ในวัย 62 ปีวันนี้ ธรรมา ปิ่นสุกาญจนะ แก่เกินไปที่จะบริหารกิจการจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า
ของบริษัทสามาชัยหรือไม่?
บางคนกล่าวว่าปัญหาเรื่องวัยไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับนักบริหารทุกวันนี้ขอแต่เพียงให้มีความคิดโลดแล่นก้าวทันความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ
มีทักษะความชำนาญในการบริหารก็เพียงพอแล้ว ดูแต่รัฐบาลนั่นปะไร ไม่ใช่ผู้พ้นวัย
60 หรอกหรือ ที่นั่งบริหารอยู่ในทุกวันนี้?
กระนั้นก็ตามปัญหาเรื่องวัยอาจจะเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง สำหรับธรรมาเมื่อเขาขายกิจการที่ตนเองเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและนั่งบริหารมานานกว่า
30 ปี เพราะนอกเหนือจากเขาจะอายุมากแล้ว ผู้บริหารรุ่นราวคราวเดียวกับเขาก็อายุมากพอ
ๆ กัน
และที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เขาไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ครั้นจะหามืออาชีพเข้ามาทำงานหรือ
ก็ คงจะต้องมีการรื้อโครงสร้างการบริหารกันมากมายใหญ่โต ถึงแม้สามชัยจะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มานานกว่า
10 ปีก็ตาม แต่ผู้ใกล้ชิดและนักวิเคราะห์ ต่างรู้ดีว่า สามชัยยังยึดถือโครงสร้าง
ผู้ถือหุ้นและการบริหารแบบครอบครัวไว้อย่างเหนียวแน่นเพียงใด!!
ปี 2496 ชาวจีน 5 คนร่วมกันก่อตั้งบริษัทสามชัย จำกัด เพื่อทำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายประเภทและยี่ห้อ
ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องคำนวณเลข และอื่น ๆ อีกมากมาย
2 ใน 4 ของกลุ่มผู้ก่อตั้งได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็นไทยในเวลาต่อมาว่า ธรรมา
และ ดิเรก ใช้นามสกุลเดียวกันว่า ปิ่นสุกาญจนะ ซึ่งนั่นหมายความว่ากิจการของสามชัยเป็นของตระกูล
ปิ่นสุกาญจนะมาแต่เริ่มแรก โดยมีทุนจดทะเบียนเมื่อตั้ง 1 ล้านบาท แบ่งออกเป็น
1,000 หุ้น ๆ ละ 1,000 บาท แบ่งชำระเมื่อขอจดทะเบียน 400,000 บาท
บริษัทสามชัยในยุคแรกเป็นผู้ค้าอะไหล่สารพัดชนิด ครั้นต่อมาได้เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรทัศน์ขาวดำ
ของโซนี่และเอ็นอีซี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทุกประเภทของโซนี่ เครื่องคำนวณโคแวค
โทรศัพท์และอุปกรณ์ของโอกิ และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ในส่วนของผลิตภัณฑ์โซนี่และเอ็นอีซีนั้น ว่ากันว่า ผู้ที่นำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในยุคแรก
ๆ หาใช่ธรรมาแห่งสามชัยไม่ แต่เป็นสรร อักษรานุเคราะห์ประธานกรรมการบริษัท
จาตุรงคอาภรณ์ (1923) จก.ซึ่งเป็นตัวแทนขายอุปกรณ์โทรคมนาคมสมัยใหม่หลายอย่างในปัจจุบัน
และยังเป็นประธานและรองประธานของอีกหลายบริษัท อาทิเช่นบริษัทพัฒนานาฬิกา
จก.ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาเพื่อส่งออกไปประกอบตัวเรือนในสวิสแต่บริษัทไทยปิโตรเคมิคัล
อินดัสตรี (ทีพีไอ) เป็นต้น
สรรเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า การที่ได้เป็นเอเยนต์ขายโซนี่ก็เพราะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่
ๆ สรรเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อติดต่อหาธุรกิจการค้าตามคำแนะนำของเพื่อนในสถานทูตสหรัฐที่บอกกับเขาว่า
การจะทำการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นควรติดต่อกับทางญี่ปุ่นจะเหมาะกว่า
สรรจึงไปที่สถานทูตญี่ปุ่นและขอคำแนะนำ ซึ่งก็ได้รับการแนะนำว่าควรจะไปเจรจากับเอ็นอีซี
ส่วนโซนี่นั้น สรรเล่าว่า โซนี่เป็นฝ่ายมาติดต่อเขาเอง เพราะรู้ว่าเขาดำริจะขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไทย
สรรกล่าวว่า "การทำตลาดในระยะแรกยากพอสมควรเพราะเมื่อผม เริ่มนำทรานซิสเตอร์เข้ามานั้น
ผมเป็นรายแรกที่ขายในตลาดราคามันสูงกว่าราคาตลาดทั่วไปในเวลานั้นมากแล้ว
หลังจากนั้นก็มีเนชั่นแนลเข้ามา ซึ่งราคาสินค้าเนชั่นแนลถูกกว่าเราถึง 50%
แต่ว่าเราก็ยังขายได้เพราะจับกลุ่มลูกค้าต่างกัน"
ทั้งนี้สินค้าของโซนี่ราคาค่อนข้างแพงกลุ่มลูกค้าที่ใช้สินค้านี้ ก็จำกัดวงอยู่ในเมืองหลวงและกลุ่มผู้มีอันจะกิน
ส่วนเนชั่นแนลที่นำมาในระยะหลังนั้น หันไปจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางและตามหัวเมืองใหญ่
สรรเล่าว่าขณะที่เขากำลังขายโซนี่ไปได้ด้วยดีนั้น ปรากฏว่าทำมาก็ดอดไปติดต่อกับโซนี่มีการตกลงทำสัญญาขอเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวและจะขายให้ได้ใน
