เมืองแห่งประวัติศาสตร์

โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะเป็นเพียงจังหวัดเล็กๆ อยู่ใกล้กรุงเทพฯ จนหลายคนอาจมองข้าม แต่จังหวัดสมุทรสาคร นอกจากจะเป็นเมืองที่มีเรื่องราวหลากหลายในประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองประมง คนโรงงาน การเกษตร และหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อจนน่าเข้าไปค้นหา

เมื่อสมัยเรียนชั้นมัธยม มักจะได้ยินคุณครูสอนวิชาศีลธรรมพร่ำบ่นอยู่เสมอว่าศีลธรรมเสื่อม ทุกครั้งที่นักเรียนในชั้นเรียนตอบคำถามของครูไม่ได้ จนชินหู มาบัดนี้ เด็กในยุคนี้บางคนที่ไม่ค่อย ให้ความใส่ใจ สนใจการศึกษาหาความรู้เรื่องราวต่างๆ จากตำรับ ตำรา หากเพียงค้นหาเอาในอินเทอร์เน็ตด้วยข้อมูลข้อความสั้นๆ หรือว่าไปสอดคล้องกับการวิจัยทางการแพทย์ว่าเด็กแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ ไม่ควรดูโทรทัศน์ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของภาพและเสียงอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็ว ซึ่งเด็กยังไม่สามารถปรับประสาทได้ทัน จึงมีเด็กจำนวนมากที่ผู้คนนิยมเรียกกันว่าเป็น “ไฮเปอร์” ในปัจจุบัน

การศึกษาค้นคว้าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเรื่องราวความเป็นมาของชาติของสังคมไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆซึ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เกิดแล้วเกิดเล่านั่นเอง สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้รับความสนใจในเด็กรุ่นใหม่ เช่น เมื่อครูถามนักเรียนว่าใครรู้จักพันท้ายนรสิงห์บ้าง มีเด็กตอบว่ายี่ห้อของน้ำพริกเผาครับ อย่างนี้เป็นต้น


เมื่อพูดถึงพันท้ายนรสิงห์ ทุกคนมักจะ วาดมโนภาพถึงความซื่อสัตย์ความจงรักภักดี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระสรรเพชญที่ 8

เมื่อพระเจ้าเสือเสด็จประพาสต้นไปตามคลองโคกขามด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย โดยมีพันท้ายนรสิงห์เป็นผู้คัดท้ายเรือ แต่เนื่องจากเป็นคลองที่คดเคี้ยวมาก มีโค้งหักศอก กระแสน้ำไหลเชี่ยว ทำให้หัวเรือชนกิ่งไม้ใหญ่ โขนเรือหักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์ จึงกราบทูลให้ประหารชีวิตตนเองตามกฎมณเฑียรบาล

เมื่อประหารชีวิตด้วยความฝืนพระทัย พระเจ้าเสือมีรับสั่งให้ทำศาลเพียงตานำศีรษะ และหัวเรือขึ้นไว้บนศาล เพื่อเป็นอนุสรณ์

ต่อมากรมศิลปากรได้จัดสร้างขึ้นใหม่ภายในมีรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์อยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ

พระเจ้าเสือให้ขุดคลองแทนที่คลองโคกขามเดิม เรียกคลอง ที่ขุดขึ้นใหม่นี้ว่า “คลองพระพุทธเจ้าหลวง” แต่ไม่ทันแล้วเสร็จ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดต่อจากคลองด่าน บริเวณแยกคลองบางขุนเทียน (สนามไชย) ในเขตจอมทองแล้วไปออกแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร (มหาชัย) ใช้ในการคมนาคมขนส่งและทำสงคราม และยังมีชาวต่างชาติใช้เส้นทางนี้ไปกรุงศรีอยุธยาโดยไม่ต้องผ่านเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา

ผลที่สำคัญคือการบุกเบิกพื้นที่สองฝั่งคลองใช้ในการเกษตร คลองสายนี้เป็นเส้นทางที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงใช้ยกทัพไปปราบพม่าที่ถลางและชุมพร ยังเป็นคลองที่มีความสำคัญคือเป็นแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครและสมุทรสาคร “คลองสนามชัย หรือคลองมหาชัย”

