ผู้ว่าการธนาคารชาติกับการเมืองในอดีตของไทย


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างเช่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแบบอย่างของการจัดการระบบการเงินของประเทศอื่นๆ ทั้งหลายนั้น เขาถือหลักว่า "ผู้ว่าการธนาคารชาติ" หรือ "ผู้ว่าการธนาคารกลาง" จะต้องเป็นบุคคลที่สามารถทำหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ โดยเป็นบุคคลที่ไม่ขึ้นสังกัดหรืออยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นอิสระ ไม่ต้องฟังคำสั่งจากพรรคการเมือง หรือจากนักการเมืองผู้มีอำนาจคนหนึ่งคนใด เพราะผู้ว่าการธนาคารชาติหรือธนาคารกลางนั้นเป็นผู้ควบคุมและจัดการระบบการเงินของประเทศชาติ ซึ่งเป็นระบบที่ขึ้นอยู่กับ "ผลประโยชน์ของประเทศชาติ" ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือนโยบายของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ว่าการธนาคารชาติสามารถปฏิบัติงานควบคุมและจัดการระบบการเงินของประเทศชาติได้อย่างเป็นอิสระ โดยคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติแต่อย่างเดียว ผู้ว่าการธนาคารชาติจึงจำเป็นต้องมีอิสระในการดำเนินนโยบาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติดังกล่าว โดยไม่ต้องฟังคำสั่งของรัฐมนตรีคลัง หรือแม้ของรัฐบาล (ซึ่งสังกัดพรรคการเมือง)

และเพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระดังกล่าวนี้ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อประธานาธิบดีแต่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ (ธนาคารทุนสำรองสหพันธรัฐ) แล้วจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา (ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค) เสียก่อน การแต่งตั้งนั้นจึงจะสมบูรณ์ และเมื่อแต่งตั้งใครไปแล้ว จะถอดถอนไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภา นอกจากนี้แล้วก็ต้องให้ผู้ว่าการคนนั้นพ้นจากตำแหน่งไปเอง เมื่อครบกำหนดอายุตามวาระ (4ปี) ลาออก ถึงแก่กรรม ทุพพลภาพ หรือวิกลจริตจิตฟั่นเฟือน

แต่สำหรับในประเทศไทยเรา ซึ่งรัฐบาลยังเป็นผู้รวบอำนาจอยู่ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตำแหน่งอย่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งควรจะเป็นอิสระจึงยังไม่อาจเป็นอิสระได้

ด้วยเหตุนี้เอง นักการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้มีอำนาจเหนือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมักใช้อำนาจบังคับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นครั้งคราว

เมื่อนโยบายของผู้ว่าการธนาคารชาติ ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติไปขัดแย้งกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการคลัง ซึ่งเป็นโยบายของพรรคการเมือง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกำเนิดของธนาคารชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้อุ้มท้อง โดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติ พ.ศ. 2482 จัดดำเนินงานเตรียมการเพื่อก่อตั้งเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา จนกระทั่งได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2487 ในสมัยที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีนายเล้ง ศรีสมวงศ์ นักบัญชีปริญญา บี.คอม. จากอังกฤษ อดีตผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เลยถือเป็นประเพณีว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้บังคับบัญชาธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจเหนือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แทนที่จะถือหลักการแห่งความเป็นอิสระของผู้ว่าการธนาคารชาติ ตามแบบอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุการณ์เพี้ยนๆ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมักเกิดขึ้นบ่อยๆ

ผู้ว่าการคนแรก

เมื่อมีพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ผู้ว่าการธนาคารชาติคนแรกได้แก่ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ โอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ผู้ให้กำเนิด บริษัท ธนาคารสยามกัมมาจล ทุน จำกัด คือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบันนี่เอง ท่านวิวัฒน์เป็นนักเรียนนอก สำเร็จปริญญา บี.เอ. จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ของอังกฤษ เคยเป็นเลขานุการของ มร.ดอลล์ แบร์ ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ซึ่งติดพันกันมาตั้งแต่ครั้งประเทศไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของอังกฤษ และท่านเป็นผู้ประสานงานในการดำเนินงานก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยเหตุนี้เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งขึ้นมาในตอนปลายสงครามโลก ท่านจึงได้เป็นผู้ว่าการคนแรกของธนาคารนั้น

