เอเปกพร้อมแล้ว100% นายกฯมันใจไร้เรื่องร้าย


ผู้จัดการรายวัน(15 ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ครม.รับทราบความพร้อมในการประชุมเอเปก มั่นใจยกระดับและบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศ "ทักษิณ" เผยหลังประชุม จะออกแถลง การณ์ผลประชุม และประโยชน์ที่ไทยได้รับ ย้ำช่วงเอเปกปลอดภัย ไร้ผู้ก่อการร้าย และเอ็นจีโอต่างชาติรบกวน ยกเว้นเอ็นจีโอไทยที่เตรียมเคลื่อนไหว แนะทางที่ดีให้เลิกชุมนุม เพราะรู้ตัวแล้วใครอยู่เบื้องหลัง ตำรวจเตรียมงัดกฎหมายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และความผิดต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ เล่นงานคนแจ้งความ "บุช" ด้าน"สุรเกียรติ์" เผยนายกฯไทยเนื้อหอมผู้นำต่างชาติรุมขอเข้าพบ หวังชื่นชมวิสัยทัศน์

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วานนี้ (14 ต.ค.) ว่าในการพิจารณาวาระแห่งชาติเรื่องแนวทางการประชุม สุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพว่า ในที่ประชุมได้อธิบายถึงเนื้อหาสาระในทุกเรื่องที่จะมีการทำความตกลงในระดับทวิภาคี กับประเทศที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งขณะนี้ไทยมีความพร้อมทุกเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาสาระและการดูแลความปลอดภัย ซึ่งมั่นใจได้ 100% ว่ามีความพร้อมในการจัดประชุมเอเปก

ทักษิณฮึ่มรู้ใครอยู่เบื้องหลังม็อบ

ในเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า รู้หมดแล้วว่าใครอยู่เบื้องหลัง จึงอยากขอร้องว่าใครที่เคลื่อนไหวอยู่ ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ควรเลิกเสีย และใครที่ถูกชักชวนก็อย่าไปให้ความร่วมมือ ปล่อยให้เป็นเรื่องแกนนำที่ดื้อด้านก็ปล่อยเขาไป

"อยากฝากพี่น้องคนไทยว่า 7 วันของการ มีแขกมาเยือน พร้อมกับมีการประชุมเอเปก จะเป็น 7 วันที่มีความสำคัญต่อประเทศ และประชาชน เพราะระหว่างนี้จะมีการเจรจากันหลายอย่างเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ฉะนั้นความประทับใจในสิ่งที่ดีๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะ 21 ปีถึงจะครบรอบหนึ่งครั้ง เมื่อเราจัดครั้งนี้แล้วก็จะทำให้ดีที่สุด เนื้อหาสาระการประชุมก็เป็นประโยชน์ อย่าลืมว่า ตลาดสินค้าส่งออกของไทยไปในตลาด เอเปกมีถึง 70%"

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า หลังประชุมเอเปก รัฐบาลจะออกแถลงการณ์ผลการประชุมต่อสื่อทั่วโลก ซึ่งเดินทางมาหลายพันคน โดยจะทำการเผยแพร่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยออกไป เมื่อเราต้องการได้สิ่งที่ดี ก็ต้องทำแต่สิ่งที่ดี และจะมีการแถลงเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับประเทศไทยอีกครั้งหลังงานเสร็จ

สำหรับการประชุมระดับทวิภาคีนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันไว้ในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง ส่วนเรื่องรปภ. ไม่มีอะไรน่าห่วง จะใช้กำลังทั้งหมดประมาณหมื่นกว่าคน จึงมั่นใจว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย อย่าไปจินตนาการ รวมทั้งข่าวที่ว่าจะมีคาร์บอมบ์ที่เวิลด์เทรด ยืนยันว่าไม่มี เป็นพวกโรคจิต

เผย 2 ประเด็นหลักหารือ"บุช"