คลองมหาชัยยังเป็นที่มาของชื่อเรียกจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องด้วยตัวเมืองตั้งอยู่ที่บริเวณปากคลองมหาชัยพอดี สมุทรสาคร “มหาชัย” ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำท่าจีน ห่างจากทะเลเพียง 2 กิโล เมตรเท่านั้น

แต่เดิมถือว่าเป็นตำบลใหญ่อยู่ติดอ่าวไทย มีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนจะนำสำเภาเข้าเทียบท่าค้าขาย จึงเรียกว่า “ท่าจีน”

พ.ศ.2091 สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกฐานะเป็นเมือง “สาครบุรี” เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศัตรูที่จะมารุกรานทางทะเล

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็นสมุทรสาคร หมายถึงเมืองแห่งทะเลและแม่น้ำ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองที่มีการจัดระบบราชการในส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ท้องถิ่น โดยใช้รูปแบบการปกครองแบบสุขาภิบาล จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ “ตำบลท่าฉลอม” เป็น “สุขาภิบาลท่าฉลอม” ซึ่งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย

เปลี่ยนจากเมืองสมุทรสาครเป็นจังหวัดสมุทรสาคร ในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัดทั่วทุกแห่งในพระราชอาณาจักร

นอกจากจะเป็นเมืองในเรื่องราวประวัติศาสตร์แล้ว จังหวัด สมุทรสาครยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองประมง คนโรงงาน และการเกษตร อีกด้วย

แม้ว่าจะเคยรู้จักมหาชัยมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเพลงท่าฉลอม จนคุ้นเคยเหมือนกับได้เคยไปสัมผัส แต่ได้ไปมหาชัยอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อครั้งเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว สมัยนั้น พี่ปุ๋ยเลิกกิจการโรงเรียนอนุบาลสมฤดีที่ซอยพิกุล สาทรใต้ ใกล้ๆ กับโรงพยาบาลหมอเพียร โดยไปเปิดกิจการโรงเรียนสมฤดี ที่สมุทรสาคร อพยพตามสามีที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น

ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ซึ่งมีกิจการประมงอยู่ที่นั่น จึงนัดน้องๆ เพื่อนกลุ่มซี้ไปเยี่ยม แป๊ะขับรถมินิบัสรับส่งนักเรียน ปุ๋ย เป็นมัคคุเทศก์พาทัวร์ ทำให้รู้จักและทราบถึงคุณค่าในทุกๆ ที่ของมหาชัย ทั้งเรื่องการประมง เกษตร ผลไม้ กล้วยไม้ ตลอดจนผลิตภัณฑ์งานฝีมืออันลือลั่น

ระยะหลังๆ สว.แป๊ะยังเชิญไปร่วมรับประทานอาหาร เสิร์ฟ ด้วยปลาทะเลน้ำลึกตัวใหญ่มหึมาที่ทุกคนต่างไม่เคยเห็นมาก่อนใน ชีวิต “เต๋าเต้ย” บางครั้งมีการจัดงานที่กรุงเทพฯ ก็จะนำลอดช่อง น้ำกะทิเจ้าดังมาเสิร์ฟให้ได้ลิ้มลองอยู่เสมอ จึงทำให้รู้จักเมืองนี้เป็นอย่างดีว่ามีคุณภาพคับแก้วจริงๆ ซึ่งแม้ว่าจังหวัดเล็กมีเพียง 3 อำเภอ แต่ทุกอำเภอมีของดีที่แตกต่างกันไป

ในเรื่องการประมง มหาชัยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยอาหารทะเล จะเห็นได้จากการที่จังหวัดสมุทรสาครจะมีจัดงานเทศกาลอาหารเป็นประจำ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของทุกปี บริเวณริมเขื่อนหน้าศาลหลักเมือง ผลิตภัณฑ์อาหารจากทะเล ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