ทุจริตเงินตราต่างประเทศ

เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมัยรัฐบาลเสรีไทยที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2488 ได้มีกองกำลังทหาร กรม 136 ของอังกฤษ และหน่วยงาน โอเอสเอส ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทย เพื่อปลดอาวุธกาองทัพญี่ปุ่นไทย ที่พ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร

ตอนนั้นธนาคารชาติต้องทำงานหนักเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งเงินปอนด์สเตอลิงของอังกฤษ เงินรูปีของอินเดีย (ที่อังกฤษจ่ายให้แก่พลทหารอินเดีย เพราะอินเดียยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่) และเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ จนกระทั่งเกิดการทุจริตครั้งใหญ่เกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งตามรูปการณ์ความผิดพลาดบกพร่องได้ลามปามมาถึงตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่ด้วยการช่วยเหลือในหมู่พวกเจ้าด้วยกัน ความผิดทั้งหลายแหล่จึงถูกผ่องถ่ายให้ไปกองอยู่กับ นายวัฒนา กมลปรีชา นักเรียนนอกจากอังกฤษ ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ผู้เดียว จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แต่แล้วก็กุ๊กกิ๊กกันจนคุณวัฒนาได้รับการประกันตัวและหลบหนีออกนอกประเทศไป เรื่องจึงเป็นอันยุติลงด้วยการที่คุณวัฒนา กมลปรีชา กับคุณสุนีย์ สุ่มสวัสดิ์ แฟนสาวสวย ต้องไปตกระกำลำบากอยู่ในประเทศบราซิล

ผู้ว่าการแบงก์ชาติตรอมใจตาย

ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2501-2506 โดยมีนายสุนทร หงส์ลดารมภ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายโชติ คุณะเกษม ผู้สำเร็จปริญญา บี.คอม. จากอังกฤษ ซึ่งเป็นเพื่อนรักเพื่อนใคร่ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้โอนการพิมพ์ธนบัตรที่รัฐบาลไทยได้เคยพิมพ์อยู่กับโรงพิมพ์ของ บริษัท โทมัส เดอ ลารู ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไปพิมพ์ที่สหรัฐอเมริกาในรูปแบบเดียวกับธนบัตรดอลลาร์

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นทนายความประจำ และ ม.จ.วิวัฒนไชย ไชยันต์ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัท ก็ได้เอะอะโวยวายขึ้นมา เป็นทำนองกล่าวหาว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกินสินบนของบริษัทโรงพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา จนคุณโชติ คุณะเกษม ต้องถูกจับกุมเอาไปกักขังไว้ที่สันติบาล แล้วคุณโชติก็พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไป และการพิมพ์ธนบัตรของรัฐบาลไทยก็ถูกโอนกลับมาพิมพ์ที่บริษัท โทมัส เดอ ลารู ตามเดิม แม้คุณโชติจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาก็ตาม แต่อยู่ได้มิช้ามินานก็ตรอมใจตายในที่สุด

มาถึงยุคป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับลูกนายกฯ

ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี ดร.เสริม วินิจฉัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น มี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้สำเร็จปริญญาดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นผู้ว่าการะธนาคารแห่งประเทศไทย ในสมัยนั้นมีธนาคารพาณิชย์ 2 ธนาคารกำลังประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากการจัดการภายใน คือ ธนาคารเกษตร จำกัด กับธนาคารมณฑล จำกัด ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเข้าไปแก้ปัญหา แล้วรวมธนาคารทั้ง 2 เข้าเป็นธนาคารเดียวกัน พร้อมกับทำให้เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยในนามใหม่ว่า "ธนาคารกรุงไทย จำกัด"

