ทีวีเสรีตายไปแล้ว

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นกับไอทีวีในเวลานี้ ไมใช่วิกฤติ ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในสมัยของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนที่ต้องการแก้ปัญหา ในเรื่องที่สื่อทีวีถูกครอบงำ จึงได้อนุมัติให้มีการเปิดประมูลสัมปทานโทรทัศน์ ที่ใช้คลื่นความถี่ยูเอชเอฟ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีผู้ถือหุ้น 10 รายขึ้นไป และห้ามถือหุ้นเกิน 10% เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการเป็นสื่อเสรีที่จะไม่ถูกครอบงำโดยเอกชนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นมีกลุ่มทุนสิ่งพิมพ์เข้าร่วมประมูลเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐ เดลินิวส์ ผู้จัดการ บางกอกโพสต์ เนชั่น

ผลปรากฏว่า กลุ่มสยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้คว้าสัมปทานไป โดยแลกกับการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดตลอด 30 ปี รวมเป็นเงิน 25,200 ล้านบาท

เส้นทางของไอทีวีก็น่าจะไปได้ดี เพราะมีทั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่มั่นคงมากในเวลานั้น และธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นสถาบันการเงินรองรับด้านเงินทุน มีผู้ผลิตซอฟต์แวร์จากธุรกิจบันเทิงและหนังสือพิมพ์ อีกทั้งเศรษฐกิจก็อยู่ในช่วงเติบโต

แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหลังจากเริ่มดำเนินการได้ไม่นาน ปัญหาการแตกร้าวก็เริ่มขึ้นทั้งจากฝ่ายบริหาร และผู้ถือหุ้นที่มีอยู่มากราย ก็เริ่มแตกคอ ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องไปดึงกลุ่มเนชั่นเข้ามาเพื่อช่วยในการผลิตข่าวให้

ถึงแม้ว่าไอทีวีจะเริ่มเป็นที่ยอมรับจากผู้ชม แต่ผลการดำเนินงานกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ไอทีวีต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอด ทำให้มีหนี้สินก้อนใหญ่กว่า 4,000 ล้านบาท จนต้องขอเลื่อนจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐ 300 ล้าน บาท จนทำให้ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้รายใหญ่ต้องพยายามกอบกู้สถานการณ์ ด้วยการหาผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของไอทีวี

ผลจากความพยายามในครั้งนั้น ได้กลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มเนชั่นที่ไม่ต้องการสูญเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ได้จากการคุมฝ่ายข่าว ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์จำเป็นต้องดึงอำนาจเหล่านี้กลับคืน เพื่อทำให้ภาพของไอทีวีไม่ถูกครอบงำจากผู้ถือหุ้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กระทั่งสุทธิชัย หยุ่น ต้องเปิดห้องแถลงข่าวเพื่อโจมตีการแทรกแซงการทำงานของธนาคารไทยพาณิชย์ จนเป็นข่าวความขัดแย้งบนหน้าหนังสือพิมพ์พักใหญ่ และต่อมาเนชั่นเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เสนอตัวในการเข้าซื้อหุ้นจากไอทีวี แต่ข้อเสนอของเนชั่นได้รับการปฏิเสธ และอุปสรรคที่สำคัญกว่านั้น อยู่ที่เงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน ที่กำหนดให้ไอทีวีจำเป็นต้องมีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 ราย และแต่ละรายถือหุ้นเท่าๆ กันไม่เกิน 10% สาเหตุอื่นที่นอกจากเหตุผลที่ระบุไว้ว่า จะเป็นข้อจำกัดในการที่จะนำบริษัทไอทีวีเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่สามารถจำกัดการถือหุ้นได้แล้ว กติกาเช่นนี้จะเป็นปัญหาในเรื่องของเอกภาพในเชิงบริหารงาน ย่อมไม่มีผู้ประกอบธุรกิจรายใดให้ความสนใจเข้ามาลงทุนแต่หากมีผู้ถือหุ้น ที่กระจัดกระจายเช่นนี้

มติของคณะรัฐมนตรีของชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 1 กุมภา พันธ์ 2543 ที่อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาร่วมการงานของไอทีวี 2 ข้อ คือ การยกเลิกสัญญาสัมปทานข้อ 1.2 ที่กำหนดให้มีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 ราย และแต่ละรายถือไม่เกิน 10% ระบุว่า เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ.2535 และ ข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเท่ากับเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องเหล่านี้โดยตรง

ถัดจากนั้น ในวันที่ 25 เมษายน 2543 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานไอทีวี ตามมติของคณะรัฐมนตรี ในสัญญาข้อ 1.2 และสัญญาในเรื่องของการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ลงนามโดยผู้บริหารของไอทีวี และธนาคารไทยพาณิชย์ ประกอบด้วยนพพร พงษ์เวช ในฐานะของ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ศรัณย์ทร ชุติมา ผู้จัดการทั่วไป ลงนามร่วมกับ ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาสัมปทานไอทีวีในครั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลของชวน หลีกภัย ยอมให้มี การเลื่อนจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน แต่อยู่ที่การแก้ไขสัญญา ในข้อ 1.2 ในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นที่เปลี่ยนแปลงให้ นิติบุคคลสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 75%

ถัดจากนั้นในเดือนมิถุนายน ธนาคารไทยพาณิชย์ก็ได้ดึงเอากลุ่มชินคอร์ปเข้ามาซื้อหุ้นในไอทีวี ซึ่งกลุ่มชินคอร์ปได้ใช้เงินลงทุนไปในไอทีวีแล้วประมาณ 1,600 ล้านบาท แลกกับการเข้ามาถือหุ้นในไอทีวี 39% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้แปลงจากหนี้เป็นทุน เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 55% โดยสิทธิในการบริหารงานทั้งหมดเป็นของกลุ่มชินคอร์ป จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลของชวน หลีกภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือแม้แต่กลุ่มเนชั่น ได้ยอมรับในหลักการที่ว่า ทีวีเสรีเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป กับข้อเท็จจริงในเรื่องภาระของสำนักงานทรัพย์สินฯ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการขาดทุน และทรัพย์สินที่เหลืออยู่ ก็คือ ไอทีวี

และนี่คือที่มาของวิกฤติที่เกิดขึ้นกับไอทีวี ที่คำว่าทีวีเสรีได้ตายไปแล้วอย่างสิ้นเชิง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.