ไดมารู-อาคารสีลม ทางเลือกเพื่อความอยู่รอด


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2527)



กลับสู่หน้าหลัก

ไดมารู เป็นห้างสรรพสินค้าเก่าแก่และได้รับฉายาว่า "ยักษ์ใหญ่ราชดำริ"

แต่เมื่อย่านราชดำริให้กำเนิดห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ อย่างเช่น เดอะมอลล์ โรบินสัน และกำลังจะมีอมรินทร์พลาซ่า พันธ์ทิพย์พลาซ่า หรือแม้กระทั่งศูนย์การค้าโลกที่วังเพชรบูรณ์ขึ้นมา ความ "เก๋า" ของไดมารูก็คงไม่ได้ช่วยให้รักษาฉายา "ยักษ์ใหญ่ราชดำริ" ไว้ได้สืบไปเป็นแน่

นอกเสียจากว่า ไดมารูจะต้องลงมือขยับขยายกิจการเพื่อมิให้เป็นรองบรรดาคู่แข่งทั้งหลายเท่านั้น

การขยับขยายครั้งนี้ ว่ากันว่าก็มีอยู่ 2 ทางคือ ทางแรกลงมือขยับขยายตรงจุดที่ตั้งเดิมซึ่งก็หมายถึงที่ราชดำริอาเขตนั่นแหละ ส่วนอีกทางหนึ่งก็คือพยายามค้นหาย่านใหม่ๆ ที่ธุรกิจห้างสรรพสินค้ามีลู่ทางทำมาค้าขึ้น

สำหรับไดมารู ทางออกแรกคงเป็นเรื่องทำได้ยาก เพราะถ้าเป็นการทุบโครงสร้างเก่าเพื่อสร้างศูนย์การค้าใหม่แล้วก็คงต้องลงทุนมาก เนื่องจากตัวศูนย์การค้าขณะนี้ก็ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ทางออกนี้จึงน่าจะเป็นทางเลือกในอนาคต หาใช่ทางเลือกในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นไดมารูจึงเหลือเพียงทางที่สอง ซึ่งได้เริ่มต้นไปบ้างแล้วที่ไดมารูพระโขนง

และขณะนี้ก็กำลังมองหาย่านการค้าอื่นๆ เพิ่มเติม

ในจำนวนย่านการค้าหลายๆ ย่านของกรุงเทพฯ นั้นดูเหมือนไดมารูจะให้ความสนใจถนนสีลมมากที่สุด เนื่องจากสีลมเป็นแหล่งรวมธุรกิจหนาแน่นกว่าทุกย่าน มีผู้คนพลุกพล่านและยังไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มากแห่ง แม้จะมีข้อเสียตรงราคาที่ดินแพงเอามากๆ ก็เถอะ

แต่การหาที่ลงของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในย่านนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกัน ยิ่งไดมารูต้องการทำเลดี ๆ ติดถนนใหญ่และมีที่จอดรถกว้างขวางด้วยแล้วก็ยิ่งต้องยากขึ้นไปอีกเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ตาม จะเป็นเพราะโชคช่วยหรือด้วยอะไรก็สุดที่จะทราบได้ ในที่สุดไดมารูก็ยกทีมบริหารเข้าพบเจ้าของอาคารสีลมซึ่งอยู่แถวๆ หัวมุมถนนสีลมถัดจากอาคารบริษัทไอบีเอ็มไปไม่กี่ช่วงตึก ครั้นแล้วการเจรจาก็เริ่มขึ้น

อาคารสีลมอาจจะเรียกได้ว่าเป็นอาคารให้เช่ารุ่นแรกๆ ก่อนที่ถนนสีลมจะกลายสภาพเป็นย่านธุรกิจสำคัญในปัจจุบันแต่เดิมนั้นลูกค้าใหญ่ก็คือบริษัท "ซัมมิท" ของ นายจรูญ หวังบุญสัมฤทธิ์ หรือ ซีเจ ฮวง

