มาถึงวันนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของไร่ปลูกรัก นอกจากจะมาจากความเชี่ยวชาญในการทำอาหารของ “อโณทัย”ที่เปิดร้านอาหารออร์แกนิกเล็กๆ ย่านพระราม9 เป็นจุดสำคัญที่ช่วยกระตุ้นผู้บริโภคได้อย่างดี ประกอบกับการได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระบบสากลจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) การสามารถในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ การให้ความรู้ รวมทั้ง การสร้างประสบการณ์ที่ดีในสินค้าและบริการมาอย่างต่อเนื่อง

๐ บ้านไร่วิมานดิน
ปักธง 'Organic Farm Stay'

“บ้านไร่วิมานดิน”เป็นอีกหนึ่งรายที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะมองเห็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ จากจุดเริ่มในปีพ.ศ.2540 เมื่อ “พ.ต.ท.กฤชญาณ อภิกุลชา”นายตำรวจที่มีความรักและความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณไม้ไทยมากมายจากประสบการณ์ที่มีมาตั้งแต่วัยเด็ก หันมาทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ 80 ไร่ ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้นำแนวคิดเกษตรผสมผสานตามพระราชดำริของในหลวงมาใช้เป็นหลักในการวางรากฐานธุรกิจเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ด้วยการปลูกพืช 3 ระดับ เช่น ปลูกสะตอและยางพาราเป็นพืชชั้นบน ปลูกพริกไทกับดีปลีเพื่อพันเกาะต้นสะตอ ปลูกมังคุด มะเฟือง และเงาะเป็นพืชชั้นกลาง ปลูกเฮลิโคเนียเป็นพืชชั้นล่าง ปลูกผักพื้นบ้านกับสมุนไพร เช่น ผักกูด พลูคาวเป็นพืชคลุมดิน และปลูกกระชาย ขมิ้นชันเป็นพืชชั้นใต้ดิน สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันโดยไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก รวมทั้ง การเลี้ยงวัวตามแนวทางปศุสัตว์อินทรีย์ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการส่งเสริมเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับเป้าหมาย “บ้านไร่วิมานดิน”ต้องการจะก้าวไปสู่การเป็น“ออร์แกนิกฟาร์มสเตย์”ที่ประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากแนวทางการทำการเกษตรที่วางรากฐานไปได้ระดับหนึ่งแล้วและผ่านการรับรองโดยได้รับเครื่องหมายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2546 แม้ว่าในส่วนของการสร้างรายได้ยังต้องมีการจัดการที่ดีกว่านี้

แต่“ชารางจืด”ที่ได้จากป่าชุมชนซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่พืชพรรณเติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมีในการปลูก กำลังจะกลายเป็นสินค้าหลักที่มีอนาคตของที่นี่ เพราะนอกจากจะมีคุณสมบัติในการล้างพิษในร่างกาย ยังมีรสชาติที่ดีอีกด้วย จึงนำมาแปรรูปให้เก็บได้นานขึ้นและสะดวกในการรับประทาน โดยกำลังเน้นเจาะตลาดส่งออก

ขณะที่ด้านของที่พักซึ่งมีอยู่ 19 ห้องในรูปแบบบ้านริมน้ำเป็นหลังและบ้านบนเนินเขา เริ่มหันมาปรับปรุงการทำตลาดออนไลน์อย่างจริงจังเมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่หลายปีก่อนเคยทำมาแล้ว แต่ไม่ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

นอกจาก“จุดขาย”ในเรื่องของที่พักซึ่งมีบรรยากาศของความเป็นบ้าน แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติสวยงามทั้งภูเขา ต้นไม้ และสายน้ำที่สามารถสัมผัสพร้อมกิจกรรมล่องแก่งชื่นชมความงามได้อย่างใกล้ชิด และสนุกสนานกับการถ่ายภาพได้ในหลายๆ จุดที่มีการจัดไว้เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แต่ต่อไปจะเพิ่มในส่วนของการช้อปปิ้งสินค้ามือสองสภาพดี เช่น ของใช้และของตกแต่งในบ้าน เป็นต้น เพราะได้รับความสนใจจากลูกค้าหลังจากนำมาประดับตกแต่งที่พักในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังคิดที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการร่วมมือกับค่ายมวยพันธุ์ยุทธภูมิซึ่งมีชื่อเสียง เพราะเห็นว่ามวยไทยเป็นศิลปวัฒนธรรมที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจและต้องการฝึกหัดมากขึ้น ให้“บ้านไร่วิมานดิน”เป็นทั้งที่ฝึกหัดและพักผ่อน ซึ่งนอกจากจะได้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาฝึกแล้ว ยังจะได้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาชมนักมวยชื่อดังฝึกซ้อมอีกด้วย

สำหรับการลงทุนที่ใช้ไปแล้วประมาณ 20 ล้านบาทซึ่งนักว่าไม่น้อย แต่เป็นเงินที่ได้จากครอบครัวให้การสนับสนุน ไม่ได้ใช้เงินกู้ เพราะมองว่าหากต้องทำเรื่องใหญ่แต่ต้องกู้เงินมาลงทุน เลือกที่จะทำเล็กๆ โดยใช้เงินของตัวเองจะดีกว่า เพราะฉะนั้น การพัฒนา“บ้านไร่วิมานดิน”จึงทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่ไปกับการหาโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

แม้ว่าผู้ประกอบการทั้งสองรายที่นำเสนอไปยังไม่สามารถปักธงความสำเร็จในธุรกิจเกษตรอินทรีย์ของตนเองได้อย่างสวยงามเท่าไรนัก แต่ทำให้เห็นว่าแนวทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้นอยู่ไม่ไกล เมื่อมีโมเดลธุรกิจและการบริหารจัดการให้ตอบโจทย์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.