ปตท.หมกเม็ดควบรวมPTTARกับ PTTCH คนกลุ่มเล็กได้ประโยชน์-ชาติสูญหมื่นล้าน !


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

นักวิชาการแฉ แผนควบรวมปตท. หวังหมกเม็ดใช้ แอลพีจี ราคาถูก ลดต้นทุนการผลิตปิโตรเคมี ผูกขาดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะไม่ต้องแจงปริมาณการกลั่นแอลพีจีให้รับทราบ ทำให้ปริมาณแอลพีจี หายไปจากระบบ ต้องนำเข้าเพิ่ม รัฐต้องสูญเงินอุดหนุนกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี เผย รถยนต์ไทยใช้ เอ็นจีวีสกปรกที่สุดในโลก ปตท.อัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมถึง 18% ขณะที่มาตรฐานโลกไม่เกิน 3% โกยกำไรเข้ากระเป๋ามหาศาล

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทำให้ยอดขายของน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำมันต่างประเทศปรับโครงสร้าง หันไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นทดแทนรายได้ที่ลดลงจากการขายน้ำมัน โดยในส่วนของประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ก็ได้พยายามปรับตัวในแนวทางดังกล่าว และมีแผนปรับโครงสร้างเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มของปิโตรเคมี ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ที่สำคัญในอนาคต อย่างไรก็ตามการควบรวมบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน: PTTAR) กับ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน: PTTCH) แทนการรวบรวมระหว่างPTTAR กับ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน:IRPC) ครั้งนี้ก็มีหลายประเด็นที่สร้างความกังขาให้กับสังคม

ควบรวมปตท.หมกเม็ดกินรวบแอลพีจี

แหล่งข่าวในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กล่าวว่า แผนการควบรวมบริษัทในกลุ่มของปตท. ที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการควบรวมระหว่าง PTTARกับ PTTCH ภายหลังจากที่แผนการควบรวมPTTARกับ IRPC ต้องประสบปัญหาจากความไม่พร้อมของ IRPC ที่ยังมีคดีความฟ้องร้องอยู่หลายเรื่อง

แต่ไม่ว่าการควบรวมบริษัทลูกของ ปตท. จะออกมาในรูปแบบใด ก็จะมีเพียงแต่กลุ่ม ปตท. เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่ประชาชนและประเทศชาติอาจต้องสูญเสียประโยชน์ เพราะเป้าหมายของการควบรวมครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อเพื่มศักยภาพการผลิตของปตท.เพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายหลักอยู่ที่การนำก๊าซแอลพีจีราคาถูกที่ผลิตได้ในประเทศนำมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้อย่างเต็มที่โดยที่ภาครัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้ปริมาณแอลพีจีที่ผลิตในประเทศจะหายไปจากระบบจำนวนหนึ่ง ต้องนำเข้ามากขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจาก PTTARมีทั้งธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมีขั้นต้น โดยแอลพีจี ก็เป็นผลที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขณะที่ยังไม่มีการควบรวมกิจการPTTAR จะต้องรายงานปริมาณ แอลพีจีที่ผลิตได้ว่ามีจำนวนเท่าไร และบริษัทลูก เช่น PTTCH จะต้องซื้อแอลพีจีที่ผลิตได้ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นผลประโยชน์ส่วนที่ 1 ที่เกิดจากการควบรวมทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน คือสามารถนำแอลพีจีไปใช้ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องต่างๆในราคาถูกมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องแยกบัญชีการผลิต แอลพีจีให้รัฐบาลรับทราบ และตรวจสอบได้ยาก เพราะเป็นบริษัทเดียวกัน

ปิโตรเคมีดันยอดLPGพุ่งรัฐสูญหมื่นล./ปี?

นอกจากนี้ ประโยชน์ในส่วนที่ 2 ปตท. สามารถนำแอลพีจีไปผลิตสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งมาก เพราะขณะนี้รัฐบาลได้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนราคา แอลพีจี ไว้ที่ 330 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ระหว่าง 600 - 900 ล้านเหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งประชาชนผู้ใช้น้ำมันจะต้องเสียเงินชดเชยถึงปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ต้องจ่ายอะไร รับแต่ผลประโยชน์ฝ่ายเดียว

โดยปริมาณการใช้แอลพีจีของไทยในปี 2552 มีจำนวนการใช้เฉลี่ย 13 ล้านกิโลกรัมต่อวัน แบ่งเป็นการใช้ในครัวเรือน อุตสาหกรรม รถยนต์ มีปริมาณการใช้ 9.5 ล้านกิโลกรัมต่อวัน และใช้ในภาคปิโตรเคมี 3.5 ล้านกิโลกรัมต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณที่มากถึง 1 ใน 3 ของการใช้แอลพีจีทั้งหมด และมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นโดยตลอดโดยในปี 51-52 ปริมาณการใช้ในปิโตรเคมีเพิ่มสูงถึง 4.7 แสนตัน ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งลดลงถึง 1.1 แสนตัน ซึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แอลพีจีที่ผลิตในประเทศไม่พอใช้ ต้องนำเข้าในปี 2552 ถึง 7 แสนตัน ทั้งนี้หากแยกแอลพีจีที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ประเทศชาติก็แทบจะไม่ต้องนำเข้าแอลพีจีให้ประชาชนต้องแบกภาระจ่ายค่าชดเชยอีกเลย ซึ่งการที่ ปตท. นำทรัพยากรของคนทั้งประเทศไปผลิตเป็นสินค้าก่อให้เกิดกำไรให้กับพนักงาน และผู้ถือหุ้นไม่กี่คน เห็นได้จากจำนวนการจ้างงานและผู้ได้รับผลประโยชน์จากปตท.มีไม่ถึง 1% แต่สร้างจีดีพีให้กับประเทศสูงถึง 10% แสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์กระจุกตัวกับคนเพียงกลุ่มเล็กๆ ในขณะที่ประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ประโยชน์อย่างไรเลย