จังหวัดสมุทรสาครเป็นเมืองที่มีการทำอาชีพประมงเป็นหลัก ฉะนั้นทั้งอาหารสด อาหารทะเลแห้ง พ่อค้าแม่ขายจากต่างถิ่น นักท่องเที่ยวสามารถมาเลือกซื้อได้ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา หรืออาหารแปรรูป เช่น กะปิ กุ้งแห้ง หอยพิมแห้ง ทำให้เกิดโรงงานที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทั้งจำหน่ายภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกที่สูงมาก เช่น กุ้งแช่แข็งจากประเทศไทย อุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้ถือว่ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก มีวิธีการผลิตมีการควบคุม คุณภาพที่ได้มาตรฐานสากลปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะความสด ถือได้ว่าเมื่อนำมาละลายและรับประทานแล้ว คุณภาพจะใกล้เคียงกับของสดมาก นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงแล้ว ยังเป็นรายได้หลักของผู้ผลิตและเกษตรกรโดยตรง

อาหารแช่แข็งที่ผ่านกระบวนการอย่างได้คุณภาพ ทำให้ทุกคนมีความมั่นใจและความสะดวกสบาย มีบทบาท ในชีวิตในมื้ออาหารตลอดทุกมื้อในแต่ละวัน โดยเฉพาะ ครอบครัวรุ่นใหม่ที่ทุกคนต้องออกไปทำงาน จะเห็นอาหารเหล่านี้มีให้ซื้อหาได้ตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์ มาร์เก็ต ในเรื่องด้านการศาสนา สำหรับเมืองประวัติศาสตร์ แห่งนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นจึงมีวัดวาอารามเป็นเสาหลักของสังคมอยู่ในทุกชุมชน

ปัจจุบันยังได้รับการส่งเสริมและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ แก่สังคม มีการนำคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยพ่อเมือง วัลลภ พริ้งพงษ์ เป็นผู้นำข้าราชการหิ้วปิ่นโตเข้าวัดฟังธรรม ทุกวันธรรมสวนะ เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการสร้างสังคมให้มีความสงบสุขลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

วัดใหญ่จอมประสาท ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าจีน เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 400 ปี สันนิษฐานกันว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า “วัดใหญ่สาครบุรี” รวมทั้งได้พระราชทานพระไตรปิฎก และยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ภายในบริเวณมีพระวิหารเก่าแก่ก่ออิฐถือปูนอยู่บน ฐานแอ่นโค้งคล้ายห้องเรือสำเภาที่ซุ้มประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถ เป็นลายพันธุ์พฤกษา ต้นไม้ ภูเขา รูปสัตว์ และบุคคล เป็นศิลปะแบบจีน ซึ่งเป็นลวดลายแกะสลักลึกเข้าไปในเนื้อไม้ที่งดงามมาก วัดแห่งนี้ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานของชาติโดยกรมศิลปากร เมื่อ 27 กันยายน พ.ศ.2497

วัดป่าชัยรังสี ตำบลบ้านเกาะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน รูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คล้ายปราสาทหินทางภาคอีสาน

วัดบางปลา เป็นวัดที่สำคัญของชาวมอญ ตามธรรมเนียมมอญนั้นจะต้องมีวัดวัดหนึ่งเป็นหลักของชุมชน โดยเมื่อมีเทศกาลสำคัญๆ เช่น วันปวารณาออกพรรษา พระสงฆ์ จากวัดอื่นๆ ในเมืองจะมาร่วมกันทำพิธี เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ เมื่อครั้งหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดเป็นเจ้าอาวาส

วัดนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน ประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้ เมืองสาครบุรีคือเมืองชายทะเลตอนใต้แห่งกรุงศรี อยุธยา เมื่อเกิดสงครามในพม่า ชาวไทยกลุ่มหนึ่งอพยพหนีมาตาม ริมแม่น้ำท่าจีน คนชรา ผู้หญิงพากันหลบซ่อนในโบสถ์เก่า ต่อมาคนไทยช่วยกันต่อสู้กับทหารพม่าจนได้รับชัยชนะ และผู้ที่อพยพมาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น ในกลุ่มนี้มีสองพี่น้องที่เคยอาศัยโบสถ์เป็นที่หลบภัย น้องสาวบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ตามสัจจาอธิษฐาน และตั้งชื่อว่า “วัดพรหมจารีย์” ต่อมาชาวบ้านเรียกวัดน้องสาวจนเพี้ยนมาเป็น “นางสาว” ในปัจจุบัน