ปริมาณที่มากกว่าสรรขาย
สรรกล่าวว่า "ที่ผมเอาโซนี่เข้ามานี่ ผมไม่ได้เซ็นสัญญาในการเป็นเอเยนต์
มันเป็นเพียงการตกลงกันด้วยวาจา แต่ผมมีปัญหาอยู่หน่อยหนึ่งตรงที่ว่าผมเอาของเอ็นอีซีเข้ามาด้วย
เป็นจำพวกเครื่องกระจายเสียง ทีวี วิทยุติดต่อซึ่งผมก็มาทำตลาดได้ในส่วนของหน่วยงานราชการ
กรณีของเอ็นอีซีนี่พอผมทำตลาดให้เขาเสร็จ เขาก็มาขายเองโดยไม่ได้บอกผม และเขายังพยายามให้ผมขายวิทยุซึ่งก็เหมือนกับโซนี่
ผมทำของโซนี่อยู่แล้วจึงไม่ขายให้เอ็นอีซีแล้วตอนหลังโซนี่มารู้ว่าผมเป็นเอเยนต์ให้เอ็นอีซีด้วย
ก็เลยถอนผมออกแล้วไปจับมือกับสามชัยที่เสนอตัวเข้ามาในจังหวะเดียวกัน"
สรรย้อนอดีตว่าถึงแม้สินค้าหลายยี่ห้องจะหลุดจากมือเขาไป จะด้วยเหตุทีมีคนมาติดต่อกับทางบริษัทแม่ด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เขาจะทำได้
หรือการที่บริษัทแม่เข้ามดำเนินการขายเองก็ตาม เขาไม่ได้เสียใจอะไร เพราะมันก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องมีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันอยู่ตลอดเวลา
อีกประการหนึ่งปัญหาในการจัดจำหน่ายสินค้าเท่าที่เขาประสบมามีความลำบากยุ่งยากไม่น้อย
ไหนจะมีเรื่องหนี้สูญ เรื่องการว่าจ้างพนักงานจำนวนมากเพื่อทำตลาดในต่างจังหวัด
ปัญหาจุกจิกต่าง ๆที่เกิดขึ้นทำให้เขาเกิดความเบื่อหน่ายพอควร อย่างไรก็ดี
สรรก็รู้สึกภูมิใจที่เขาได้เป็นผู้ริเริ่มทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นแรก ๆ
คนหนึ่งของเมืองไทย
ในส่วนของสามชัยนั้น เมื่อได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าโซนี่แล้วดูเหมือนหนทางกาค้าของสามชัยก็ดีขึ้น
เพราะสามชัยไม่ได้จำหน่ายแต่สินค้าโซนี่เพียงอย่าเดียว แต่มีสินค้ายี่ห้ออื่นๆ
ด้วยคือเอ็นอีซี โอกิ โคแวค
อย่างไรก็ตาม ปัญหาประการหนึ่งของสามชัยคือสินค้าที่นำมาขายค่อนข้างจะเป็นสิค้าราคาแพงนั่นหมายความว่า
กลุ่มลูกค้าของบริษัทก็จะจำกัดวงอยู่ในตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อเท่านั้น
และแม้ว่าธรรมาจะได้เปรียบอยู่บ้างเพราะรับช่วงการทำตลาดต่อจากสรร ซึ่งในเวลานั้นสินค้าโซนี่ดูจะติดตลาดระดับบนและได้รับความนิยมพอประมาณแต่ปัญหาก็ตามมาอีกว่าหลังจากพ้นสภาพการบุกเบิกแล้วนั้น
สิ้นค้าของบริษัทอื่นๆ ก็พากันทยอยเข้ามาแข่งขันในตลาดเสรีแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นเนชั่นแนล
ชาร์ปและค่ายทางยุโรป
ธรรมาย้ายสำนักงานจากบริเวณสี่พระยามายังย่านวังบูรพาภิรมย์ แหล่งการค้าสำคัญในเลานันและเปิดแผนกบริการซ่อมด้วย
นอกจากนี้ยังได้มาเช่าตึกแถวริมถนนพระราม 1 บริเวณสยามสแควร์เพื่อทำห้องโชว์สินค้าโซนี่ในปี
2513 แม้ว่าสามชัยจะขายสินค้าโซนี่ในระดับที่พออยู่ตัว แต่กิจการค้าประเภทนี้ก็ต้องการทุนหมุนเวียนสูงพอสมควร
เพราะรายได้กับรายจ่ายมักจะเข้ามาในจังหวะที่เหลื่อมล้ำกัน ทั้งนี้สามชัยไม่ได้ขายแบบใช้สินเชื่อก็จริง
แต่กว่าที่จะขายสินค้าแต่ละชิ้นได้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ขณะที่ในการสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายนั้น
ต้องสั่งเข้ามาเป็นจำนวนมากและจ่ายเงินก้อนโต้
ปี 2517 สามชัยดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งแรกจากเดิม 1 ล้านบาท เป็น
3 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3,000 พันหุ้น ๆ ละ 1,000 บาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้น
2,000 พันหุ้นนั้น ตระกูลปิ่นสุกาญจนะ ซื้อไว้ทั้งหมดเป็นเงิน 2 ล้านบาท
ครั้นถัดมาไม่นานนักคือต้นปี 2518 สามชัยก็เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก รวมเป็น
5 ล้านบาท โดยผู้ซื้อหุ้น เพิ่มทุนไปคือธรรมา ซึ่งได้ให้เหตุผลการเพิ่มทุนว่า
"สินค้าที่บริษัทสั่งจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายมีราคาต้นทุนสูงขึ้น
กว่าแต่ก่อนมาก บริษัทจำเป็นต้องเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารและยืมเงินทดรองจ่าย
จากกรรมการบริษัทมาใช้หมุนเวียนเป็นจำนวนมากเพราะเงินทุนของบริษัท 3 ล้านบาท
ไม่พอใช้จ่ายหมุนเวียน"
หนทางการค้าของบริษัทจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสามชัยดูจะไม่แจ่มใสเท่าที่ควร
ธรรมาแก้ปัญหาเรื่องการขาดเงินทุนหมุนเวียนโดย การเปิดวงเงินเกินบัญชีกับธนาคาร
ขณะเดียวกันก็เอาเงินส่วนตัวมาทดรองจ่ายไปก่อน มันเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดูราวกับไม่ได้ใช้กลยุทธ์การจัดการทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย
ปี 2506 ธรรมาตั้งบริษัทขึ้นมาแห่งหนึ่ง ใช้ชื่อว่า "ปิ่นรังษี"
เพื่อให้นำเข้า - ส่งออก สินค้าทุกชนิดแต่ทำจริง ๆ ก็เป็นจำพวกเครื่องรับส่งวิทยุ
- โทรทัศน์ เครื่องบันทึกเสียงและอุปกรณ์ เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องบันทึกภาพ
และเครื่องเสียงพร้อมอุปกรณ์
ปิ่นรังษีมีทุนจดทะเบียนเมื่อตั้ง 1 ล้านบาท ดำเนินการเพิ่มทุนเรื่อยมาเพราะจำเป็นที่ต้องขยายสินค้านำเข้าหลายชนิด
กระทั่ง ปี 2531 มีทุนจดทะเบียนรวม 7 ล้านบาท กระนั้นก็ยังขาดทุนสะสมอยู่เป็นประจำทุกปี
(ดูตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นและตัวเลขสำคัญทางการเงินของปิ่นรังษี)
ธรรมาตั้งปิ่นรังษีขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยเหลือเจือจาน สามชัยด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดระดับล่าง เอาสินค้าที่มียี่ห้อไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปเข้ามาขาย
หรือเป็นผู้นำเข้าและขายให้สามชัยอีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่ผลการดำเนินงานของปิ่นรังษีก็ไม่ใคร่น่าพอใจนัก
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาของสามชัยด้วยวิธีการเฉพาะกิจคือ การเพิ่มทุนก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาซักเท่าไหร่
คงมีเพียงเงินทุนหมุนเวียนที่เอามาใช้จ่ายไปวัน ๆ หนึ่ง อย่างคล่องตัวมากขึ้นเท่านั้น
ว่ากันไปแล้ว การแก้ปัญหาด้วยวิธีการเฉพาะหน้าอย่างที่ธรรมาทำนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นอยู่
แต่หลังจากนั้น จะมีแผนการอะไรรองรับอยู่อีกหรือไม่
ปัญหาของสามชัยเป็นปัญหาทั้งในเรื่องของการขาดเงินทุนหมุนเวียน การทำตลาดรองรับสินค้าที่นำเข้ามาขาย
สินค้าที่นำเข้ามาจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม ต้นทุนก็สูง เป็นปัญหาในการแข่งขัน
ขณะเดียวกัน สินค้าแต่ละชิ้นต้องใช้เวลาในการวางตลาด กว่าที่จะแปรกลับเป็นตัวเงินคืนมานั้นเป็นสัปดาห์ได้ซึ่งเรื่องนี้
ก็ทำให้เกิดลักษณะงูกินหางขึ้นจนเกิดการขัดสนเงินทุนหมุนเวียนดังที่กล่าวมา
ณ ขวบปีที่สามชัยเพิ่มทุนจดทะเบียนเพราะปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนนั้น ธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมไทย
ก็เกิดช่องทางการระดมทุนแบบใหม่ขึ้น ปี 2518 เป็นปีที่เริ่มมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จุดประสงค์ลำดับแรกในเวลานั้นก็เพื่อจะให้เป็นแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์
ส่งเสริมการออมและเป็นช่องทางการระดมทุนในประเทศ
เป้าหมายเรื่องการระดมทุนไปประเทศ เวลานั้นยังเป็นเรื่องห่างไกลจากความเป็นจริงแม้ว่ามันจะเป็นเนื้อหาสำคัญของการมีตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นมาก็ตาม
ทั้งนี้ธุรกิจต่าง ๆ ยังนิยมการกู้ยืมเงินจากธนาคารกันมากกว่า การเรียนรู้ช่องทาง
การระดมทุนแบบใหม่ จึงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ดีดูเหมือนสามชัยจะเรียนรู้ช่องทางแบบใหม่ได้ในเวลาไม่นานนัก
ปลายปี 2521 ธรรมาจัดการประชุมวิสามัญขึ้นสองครั้ง ผลที่ได้จากการพูดคุยกันเป็นพิเศษคือให้มีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าขึ้น
จากที่ตราไว้หุ้นละ 1,000 บาทเป็นหุ้นละ 100 บาท และให้เพิ่มทุนหุ้นสามัญอีก
25 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนทั้งหมด 30 ล้านบาท โดยความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
มีเป้าหมายเพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ธรรมามอบหมายให้บริษัทพัฒนกิจ จก. และบริษัทสินอุตสาหกรรมไทย จก. (ชื่อในเวลานั้น)
เป็นผู้จัดการการค้ำประกันการจำหน่ายหุ้นครั้งนี้
ในจำนวนหุ้นทั้งหมด 250,000 หุ้น 160,000 หุ้น ให้ขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา
5 หุ้นเดิมต่อ 16 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 100 บาท ส่วน 90,000 หุ้นที่เหลือแล้วแต่กรรมการจะจัดสรร
ซึ่งก็ปรากฏว่า ได้มีการจัดสรร 70,000 หุ้น ขายให้ประชาชนทั่วไปในราคาหุ้นละ
255 บาท อีก 20,000 หุ้นขายให้พนักงาน ลูกค้าและผู้มีอุปการคุณของบริษัทในราคาหุ้นละ
240 บาทในคราวเดียวกัน
เห็นกันอยู่ชัด ๆ ว่า งานนี้สามชัยได้กำไรจากพรีเมี่ยมมากถึง 13.65 ล้านบาท
ขณะเดียวกันผู้บริหารกลุ่มเดิมก็สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่และยังคงเป็นผู้ถือหุ้นส่วนข้างมากอยู่ด้วยสัดส่วน
53.3%
