ธรรมชาติฟื้นตัวจากภัยพิบัติ...อย่างไร

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงนี้หลายๆ คนคงจะหวาดผวาไม่ใช่น้อยในเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลายๆ แห่งทั่วโลก ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม ไฟป่า พายุหมุน ดินถล่ม ยิ่งกว่านั้น! ยังเป็นที่แปลกใจกันว่า ทำไมปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นไล่ๆ กัน หนำซ้ำโลกยังร้อนระอุไปด้วยภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้หลายคนมีความกังวลกันว่า ธรรมชาติที่ถูกทำลายนี้จะฟื้นคืนสภาพได้แค่ไหน อย่างไร และมนุษย์เราจะปรับตัวได้แค่ไหน บทความนี้จะชี้ให้เห็นคร่าวๆ ถึงผลกระทบและการฟื้นคืนสภาพจากหายนภัยที่ผ่านมา

ก่อนอื่น เราต้องยอมรับว่าสรรพสิ่ง ในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเรียกตามภาษาพระว่า “อนิจจัง” ถ้าเรายอมรับสัจธรรมอันนี้ได้ เราก็จะยอมรับได้ ถึงการเปลี่ยนแปลง ขณะที่มนุษย์โลกช่วย กันเรียนรู้ถึงวิธีการป้องกัน และหาหนทาง ที่จะแก้ไขปรับตัวกันอย่างดีที่สุด

ธรรมชาติทำลายได้ ก็ฟื้นตัวได้

ภัยธรรมชาติบางอย่างฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การปะทุของภูเขาไฟ St.Helens เมื่อปี 1980 มีความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณูลูกหนึ่งทีเดียว ครอบคลุมพื้นที่ 650 ตารางกิโล เมตร พื้นที่รอบๆ เต็มไปด้วยเถ้าถ่านภูเขาไฟหนาประมาณ 50 เซนติเมตร 30 ปีผ่านไป พืชพรรณสัตว์ต่างๆ กลับคืนมา สภาพชีวภาพกายภาพเกือบจะเหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะดินภูเขาไฟอุดมไปด้วยแร่ธาตุช่วยให้ต้นไม้ พืชคลุมดินเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อมีพืชเป็นอาหารก็มีสัตว์เล็กๆ เช่น กระรอก นก เข้ามาอาศัย ต่อมาก็จะมีสัตว์ใหญ่กว่า เช่น สุนัขป่า งู เป็นผู้ล่าสัตว์เล็กๆ ควบคุมประชากรให้สมดุล ทำให้เกิดเป็นวงจรห่วงโซ่ชีวิต ถ้าใคร่ครวญแบบพุทธธรรมก็อาจกล่าวได้ว่า กิเลสของความอยากในการสืบต่อเผ่าพันธุ์นั่นเองเป็นปัจจัยให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลกเกิดขึ้นต่อไป

แต่การสืบเนื่องต่อไปจะออกมาในรูปไหน ดีขึ้นหรือเลวลงนั้นไม่แน่นอน ในทางวิชาการก็จะต้องอาศัยนักวิชาการสหสาขาสังเกต ศึกษา ทดลอง และคาดการณ์เป็นแบบจำลอง เพื่อการตั้งรับปรับตัวและป้องกันไว้ แม้ว่าการคาดการณ์ต่อการฟื้นฟูไม่สามารถทำได้แม่นยำนัก ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายรูปแบบ เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ การเกิดซ้ำ ศักยภาพการป้องกันและการปรับตัว รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ ดังเช่น ป่าฝนเขตร้อน ย่อมฟื้นตัวได้ง่ายกว่าและเร็วกว่าป่าสนเขตหนาว เมล็ดพืชที่ก่อกำเนิดในดินที่ชุ่มชื้นมีหญ้าปกคลุมย่อมมีโอกาสงอกมาก กว่าเมล็ดพืชที่ถูกทิ้งไว้ในดินที่แห้งแล้ง

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในที่รกร้างว่างเปล่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อมนุษย์มากนัก เพียงแต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ ซึ่งธรรมชาติสามารถปรับตัวเข้าสู่ความสมดุลได้เองในเวลาไม่นานนัก แต่ถ้าเกิดในพื้นที่ที่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ก็จะเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทีเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน สาธารณูปโภค ธุรกิจ อุตสาหกรรม ถูกทำลายอย่างย่อยยับ ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการฟื้นฟู

