|
“แท็บเลต” พลิกโฉมสื่อสิ่งพิมพ์ ดิจิตอลแมกกาซีนหัวหอกปฏิวัติตลาด
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 ตุลาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ไอดีซี บริษัทวิจัยชั้นนำด้านไอที คาดว่าในปี 2011 จะมีแท็บเลตพีซีทั่วโลกประมาณ 15 ล้านเครื่อง และปี 2015 ABI Research คาดว่าจะมีถึง 57 ล้านเครื่อง ตัวเลขการคาดการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกินเลยความจริง หรืออาจจะต้องมีการปรับตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากแอปเปิลเปิดตัว “ไอแพด” ก็สามารถทำยอดขายถล่มทลายทั่วโลก จนค่ายคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือชั้นนำต้องหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับไอแพด
อย่างไรก็ตาม ไอแพดถือเป็นการจุดประกายให้กับทุกๆ วงการทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งในเร็ววันนี้จะมีการประกาศเรื่องของ “ดิจิตอลพับลิชชิ่งแพลตฟอร์ม” ให้กลายเป็นมาตรฐานที่จะเปลี่ยนระบบการพิมพ์ทั่วโลกมาเป็นแท็บเลต
“แท็บเลตพับลิชชิ่งกำลังเกิดขึ้น และดิจิตอลแมกกาซีนคือเจเนอเรชั่นถัดไปของแมกกาซีนในปัจจุบัน”
เป็นคำกล่าวของ “ขจร พีระกิจ” Adobe Community Professional ซึ่งถือเป็นคนไทยเพียงคนเดียวและเป็น 1 ใน 8 คนของเอเชียที่เป็นผู้ทดสอบโปรแกรมของอะโดบีก่อนวางสู่ตลาด โดยเขามองว่าอีแมกกาซีนไม่ใช่ของใหม่แล้ว แต่ดิจิตอลแมกกาซีนคือของใหม่สำหรับวงการนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะนวัตกรรมแท็บเลต
ในทัศนะของขจรนั้น แม้ว่าที่ผ่านมาในประเทศไทยจะมีคนพูดถึงการทำดิจิตอลแมกกาซีนอย่างแท้จริงเหมือนในต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงนั้นทุกค่ายพยายามที่จะทดลองตลาดมากกว่า และยังไม่ได้นำเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเป็นโปรแกรมเพื่อสร้างดิจิตอลแมกกาซีนมาใช้กันอย่างจริงจัง
แต่จากการเปิดตัว “mars on iPad” ขจรมองว่านี่คือดิจิตอลแมกกาซีนรายแรกของเมืองไทยอย่างแท้จริง และสมบูรณ์แบบด้วยการพัฒนาคอนเทนต์ที่ขายบนสื่อกระดาษให้ก้าวสู่สื่อดิจิตอลเต็มรูปแบบ
เช่นเดียวกับ พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โชว์ โน ลิมิต จำกัด กล่าวว่าการที่นิตยสารนำแท็บเลตอย่างไอแพดมาใช้เป็นสื่อใหม่ในการนำเสนอแมกกาซีนในรูปแบบดิจิตอล ถือเป็นก้าวใหม่สำหรับวงการสิ่งพิมพ์ในบ้านเรา เนื่องจากดีไวซ์ในลักษณะนี้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นบนดีไวซ์ใหม่ถือเป็นแนวทางการสร้างแอปพลิเคชั่นของทั่วโลกเมื่อยุคสมัยของเว็บไซต์กำลังดิ่งลงและกำลังจะตายไป
“mars on iPad”
โอกาสใหม่ที่ต้องเสี่ยง
“พชร สมุทวณิช” บรรณาธิการบริหารนิตยสาร mars ได้กล่าวถึง mars โฉมใหม่บนไอแพดในรูปแบบดิจิตอลแมกกาซีน ว่า หลังจากได้มีการพิจารณาดีไวซ์ใหม่ในตลาดปัจจุบันหลายๆ ตัว พบว่าไอแพดเป็นดีไวซ์ที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับวงการสื่อสิ่งพิมพ์อย่างมาก จึงได้เริ่มเตรียมความพร้อมของกองบรรณาธิการที่จะพัฒนาคอนเทนต์ที่เคยอยู่บนหน้ากระดาษในนิยตสาร mars ไปสู่หน้าดิจิตอล ซึ่งมีลูกเล่นและจุดดึงดูดความสนใจต่างๆ มากมาย
“เราเหมือนนักทำนายและนักพนันที่ต้องเสี่ยงกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ”