นับว่าธรรมาสบโชคโดยแท้ในโอกาสที่มีตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นในจังหวะนี้พอดี
อย่างไรก็ตามกว่าที่ธรรมาจะเอาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ก็ล่วงไปถึงปลายปี
2523 โดยเริ่มด้วยการเป็นหลักทรัพย์รับอนุญาตก่อน แล้วในปลายปีถัดมาจึงเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
ขณะนั้นสามชัย ยังเป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของโซนี่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
กลับมีสินค้าอื่นๆ เพิ่มเข้ามา คือเป็นตัวแทนจำหน่ายตู้เย็น PHLICO โทรศัพท์
OKI และเทเลคอล
เมื่อธรรมาระดมทุนจากการจำหน่ายหุ้นและเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว เขาก็เริ่มขยายงานโดยพยายามวางรากฐานการผลิตขึ้นระหว่าง
ปี 2521 - 2523 สามชัยได้ร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
ดังนี้
- บ.เดลต้า คอนโซลิเดทเต็ด อินดัสตรีส์ จก. จำนวน 43,616 หุ้นหรือ 14.54%
ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 4,361,600 บาท
- บ.โฮมอิเล็กโทรนิกส์ จก. จำนวน 21,000 หุ้นหรือ 42% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด
คิดเป็นมูลค่า 2,100,000 บาท
- บ.คอนเซฟชั่น อินดัสตรีส์ จก. จำนวน 20,000 หุ้น หรือ 40% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด
คิดเป็นมูลค่า 2,000,000 บาท
นอกจากนี้ ธรรมายังเข้าไปถือหุ้น ในบ.ไตรสตาร์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตซื้อขาย
นำเข้า - ส่งออก โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องบันทึกเสียง และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้านานาชนิด
โดยถือไว้มากกว่า 50% ในปี 2525 และมอบหมายให้ลูกสาวคือ อัจฉราวรรณ ปิ่นสุกาญจนะ
เป็นกรรมการผู้จัดการ
นั่นชี้ให้เห็นว่า ความคิดที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้สามชัยเปลี่ยนนโยบายจากที่เป็นผู้จัดจำหน่าย
สินค้านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า หันมาทำการผลิตภายในประเทศแทน โดยการร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตต่าง
ๆ นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้สามชัยคิดหาฐานการผลิตเอง
ทั้งนี้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในประเทศไทยมาจากญี่ปุ่นเสียมากกว่า
70% แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีความเข้มแข็งอย่างมาก
เงินเยน มีค่าแข็งขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในญี่ปุ่นสูงขึ้นด้วย บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากต้องเปลี่ยนนโยบายการส่งออกโดยตรง
มาเป็นการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ในจังหวะนี้ บริษัทเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก
ได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทย
บริษัทโซนี่คอร์ปฯซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าให้สามชัยก็มีนโยบายเช่นนี้ด้วย
หมายความว่าการที่เงินเยนมีค่าแข็งขึ้นส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นต้องออกมาตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนโดยเฉลี่ย
ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่ามาก นอกจากนี้ก็ยังส่งผลกระทบให้บริษัทเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย
เปลี่ยนนโยบายไปตาม ๆ กัน คือต้องหันมาลงทุนทางด้านการผลิต และการประกอบชิ้นส่วนเอง
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้างธรรมาสักเท่าไหร่ แม้จะเปลี่ยนยุทะวิธีแล้วแต่ธรรมก็ยังต้องพึ่งพาสิ้นค้านำเข้าอีกหลายอย่าง
เพราะอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์หลายชิ้นยังต้องมีการนำเข้าเพื่อเอามาประกอบในโรงงานทั้งหลายที่ร่วมทุนไว้
นั่นเป็นเหตุให้ธรรมต้องเจอปัญหาเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ซึ่งเถ้าแก่ห้างสามชัยรายนี้ก็ไม่ได้มีการเตรียมตัวต่อปัญหานี้ตาอย่างใด
สามชัยประสบการขาดทุนจากการลดค่าเงินบาทและอัตราแลกเปลี่ยนเงินในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายแสนบาท
เฉพาะปี 2527 ตัวเลขขึ้นสูงถึง 4.70 ล้านบาท
อีกปัญหาหนึ่งที่น่าจะมีการระวังป้องกันไว้สำหรับบริษัทที่ทำการค้าเกี่ยวเนื่องกับการนำเข้าส่งออกคือเรื่องการประกันสินค้า
สามชัยดูเหมือนจะไม่ตระหนักในเรื่องนี้ เมือเกิดไฟไหม้สิ้นค้าที่เก็บอยู่ในโกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