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ในช่วงการประชุมเอเปก ในการหารือกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ มีประเด็นหลัก 2 เรื่อง คือ การต่อต้านการก่อการร้าย และเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ โดยในเรื่องเขตการค้าเสรี จะต้องใช้เวลายาวนาน แต่เจตนารมณ์คือ ต้องการให้มีการเริ่มต้นเจรจา ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปเรื่องกรอบได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลาเรื่องรายละเอียดรายการสินค้า เพราะการเจรจาจะต้องคำนึงถึงผลกระทบของประเทศไทย ด้วย จึงต้องให้เกิดความรอบคอบ ไม่สามารถใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวมาช่วยในการเจรจาได้

ทั่วโลกจับตาเอเปกหลัง WTO ล่ม

ส่วนที่มีข่าวว่า นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ผอ. องค์การการค้าโลก (WTO) ไม่ได้เข้าร่วมประชุม เอเปกนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายศุภชัยไม่เคย ติดต่อมา จึงไม่ทราบว่าจะหารืออย่างไร ความจริงส่วนตัวชอบพอกันดี แต่พอเป็น ผอ.WTO ก็ไม่เคย พบกันที่ผ่านมาเคยติดต่อขอพบ เมื่อครั้งที่นายศุภชัยไปรับตำแหน่ง แต่ก็ไม่ได้พบกัน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร

"นายศุภชัยอาจจะทำตัวเป็นกลาง และกลัวจะถูกมองว่า ใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย แต่การประชุมเอเปกไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมWTO แต่ก็ยอมรับว่า สมาชิกเอเปกและทั่วโลกจับตามองว่า หลังความล้มเหลวของการประชุม WTO ที่เมืองแคนคูน เม็กซิโก แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นที่เอเปก ซึ่งที่ประชุมคงจะต้องมีการพูดถึงการเจรจา ในกรอบพหุภาคีที่ล้มเหลว และถามว่าเอเปกจะเอาอย่างไร และจะมีทิศทางอย่างไร"

"ทักษิณ"เนื้อหอมหลายประเทศอยากพบ

นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมในระดับทวิภาคีที่แน่ๆ มี 4 รายที่มาเยือนไทย ในลักษณะราชอาคันตุกะ หรือแขกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ผู้นำสหรัฐฯ ผู้นำรัสเซีย ผู้นำจีน และผู้นำเปรู นอกจากนั้นยังมีอีกประมาณ 7-8 ราย ที่ขอเข้าพบนายกฯ เช่น นายกฯ ของนิวซีแลนด์ ประธานาธิบดีเม็กซิโก นายกฯ เวียดนาม และปาปัวนิวกีนี และอีกหลายประเทศ ส่วนจะครบ 21 ประเทศหรือไม่ยังไม่ทราบ แต่ถือว่าเป็นจำนวนมาก

"เท่าที่ผมดูเวลานี้ กำหนดการของนายกฯ ทักษิณ แทบจะเรียกว่า ทุกๆ 15 นาที ตลอดตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.เป็นต้นไป แต่จริงๆ แล้วสำหรับนายกฯ ถ้าเริ่มกำหนดการจริง ก็ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.แล้ว เพราะว่าท่านประธานาธิบดีหูจิ่นเทา และประธานาธิบดีเปรู มาตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. ซึ่งคงได้มีการหารือในเรื่อง ที่มีประโยชน์ เพราะการมาลักษณะนี้ ซึ่งผู้นำส่วน ใหญ่ อยากจะเข้าพบท่านนายกฯก่อน เพื่อจะถามความเห็นถึงวิธีการประชุม สิ่งที่นายกฯต้องการ คืออะไรบ้าง"