วัดนี้มีโบสถ์ที่มีฐานโค้งเป็นรูปเรือสำเภาก่ออิฐ มีประตูเล็ก ออกเพียงประตูเดียว ชาวบ้านเรียก “โบสถ์มหาอุด” หลังคามุงกระเบื้องดินเผาแบบเก่า ขื่อข้างบนใช้ไม้ซุงทั้งต้น มีเสมาคู่เป็นหินทรายขนาดเล็กอยู่รอบๆ โบสถ์

วัดช่องลมหรือวัดสุทธิวาตวราราม ตั้งอยู่บนปากอ่าวสมุทรสาคร ตำบลท่าฉลอม ตรงข้ามกับตัวเมืองเป็นพระอารามหลวงได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระโพธิสัตว์กวนอิม สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

วัดโคกขาม ตั้งอยู่ริมคลองโคกขาม เป็นวัดเก่าแก่ พระอุโบสถหลังเก่ามีใบเสมารอบๆ ด้านหน้ามีพระเจดีย์ที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา ลวดลายการแกะสลักไม้ ที่หน้าบันงดงาม

นอกจากวัดที่ได้มาชื่นชมกันแล้วยังมีโบราณสถานที่เก่าแก่ อีกมากมาย เช่น ป้อมวิเชียรโชฎก ตำบลมหาชัย สร้างขึ้นเมื่อปี 2371 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เนื่องจากในสมัยนั้นได้เกิดกรณีพิพาทกับญวน เรื่องเจ้าอนุวงศ์แห่ง กรุงเวียงจันทน์ โดยเกรงว่าญวนจะยกทัพมารุกรานไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโชฎกเศรษฐีเป็นแม่กอง สร้างป้อมเพื่อรักษาปากน้ำท่าจีนที่เมืองสมุทรสาคร ลักษณะของป้อมก่อด้วยอิฐถือปูน มีแต่หอรบไม่มีป้อมยาม ตามช่องของกำแพง มีปืนใหญ่ไว้สำหรับป้องกันข้าศึกที่มาทางปากน้ำ

ศาลหลักเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆ กับป้อมวิเชียรโชฎก เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน และยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าชาวประมง โดยก่อนที่จะออกเรือเพื่อไปหาปลา ทุกครั้งจะต้องไปทำพิธีสักการบูชาและจุดประทัด บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อเป็นสิริมงคล

สำหรับอำเภอบ้านแพ้ว มีผู้คนจากหลายกลุ่มชนอยู่อาศัย ไม่ว่าจะชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาว จีน ลาว แต่มีจารีตประเพณีวัฒนธรรมที่ผสมผสาน ทุกคนต่างนับถือศาสนาพุทธเช่นกัน เพราะมีพื้นที่ราบริมฝั่งคลองดำเนินสะดวกที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง มีความสมบูรณ์ในเรื่องของการทำการเกษตร อาชีพจึงประกอบไปด้วยการทำนาข้าว ทำสวนผลไม้ พืชผักนานาชนิด ทั้งองุ่น ชมพู่ ฝรั่ง มะพร้าวน้ำหอม ฟาร์มกล้วยไม้ เลี้ยงกุ้ง ปลาช่อน โดยเฉพาะ ปลาสลิด

สภาพบ้านแพ้วในอดีตเป็นป่าทึบ ชายทะเลอุดมสมบูรณ์ไป ด้วยสัตว์ป่า ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ทำให้ผู้คนบริเวณใกล้เคียงเข้า มาทำการล่าสัตว์ หาของป่าเพื่อดำรงชีวิต ซึ่งพื้นที่มีบริเวณกว้างขวาง มีลำธารธรรมชาติมากมาย และที่สำคัญคือคลองหมู่ทอดและคลองแพ้ว ซึ่งเป็นแหล่งนัดพบ โดยจะนำผ้าผูกไว้ที่ต้นไผ่หรือต้นไม้สูง เพื่อป้องกันการหลงทาง จนมีประชาชนอยู่อาศัยมากขึ้น จึงเรียกชุมชนนี้ว่า “หมู่บ้านแพ้ว”