ปีที่ผ่านมาโลกของเราก็บอบช้ำมิใช่น้อยจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายแห่ง โดยการป้องกันเกือบจะทำไม่ได้เลย ทำได้แต่เพียงการเตือนภัยล่วงหน้าได้ไม่นานนัก อาจมีเวลาเตือน แต่เพียงให้ผู้คนรีบวิ่งลงมาจากอาคารสูงเท่านั้น ทั้งนี้เพราะปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะคาดคะเนการเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้แม่นยำ เนื่องจากการพลิกตัวขยับตัวของเปลือกโลกเกิดจากความเครียดและแรงกดดันจากภายใน ทำนองเดียวกับอารมณ์โกรธของคนเรา มักจะปล่อยออกมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่มีเวลาใคร่ครวญ เมื่อสำนึกได้ก็เกิดความเสียหายไปมากแล้ว

ตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติที่มนุษย์ต้องยอมรับสภาพโดยจำนน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ พื้นที่เสี่ยง ต่อภัยธรรมชาติจำเป็นต้องมีการวางแผนป้องกัน มีการตรวจวัดความผิดปกติอยู่เสมอ ดินแดนใดมีระบบเตือนภัยที่ดีก็จะป้องกันความเสียหายไว้ได้มาก ผ่อนจากหนักเป็นเบา

ยังมีภัยพิบัติอีกหลายอย่างที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยเจตนาและมิได้เจตนา ซึ่งทำลายสภาพธรรมชาติได้อย่างรุนแรงและกว้างขวาง ไม่น้อยไปกว่า ภัยธรรมชาติ!

ยกตัวอย่างเช่น การระเบิดของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ Chernobyl ประเทศรัสเซีย เกิดความเสียหายรุนแรงกว่า กว้างไกลกว่า และยาวนานกว่าภัยธรรมชาติเสียอีก ผู้คนนอกจากจะล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากแล้ว กัมมันตรังสียังสามารถทำลายเข้าไปถึงหน่วยพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ก่อมะเร็งแก่คนจำนวนมากตามมา และรังสียังตกค้างอยู่ในดิน ในพืช อยู่อีกนาน จนต้องมีการปิดกั้นพื้นที่มิให้มีผู้ใดเข้าไปอยู่อาศัย

การระเบิดรั่วไหลของแท่นขุดเจาะ น้ำมันที่อ่าวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความเสีย หายต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แม้ว่าจะมีการสูญเสียชีวิตเพียงเล็กน้อย

โชคดี! ที่เกิดขึ้นในประเทศที่ก้าวหน้าและร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูความเสียหายจะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล และยังต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เป็นบทเรียนอย่างสำคัญในหลายๆ ด้านที่ทุกๆ ประเทศจะต้องจดจำไว้ และสำนึกไว้ด้วยว่า การใช้น้ำมันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้รุ่งเรืองนั้น จำเป็นต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงและต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมอย่างยากที่จะจัดการได้

ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่จะใช้ทั้งนิวเคลียร์และน้ำมัน จะต้องมีขีดความสามารถพร้อมที่จะรับผิดชอบต่ออุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา มิใช่แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้เพียงโสตเดียว

กระบวนการฟื้นตัวและตัวชี้วัด

โดยมากนักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจวัดความรุนแรงของภัยธรรมชาติได้ เช่น แผ่นดินไหว อาจชี้วัดความรุนแรงได้ เป็น Richter scale และระยะห่างจากศูนย์กลางการไหวตัวที่เรียกว่า epicenter ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มักจะประเมินได้เป็นจำนวนคนและมูลค่าของทรัพย์สินที่สูญเสียไป

แต่การฟื้นตัวนี่สิ อาจจะประเมินได้ ยาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างในแต่ละแห่งแต่ละพื้นที่ รวมทั้งศักยภาพในการบริหารจัดการและปรับตัว ในด้านสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปพิจารณาถึงความสมดุลของระบบนิเวศ และสุขภาวะความเป็นอยู่ของมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งชี้วัดได้ด้วย ประชากรของสัตว์ชนิดที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ถ้าประชากร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็แสดงว่าระบบนิเวศฟื้นตัวได้ดี ถ้าลดลงก็แสดงว่าระบบนิเวศไม่สามารถฟื้นตัวได้ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสื่อมโทรมลง นักวิชาการบางคนก็ชี้วัดด้วยสุขภาพของมนุษย์ไปเสียเลย โดยดูถึงความถี่ในการเกิดโรคและชนิดของโรค

นอกจากภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดังกล่าวมาแล้ว การฟื้นตัวของระบบนิเวศยังขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพและความถี่ที่เกิดภัยพิบัติด้วย หลายคนอาจสงสัยว่าความหลากหลายทางชีวภาพ มาเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร ตอบอย่างนักสิ่งแวดล้อมก็คือความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เกิด natural selection หรือการที่ธรรมชาติเลือกสรรพันธุ์ที่เหมาะสมให้อยู่รอด พันธุ์ที่เหมาะสมจะมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี และอาจจะมีสัมผัสล่วงรู้เหตุการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้าได้ ทำให้มันหาทางหนีได้ทันท่วงที

นอกจากนั้นความหลากหลายยังช่วยให้ห่วงโซ่ชีวิตเกิดความสมดุลได้ง่ายขึ้น ในเขตหนาวที่มีป่าสนปกคลุม ต้นสนเป็นพืชเด่นที่ธรรมชาติเลือกสรรจัดให้ เมื่อฤดูร้อนแห้งแล้งมาถึง ไฟป่าก็ตามมาด้วย ลูกสนมีเมล็ดที่ห่อหุ้มไว้ด้วยเปลือกแข็งมีกลีบเป็นชั้นๆ ป้องกันเมล็ดไว้จากการเผาไหม้ และเมื่อความชื้นกลับเข้ามาในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ เมล็ดสนก็สามารถงอกขึ้นเป็นต้นใหม่ได้อย่างสบายๆ

ถ้าภัยพิบัติบังเอิญเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง การฟื้นฟูก็เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติขึ้นเป็นประจำ ดังเช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ มักจะถูกพายุไต้ฝุ่นย่างกรายเข้า มาเยี่ยมเยือนอยู่เป็นประจำเกือบทุกปีกว่า ไต้ฝุ่นจะเคลื่อนเข้ามาถึงเมืองไทยก็มักจะกลายเป็นดีเปรสชั่นหรือหางไต้ฝุ่นไป มีน้อยครั้งที่เมืองไทยจะได้รับอิทธิพลของไต้ฝุ่นเต็มๆ

เกษตรกรรมของทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์จึงได้รับความเสียหายมากกว่าไทย ผลผลิตของเราจึงมีปริมาณมากกว่า คุณภาพดีกว่า (ความภูมิใจอันนี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางลบอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น)

ในภาวะโลกร้อน ไฟป่าก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดถี่ขึ้น เพราะนอกจากอากาศจะร้อนและแห้งแล้งแล้ว บรรยากาศที่ปรวนแปรยังทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าผ่าได้ง่ายขึ้น เมื่อประกอบกับพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเพิ่มขึ้น ฟ้าที่ผ่าลงมาในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งมีไม้ตายสะสมอยู่มาก ก็ย่อมจุดประกายไฟ ป่าได้รุนแรงมากขึ้น ลุกลามเร็วขึ้น และดับได้ยากขึ้น

แล้วคนไทยจะเอาตัวรอดได้อย่างไร

ภัยพิบัติกำลังคุกคามเราอยู่ หมายความว่ามีแนวโน้มที่มันจะย่างกรายเข้ามาในประเทศไทยได้บ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้น บางอย่างที่ไม่เคยเกิด (เช่น แผ่นดินไหว) ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีความรุนแรงเท่าหลายๆ ประเทศที่เป็นข่าว อยู่ แต่ก็มีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นบ้างแล้ว ถ้าประเทศเราจะเอาตัวรอดในอนาคต ต้องมีการเตรียมการตั้งรับกันให้ดี ยิ่งในอนาคตอันใกล้ เราจำเป็นจะต้องยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรายิ่งจะต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่บัดนี้ ตั้งแต่ระดับผู้วางแผน ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติ ตลอดไปจนถึงบุคลากรเก็บขยะและดูแลพื้นที่ รวมทั้งชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราๆ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดอุบัติภัย มิฉะนั้นเผ่าไทยของเราก็อาจจะสูญพันธุ์กันไปได้เลย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.