นอกจากนี้ การควบรวมทำให้บริษัทลูกของ ปตท. มีขนาดใหญ่ขึ้น ก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า ซึ่งขัดกับภารกิจของรัฐวิสาหกิจของรัฐ ซึ่งการแปรรูปจะต้องก่อให้เกิดการแข่งขันไม่ใช่การผูกขาด เพราะการที่ปตท.อยู่ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ทำให้ได้รับสิทธิพิเศษมากมายในการดำเนินธุรกิจ และในขณะนี้ธุรกิจโรงกลั่นเหลือทั้งหมดก็อยู่ภายใต้การควบคุมของ ปตท.อยู่แล้ว และจะยิ่งทำให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจปิโตรเคมีมากขึ้นไปอีก ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

แฉรถยนต์ไทยใช้เอ็นจีวีสกปรกที่สุดในโลก

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่กรณีของแอลพีจีเท่านั้นที่ ปตท. ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ยังมีกรณีที่ ปตท. เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปใน เอ็นจีวี 18% ซึ่งสวนทางกับนานาประเทศที่มีมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้ในรถยนต์จะต้องมีก๊าซมีเทนเป็นส่วนประกอบไม่ต่ำกว่า 95% และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 0-3% แล้วแต่มาตรฐานของประเทศ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของไทยมาก ซึ่งถือได้ว่ารถยนต์ในไทยใช้เอ็นจีวีที่สกปรกที่สุดในโลก

โดยสาเหตุเกิดจากก๊าซเอ็นจีวีที่ปตท.นำมาเติมรถยนต์จะขุดขึ้นมาจากบ่อแล้วขายให้กับสถานีบริการเลย แต่งต่างกว่าในประเทศอื่นๆที่ต้องนำมาผ่านการผลิตให้มีก๊าซมีเทนไม่ต่ำกว่า 95% และมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 3% ในขณะที่เอ็นจีวีที่ขายทั่วไปในไทยส่วนใหญ่จะมาจ่างแหล่งในอ่าวไทยที่มีสัดส่วนมีเทนไม่ถึง 70% ที่เหลือเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ 18% และก๊าซอื่นๆที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเครื่องยนต์อีก 12% แต่ก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ในภาคอีสานเป็นก๊าซที่มีคุณภาพดีมาก มีสัดส่วนมีเทนสูงถึง 95% ทำให้ที่ผ่านมารถยนต์ที่เติบเอ็นจีวีในภาคอีสานจะมีอัตราเร่งที่ดีกว่า ดังนั้น ปตท. จึงปรับให้มีมาตรฐานเท่ากันทั้งประเทศ จึงนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปขายให้กับสถานีบริการในภาคอีสานกิโลกรัมละ 5 บาท และสถานีบริการก็ขายเอ็นจีวีในกิโลกรัมละ 8.50 บาท ทำให้ทั้งสถานีบริการ และปตท. ต่างก็ได้ประโยชน์ทั่วหน้า ทั้งๆที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซที่เหลือทิ้งจากโรงกลั่นปิโตรเลียมที่จะต้องใช้เงินในการกำจัด แต่ปตท.ไม่ต้องนำไปกำจัด แล้วยังนำไปขายได้เงินอีกด้วย

ยันควบรวมเพิ่มความแข็งแกร่งของกลุ่มปตท.

ด้าน ชายน้อย เผื่อนโกสุม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความคืบหน้าของการควบรวมบริษัทลูกของ ปตท. ขณะนี้ชะลอโครงการออกไป รอดูผลสรุปความพร้อมของ บริษัทไออาร์พีซีก่อน ยังไม่ได้ตัดสินใจรูปแบบว่าจะควบรวมอย่างไร จะต้องพิจารณาว่ารูปแบบใดเกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการเสริมสร้างระหว่างกัน และเกิดประสิทธิผลมากที่สุด ทั้งนี้การควบรวมจะทำให้ธุรกิจของ ปตท. ในภาพรวมมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งถ้าไม่ควบรวมความเข็มแข็งก็จะกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มอะโรเมติกส์

ส่วนผลกระทบจากการควบรวมกิจการที่มีต่อก๊าซแอลพีจีหรือไม่นั้น ชายน้อย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถชี้ชัดถึงผลกระทบที่จะตามมาได้ เพราะขณะนี้เรื่องการควบรวมกิจการในกลุ่ม ปตท. ก็ยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าบริษัทใดจะรวมกับบริษัทใด ทำให้ไม่สามารถตอบรายละเอียดในส่วนนี้ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.