กรณีศึกษา : ซิงเกอร์ TURN AROUND ใต้ร่มธงกสิกรไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

จุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยเกิดขึ้นเมื่อมีการตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2518 เพราะตลาดหลักทรัพย์ได้แสดงบทบาทเป็นแหล่งระดมทุนที่มีต้นทุนราคาถูก แทนที่ธนาคารและแหล่งเงินกู้นอกระบบที่ต้องเสียดอกเบี้ยและมีความเสี่ยงสูง

เมื่อสามชัยตัดสินใจเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เหตุผลสำคัญมีประการเดียวคือ การระดมทุน และนั่นก็เป็นเหตุผลเดียวกับซิงเกอร์ที่เข้าไปจดทะเบียนนำหุ้นออกขายต่อประชาชนในปี 2527

ซิงเกอร์ ประเทศไทย เป็นบริษัทที่มีประวัติความเป็นมาในไทยยาวนานถึง 100 ปีเต็ม โดยเริ่มด้วยการขายจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์การตัดเย็บ หลังปี 2500 เรื่อยมา มีการขยายไปสู่สินค้าอื่น ๆ จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เริ่มด้วยตู้เย็น วิทยุ โทรทัศน์ เตาแก็ส เครื่องซักผ้า วีดีโอ

กลยุทธ์พิเศษที่ซิงเกอร์ริเริ่มและใช้ตลอดมาคือบริการแบบเช่าซื้อ มีการเปิดร้านซิงเกอร์ขึ้นทั่วทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด นับจนถึงปี 2532 ซิงเกอร์มีร้านสาขาอยู่ 256 แห่งทั่วประเทศ มีระบบการบริหารงานที่รัดกุมมีประสิทธิภาพ ในวงการรู้กันว่า ซิงเกอร์เป็น "ผู้นำในระบบเช่าซื้อ"

สุรศักดิ์ ศรีรัตนวิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อและเรียกเก็บเงินเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "ก่อนที่พนักงานทุกคนจะออกไปปฏิบัติงาน เราจะมีการอบรมฝึกสอนในเรื่องการขาย การแนะนำสินค้า จูงใจลูกค้า เรามีลูกค้าที่มีบัญชีหมุนเวียนอยู่ในปัจจุบันทั่วประเทศ 340,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีลูกค้าค้างชำระเพียง 28,000 รายเท่านั้น เป็นสัดส่วนที่เราพอใจมาก"

ในแง่ของการบริหารการขายนั้น ซิงเกอร์แบ่งการดูแลออกเป็น 10 เขตในทั่วประเทศ มีผู้จัดการเขตดูแลในท้องถิ่นนั้นเสมือนเป็นผู้จัดการขาย และมีอำนาจการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อด้วย ระบบรองลงมามีผู้จัดภาคที่คอยดูให้คำแนะนำผู้จัดการร้าน และคนที่ใกล้ชิดชาวบ้านหรือลูกค้ามากที่สุดคือ ระดับผู้จัดการร้าน

นอกจากนี้ซิงเกอร์ก็มีพนักงานอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่คล้ายผู้ตรวจสอบ โดยมีกระจายอยู่ในท้องถิ่นทั่วประเทศประมาณ 150 คน คนเหล่านี้จะออกเยี่ยมเยียนลูกค้าเป็นประจำ

ระบบที่ซิงเกอร์ใช้ควบคุมการกระจายอำนาจเหล่านี้คือ การมีประชุมผู้จัดการเขตทุกเดือนที่กรุงเทพ ทั้งเป็นการรายงานผลการดำเนินงานและการรับนโยบายจากศูนย์กลางลงไปปฏิบัติในทั่วประเทศ

ระบบงานและการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ซิงเกอร์มีผลการดำเนินงานทำกำไรได้ทุกปี

ประเด็นคือซิงเกอร์ไม่เคยประสบปัญหาการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การลดค่าเงินบาท ซึ่งจัดเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2527 ที่ซิงเกอร์ขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บ้างเลยหรือ

อาจกล่าวได้ว่าหากไม่มีการปรับปรุงการบริหารในตลอดระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีซิงเกอร์อยู่ในเหมือนทุกวันนี้!