สามชัยต้องสูญเงินถึง 1.2 ล้านบาทเมื่อปี 2525 - 2526 ยังต้องใช้จ่ายเงินเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาการท่าเรือฯอีกต่างหาก
หรือในปี 2530 ก็ยังเจอสินค้าไฟไหม้อีกทำให้สูญเงินไปเกือบล้านบาท
ส่วนในเรื่องของการลงทุนเพื่อการผลิตก็ดูราวกับว่าสามชัยจะไม่ได้ใส่ใจในการดูแลการผลิตเท่าที่ควร
หลังจากร่วมทุนด้วยไม่กี่ปี สามชัยต้องถอนตัวออกในสภาพที่ขาดทุ่นย่อยยับ
ผลประกอบการของบริษัท 3 แห่งแรกที่สามชัยร่วมลงทุนด้วยเกิดขาดทุนอย่างมาก
ๆ ปลายปี 2526 สามชัยประกาศขายเงินลงทุนในบริษัท คอนเซฟชั่น อินดัสตรีส์และโฮม
อีเล็กโทรนิกส์ ซึ่งแม้จะไม่สามารถขายได้ในราคาตามมูลค่าตลาดขณะนั้น ก็ให้ขายในราคาไม่ต่ำกว่าราคาทุนหุ้นละ
100 บาท
อย่างไรก็ตาม สามชัยอ้างว่าการที่ต้องขายเงินลงทุนในสองบริษัทดังกล่าว
เพราะเป็นการขัดกับสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายสิค้าที่สามชัยมีกับโซนี่ในญี่ปุ่น
ส่วนบริษัท เดลต้า คอนโซลิเดทเต็ดฯก็หยุดดำเนินกิจการชั่วคราวในปี 526
เพราะเกิดการขาดทุนอย่างมโหฬาร ได้มีความพยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงาน
แต่ปรากฏว่าไม่เป็นผล ปีต่อมาจึงมีการขายทรัพย์สินซึ่งก็ได้จำนวนต่ำกว่าราคาตามบัญชี
ในที่สุดสามชัยจึงตัดเงินลงทุนในเดลต้า คอนโซลิเดทเต็ดฯออกทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าเงินลงทุนจำนวน
4.361 ล้านบาทสูญไปโดยไม่ได้อะไรเลย
ความล้มเหลวในการลงทุนเพื่อการผลิตใน 3 บริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นบทเรียนที่ดีให้แก่สามชัยแม้แต่น้อย
ธรรมยังคงทุ่มทุนลงไปในไตร-สตาร์ฯด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในปี 2528 และ 2529
จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 64.58 % (ดูตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ไตร-สตาร์อุตสาหกรรม)
สามชัยเริ่มซื้อสินค้าจากไตร-สตาร์ฯตั้งแต่ปี 2526 เป็นมูลค่าปีหนึ่งหลายสิบล้านบาท
เฉพาะในปี 2529 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 130.37 ล้านบาท โดยในแต่ละปีมียอดค้างชำระเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีการให้กู้เป็นเงินทอรองจ่ายแก่ไตร-สตาร์ฯด้วย
ไตร-สตาร์ฯจึงไม่ใช่แต่เพียงผู้ผลิตสินค้าป้อนให้สามชัยจัดจำหน่าย แต่ยังเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้เสร็จสรรพในตัว
!!
นอกจานี้ไตร-สตาร์ก็หนีไม่พ้นวงจรธุรกิจแบบเดียวกับสามชัย คือมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินเป็นประจำ
และในแง่ของผลประกอบการก็ปรากฏว่ามีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ เมื่อสิ้นปี
2531 ไตร-สตาร์ฯมีการขาดทุนสุทธิก่อนรายการพิเศษ 4.65 ล้านบาท แต่เมื่อนำมาเฉลี่ยกับรายการพิเศษที่ไม่ได้เกิดจากผลประกอบการ
แต่มาจากกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์สินก็ทำให้มีกำไรสุทธิเป็น 15.54 ล้านบาท
ทว่าเมื่อหักขาดทุนสะสมแล้ว เหลือกำไรสะสมไว้เพียง 8.35 ล้านบาทเท่านั้น
(ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัทไตร-สตาร์อุตสาหกรรม)
ครั้นในปี 2532 ไตร-สตาร์ฯยังคงมีผลประกอบการย่ำแย่ ค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้และเกิดขาดทุนสุทธิในปีนี้อีก
5.19 ล้านบาท แม้ จะมีกำไรสะสมยกมาจากปี 2531 แต่เมื่อหักคาภาษีเงินได้ฯแล้วก็กลายเป็นขาดทุนสะสมไปอีก
เมื่อสิ้นธันวาคม 2532 นั้น ไตร-สตาร์ฯมีผลดำเนินงานขาดทุนต่อหุ้น 32.48
บาท !!
ระหว่างปี 252 -2529 ที่สามชัยประสบการขาดทุนติดๆกันนั้น (ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินของบริษัทสามชัย)
วงการเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมก็ประสบปัญหาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน สามชัยได้รับผลกระทบมากกว่าใครอื่นเพราะมีสินค้าของโซนี่เป็นสินค้าหลัก
ซึ่งก็มีปัญหาต่อเนื่องมาจากการที่สินค้าเครื่องเล่นวีดีเทปBATAMAX ของโซนี่ไม่ประสบความสำเร็จในการขายแม้แต่น้อย
ที่หนักยิ่งไปกว่าก็คือค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งตัวสูงขึ้นเรื่อยๆเป็นตุให้รัฐบาลประกาศลดค่าเงินบาท
และสามชัยได้รับผลกระทบอย่างแรงเพราะยังพึ่งพิงสินค้าของโซนี่แม้สิ้นค้าบางส่วนจะพยายามซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในประเทศก็ตาม
โซนี่ คอร์ปฯตัดสินใจเขามาทำตลาดในประเทศไทยเองในปี 2530 โดยเริ่มเข้ามาเป็นสนง.
