ท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2474 ที่กรุงเทพฯ
เป็นบุตรสาวคนสุดท้องในจำนวน 5 คน ของเสวกโท พระประดับ ดุริยกิจ(แหยม วีณิน)
อดีตเจ้ากรมพิณพาทย์ ในสมัยรัชกาลที่ 6 กับ นางประดับ ดุริยกิจ(เพี้ยน วีณิน)
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสตรีเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์
สมรสกับพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2492 มีบุตรธิดารวม
3 คน คือ พันตำรวจตรีทินภัทร, ร้อยโทหญิงคุณเวณิกา และร้อยโทฐิติวัจน์ กำลังเอก
ท่านผู้หญิงประภาศรีล้มป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมองและได้รับการผ่าตัด ณ
โรงพยาบาลพระมงกุฎ 3 ครั้ง ทั้งยังได้เดินทางไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลวอลเตอร์รีด
สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเดินทางกลับมาพักฟื้นก็เกิดอาการของโรคแทรกซ้อนขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาอีกครั้งที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ
วันที่ 11 มีนาคม 2526 เวลา 01.02 น. ท่านผู้หญิงประภาศรี ก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการสงบ
หลังอนิจกรรม 1 ปี กับอีก 5 เดือน บริเวณด้านหน้าติดถนนของโรงพยาบาลพระมงกุฎก็ปรากฏอาคารหลังงามสง่า
เป็นตึกอุบัติเหตุสำหรับรับผู้ป่วยในรายฉุกเฉิน ซึ่งสำหรับพลเอกอาทิตย์
กำลังเอก อาคารหลังนี้คือ "อนุสรณ์แห่งความรัก" แด่ศรีภริยา-ท่านผู้หญิงประภาศรี
กำลังเอก
อาคารท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก หรือตึกอุบัติเหตุเป็นอาคารสูง 8 ชั้น
แบ่งเป็นชั้น 1 ที่จอดรถพยาบาลและรถส่งผู้ป่วย ห้องสวัสดิการ ห้องควบคุมกระแสไฟฟ้า
ห้องเครื่องทำออกซิเจน และห้องทำลายเชื้อ ชั้น 2 เป็นสำนักงานผู้ป่วยนอก
ห้องตรวจรักษาและบำบัดคนไข้ฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดใหญ่และห้องผ่าตัดเล็ก ห้องวิสัญญีและรอฟื้น
ห้องเอกซเรย์ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และห้องเวชระเบียนกับเภสัชกรรม
ชั้น 3 เป็นห้องผ่าตัดสมองและกระดูก ห้องผู้ป่วยอาการหนัก ห้องรับผู้ป่วยและสังเกตอาการ
ชั้น 4 เป็นห้องรับผู้ป่วย ห้องตรวจหู คอ จมูก และตาฉุกเฉิน กับห้องพักแพทย์พยาบาล
ชั้น 5 เป็นห้องรับผู้ป่วยเด็ก ชั้น 6 เป็นห้องรับผู้ป่วยพิเศษ ห้องผู้ป่วยแยกโรค
ห้องพักแพทย์พยาบาลและห้องผู้ป่วยน้ำร้อนลวก และไฟไหม้ ชั้น 7 เป็นคลินิกผู้สูงอายุ
สถานที่ออกกำลังกายผู้สูงอายุ สำนักงานเวชศาสตร์การบิน สำนักงานกองเวชกรรมฉุกเฉิน
และอุบัติเหตุ ส่วนชั้น 8 หรือชั้นดาดฟ้าเป็นห้องประชุม ห้องเรียน ห้องสอน
ห้องสำนักงานแผนกศัลยกรรมประสาทและศูนย์รวมวิทยุโรงพยาบาลพระมงกุฎ
ทั้งหมดนี้ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ช.การช่าง ค่าก่อสร้างและค่าอุปกรณ์มีค่าทั้งหลายได้รับจากผู้บริจาคจำนวนกว่า
3,000 รายซึ่งมีทั้งบริษัท ห้างร้าน พ่อค้าประชาชน ผ่านพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก
สำหรับผู้เจ็บป่วยก็คงรู้สึกตื้นตันกับผลงานชิ้นสำคัญชิ้นนี้ของพลเอกอาทิตย์
และสำหรับอีกหลายๆ คนก็คงซาบซึ้งถึงบารมีของท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก
ซึ่งหากมิใช่ท่านแล้ว แรงดึงดูดพลังใจและพลังทรัพย์จากทั่วทุกสารทิศโดยเฉพาะบริษัทห้างร้านและนักธุรกิจก็อาจจะไม่ทรงประสิทธิผลเท่านี้ก็ได้
แต่สำหรับตัวพลเอกอาทิตย์ ท่านถือว่าผลงานชิ้นนี้คือ "แด่เธอผู้เป็นที่รัก"
พร้อมกันนั้นก็บันทึกเป็นข้อความที่ชวนซาบซึ้งว่า...