เมื่อแรกที่ซิงเกอร์เข้ามาเปิดดำเนินงานในประเทศไทยนั้น มุ่งขายสินค้าเพียงตัวเดียวคือจักรเย็บผ้า ซึ่งซิงเกอร์สามารถภาคภูมิใจได้ว่าเป็นผู้นำเครื่องจักรประเภทนี้เข้ามาให้คนไทยได้รู้จักและใช้งาน รวมถึงบริการผ่อนชำระที่ซิงเกอร์อ้างว่าริเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2468

ในระยะแรกที่ไม่มีคู่แข่ง จักรเย็บผ้าซิงเกอร์ย่อมขายดีเป็นธรรมดา แต่ในเวลาต่อมาความต้องการของผู้บริโภคในตลาดได้ผลักดันให้ซิงเกอร์ต้องเพิ่มประเภทสินค้า และนั่นคือก้าวที่ซิงเกอร์ต้องลงมาคลุกคลีในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยในทศวรรษ 60

ซิงเกอร์มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เมื่อครั้งที่ขอเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยจำเป็นที่จะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของ SINGER SEWING MACHINE CO., ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในสหรัฐร่วมกับบริษัทในเครือลงเหลือเพียง 49% และดึงเอาผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยเข้ามาอีก 20% ส่วนอีก 30% กระจายสู่ประชาชนทั่วไป ตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์

ผู้ร่วมทุนไทยที่เข้ามาถือหุ้นรายใหญ่ผู้หนึ่งในจำนวน 9% กว่า ตั้งแต่ปี 2527 ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์จวบจนปัจจุบัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือธนาคารกสิกรไทย และในเวลาต่อมา บริษัทในเครือของธนาคารแห่งนี้ก็เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยคือ บงล.ภัทรนกิจ และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต

การเข้ามาถือหุ้นของกสิกรไทยมีความสำคัญต่อโฉมหน้าของซิงเกอร์อย่างมาก สุรศักดิ์กล่าวปฏิเสธว่าผู้บริหารของกสิกรฯ ที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นบัญชา ล่ำซำ ซึ่งมาเป็นประธานกรรมการบริษัท และอัจฉรีย์ วิเศษศิริ ที่เข้ามาเป็นกรรมการต่างไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของซิงเกอร์แม้แต่น้อย

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาบ่งชี้ว่า ซิงเกอร์มีการขยายงานไปในทางที่มาจากความร่วมมือกับกสิกรฯ และบริษัทในเครืออย่างมาก ๆ

อัจฉรีย์ วิเศษศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของกสิกรฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ทางกสิกรฯ ก็มีการให้ความช่วยเหลือซิงเกอร์อยู่อย่างเมื่อปี 2527 เราก็ช่วยจัดหาเงินกู้ร่วมเป็นวงเงิน 500 ล้านบาท ให้ซิงเกอร์เพื่อเอาไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน ส่วนในด้านของนโยบายนั้น เราก็มีการเสนอแนะความเห็นในที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องการซื้อที่ดินที่อำเภอเสนา อยุธยา เพื่อย้ายไปตั้งโรงงานใหม่ เป็นต้น"

การที่ซิงเกอร์ขยายธุรกิจไปทำกิจการนายหน้าประกันชีวิตก็ด้วยความร่วมมือของเมืองไทยประกันชีวิต อัจฉรีย์กล่าวว่า "ที่คิดอันนี้ขึ้นมาก็เพราะซิงเกอร์มี OUTLET อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการง่ายมากที่จะขายบริการประเภทนี้"

แนวทางที่ซิงเกอร์ขยายมาอีกทางหนึ่งคือ การตั้ง ซิงเกอร์เทรดดิ้ง จุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นผู้รับผิดชอบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งซิงเกอร์จะทำการผลิตเองหรือหาสินค้าส่งออกป้อนตลาดต่างประเทศโดยอาศัยเงื่อนไข ที่มีบริษัทซิงเกอร์อยู่ในประเทศทั้งแถบตะวันออกกลาง เอเชีย

โครงการล่าสุดที่ซิงเกอร์ริเริ่มไปบ้างแล้ว คือการย้ายโรงงานของบริษัทอุตสาหกรรมซิงเกอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตของซิงเกอร์จากถนนสุนทรโกษา ไปไว้ที่ที่ดินเพิ่งซื้อมา แล้วเนรมิตอาคารสำนักงานขึ้นบนที่ดินเดิม โดยจะรวมบรรดาสำนักงานของบริษัทในเครือทั้งหลายมาไว้ที่นี่ ขณะเดียวกัน ก็มีที่ว่างให้บรรดาบริษัทนำเข้า - ส่งออก และบริษัทเดินเรือทั้งหลาย เช่าทำสำนักงาน

อาคารที่ว่าคือ SINGER TOWER ในอนาคตนั่นเอง!

หากจะกล่าวว่าซิงเกอร์ประสบความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยนโฉมมาตลอดเวลา นับแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ผิดนัก ประเด็นอยู่ที่คณะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของซิงเกอร์ที่มีบทบาทให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด

ขณะที่ย้อนมามองสามชัยแล้ว 37 กว่าปีที่ผ่านมา เสมือนหนึ่งจะต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับธนสยามที่จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสามชัยเหมือนกับที่ครั้งหนึ่งกสิกรฯ เคยทำที่ซิงเกอร์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.