ประสานงาน ขณะเดียวกันก็ให้คำปรึกษาในการปรับปรุงกำดำเนินงานของสามชัย และได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการโฆษณาสินค้า
ระหว่างนั้นเองที่มีข่าวลือกระหึ่ม ไปทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่าจะมีการรวมทุนระหว่างโซนี่
คอร์ปและสามชัย เป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องขึ้นเครื่องหมาย NP เนื่องจากราคาหุ้นสามชัยมีการเปลี่ยนแปลงมาก
คือพุ่งขึ้นสูงถึง 261 บาทขณะที่คาราต่ำสุดในปี 2530 อยู่ที่ 62 บาทเท่านั้น
ในที่สุดสามชัยได้แถลงในต้นปี 2531 ว่ามีการตั้งบริษัทโซนี่คอร์ปอเรชั่นขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าโซนี่ในประเทศไทย
โดยสามชัยถือหุ้นในโซนี่คอร์ปฯด้วย 25 % เป็นมูลค่าประมาณ 6.5 ล้านบาท ทั้งนี้สามชัยรับเงินค่าชดเชยจาการโอนธุรกิจทางการค้าจากโซนี่เป็นจำนวน4.9
ล้านบาท
การที่สามชัยสูญเสียสินค้าโซนี่ไปทั้งหมดนั้นจะมองว่าเป็นผลในด้านลบทั้งหมดก็ไม่ถูกต้องนัก
สิ้นค้าโซนี่มีลักษณะพิเศษแต่ไหนแต่ไรมาที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบนหรือผู้มีอันจะกิน
ซึ่งก็ก่อปัญหากับสามชัยไม่น้อยหากจะขยายไปจำหน่ายสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่กลุ่มตลาดเดียวกัน
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่สามชัยไม่อาจขยายการจำหน่ายสินค้าอื่นๆได้น่าจะมาจากการมีข้อตกลงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าโซนี่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยเป็นสำคัญ
ตลอดเวลาที่บริหารสามชัยมาหลายสิบปีรวมไปถึงกิจการอื่นๆ ที่สามชัยเข้าไปร่วมทุนด้วยนั้นธรรมไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้แม้แต่น้อย
จะว่าไปธรรมาดูไม่ค่อยสันทัดการบริหารกิจการที่ต้องแข่งขันกันอย่างหนักเช่นตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเลย
การที่ "ผู้จัดการ" กล่าวอ้างเช่นนี้ ไม่เพียงแต่พิจารณาความไม่สำเร็จของสามชัย
แต่ยังดูลึกลงไปในลักษณะการดำเนินงานของบริษัทนี้ด้วย
ปัญหาเริ่มแรกของสามชัยในเรื่องการขาดเงินทุนหมุนเวียนยังเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตลอด
กระทั่งธรรมาเอาสามชัยเข้าตลาดหลักทรัพย์ เขาก็มีโอกาสที่จะระดมทุนจากตลาดฯได้หลายทาง
แต่ปรากฏว่าสามชัยไม่เคยแม้แต่จะเพิ่มทุนสักครั้งตลอดเวลา 10 ปีที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ
ธรรมายังคงใช้วิธีแสวงหาเงินทุนในสไตล์เดิมไม่เปลี่ยน หมายความว่าธรรมายังใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี
เงินกู้ยืม และทรัสรีซีทจากธนาคารในประเทศหลายแห่ง โดยเมื่อปี 2525 เงินกู้เหล่านี้มีมูลค่ารวม
175 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีละ 15.5 % - 18.75 % โดยมีที่ดินและอาคารบริษัทและกรรมการบริษัทค้ำประกัน
ทั้งนี้ที่ดินและตัวอาคารดังกล่าวก็ติดภาระจำนองกับธนาคารในประเทศ 2 แห่งคิดเป็นมูลค่า
เพียง 11 ล้านบาทเท่านั้น
นี่เป็นสไตล์การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่แปลกสำหรับบริษัททั่วไป แต่ถือเป็นเรื่องประหลาดมากสำหรับบริษัทที่มีช่องทางระดมทุนแบบไม่ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ปัญหาตามมาว่าหากสามชันต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ สามชัยซึ่งหมายถึงคณะผู้บริหารที่มีธรรมากุมบังเหียนอยู่
มีความสามารถเพียงพอหรือไม่ในการทำรายได้และผลกำไรคืนกลับให้นักลงทุน?
คนในวงการเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าธรรมาเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัวอย่างมาก
ๆ ไม่ค่อยมีใครได้เห็นเขาในงานสังคมธุรกิจใดๆ นัก แทบจะไม่พบเลยด้วยซ้ำไป
แม้ว่าเขาจะสนใจให้ความช่วยเหลืองานต่าง ๆในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างมาก
ถึงขั้นที่ว่าได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานสภาอุตฯคู่กับอานันท์
ปันยารชุน ประธานกรรมการบริหารสหยูเนี่ยนคนปัจจุบัน และพ่ายแพ้ไปในปี2533
นี้ก็ตาม
นอกจากสนใจทำงานให้แก่วงการอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในสภาอุตฯแล้ว ธรรมายังฝักใฝ่ชอบพอกับการเมืองเอามากๆ
ถึงขั้นที่คนในวงการรู้ดีว่าเขาหลงใหลเสน่ห์การเมืองของพรรคชาติไทยอย่างแน่นแฟ้น
ไม่คิดเปลี่ยน โดยเฉพาะในสายตาของ ประมาณ อดิเรกสาร รมต. อุตสาหกรรมปัจจุบัน
หลายคนจึงมีความเห็นว่าธรรมาขายหุ้นส่วนข้างมากในสามชัยครั้งนี้ เพื่อที่จะหันไปสู่เวทีการเมืองอย่างเต็มตัว
หลังจากที่ให้ความสนับสนุนและเป็นผู้ดูอยู่เบื้องหลังนานพอสมควร !!
ธรรมาจะก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองหรือไม่เป็นเรื่องที่เจ้าตัวเท่านั้นจึงจะบอกได้
แต่ "ผู้จัดการ" ไม่สามารถจะนึกคิดไปได้ว่า ชายวัยเกษียณอายุที่เพิ่งวางมือจากวงการธุรกิจพร้อมกับบรรดาผู้บริหารอาวุโส
ในวัยวุฒิเท่า ๆ กัน ขณะที่ลูกสาวทั้งสามและหมอพเยาว์ ผู้เป็นภรรยาได้โยกย้ายไปตั้งรกรากในสหรัฐนานแล้ว
ผู้นี้จะแสวงหาความสุขในบั้นปลายชีวิตที่สนามการเมืองไทยละหรือ ??