ปลาสลิด ชื่อราชาศัพท์คือปลาใบไม้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำให้เรียกกันในหมู่ข้าราชบริพาร เพราะทรงเห็นว่ามีรูปร่างเหมือนใบไม้ ทั้งนี้เนื่องจากคำว่าสลิดเพี้ยนมาจากคำว่า “จริต”

ปลาสลิดมีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่มีลำตัวหนาและยาวกว่า หัวโต ครีบหลังในตัวผู้มีส่วนปลายที่ยื่นยาวเช่นเดียวกับครีบก้น ครีบอกใหญ่ ตาโต อยู่สุดปลายจงอยปาก ครีบหางเว้าตื้น ปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกหรือน้ำตาลคล้ำๆ มีแถบยาวตามลำตัว

ตั้งแต่ข้างแก้มจนถึงกลางลำตัวสีดำและมีแถบเฉียงสีคล้ำตลอดแนวลำตัว ด้านข้างและหัวครีบมีสีคล้ำ

อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำและหญ้ารกริมตลิ่งในเขตภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้

ปลาสลิดถือว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญ นิยมทำเป็นปลาเค็ม

เกษตรกรจะเลี้ยงในบ่อดินโดยมีหญ้าเป็นปุ๋ยและทำให้เกิด แพลงก์ตอนเป็นอาหารปลา

แหล่งปลาสลิดที่มีชื่อในอดีตอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ตำบลดอนกำยาน และที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือปลาสลิดบางบ่อ สมุทรปราการ

ปัจจุบันปลาสลิดจากอำเภอบ้านแพ้ว กำลังได้รับความนิยม จากเหล่าผู้บริโภคว่าอร่อยปาก

นอกจากนี้อำเภอบ้านแพ้วยังเต็มไปด้วยฟาร์มกล้วยไม้ เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ

กล้วยไม้มีลักษณะดอกและสีสันลวดลายสวยงามอายุการใช้งานนาน ยังจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย มีการปลูกและเลี้ยงอย่างครบวงจร การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลี้ยงลูกกล้วยไม้ ตลอดจนการตัดดอก การบรรจุหีบห่อเพื่อการส่งออก

ประเทศไทยมีสภาพอากาศสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ไทยเป็นศูนย์กลางค้นพบพันธุ์กล้วยไม้ป่าเป็นจำนวนมาก กล้วยไม้นี้เป็นพืชที่สามารถพบได้ทั่วโลก มีขึ้นอยู่ทั่วไป ยกเว้นแถบ ทะเลทราย ธารน้ำแข็ง ซึ่งส่วนมากจะพบในเขตร้อน คือ เอเชีย อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

นอกจากนี้ยังจะพบได้ที่เหนืออาร์กติกเซอร์เคิล ในตอนใต้ของพาทาโกเนีย ยังพบบนเกาะแมคควารี ใกล้ทวีปแอนตาร์กติก

กล้วยไม้ “เอื้อง” เป็นพืชดอกที่มีมากกว่า 22,000 ชนิด ใน 880 สกุล และที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ สกุล Varilla สกุล ต่างๆ ในกลุ่มคัทลียา สกุลหวาย และสกุลสิงโตกลอกตา เป็นต้น

สายพันธุ์กล้วยไม้ที่ขึ้นและเติบโตในป่าเรียกกล้วยไม้ป่า

กล้วยไม้อากาศ คือกล้วยไม้ที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น โดยมีรากเกาะอยู่กับกิ่งไม้หรือลำต้น

กล้วยไม้ดิน ขึ้นอยู่ตามพื้นดินที่ปกคลุมด้วยอินทรียวัตถุ

กล้วยไม้หิน คือกล้วยไม้ที่ขึ้นตามโขดหิน

กล้วยไม้เมืองไทยเป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ สหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น แคนาดาและสหรัฐอเมริกา