ที่ผ่านมาค่ายเอเอสทีวี ผู้จัดการ ได้พิสูจน์แนวทางการนำธุรกิจไปสู่สิ่งใหม่มาแล้ว อย่างการลงทุนทำเว็บไซต์แมเนเจอร์ออนไลน์ก็เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อว่าเว็บไซต์เป็นสื่ออนาคต และวันนี้เว็บไซต์นี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าค่ายเอเอสทีวี ผู้จัดการ เดินมาถูกทางก่อนค่ายอื่นๆ ทำให้วันนี้นำทางสื่อสิ่งพิมพ์รายอื่นๆ บนโลกออนไลน์
การก้าวไปสู่ดิจิตอลแมกกาซีนด้วยการผลักดัน mars ไปอยู่บนไอแพด ก็เสมือนทัพหน้าที่มีความพร้อมที่สุดทางด้านคอนเทนต์ที่หลากหลายและมีกลุ่มคนอ่านที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมาก จนคาดว่าผู้อ่านในกลุ่มนี้จะมีอุปกรณ์ประเภทแท็บเลต โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอแพดใช้งานอยู่แล้ว ก่อนที่ในอนาคตค่ายเอเอสทีวีจะมีการนำสื่อในเครือเล่มอื่นๆ พัฒนาคอนเทนต์ไปสู่ดีไวซ์ชนิดนี้
“ในฐานะคนทำสื่อที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคข้อมูลข่าวสารจากกระดาษไปสู่สิ่งใหม่ ผมมองว่าไอแพดคือสิ่งที่ตอบโจทย์ได้มากกว่าเว็บไซต์ ที่ยังถือว่าไม่สามารถแทนที่สื่อเดิมได้อย่างสมบูรณ์ เพราะยังผูกติดอยู่กับเน็ตเวิร์กในการเชื่อมต่อ เป็นการบริโภคข้อมูลข่าวสารในรูปแบบของการพึ่งพาเชิงแม่ข่ายและลูกข่ายอยู่”
พชร มองว่าในทางตรงกันข้ามการบริโภคข้อมูลในไอแพดคือการดาวน์โหลดข้อมูลข่าวสารที่เลือกสรรไว้แล้วโดยกองบรรณาธิการลงในไอแพดเพียงครั้งเดียว ทำให้สามารถบริโภคข่าวสารจากไอแพดในรูปแบบเดียวกับที่ไปซื้อสิ่งพิมพ์ตามแผงหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับการบริโภคแบบรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน
ในการมองธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นต้องเกิดจากความเข้าใจอย่างแท้จริง ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับการมาแทนที่การอ่านในรูปแบบของกระดาษนั้นไม่ใช่เพียงการนำเรื่องราวที่เปลี่ยนแค่จากกระดาษมาลงในไอแพด แต่หมายถึงการบูรณาการแบบองค์รวมในเชิงโครงสร้างวัฒนธรรมในการทำสื่อที่รวมไปถึงเทคนิคการเขียน การนำเสนอภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว การวางเลย์เอาต์ เรื่องของครีเอทีฟ ระบบดาต้าเบสและส่วนประกอบอื่นๆ อีกมากมาย
พชร กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เป็นมิติใหม่ของการบริโภคข่าวสารในรูปแบบของการเข้ามาแทนที่การจัดพิมพ์ด้วยกระดาษอย่างแท้จริง ในส่วนของค่ายหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการ ในระดับผู้บริหารได้มีความเห็นตรงกันในจุดนี้ และได้มอบหมายให้ mars บุกเบิกรูปแบบการอ่านใหม่บนไอแพด รวมถึงทุกๆ ดีไวซ์ ที่มีแนวโน้มจะสามารถแทนที่การอ่านในรูปแบบกระดาษ โดยมี mars เป็นนิตยสารรายเดือนหัวแรกที่จะเข้าไปบุกเบิกในส่วนนี้
ทั้งนี้ mars on iPad ฉบับแรกเตรียมวางแผงในรูปแบบแอปพลิเคชั่นให้ผู้ใช้ไอแพดทั่วโลกดาวน์โหลดฟรีผ่านทาง Apple Store ในวันที่ 15 ตุลาคม 2553 พร้อมกับการวางจำหน่ายนิตยสาร mars ฉบับปรกติในร้าน
“เราเชื่อว่าแม้จะเกิดดิจิตอลแมกกาซีน แต่ mars บนกระดาษก็ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากทั้งสองสิ่งมีสิ่งที่เหมือนกันและสิ่งที่แตกต่างกันเป็นจุดดึงดูดสำหรับผู้บริโภคที่นิยมการอ่าน”
ดิจิตอลแมกกาซีน
จุดประกายโฆษณา