วิธีที่ธรรมาวางมือจากสามชัยโดยขายหุ้นส่วนข้างมากให้กับ บงล. ธนสยามนั้นเป็นเรื่องที่ไม่แปลกใจสำหรับคนในวงการเงินทุนหลักทรัพย์
เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน บง.เอกธนกิจ จัดเป็นเซียนยุคใหม่ในการแสวงหาธุรกิจที่มีอนาคตดีเพื่อให้คำปรึกษาและร่วมทุน
ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือบางแห่งก็เข้าไปถือหุ้นร่วมทุนในหลายกิจการที่นอกเหนือไปจากแวดวงเงิน
ๆ ทอง ๆ
หรืออย่างเมื่อปี 2527 ที่ธนาคารกสิกรณ์ไทยเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทซิงเกอร์
ประเทศไทย และคงถือหุ้นไว้ในอัตราส่วนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนั้น ธนาคารกสิกรณ์ฯก็แสดงบทบาทช่วยเหลือสนับสนุนทั้งเงินทุนและคำปรึกษาแก่ซิงเกอร์เป็นอย่างมาก
เรียกว่ามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ซิงเกอเติบโตอยู่จนทุกวันนี้ นอกเหนือไปจากบทบาทของผู้บริหารเดิมที่สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดและการบริหารให้ก้าวทันความต้องการของตลาดได้
(ดูล้อมกรอบซิงเกอร์)
อย่างล่าสุดก็เป็นกรณีของ บงล.ธนชาติที่เข้าไปจัดการกับ บ.มาบุญครอง อบพืชและไซโล
โดยใช้กลยุทธ์ตั้งโฮลดิ้งคัมปะนี หลายแห่งขึ้นมาดำเนินการรวมกัน
ในลักษณะเดียวกัน ธนสยาม ก็ตั้งบริษัทสามสองธุรกิจขึ้นมาร่วมซื้อหุ้นสามชัย
โดยตั้งบ.ตรีทวีธุรกิจ ขึ้นมาถือหุ้นในสามสองธุรกิจ และให้สามสองธุรกิจถือหุ้นในตรีทวีธุรกิจสลับกันไปมาอีกชั้นหนึ่ง
ทั้งนี้เพราะธนสยามเองไม่สามารถถือหุ้นลงทุนในกิจการใด ๆ เกินกว่า 10% ของทุนจดทะเบียนของบริษัทนั้น
ๆ ได้
ธนสยามซื้อสามชัย 10% หรือ 30,000 หุ้นส่วนสามสองธุรกิจซื้อไว้ 41% หรือ
150,000 หุ้น รวม 153,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 400 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น
61.2 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ขายออกมาคือ ธรรมาและบริษัทปิ่นรังษี ทำให้ธรรมาเหลือสัดส่วนหุ้นอยู่ไม่ถึง
9% แต่ก็ยังนับว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายบุคคลที่มากที่สุดในสามชัย (ดูตารางชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทสามชัย)
ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจว่าธรรมาใช้ปิ่นรังษี เข้ามาถือหุ้นแทน ผู้ถือหุ้นในครอบครัวเพื่อที่จะขายให้ธนสยามและสามสองธุรกิจอีกทอดหนึ่ง
โดยหวังประโยชน์ด้านภาษี
นอกจากนี้ ธนสยามก็ให้สามชัยเข้าไปซื้อหุ้นของไตร - สตาร์อุตสาหกรรมด้วย
159,993 หุ้นหรือ 99.99% คิดเป็นมูลค่า 40.41 ล้านบาท หรือราคาหุ้นละ 250
กว่าบาท ซึ่งก็นับว่าเป็นราคาที่สูงไม่น้อย
ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่า ไตร - สตาร์ฯ เป็นทรัพย์สินซ่อนเร้น สำคัญของสามชัย
แหล่งข่าวในโรงงานไตร - สตาร์ฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ไตร
- สตาร์ฯ เพิ่งซื้อที่ดินเพิ่มอีก 15 ไร่ ในบริเวณที่ติดต่อกัน รวมเป็นที่ดินของโรงงานทั้งหมด
21 ไร่เศษ ตั้งอยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ในส่วนของการผลิตปัจจุบันนั้นมีการผลิตสินค้าเพียงสองตัวคือโทรทัศน์ยี่ห้อกรุนดิกและเมกก้า
กำลังการผลิตเดือนละ 3,000 - 3,500 เครื่อง สินค้าที่ผลิตได้ทั้งหมดส่งให้ทางสามชัยเป็นผู้ขายแต่เพียงผู้เดียว"
แหล่งข่าวรายเดิม แสดงความคิดเห็นยังค่อนข้างมั่นใจกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "การที่ธนสยามเข้ามาร่วมทุนกับสามชัยน่าจะเป็นเรื่องดีเอามาก ๆ
เพราะจะช่วยให้สามชัยโตขึ้นมาได้และฝ่ายธนสยามก็ให้คำมั่นในการซื้อขายครั้งนี้ด้วยว่า
ภายใน 3 ปีจะเพิ่มยอดขายสินค้าของสามชัยให้ได้ถึงหนึ่งพันล้านบาทจากปัจจุบันที่ทำได้เพียง
200 - 300 ล้านบาท"
ก่อนหน้าที่ธนสยามจะตกลงซื้อสามชัยนั้น ธนสยามทำหน้าทีเป็นที่ปรึกษาในการที่บริษัทต่างชาติหลายรายติดต่อทาบทาม
ปลายปี 2532 มีข่าวว่าบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ฯจะเข้ามาซื้อสามชัย การณ์กลับเป็นว่ามีเพียงการศึกษาโครงการความร่วมมือในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกันเท่านั้น
แหล่งข่าวจากโรงงาน ไตร - สตาร์ฯบอก "ผู้จัดการ" ว่า "รายล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ก็มีการเจรจาตกลงกันได้
90% แล้วแต่ก็เกิดมีเงื่อนไขบางประการที่ไม่อาจจะยอมกันได้ก็เลยล้มเลิกไป
และในที่สุด ธนสยามก็มาเป็นผู้ซื้อเองหลังจากที่ให้คำปรึกษามาเป็นเวลานาน"
การเทคโอเวอร์ของธนสยามครั้งนี้ใช้เม็ดเงินต่ำมาก รัตน์ พานิชพันธ์ กรรมการผู้จัดการ
