|
ทำแฟรนไชส์ อะไรดี ?
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 ตุลาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ทำแฟรนไชส์อะไรดี เป็นคำถามที่ยอดฮิตอันดับหนึ่ง คนจำนวนมากเมื่อคิดจะทำธุรกิจ ก็มักคิดถึงการซื้อแฟรนไชส์ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าเป็นความคิดที่ดีหรือไม่ และลงทุนไปแล้วจะขาดทุนไหม บางคนมีกุนซือให้ข้อแนะนำโน่น นี่ นั่น แต่ก็ยังไม่เห็นคำตอบอยู่ดี
ส่วนมากแล้ว คนถามมักต้องการให้ฟันธง ไปเลยว่าทำกิจการยี่ห้ออะไรดี ซึ่งยากไปที่จะระบุได้ เพราะทุกกิจการมีทั้งคนทำได้กำไร และเจ๊งทั้งนั้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น ร้านอาหารมีทั้งคนทำรวยทำเจ๊ง ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่สำคัญมากที่สุด ก็คือความสามารถของเจ้าของกิจการ ที่ทนทานต่อปัญหา และแก้ไขอุปสรรคในเรื่องต่างๆได้ ก็มีแววที่จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตาม
แต่ก็มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ ที่ผู้อ่านพอใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจได้
1.เลือกธุรกิจที่อยู่ในความสนใจก่อน โดยมากแล้วคนที่คิดจะทำอะไรซักอย่าง ต้องคิดไว้แล้วในใจบ้างแล้ว เช่น บางคนบอกว่า อยากทำร้านอาหาร บางคนอยากทำกาแฟ บางคนก็สนใจกิจการซื้อมา-ขายไป เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะทำอะไร คุณก็ต้องโฟกัส ที่ตัวเอง คนเราเหมือนฟ้าลิขิตให้เกิดมาให้มีความถนัดเฉพาะ บางคนเก่งเลข บางคนรักเด็ก บางคนชอบพูดคุยพบปะกับคนอื่น บางคนรักงานช่าง ผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ พบว่าจะมีใจรักที่ทำ จึงทนกับปัญหาที่เกิดขึ้นและมองเห็นช่องทางแก้ไขได้เสมอ
2.เลือกธุรกิจที่โอกาสอำนวย อย่างเช่นบางคนมีอพาร์ทเม้นท์ อาจจะต้องการเครื่องซักผ้า หรือตู้หยอดเหรียญมาบริการผู้เช่า หรือบางคนบ้านอยู่ในตลาดต้องการอาหารที่เหมาะกับคนในตลาด แต่ยังไม่มีใครมาขาย หรือบางคนอยู่ในแวดวงลูกค้าต่างชาติ ก็เลือกธุรกิจมารองรับพวกเขา อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเท่ากับว่าเลือกธุรกิจมีตลาดในมืออยู่แล้วนั่นเอง
3.เหมาะกับกำลังเงินในกระเป๋า ค เมื่อเราเลือกประเภทได้แล้ว ก็ดูกำลังเงินในกระเป๋า ตัดกิจการที่เกินกำลังของคุณออกไป แต่สมัยนี้ก็ดีขึ้นมาก มีสถาบันการเงิน ไม่ว่าเป็นกสิกร เอสเอ็มอีแบงค์ หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ต่างก็ให้ความสำคัญกับผู้เริ่มต้นธุรกิจ และมีเงื่อนไขการกู้ที่ผ่อนปรนมากกว่าแต่ก่อนมาก เพียงมีเงินบางส่วน ที่เหลือหาจากแหล่งต่างๆ เช่น เงินยืมพ่อแม่(แบบไม่ต้องคืน) หรือกู้ธนาคารที่ต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย เป็นต้น
3.หาข้อมูล เมื่อเราได้กลุ่มธุรกิจที่สนใจแล้ว ก็คัดให้เหมาะกับวงเงินลงทุนของเรา เช่น สมมุติว่า เราสนใจเปิดร้านกาแฟ ขนาดการลงทุนซัก 2 แสนบาท เราก็ต้องหาข้อมูล กิจการที่เข้าสเป็กนี้มาไว้ในมือ เช่นหาจากอินเตอร์เน็ท หรือหาจากหนังสือไดเร็กทอรี่ ที่มีการรวบรวบข้อมูลในด้านนี้เอาไว้ หรือสอบถามจากผู้รู้ในวงการเป็นต้น
4.รวบรวมข้อมูล เมื่อมีรายชื่อเป้าหมาย ที่นี้ก็ง่ายแล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบว่า ลงทุนธุรกิจนั้นดีไหม แต่ที่จริงแล้วไม่ยากเลย สมมุติว่าคุณสนใจแฟรไชส์กาแฟแบรนด์หนึ่ง ชื่อว่า A คุณก็ต้องมีการทำการบ้าน โดยนิสัยของคนไทยแล้ว เวลาทำธุรกิจ ส่วนใหญ่ไม่หาข้อมูลใดๆ มักจะเชื่อลมปากของผู้ขาย หรือก็เชื่อตัวเอง แต่ที่เห็นมากที่สุด คือ จะเชื่อหมอดู
5.ทำวิจัย เมื่อปีก่อน มีคนออสเตรเลีย ต้องการมาเปิดตลาดแฟรนไชส์เติมหมึกในไทย ก็มาพบเราสอบถาม ข้อมูลไปมากมายอย่างละเอียดยิบ และขอรายชื่อของกิจการเติมหมึกเกือบทั้งหมดไป ซึ่งเขาเอาไปทำวิจัยอย่างเข้มข้นต่อ ในที่สุดเขาเห็นว่าโอกาสต้องพับกลับบ้านมีสูงเขาก็ไม่มาทำ นี่เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า ก่อนที่จะมีการลงทุนใดๆ เราควรสร้างนิสัยใหม่ คือ ต้องทำวิจัยด้วยเราเอง การวิจัยนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องลงทุนทำเป็นเรื่องเป็นราว ใหญ่โต แต่หมายถึงว่าเราต้องลงสนามหาข้อมูลให้เพียงพอ ให้แน่ใจก่อนตัดสินใจตัวอย่างเช่น ร้านกาแฟ แบรนด์ A ที่เรากำลังสนใจอยู่ ผู้ขายโม้ให้ฟังว่า เมื่อลงทุนแล้วจะได้กำไรคืนมาภายในไม่กี่เดือน ทำแล้วรวยแน่ๆ คุณต้องค้นหาความจริงด้วยการการไปเยี่ยมชมร้านที่เปิดอยู่ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ หาก พบว่า 80% เวิร์ค ก็แปลว่าโอเค โอกาสเสี่ยงน้อยหน่อย แต่ถ้า 60% ดี ก็ถือว่าพอใช้ แต่ถ้าร้านส่วนใหญ่ไม่ดี นั่นก็คือความเสี่ยงของตัวคุณเอง
หากคุณได้ลงสนาม คุณจะรู้ข้อมูลได้ด้วยตัวคุณเองเลยว่า แฟรนไชส์ที่สนใจอยู่ดีจริงหรือไม่อย่างไร ที่แม่นยิ่งกว่าหมอดู
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|