กล้วยไม้ไทยยังมีอนาคตสดใสที่สามารถทำเงินตราให้กับประเทศได้เป็นจำนวนมาก

เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ของขวัญของกำนัลแบบไทยๆ ที่เราๆ นิยมมอบให้แก่กัน และทำให้อดที่จะพูดถึงไม่ได้ก็คือเครื่องเบญจรงค์นั่นเอง

ผลิตภัณฑ์เซรามิกจากหมู่บ้านเบญจรงค์ ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบนของจังหวัดสมุทรสาคร นับเป็นงานหัตถกรรม ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดสมุทรสาครได้ไม่น้อย

เบญจรงค์ ชื่อเรียกเครื่องถ้วยชนิดหนึ่งที่มีใช้ในสยามแต่ตั้ง กรุงศรีอยุธยา โดยการสั่งทำพิเศษจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยการให้ลายให้สี แบบจากช่างไทย ส่งไปผลิตในประเทศจีนโดยช่างชาว จีน โดยมีช่างไทยตามไปคุมการผลิต เพื่อให้ได้รูปลักษณะงามอย่างศิลปะไทยที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน

ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 สมัยจักรพรรดิซวนเต๊อะแห่งราชวงศ์หมิง มีการผลิตเครื่องเคลือบเขียนลายลงยาขึ้นเป็นครั้งแรก ที่แคว้นกังไซ (ที่มาของชื่อเรียกเครื่องกังไส) มณฑลเจียงซี โดยมีการพัฒนาและเป็นที่นิยมจนถึงสมัยจักรพรรดิฉิงฮั่ว

โดยวิธีเขียนลายลงยาจะใช้ตั้งแต่ 3 สีขึ้นไป มีการผลิตเครื่องเคลือบแบบเบญจรงค์มากที่สุดในยุคกษัตริย์วันลี ต่อมาถึงยุคของราชวงศ์ซิง

ยุคนี้ประเทศสยามสั่งผลิตภาชนะเป็นแบบไทย มีการเขียนลาย ให้สี การออกแบบลวดลายวิจิตรตระการตา เป็นเบญจรงค์ที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นของไทย แม้รากฐานจะเป็นของจีนก็ตาม

เครื่องเบญจรงค์เริ่มมีการผลิตครั้งแรกในประเทศไทย สมัย รัชกาลที่ 5 เป็นเตาเผาของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

เครื่องเบญจรงค์หมายถึงเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ เขียนลาย โดยการลงยาด้วยสีต่างๆ นิยมใช้ 3 สีถึง 8 สี นอกจากสีหลักทั้งห้า สีดำ ขาว เหลือง แดง และเขียว หรือสีคราม นอกจากนี้ยังมีสีรองอย่างน้ำตาล ชมพู ม่วง ซึ่งต้องใช้ฝีมือ มีความละเอียด ความประณีตจากเครื่องใช้ที่ใช้กันในรั้วในวังบ้านขุนนางชั้นสูง

ปัจจุบันเครื่องเบญจรงค์ยังได้รับความนิยมโดยทั่วไป โดยเฉพาะการใช้บ่งบอกถึงความเป็นไทย เช่น ใช้มอบเป็นของที่ระลึกแก่กัน โดยเฉพาะกับชาวต่างประเทศ

เครื่องเบญจรงค์เป็นงานหัตถศิลปะที่งดงามล้ำค่า แสดงถึงวัฒนธรรม รสนิยม เอกลักษณ์ของความเป็นไทย ความสวยงาม เช่นเมื่อประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก รัฐบาลยังเลือกใช้เป็นภาชนะในการจัดเลี้ยงอาหารค่ำสำหรับการต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมพร้อมมอบเป็นของที่ระลึกอีกด้วย