แต่ภายหลังที่ "ซัมมิท" ถูกถอนสัมปทานโรงกลั่นบางจากและบริษัทค้าน้ำมัน-ซัมมิทออยล์ขายกิจการให้บริษัทคาลเท็กซ์ไปแล้ว อาคารหลังนี้ก็เปลี่ยนมือไปสู่ผู้เช่านับสิบบริษัทในขณะนี้

อาคารสีลมมีตัวอาคารแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้านั้นสร้างเมื่อปี 2507 และส่วนหลังสร้างเมื่อปี 2514 เนื้อที่ปลูกสร้างอาคารและลานจอดรถเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนถึง 9 ไร่ ซึ่งหาได้ยากยิ่ง

"เนื้อที่ของตึกเก่ามีอยู่ประมาณ 607 ตารางเมตร ส่วนตึกใหม่ก็ประมาณ 639 ตารางเมตร ค่าเช่าจะอยู่ระหว่างตารางเมตรละ 200-250 บาท ขณะนี้มีผู้เช่าราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อที่" แหล่งข่าวในวงการเรียลเอสเตทรายหนึ่งแจกแจงรายละเอียดของอาคารสีลมให้ฟัง

นับแต่มีการลงทุนสร้างอาคารแห่งนี้ขึ้นมาจนถึงปัจจุบันอาคารสีลมมีบริษัทสีลมอาคารและบริการเป็นเจ้าของและผู้บริหาร โดยบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 6 ล้านบาท แบ่งเป็น 60,000 หุ้น สมาชิกในตระกูล จิรกิติ (เป็นนามสกุลพระราชทาน นามสกุลเดิมคือ วงษ์โกวิท) ถืออยู่ 41,600 หุ้น หรือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ถือโดยสมาชิกในตระกูล สายาลักษณ์ ซึ่งทั้ง 2 ตระกูลได้ชื่อว่าเป็นตระกูลเจ้าที่ดินใหญ่ด้วยกันทั้งคู่

"ที่จริงในช่วงแรกๆ จนถึงปี 2522 มีพวกนามสกุล ช่วงสุวณิช ถือหุ้นด้วย แต่ตอนหลังขายหุ้นให้กับพวกจิรกิติหมด" คนที่รู้เรื่องดีช่วยเสริม

ในการเจรจาระหว่างไดมารูกับเจ้าของอาคารสีลมสามารถบรรลุข้อตกลงในชั้นแรกไปได้ คือ เจ้าของอาคารสีลมยินดีอย่างยิ่งหากไดมารูต้องการจะเข้ามา แต่ในเรื่องรูปแบบของการเข้ามายังอยู่ในขั้นเจรจาเรื่องรายละเอียด

เจ้าของอาคารสีลมได้ให้ข้อเสนอไป 3 ทาง ได้แก่ ตกลงซื้อขายกันไปเลยหรือให้เช่าหรือไม่เช่นนั้นก็ร่วมลงทุนด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับทางแรกคือหากไดมารู ต้องการซื้ออาคารและที่ดินจำนวนทั้งหมด 9 ไร่ไปเป็นกรรมสิทธิ์เลย ทางเจ้าของยินดีขายให้ในราคา 800 ล้านบาทจะทุบอาคารเก่าเพื่อสร้างใหม่หรือจะทำอย่างไรก็ให้ว่าไปตามสะดวก

ส่วนทางที่สอง คือ ขอเข้ามาในฐานะผู้เช่า ไม่ทุบอาคารเก่าทิ้งนั้นเจ้าของอาคารสีลมขอค่าเช่าเดือนละ 9 ล้านบาท บวกกับค่าเซ้งอีกจำนวนหนึ่งซึ่งก็คงเป็นเงินอีกหลายร้อยล้าน

และทางที่สาม ก็คือ ทุบอาคารเก่าทิ้ง แล้วบริษัทสีลมอาคารและบริการจะร่วมทุนกับไดมารูสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นห้างสรรพสินค้าและอีกส่วนเป็นเนื้อที่ให้เช่า ข้อเสนอนี้กำลังศึกษากันอยู่ว่าจะต้องลงทุนอีกมากน้อยเท่าไรและใครจะต้องควักเท่าไหร่

จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอนว่า ไดมารูจะเลือกหนทางสายไหนกันแน่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.