และในสมัย ดร.ป๋วยเช่นกัน ธนาคารไทยพัฒนา จำกัด ที่มีพันเอกณรงค์ กิตติขจร เป็นประธานกรรมการ และนายเสรี ทรัพย์เจริญ เป็นกรรมการผู้จัดการ ก็เกิดปัญหาทางการเงินเนื่องจากการจัดการภายในเช่นกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการถอดถอนคณะกรรมการเก่าของธนาคารทั้งชุด แต่มีปัญหาทางการเมืองมาเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะประธานกรรมการของธนาคารไทยพัฒนา เป็นบุตรชายของนายกรัฐมนตรี

ดร.ป๋วย เป็นมวย หอบเอาแฟ้มเรื่องราวทั้งหมดไปเสนอจอมพลถนอม พร้อมกับรายงานให้ทราบว่า พิจารณาตามกฎหมายแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องถอดถอนกรรมการของธนาคารไทยพัฒนาทั้งชุด จึงขอมอบเรื่องให้จอมพลถนอมพิจารณาดูทั้งหมด แล้วจะมาขอรับคำตอบในภายหลังจะยินยอมให้ถอดถอนคณะกรรมการ รวมทั้งประธานของธนาคารไทยพัฒนาหรือไม่? ซึ่งปรากฏว่า ในที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ยินยอมให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งระเทศไทยดำเนินการเพื่อถอดถอนกรรมการของธนาคารไทยพัฒนาได้ จนธนาคารต้องเปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น "ธนาคารมหานคร" อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ นับว่าเป็นความสามารถและความดีความชอบของ ดร.ป๋วย

แต่แล้วในที่สุด เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2518 และมีคุณบุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเกลียดหน้า ดร.ป๋วยมานานแล้ว (และเกลียดหน้าทุกๆ คนที่มีความรู้ความฉลาดและรู้เท่าทันตน) จึงบอกคุณบุญชูให้กระซิบบอก ดร.ป๋วยให้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเสียตั้งแต่ในปีนั้นเอง

บัดนี้ก็มาถึงตาคุณนุกูล ประจวบเหมาะ บ้าง จึงได้ถูกคุณสมหมาย ฮุนตระกูล เลือดไหหลำนักเรียนเก่าญี่ปุ่น สวมวิญญาณบูชิโด ฟาดด้วยซามูไร คุณนุกูลก็หล่นลงไปนอนแอ้งแม้ง

เหมือนอย่างที่นุกูลพูดออกมาอย่างขมขื่นว่า สมหมายเองน่าจะเป็นคนพูดกับนุกูลแทนที่จะให้ พนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้โทรศัพท์มาบอก ซึ่งนุกูลก็ตอบปฏิเสธไปว่าไม่ยอมลาออก

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนแก่อารมณ์ร้อนอย่างสมหมายที่เคยอยู่ธนาคารชาติมา 20 กว่าปี และอาวุโสกว่านุกูลมากก็คงจะไม่มีอารมณ์ไปนั่งจำนรรจากับนุกูลอีกต่อไป

ที่แน่ๆ นุกูล ประจวบเหมาะ ก็ได้แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า ไหนๆ จะเป็นคนหัวรั้นแล้ว ก็จะขอเป็นคนรั้นให้จนถึงที่สุด

เรียกได้ว่า นุกูล ประจวบเหมาะ ยินดีเป็นหยกที่แหลกลาญมากกว่าจะเป็นกระเบื้องที่สมบูรณ์

มันอาจจะเร็วเกินไปที่จะไปทำนายทายทักว่า การปลดนุกูล ประจวบเหมาะ ครั้งนี้จะมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานภาพของประเทศไทยในตลาดการเงินหรือไม่ และก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า ประเทศไทย หรือธนาคารชาติจะได้รับความเสียหาย จากการที่นุกูลถูกปลดครั้งนี้ ถ้าจะมีปัญหาก็คงจะเป็นเพราะสงสัยที่ว่า ธนาคารชาติหลังจากที่นุกูลถูกปลดแล้ว จะยังคงอยู่ในสภาวะที่เป็นอิสระต่อไปหรือไม่

และคำตอบนี้ ถึงแม้สมหมายจะตอบออกมาแล้วว่า ธนาคารชาติจะยังคงมีอิสระอยู่เหมือนเดิม แต่เวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่า ที่สมหมายพูดนั้นเป็นความจริง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.