ทางรถไฟยกระดับ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยใช้เวลาถึง 4 ปี ถึงจะลงเอย หากลุ่มผู้ลงทุนรับสัมปทานได้โครงการทางรถไฟยกระดับของการรถไฟแห่งประเทศไทยกลับเดินหน้าอย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียงหกเดือน ก็ได้ตัวผู้ลงทุนคือ บริษัทโฮปเวลล์จากฮ่องกงเป็นผู้ก่อสร้าง

การรถไฟฯ เคยประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ตามมติครม.มาแล้วสองครั้งเมื่อเดือนเมษายนและกันยายน 2532 แต่เงื่อนไขที่สูงเกินไปทำให้ไม่มีใครสนใจเสนอตัวเข้ามา จนต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขการลงทุนใหม่ให้ผ่อนคลายกว่าเดิมและประกาศเชิญชวนอีกครั้งหนึ่งเมื่อกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ก็มีเพียงโฮปเวลล์เพียงรายเดียวที่เสนอตัวเข้ามา

การปลอดจากผู้แข่งขันทำให้ตัดประเด็นการแทรกซ้อนทางการเมืองดังเช่นกรณีของลาวาลินและเออีซีในโครงการรถไฟฟ้าออกไปได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการระดับหมื่นล้านบาทนี้วิ่งฉิวโดยราบรื่น

ขณะนี้การเจรจาในรายละเอียดระหว่างกระทรวงคมนาคมกับโฮปเวลล์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการร่างสัญญาเพื่อเสนอความเห็นชอบจากกรมอัยการก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

แต่โครงการขนาดใหญ่แบบนี้ถ้าผ่านตลอดตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่สะดุดอะไรก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าจะมีขึ้นได้ในประเทศไทย การเมืองในขั้นตอนการคัดเลือกอาจจะไม่มีแต่การเมืองในขั้นตอนการอนุมัติเพื่อทำสัญญาซึ่งต้องผ่านคณะรัฐมนตรีได้ตั้งเค้าขึ้นมาแล้ว

เป็นการเมืองเรื่องของความขัดแย้งระหว่างพรรคกิจสังคมซึ่งคุมกระทรวงคมนาคมอยู่โดยมนตรี พงษ์พานิช เจ้ากระทรวงกับพรรคชาติไทยที่กระทรวงมหาดไทยอยู่และมีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัด

บรรหาญนั้นแสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าจะคัดค้านโครงการทางรถไฟยกระดับนี้ในครม. ด้วยเหตุผลว่าซ้ำซ้อนกับโครงการรถไฟฟ้าและโครงการทางด่วนขั้นที่สอง ยังมีข้อสงสัยในความเป็นไปได้ของโครงการนี้

ตามโครงการนี้ โฮปเวลล์จะลงทุนเป็นเงิน 75,000 - 80,000 ล้านบาท สร้างทางรถไฟยกระดับระยะทาง 63.3 กิโลเมตร โดยที่เหนือทางรถไฟขึ้นชั้นหนึ่งจะเป็นถนนสำหรับรถยนต์

การก่อสร้างจะแบ่งเป็นสองช่วงคือเส้นทางหลักซึ่งเป็นเส้นทางเดิมตามความต้องการของทางรถไฟระยะทาง 23.3 กิโลเมตรประกอบด้วยเส้นทางกรุงเทพ - บางซื่อ ยมราช - มักกะสัน มักกะสัน - แม่น้ำ และมักกะสัน - หัวหมาก

ส่วนอีก 40 กิโลเมตรที่เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นข้อเสนอของโฮปเวลล์เองที่จะขยายเส้นทางเพิ่มขึ้น โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างทั้งหมด 2 ปี โฮปเวลล์จะให้ผลตอบแทนแก่การรถไฟตลอดอายุสัมปทาน 40 ปีเป็นเงิน 88,751 ล้านบาทโดยมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟ 60 สตางค์ ต่อกิโลเมตรและการรถไฟให้สิทธิ์ในการพัฒนาที่ดินของการรถไฟที่หัวลำโพงบ้านพักพนักงานรถไฟสามเหลี่ยมจิตรลดา ชุมชนตึกแดงบางซื่อ และบ้านพักพนักงานรถไฟที่มักกะสันรวมพื้นที่ทั้งหมด 250 ไร่

ความเป็นไปได้ของโครงการนี้ประการแรกก็คือ เส้นทางที่จะสร้างนั้นทางรถไฟและทางรถยนต์เดินตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม การสร้างทางรถไฟยกระดับขึ้นใหม่นั้น ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่ต้องหยุดชะงักเมื่อมีขบวนรถไฟผ่าน แต่ไม่ได้คำนึงถึงเส้นทางการไหลเวียนและการขยายตัวของการจราจรทั่วปริมณฑลกรุงเทพมหานคร

ความหวังที่จะให้โครงการนี้เป็นกุญแจสำคัญแก้ไขการจราจร จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกันอย่างจริงจัง มิพักต้องพูดถึงความจำเป็นของโครงการเมื่อพิจารณาถึงโครงการรถไฟฟ้าและทางด่วนขั้นที่สอง ของการทางที่กำลังจะเกิดขึ้น

ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือการจัดการทางด้านการเงิน ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัดดมากไปกว่าการออกข่าวว่าจะใช้เงินกู้ในประเทศในสัดส่วนครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนทั้งหมด 70,000 - 80,000 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้าตามข้อเสนอของกลุ่มเออีซีนั้นใช้เงินกู้ในประเทศ 12,500 ล้านบาท ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะดูดเงินในประเทศไปหมด ความเป็นไปได้ที่โฮปเวลล์จะใช้เงินมากกว่านี้เกือบ 3 เท่าตัว จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกันอีกประเด็นหนึ่ง

ความเป็นไปได้ในสองประการนี้ เมื่อประกอบกับข้อแลกเปลี่ยนที่โฮปเวลล์จะได้จากการรถไฟคือ การพัฒนาที่ดินของการรถไฟนำไปสู่ข้อสังเกตว่าโครงการทางรถไฟยกระดับ อาจจะเป็นเพียงเรื่องบังหน้าที่เปิดทางให้โฮปเวลล์เข้าไปถือสิทธิ์ในที่ดินของการรถไฟ ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองและมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ข้อเสนอให้ย้ายสถานีหัวลำโพงไปอยู่ที่บางซื่อเพื่อนำที่ดินมาพัฒนาเป็นตัวอย่างหนึ่งในเจตนาของโฮปเวลล์

มนตรี พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คงต้องทำงานหนักอีกครั้งหนึ่งถ้าจะดันโครงการนี้ให้เกิด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.