บงล. ธนสยามซึ่งเพิ่งย้ายมาจากฝ่ายสินเชื่อ พาณิชยกรรม ธนาคารไทยพาณิชย์และเริ่มแสดงฝีมือในงานนี้
เป็นครั้งแรกกล่าวว่า "การซื้อกิจการครั้งนี้ถ้าไม่ได้รับไฟเขียวจากคุณธรรมาก็จะทำได้ยาก
เพราะราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สูงมาก และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็ถือไว้เป็นจำนวนมากด้วย"
ทั้งนี้ราคาหุ้นของสามชัยนับแต่ถูกแขวนป้ายเอ็นพีเมื่อมีข่าวร่วมทุนกับโซนี่คอร์ปฯนั้น
ได้ไต่สูงขึ้นมาโดยตลอด และมาวิ่งอย่างแรงอีกเมื่อมีข่าวว่าจะมีการซื้อกิจการในช่วงปลายปี
2532 หลังจากนั้นราคาหุ้นก็วิ่งราวติดจรวดเรื่อยมา โดยเฉพาะช่วงใกล้สามชัย
ประกาศว่าธนสยามเข้ามาซื้อปริมาณการซื้อขายในช่วงเดือนพฤษภาคมพุ่งสูงมากและคาดหมายว่าราคาคงจะไม่ลงมาง่าย
ๆ เพราะนักลงทุนยังรอข่าวการเพิ่มทุนที่จะตามมา (ดูกราฟราคาหุ้นสามชัย)
ทำไมธนสยามซื้อสามชัย ? ผู้ที่มองในแง่ลบให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นการซื้อไปขายต่อหรือเพื่อเอาหนี้คืนมา
ทั้งนี้ไม่ได้มีการยืนยันว่าธนสยามเป็นเจ้าหนี้สามชัยแต่อย่างใด หากเป็นการประเมินจากข้อมูลแวดล้อมและความเป็นไปได้ที่ธนสยามจะไปบริหารสามชัย
ธนสยามเป็น บงล.ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ที่ไม่ใคร่โด่งดังนักเมื่อเทียบกับ
บงล.ธนชาติ ในสมัยที่สุขุม สิงคารวณิช เป็นกรรมการผู้จัดการนั้น ธนสยามแทบจะไม่ได้ทำอะไรในเรื่องของอินเวสเม้นท์แบงก์
การร่วมทุนหรือธุรกิจอื่นใดมากนัก มีก็แต่ค้าหลักทรัพย์ รับฝากเงินและปล่อยกู้ธรรมดา
ครั้นรัตน์เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนสุขุมที่ถูกโยกย้ายไปเป็นรองประธานบริษัทฯก็ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างภายในครั้งใหญ่
มีการโยกย้ายคน เปลี่ยนแปลงตำแหน่งมากมาย
คนวงในกล่าวกันว่าแต่นี้ไปจะถึงยุคเฟื่องฟูของธนสยามบ้างแล้ว ราคาหุ้นในกระดานก็วิ่งกระฉูดไม่เบา
หลังจากที่นิ่งเงียบมานาน
ธนสยามมีความสามารถเข้าไปบริหารสามชัยมากน้อยเพียงใด ข้อได้เปรียบอย่างชัดเจนประการหนึ่งคือ
บงล. แห่งนี้สามารถแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียนอันเป็นปัญหาเรื้อรังของสามชัยได้แน่
ไม่ว่าจะโดยวิธีง่าย ๆ อย่างการเพิ่มทุนหรือใช้กลไกที่ซับซ้อนในทางการเงินมากขึ้น
อย่างเช่น ทำการให้กู้ร่วม หรือซินดิเคท โลน, ออกวอร์แรนท์ เป็นต้น
ส่วนเรื่องการบริหารนั้น หลายคนยังแสดงความสงสัย ธนสยามมไม่มีความสันทัดในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
แม้ว่าตลาดสินค้าบริโภคเหล่านี้จะไปได้ดีในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมาก
ๆ ในอัตราปีละ 8 - 9% ในปัจจุบันก็ตาม
นั่นหมายความว่าธนสยามต้องหามืออาชีพที่คร่ำหวอดในวงการมาบริหาร คนที่มาเป็นกรรมผู้จัดการสามชัยคนใหม่คือ
วิษณุ รุจิเกียรติกำจร ซึ่งเป็นมืออาชีพคนหนึ่งในวงการอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนหน้านี้เคยอยู่ที่ล็อกซ์เล่ย์แต่ลาออกมาได้เกือบปีแล้ว
แน่นอนว่า สิ่งที่ธนสยามต้องทำเป็นประการแรกคือ การเพิ่มทุนดังที่กล่าวมา
ส่วนหนทางที่จะขยับขยายธุรกิจออกไปนั้น แหล่งข่าวในไตร - สตาร์ฯ เปิดเผย
"ผู้จัดการ" ว่า มีการความพยายามที่จะหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศบางรายเพื่อที่จะขายงานด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
โดยมุ่งส่งออกต่างประเทศซึ่งมีขนาดใหญ่ยุโรปและสหรัฐ และมีความเป็นไปได้ว่าผู้ร่วมทุน
ที่ติดต่ออยู่แล้วนั้นมากจากยุโรปหรือเกาหลีซึ่งสามชัยมีความสัมพันธ์อยู่ก่อนแล้ว
แนวทางต่อไปของสามชัยคือเมื่อหาผู้ร่วมทุนได้แล้วก็ตั้งบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาใหม่แล้วยื่นขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน
(บีไอโอ) โดยบริษัทนี้จะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงาน ไตร - สตาร์ฯ ที่ปทุมธานี
ซึ่งมีโรงงานผลิตชิ้นอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก
นี่เป็นแนวคิดของธนสยามในการซื้อสามชัยครั้ง เพราะถึงแม้สามชัยจะมีปัจจุบันที่โทรมกับทรุดแต่อนาคต
ในตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมีแต่ขยายตัวรุ่งโรจน์
ดังนั้น ธนสยามจำเป็นจะต้องออกแรงมากหน่อยสำหรับงานนี้ ซึ่งจะว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตก็ไม่เชิงนัก
แต่ที่แน่ ๆ คือ มันเป็นการพิสูจน์ฝีมือในงาน วาณิชธนกิจ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
ที่มีนายท้ายชื่อรัตน์ พานิชพันธ์
นี่เป็นการเปิดฉากของธนสยาม และปิดบทบาทของธรรมาได้อย่างเหมาะเจาะพอดี