ปตท.เดินหน้าธุรกิจไฟฟ้า เทงบ 6 หมื่น ล.ลงทุน ตปท.เพื่อขายกลับเข้าไทย


ASTV ผู้จัดการรายวัน(15 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.รุกธุรกิจไฟฟ้าเจรจาร่วมทุน กฟผ.ทำโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศที่ขายไฟเข้าไทย หลังประเมินแนวโน้มโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศเกิดยาก ยันไม่ต้องการถือหุ้นใหญ่แต่ไม่น้อยกว่า 25% วางแผนลงทุนต่างประเทศ 5 ปี เทงบ 6 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนควบรวมกิจการ 4 บริษัทลูก ได้ศึกษาจับคู่ใหม่ เมินจับคู่ PTTAR-IRPC หลังบอร์ดหวั่นปัญหาฟ้องร้อง

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามแผนการลงทุน 5 ปีข้างหน้า (2553-2557) ปตท.จัดสรรงบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท ในการลงทุนต่างประเทศผ่าน บริษัท ปตท.อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ทำให้ ปตท.พยายามเร่งรัดการลงทุนในต่างประเทศเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเจรจาได้ข้อสรุปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งวงเงินลงทุนมีความยืดหยุ่นและจะทบทวนแผนลงทุนใหม่ในเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ ปตท.สนใจลงทุนในธุรกิจถ่านหิน โรงไฟฟ้า และพลังงานทดแทน โดยธุรกิจโรงไฟฟ้าจะร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อไปลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสที่จะร่วมทุนกับโครงการโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนรายอื่นๆ ที่จะขายไฟเข้าไทย หลังจากแนวโน้มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศไทยทำได้ยาก

เพราะถูกต่อต้านอย่างหนักแม้กระทั่งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงก็ตาม ซึ่ง ปตท.เข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าจะทำให้โครงการมีความเข้มแข็ง จัดหาเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

นายเทวินทร์ กล่าวว่า การเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้านี้ ปตท.ไม่ต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เนื่องจากไม่มีความชำนาญ แต่จะถือหุ้นไม่น้อยกว่า 25% เพื่อให้รับรู้รายได้เข้า ปตท.ส่วนความคืบหน้าการควบรวมกิจการ 4 บริษัทในเครือ ปตท.ว่า ขณะนี้ ปตท.ได้มีการศึกษาการจับคู่ใหม่ หลังจากได้มีการศึกษารายละเอียดเชิงลึกแผนเดิมในการควบรวมกิจการคู่แรก พบว่า มี 1 ใน 4 บริษัทติดปัญหาด้านกฎหมาย ทำให้คณะกรรมการบริษัทมีความกังวลว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจไม่อนุมัติ และหากมีการควบรวมแล้วจะมีประเด็นฟ้องร้องตามมา ดังนั้น จึงมีการศึกษารายละเอียดบริษัทแทน ซึ่งต้องใช้เวลา คาดว่าไม่ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

“การควบรวมกิจการยังคงเป็น 4 บริษัทเดิม แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะควบรวมบริษัทใดก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดว่าควบรวมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด คงต้องดูความสามารถและความเป็นไปได้ทางกฎหมายในการควบรวมด้วย” นายเทวินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ปตท.มีแผนจะดำเนินการควบรวมกิจการ 4 บริษัทย่อย ประกอบด้วย บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ซึ่งคู่แรกที่มีการพิจารณาแผนควบรวมในระดับคณะกรรมการบริษัท คือ ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น กับไออาร์พีซี แต่เนื่องจากไออาร์พีซีมีความฟ้องร้องจำนวนมาก และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ทำให้บอร์ด ปตท.กังวลปัญหาฟ้องร้องจะเกิดขึ้นหากยังเดินหน้าควบรวมกิจการต่อไป จึงมีความเป็นไปได้ปตท.พิจารณาความเป็นไปได้ในการควบรวม ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น กับ ปตท.เคมิคอลแทน

นายเทวินทร์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทจะออกหุ้นกู้ 1 หมื่นล้านบาท ในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อคืนหุ้นกู้ที่ครบอายุวงเงิน 2-3 พันล้านบาท และที่เหลือจะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นกู้เดิมของ ปตท.และอีก 20% จะจัดสรรให้ประชาชนทั่วไป โดยอายุหุ้นกู้แบ่ง 4 ปี และ 7 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.