แจงครม.ประชุมเอเปกปลอดภัยที่สุด

น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับ สถานการณ์ ด้านความมั่นคงและความปลอดภัย ในช่วงการประชุมเอเปก โดยในเรื่องของการก่อการร้าย กับการประทุษร้ายนั้น ได้มีการหาข่าวของกลุ่มบุคคล การฝึกทักษะ การสนับสนุนส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเงินหรืออุปกรณ์จากการข่าวภายในประเทศไม่พบว่า มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลหรือของกลุ่มที่สนับสนุนในการก่อการร้าย ไม่ว่า จะเป็นทางด้านเงินทุน หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในส่วนของการข่าวจากทางด้านต่างประเทศนั้น สรุปได้ ว่าโอกาสที่ไทยจะโดนการก่อการร้ายหรือมีการประทุษร้าย หรือลอบสังหารในช่วงที่มีการประชุม เอเปกนั้นน้อยมาก

สำหรับการขัดขวางหรือการรบกวนการประชุม รวมถึงการขัดขวางทางด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเป็นการทำลายและรบกวนเครือข่ายคอม- พิวเตอร์นั้น ไม่พบว่า มีการวางแผนหรือมีความต้อง การที่จะมาขัดขวางการประชุม เช่นเดียวกับกลุ่มเอ็นจีโอต่างชาติก็ไม่พบจะมีการเคลื่อนไหว

วางเป้าเปิดเสรีการค้าให้เป็นรูปธรรม

น.ต.ศิธากล่าวอีกว่า การประชุมผู้นำเอเปก โดยในส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจนั้น ในการหารือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุม ได้วางหลักการใหญ่ๆ คือ 1.การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างทั้งในส่วนของเอเชียและในส่วนของแปซิฟิก 2.เป็นการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งเป็นการร่วมกันตั้งแต่ 3 ประเทศขึ้นไป โดยจะใช้หลักการ ในการประชุมแบบลงมติหรือว่าเป็นแบบสมัครใจ คือในกรณีที่ผู้นำประเทศต้องออกความเห็นร่วมกันจะใช้หลักของฉันทามติ แต่ในส่วนของการจะตกลงใจทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป ซึ่งอาจไม่ครบ 21 เขตเศรษฐกิจ ก็จะเป็นมติแบบสมัครใจเข้าร่วม

ส่วนวัตถุประสงค์หลักของเอเปก ก็คือ การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน โดยการประชุมจะยึดเป้าหมายการเปิดเสรีการค้าของโบกอร์ เพื่อให้เกิดผล อย่างเป็นรูปธรรม คือในปี 2010 ประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องเปิดเสรีทั้งหมด ส่วนประเทศกำลังพัฒนา จะต้องเปิดเสรีการค้า ภายใน ปี ค.ศ. 2020

ส่ง"พาเวลล์"ประชุมซีอีโอซัมมิท

นายวัชระ พรรณเชษฐ์ ประธานกรรมการอำนวยการ และนายธนวรรธน์ พลวิชัย เปิดเผยถึงกำหนดการล่าสุดเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดผู้นำทางเศรษฐกิจเอเปก หรือเอเปกซีอีโอ ซัมมิทว่าจะดำเนินคู่ขนานกับการประชุมผู้นำเอเปกของภาครัฐ โดยพ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นประธานเปิดการประชุม วันที่ 19 ต.ค. จากนั้นประธานาธิบดีหู จิ่น เทา ของจีน จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ และในวันเดียวกัน จะมีผู้นำภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมประชุม และกล่าวปราศรัยอีกหลายคน เช่น นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ผอ.WTO นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประธานาธิบดี รัสเซีย ประธานาธิบดีเปรู ประธานบริษัทฮิวเล็ต แพคการ์ด ยูโนแคล และซิตี้กรุ๊ป

ส่วนประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยูบุช ของสหรัฐฯ จะไม่มาร่วมงาน โดยให้ พล.อ.คอลิน พาเวลล์ รมว.ต่างประเทศ มาแทน ซึ่งตามกำหนดการจะ มีการถ่ายทอดสดการประชุม พร้อมทำการเปิดระบบตรวจสอบความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-ซิเคียวริตีส์ ของตู้คอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้า ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และซีแอตเติ้ล พร้อมๆ กัน