เครื่องเบญจรงค์มีตั้งแต่ทำเป็นแก้วน้ำ กาน้ำชา ถ้วยกาแฟ ชุดโต๊ะพระพุทธ จาน ชาม จานเชิง โถ ทัพพี ช้อน กระโถน ขั้นตอนของการผลิต นำเครื่องปั้นดินเผานำมาเคลือบขาว ตั้งเป็นวงเส้นกำหนดลาย เขียนลายด้วยน้ำทอง ลงสี ลงทอง ส่วนที่เหลือ แล้วนำเข้าเตาเผา

ลวดลายที่ได้รับความนิยมของตลาด และมีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น ลายเทพนม นรสิงห์ บัวเจ็ด ประจำยาม เบญจมาศ วิชาเยนทร์ ฯลฯ

สมัยรัตนโกสินทร์มีลวดลายที่นิยมเพิ่มขึ้น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายนกไม้ พญาสิงขร ลายกุหลาบทอง เป็นต้น

เครื่องเบญจรงค์ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแล้วยังส่งออก ไปแถบยุโรป อเมริกา หรือประเทศในแถบเอเชีย สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากจะสร้างความประทับใจแก่ชนชาติต่างๆ ที่ได้พบ เห็นแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนไทย ทำให้ประจักษ์แก่ชาวโลกว่าไทยมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสแวะเวียนไปชมการจัดงานสืบสานสีสันลายเส้นเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดี ซึ่งจัดแสดง และจำหน่ายเครื่องเบญจรงค์ตลอดแนวถนนของหมู่บ้านด้วยการจัดแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงามละลานตา โดยไม่ลืมนำสินค้า OTOP ระดับติดดาวจากตำบลต่างๆ ของจังหวัดมาร่วมจำหน่าย เพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงและส่งเสริมด้านการตลาดไปด้วยกัน

ซึ่งไปครั้งแล้วครั้งเล่าไม่เคยได้คุยเรื่องราวความเป็นมากำเนิดของสินค้าเบญจรงค์ ณ แห่งหนนี้เลย ประภาศรี พงษ์เมธา ที่คนในชุมชน หรือผู้ที่คุ้นเคยกับสินค้านี้รู้จักกันในนาม “หนูเล็ก” ซึ่งนอกจากจะเป็นเจ้าของกิจการหนูเล็กเบญจรงค์แล้ว เธอยังควบ อีกหน้าที่คือตำแหน่งเลขานุการกลุ่มหัตถกรรมเบญจรงค์ บ้านดอนไก่ดีอีกด้วย

เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมานั้น เธอมีอาชีพรับจ้างทอเสื่อ มีรายได้พอมีพอกินไปวันๆ ณ เวลานั้นได้มีโรงงานผลิตเครื่องถ้วยชามเกิดขึ้นที่อ้อมน้อย ซึ่งเป็นโรงงานที่ใหญ่มาก มีความต้องการคนงาน จำนวนนับพันคน ชื่อเสถียรภาพ จำได้ว่าผลิตชามตราไก่ด้วย ทำให้ชาวบ้านดอนไก่ดีรุ่นหนุ่มสาวยุคนั้นเฮโลพากันไปสมัครเข้าทำงาน ทุกเช้าจะมีรถบรรทุกสิบล้อขนคนงาน ไปยังโรงงาน ซึ่งดูแล้วสภาพเหมือนรถขนหมูยังไงยังงั้นเลย เช้าไปส่งเย็นรับกลับหมู่บ้าน เธอรำลึกถึงความหลัง ครั้งเป็นสาวฉันทนาเล่าให้ฟัง

สำหรับโรงงานแห่งนี้จะมีด้วยกันหลายแผนก เช่น ปั้นดิน เทแบบ หล่อใบ การเขียนลวดลาย และสายตาอันยาวไกลที่ควรยกย่อง คือ คุณนาย เจ้าของโรงงาน อุบล จุลไพบูลย์ จะรับสมัครผู้ที่มีความรัก ความชอบ และมีแววในเรื่องศิลปะการวาดลวดลาย จะรับสมัครเข้ามาอยู่แผนกนี้ โดยลงทุนจ้างช่างฝีมือระดับบรมครูจากประเทศจีน และอาจารย์สงวน รักมิตร จากกรมศิลปากร ในการฝึกอบรม ขีด เขียนจนมีทักษะและความเชี่ยวชาญในลวดลายทั้งจีนและไทย ทำให้จานชามที่ออกจากโรงงานนี้เป็นที่นิยมของตลาดโดยทั่วไป ทำมาได้ 20 กว่าปี โรงงานดังกล่าวมีเหตุต้องปิดตัวลง