“ปรัธนา ลีลพนัง” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสำนักบริการเสริม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือเอไอเอส หนึ่งในบริษัทที่เลือกจะทำโฆษณาบนดิจิตอลแมกกาซีนของ mars กล่าวว่า กระแสความนิยมแท็บเลตคอมพิวเตอร์ในบ้านเรา เป็นตัวผลักดันให้เอไอเอสจำเป็นต้องหาช่องทางการโฆษณาในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เข้ากับยุค และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุม
“การทำโฆษณาแบบดิจิตอลลงบนไอแพด เป็นอะไรที่เอไอเอสคิดจะทำมานาน แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านดีไวซ์ที่ยังไม่แพร่หลาย รวมถึงบริษัทผลิตสื่อที่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจกับดิจิตอลมีเดียมากนัก การนำเสนอโฆษณาแบบปรกติ บางครั้งยังไม่สามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคมาสนใจได้ เมื่อมาเป็นดิจิตอลลูกเล่นเยอะขึ้น อินเตอร์แอกทีฟใหม่ๆ ช่วยทำให้โฆษณามีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ถ้าผู้บริโภคต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถลิงก์ไปยังเว็บบริษัทได้ทันที โดยไม่ต้องมานั่งยูอาร์แอล หรือสแกน QR Code”
เอไอเอสมองว่าไอแพดเป็นดีไวซ์ที่ครอบคลุมหลายช่วงอายุคน ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของคนที่คุ้นเคยกับการใช้งานสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ จึงถือเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมาก โดยที่ผ่านมาเอไอเอสมีสำนักพิมพ์ต่างๆ ติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนได้มาจับมือกับนิตยสาร mars เป็นรายแรก
ปัจจุบันมูลค่าตลาดโฆษณาออนไลน์ในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโต 30% คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 1-2% ของตลาดรวมมูลค่าโฆษณาทั้งหมด ทั้งนี้ งบฯ โฆษณาออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นก็มาจากทั้งลูกค้าเดิมที่เพิ่มงบประมาณเข้ามา และลูกค้าใหม่ที่เข้ามาใช้รูปแบบดิจิตอลมาร์เกตติ้งมากขึ้น
บริษัท ธอมัส ไอเดีย จำกัด ผู้ให้บริการที่ปรึกษาวางกลยุทธ์ออนไลน์ รายงานตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นเว็บไซต์ระดับทอปเทนของเมืองไทยทยอยปรับอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% เพราะเว็บไซต์ต่างๆ เริ่มเห็นความต้องการใช้งานออนไลน์มาร์เกตติ้งสูงขึ้น นอกจากการปรับราคาโฆษณาแล้ว บางเว็บไซต์จะมีการเพิ่มพื้นที่ขายโฆษณา บนหน้าเว็บไซต์เพื่อให้วางโฆษณา เช่น แบนเนอร์ได้จำนวนมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางหารายได้ของเว็บไซต์ด้วย
สาเหตุที่เว็บไซต์มีการปรับราคา เนื่องจากความต้องการของสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในการลงโฆษณาออนไลน์มีมากขึ้น ทั้งจากสินค้าประเภทคอนซูเมอร์โปรดักส์ กลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ เริ่มให้ความสนใจดิจิตอลมาร์เกตติ้งมากขึ้น หลังจากที่หลายปีก่อนหน้า นักการตลาดส่วนใหญ่ขอรอดูผลของคนที่เริ่มก่อน ทำให้การลงทุนจึงเกิดขึ้นในช่วงนี้ บวกกับบางเว็บไซต์มีการลงทุนสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ ขยายทีมงานเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือดีมานด์ที่มีมากขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับราคา
นอกจากนี้พบว่าพื้นที่โฆษณาหน้าโฮมเพจของเว็บไซต์ชื่อดังหลายแห่ง จะต้องจองล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ เหมือนวางแผนโฆษณาสื่อทีวี โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. หลายบริษัทจะต้องปิดการขายทำให้มีการใช้งบฯ เพื่อทำออนไลน์มาร์เกตติ้งมากขึ้น ทำให้อัตราการจองหนาแน่นกว่าปรกติ
ทั้งนี้ การโฆษณาบนเว็บไซต์ระดับต้นๆ ของเมืองไทยเริ่มเปลี่ยนรูปแบบ ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาเพื่อสร้างรายได้ให้กับเว็บไซต์มากขึ้น จากเดิมที่คิดอัตราโฆษณาแบบคงที่ตามพื้นที่ เป็นการคิดเป็น CPM (Cost per thousand impressions), การแบ่งตามช่วงเวลา และโฆษณาแบบหมุนเวียน (rotate) เป็นต้น สำหรับอัตราค่าโฆษณาของเว็บท่าอย่าง kapook.com สำหรับแบนเนอร์ขนาดใหญ่หน้าแรกซึ่งรับจำนวน 10 ราย รายละ 180,000 บาทต่อเดือน
ไอแพดกระตุ้นตลาดตื่นตัว
คลื่นลูกใหม่อย่างแท้จริง
ที่ผ่านมาหลังจากการเกิดขึ้นของไอแพดสู่ตลาด ได้เกิดกระแสต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย เพราะนอกจากจะตอบสนองการใช้งานอินเทอร์เน็ต ไอแพดยังกระตุ้นให้วงการสิ่งพิมพ์ตื่นตัว หลังจากการเกิดขึ้นของ e-Reader ซึ่งล่าสุด “ไอแพด” ทำให้ e-Reader และการดาวน์โหลดหนังสือผ่านเว็บไซต์เกิดขึ้นได้เร็วในตลาดเมืองไทย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของ “ทรู ดิจิตอล คอนเทนต์ แอนด์ มีเดีย” ธุรกิจในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ที่เคยพยายามบุกธุรกิจ e-Book เมื่อปี 2548 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเทคโนโลยียังไม่เอื้อ และโมเดลธุรกิจที่ขอแบ่งรายได้จากเจ้าของคอนเทนต์ถึง 70% เมื่อเวลาเปลี่ยนไปอุปกรณ์ช่วยการอ่านพัฒนาขึ้นอย่าง e-Reader และกระแสแรงของไอแพด ทรูฯ จึงใช้โอกาสนี้ในการรวบรวมสำนักพิมพ์ 20 แห่งรวมพ็อกเกตบุ๊กกว่า 100 เล่มเป็นพันธมิตร ให้ดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์www.truebookstore.com
นี่คือการปรับตัวทางธุรกิจหลังจากไอแพดเปิดตัว และกำลังจะมีแท็บเลตพีซีจากแบรนด์ต่างๆ พาเหรดเข้ามาในตลาด และที่สำคัญทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องเข้าหาสื่อเหล่านี้มากขึ้น
“วศิน เพิ่มทรัพย์” อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และบรรณาธิการอาวุโส ของโปรวิชั่น กล่าวว่า ไอแพดอุปกรณ์ตัวใหม่นี้อาจมาทดแทนหนังสือเล่มในอนาคต โดยเฉพาะนิตยสารที่มีรูปเล่มและสีที่เหมาะกับการอ่านกับแท็บเลตอย่างไอแพดมากกว่า e-Reader ที่เหมาะกับพ็อกเกตบุ๊กมากกว่า
นอกจากนี้ พ็อกเกตบุ๊กทุกค่ายไม่มีใครปฏิเสธเครื่องมือใหม่อย่างไอแพด แม้แต่ค่าย “วิบูลย์กิจ” ที่อยู่มานานกว่า 60 ปี เฉพาะหนังสือการ์ตูนก็นาน 30 ปี ตั้งแต่ยุคแคนดี้ โดราเอมอน ก็หนีไม่พ้นต้องปรับตัว ซึ่ง “วรวุฒิ วรวิทยานนท์” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ บอกว่า ยากที่จะหลีกเลี่ยงกระแสนี้ ที่สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวและมองทิศทางใหม่
หากมองย้อนไปถึงการที่แอปเปิลออกไอแพด หลังส่งไอพอด และไอโฟน สร้างความคุ้นเคยแก่ผู้บริโภคทั่วโลกแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับการเรียนรู้ และทำให้เกิดความต้องการเป็นเจ้าของ จนทำให้การเปิดตัวของไอแพดเป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นอย่างมาก ด้วยยอดขายกว่า 300,000 เครื่อง ภายใน 2 วันแรกที่วางจำหน่าย
“อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล” ประธานกรรมการบริหารและที่ปรึกษาด้านดิจิตอลมาร์เกตติ้ง บริษัท ธอมัส ไอเดีย จำกัด นับเป็นคนแรกๆ ที่ได้เป็นเจ้าของและศึกษาการใช้งานไอแพด หลังออกวางตลาดครั้งแรก เธอพูดถึงประสบการณ์และมุมมองของอินเตอร์แอกทีฟเอเยนซีต่อไอแพด ว่าจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง
“ไอแพดจะสร้างไลฟ์สไตล์ใหม่ให้เกิดขึ้น ไม่เฉพาะแต่กลุ่มวัยรุ่นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่จะเป็นกระแสที่โหมแรงไปยังผู้บริโภคทุกกลุ่ม อาจจะแรงกว่าไอโฟน หรือโซนี่ เพลย์ สเตชั่นด้วยซ้ำ จุดนี้นักการตลาดทั้งหลายควรเตรียมพร้อมไว้ก่อน เพื่อความได้เปรียบ
ในการแข่งขัน”
ยิ่งปัจจุบันนี้สังคมไทยมีแรงสนับสนุนจากโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เร็วและแรงมาเสริม อีกทั้งการใช้งานที่ง่าย และเนื้อหาที่โหลดได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาข่าวสาร ความบันเทิง เกม และด้านวิชาการ ระบบฟังก์ชั่นที่สนับสนุนไวไฟ ยิ่งช่วยให้เกิดจำนวนของคนที่พร้อมใช้และอยากเป็นเจ้าของไอแพดจำนวนมาก
ไอแพดเป็นยิ่งกว่ากระเป๋าหนังสืออย่างที่หลายคนเข้าใจ และไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ต่อไปจะเห็นคนยืนอ่านหนังสือและดูหนัง ฟังเพลงจากไอแพดบนรถไฟฟ้า ร้านกาแฟ หรือสถานที่ต่างๆ มากกว่าอยู่ในห้องนอนหรือบ้านพัก โดยไอแพดจะกลายเป็นแอกเซสซอรี(accessory) ที่โชว์ตัวตนไม่ต่างจากมือถือ ด้วยความน่ารัก ลูกเล่นที่น่าสนใจ และการใช้งานที่ง่าย ชวนให้หลงรักได้ไม่ยาก
ในความจริงแล้วที่มาของคอมพิวเตอร์ในลักษณะนี้มีมานานแล้ว โดยนิตยสารไทม์ ระบุว่า “บิล เกตส์” จากค่ายไมโครซอฟท์ได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2543 ว่าคอมพิวเตอร์แนวใหม่ที่ไม่มีคีย์บอร์ดจะถูกพัฒนา และจะได้รับความนิยมอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า 10 ปีต่อมา สตีฟ จ๊อบส์ ก็เปิดตัวไอแพดครั้งแรกเมื่อ 27 ม.ค.2553 กล่าวถึงรูปลักษณ์และแอปพลิเคชั่นที่เป็นหัวใจหลักของไอแพด ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
หากพิจารณาถึงแอปพลิเคชั่นที่สร้างความโดดเด่น ที่ทำให้ไอแพดเปลี่ยนแนวคิดของเจ้าของหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์คงต้องเริ่มจากไอทูนส์ ซึ่งเป็นร้านค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Store) ของแอปเปิล จำหน่ายเนื้อหาหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพยนตร์ รายการทีวี พอดแคสต์ (Podcasts) ออดิโอบุ๊กส์ (Audiobooks) และ iTunes U
เมื่อไอแพดและแท็บเลตมีอนาคตสดใส นักการตลาดทั้งหลายจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก จากการมีเครื่องมือดีๆ ที่ช่วยสร้างกระแสและยอดขาย การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และนำมาใช้ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ออนไลน์ อาจจะเป็นทางลัดไปสู่เป้าหมายที่ต้องการไม่ยากนัก การมีวิสัยทัศน์และการเตรียมพร้อมล่วงหน้าจะช่วยให้ปรับตัวได้เร็วและชิงพื้นที่ได้ก่อนผู้อื่นเสมอ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|