นายวัชระกล่าวว่า การประชุมกำหนดหัวข้อไว้ว่า "มุ่งมั่น ก้าวไกล สู่ความรุ่งเรือง" จะมีผู้นำภาคธุรกิจเข้าร่วมประชุมราว 600 คน ในจำนวนนี้เป็นนักธุรกิจไทยราว 50 คน และจะมีเวทีหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นิวซีแลนด์ และประธานาธิบดีชิลี จะร่วมเสวนาในเวทีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ของโลก ขณะเดียวกันจะมีการทำโพลสำรวจความเห็น ผู้ร่วมงานถึงสิ่งที่ได้จากการประชุม นำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำภาครัฐ ในวันที่ 21 ต.ค.ด้วย

"ทักษิณ"ระบุแจ้งจับบุชไม่มีกม.รองรับ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จะร่วมกับสมาพันธ์ศิลปินเพื่อประชาธิปไตย แจ้งความดำเนินคดีกับ ประธานาธิบดีสหรัฐฯฐานเป็นอาชญากรสงครามว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่าง แรง และไม่มีกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถ้าไม่มีสื่อเสนอข่าว คนเหล่านี้ก็จะไม่ออกมาเคลื่อนไหว ดังนั้นจึงอยู่ที่การทำข่าวด้วย เพราะสื่อมีส่วนสำคัญในการทำให้สังคมเป็นอย่างไร ดังนั้นสื่อต้องชี้ทิศทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดของชาติ

ส่วนที่นักวิชาการบางคนออกมาสนับสนุนให้มีการชุมนุมประท้วง ช่วงเอเปก พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องมีหน้าที่ของความเป็นพลเมืองด้วย สังคมประชาธิปไตยไม่ยอมรับอภิสิทธิชน ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม บางพวกคิดข้างเดียวเรียกหาสิทธิทั้งวัน พวกนี้มีอะไรที่ "ป่วยๆ" อยู่

สนนท.ขอศึกษากม.ก่อนแจ้งความ

นายพิชิต ไชยมงคล เลขาธิการ สนนท. กล่าว ว่า ขณะนี้ทีมนักกฎหมาย ที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยกำลังพิจารณาหารือว่า จะสามารถใช้กฎหมายศาลอาญา ระหว่างประเทศ ( International Criminal Court : ICC) ดำเนินคดีกับประธานาธิบดี สหรัฐฯได้หรือไม่ เพราะไทยได้ร่วมลงนามแล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศสัตยาบัน

ด้านนายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (ฟอรั่มเอเชีย) กล่าวว่า สนนท. หรือใคร คงจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ส่วนที่จะใช้กฎหมายศาลอาญาระหว่างประเทศก็ไม่สามารถทำได้ เพราะแม้ไทยจะได้ลงนาม รับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2543 แล้ว แต่รัฐสภาไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย

ขณะที่พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า หากมีการแจ้งความดำเนินคดี กับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จริงๆ พนักงาน สอบสวนไม่ว่ากองปราบปราม หรือตำรวจนครบาลก็ต้องรับแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน แต่การดำเนินการ พนักงานสอบสวนก็ต้องใช้ดุลพินิจตามบทบัญญัติของกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางมาทั้งในฐานะผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมเอเปก และในฐานะพระราช อาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

มีรายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ต.วิเชียร สิงห์ปรีชา ผู้ช่วย ผบช.ก. ทำบันทึกด่วน ที่สุดเสนอ พล.ต.ท. วงกต มณีรินทร์ ผบช.ก. เรื่องการดำเนินคดี ผู้ที่มาแจ้งความ ให้ดำเนินคดีกับประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ โดยให้รับแจ้งความด้วยท่าทีที่สุภาพ แต่หาก จำเป็นอาจดำเนินคดีผู้แจ้งความฐานความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตามม. 127 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประทศจากภายนอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ถ้าเกิดเหตุร้ายขึ้นผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 2-20 ปี และฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.