ทุกคนในหมู่บ้านดอนไก่ดีที่ตกงานมาด้วยกัน จึงมานั่งคิดกันว่า เหตุไฉนจึงไม่นำความรู้ที่มีอยู่มาลองทำกันดูในหมู่บ้าน แต่การริเริ่มในระยะแรกนั้น ปัญหาทั้งเรื่องของเงินทุน ทั้งด้านการตลาดที่จัดจำหน่าย แต่ด้วยความมานะบากบั่นโดยการนำของ อุไร แตงเอี่ยม ปัจจุบันคือประธานกลุ่มเบญจรงค์บ้านดอนไก่ดีนั่นเอง เป็นผู้นำกลุ่มรวมสมัครพรรคพวกและรวบรวมเงินทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการผลิตและวาดลวดลายโดยอาศัยเตาเผาที่อ้อมน้อย และทำการตลาดแบบชาวบ้าน คือเร่ขายตามตลาดนัด ชุมชน จนถึงฝากเพื่อนฝูงที่รู้จักที่ทำงานตามห้างไปช่วย จำหน่ายด้วย ถูไถไปได้สักพัก

ในปี 2543 กรมพัฒนาชุมชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลักดันรวมตัวเป็นกลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปพร้อมๆ กัน

จนปี 2544 หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดีแห่งนี้ได้รับรางวัลจากมูลนิธิหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ทำให้เกิดคำว่าชีวิตนี้ยังมีหวัง ชุมชนแห่งนี้เริ่มดังเป็นพลุแตก ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยว ชื่น ชม เป็นสถานที่ศึกษา ดูงานการผลิต ผลความสำเร็จของโครงการ และมีการเผยแพร่ผลงานจากสื่อมวลชนกันอย่างต่อเนื่อง

จากคนกลุ่มเล็กๆ จนใหญ่ขึ้น ปัจจุบันมีประมาณ 10 ครัว เรือน คนกว่า 100 คน ที่ผลิตสินค้ากันอย่างพิถีพิถันด้วยความประณีต นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายรอบนอก และยังรวมถึงการผลิต บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม กล่องกระจก กล่องผ้าไหมอีกด้วย

ทุกวันนี้ยังต้องมีการพัฒนารูปแบบลวดลายให้เป็นที่ถูกใจของตลาดตลอดเวลา จะว่าไปแล้ว มีความนิยมกันทุกลาย ไม่ว่าลายยุคอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ ขายดีหมด แต่ที่ผู้เขียนชอบซึ่งนานๆ จะออกมาให้เห็นสักครั้งคือเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งหนูเล็ก บอกว่าลายนี้ใช้เวลาทำนาน อย่างที่บ้านหนูเล็กจะมีเตา 2 ใบ คนงาน 10 กว่าคน ทำงานแบบไม่กำหนดว่าวันหนึ่งจะต้องได้เท่าไร ทำด้วยความรัก ความสุข

สำหรับเรื่องของการตลาดในปัจจุบันไม่ลำบากเช่นเมื่อเริ่มแรกแล้ว จะมีพ่อค้ามาติดต่อซื้อขายถึงหมู่บ้าน ทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ หนูเล็กบอกว่าสำหรับเธอแล้วคิดว่า ที่มีทุกวันนี้ มีอาชีพที่มั่นคงมีความสุขทั้งกายและใจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกันถ้วนหน้า ต้องยกความดีให้เจ้าของโรงงาน อาจารย์ที่ให้ความรู้ประสิทธิประสาทวิชา ถือว่าเป็นผู้มีพระคุณ ยังรำลึกและเทิดทูนอยู่เสมอไม่เสื่อมคลาย

นี่แหละ คือจิตใจของคนไทยโดยแท้ ความกตัญญู


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.