"จากวันที่เธอจากไป ยังความโศกเศร้าให้พี่มิรู้คลาย เป็นเวลานานกว่าปีก็ไม่ได้ทำให้ความระลึกถึงเธอต้องห่างหาย
ตรงกันข้ามกลับทำให้ทวีความรักความอาลัยเธออย่างสุดซึ้ง สิ่งนี้เป็นพลังใจให้พี่ต้องสร้างอาคารอนุสรณ์นี้จนสำเร็จ
แม้จะเหน็ดเหนื่อยเท่าไรก็เหมือนมีเธอเป็นกำลังใจเสมอ สถานที่นี้เป็นแห่งสุดท้ายที่เธอมีชีวิตอยู่
พี่และลูกไม่เคยลืมวันแห่งความอบอุ่นของเรา ยังจำถึงเหตุการณ์ทุกอย่างจนวาระสิ้นสุดแห่งชีวิตเธอ
เธอจากไปอย่างสงบ ซึ่งทิ้งความอาลัยไว้ให้พี่มิรู้ลืม ด้วยพลังใจที่เคยได้รับจากเธอตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่
ทำให้คิดเสมอว่า ขณะนี้เธอก็ยังอยู่กับพี่และเป็นกำลังใจให้พี่ทุกแห่ง
อาคารนี้สร้างเพื่อเธอเพื่อให้ได้รู้ว่า ครั้งเมื่อเธอมีชีวิตอยู่ก็ประกอบกรรมดีตลอดมา
แม้เมื่อสิ้นแล้ว ชื่อของเธอก็ยังก้องอยู่ในหัวใจพี่และคนทั่วไป
อาคารนี้จะเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม การสร้างก็ต้องพบกับความยากลำบากในการหาเงินทุนดำเนินการ
พี่ต้องอดทนทุกอย่างและในที่สุดก็พบความสำเร็จ ด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างดียิ่งของประชาชนทุกฝ่าย
จากทุกแห่งทั่วประเทศ
อาคารอันเป็นอนุสรณ์ของเธอนี้ ได้สำเร็จสมบูรณ์สามารถช่วยชีวิตคนทั้งหลายได้แล้ว
ขอให้กุศลที่เราทั้งหลายได้ช่วยกันสร้าง จงส่งผลให้วิญญาณของเธอมีแต่ความสุขทุกสถานที่เธอสถิตอยู่ชั่วนิจนิรันดร์..."
แม้ว่าความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างไม่อาจเทียบได้กับ "ทัชมาฮาล"
แต่อนุสรณ์สถานแห่งความรักของพลเอกอาทิตย์กับท่านผู้หญิงประภาศรีนี้ก็คงมีเนื้อหาและความหมายที่ใหญ่ยิ่งไม่แพ้กันเป็นแน่
นอกจากนี้อาคารท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก ก็ยังแสดงทิศทางในแง่ที่ว่า
อันทหารกับนักธุรกิจนั้นถ้าใครบอกว่าทั้งสองฝ่ายนี้กำลังขับเคี่ยวกันในเรื่องการเป็นผู้นำในสังคมแล้วละก้อ
คงไม่ใช่ในกรณีนี้กระมัง