สภาพการจราจรอากาศที่หนาแน่นในขณะนี้ เกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
จะเห็นว่าจากตัวเลขของเที่ยวบินที่เราคิดว่าจะเพิ่มขึ้น 8 - 10% กลับเพิ่มขึ้นเป็นปีละ
20% ในปี 2529 มีเที่ยวบินทั้งหมด 100,122 เที่ยว พอมาถึงปี 2531 เพิ่มเป็น
126,678 เที่ยว ปี 2532 สูงถึง 154,581 เที่ยว และปีนี้จะมีจำนวนสูงขึ้นเป็น
200,000 เที่ยว และในปี 2543 จะขยายตัวเป็น 3 เท่าของขณะนี้
ทำให้การแบ่งเส้นทางการบิน ที่เราแบ่งเป็น 4 สายคือ ภาคใต้ ภาคเหนือ -
ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก - ตะวันออกเฉียงใต้ และทางทะเลจีนใต้ เริ่มหนาแน่น
เพราะเที่ยวบินมีมาก
ไม่ได้หมายความว่า CONTROLLER จะดูและไม่ให้เครื่องบินชนกันไม่ได้ แต่การคุมเครื่องบินจะต้องมีการติดต่อ
คือพูดกับนักบินตลอดเวลา อีกเครื่องหนึ่งก็ต้องรอเพียงแค่ 1 นาทีก็บินไปแล้ว
8 ไมล์ทะเล จะขึ้นจะลงก็ไม่ใช่ว่าจะจอดรอได้ จึงจะให้มีการแบ่งเส้นทางบินเพิ่มอีก
1 สายโดยแยกจากเส้นทางภาคใต้ออกไปในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้การควบคุมการจราจรทางอากาศ
และการบินได้ประสิทธิภาพขึ้น
เราจะเห็นว่าเที่ยวบินต่าง ๆ ในขณะนี้เพิ่มขึ้นมาก เฉพาะไทย การบินไทยซื้อเครื่องบิน
18 ลำ สิงคโปร์แอร์ไลน์ส 40 - 50 ลำ ยังไม่รวมประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในย่านเดียวกันอีกประมาณ
200 เครื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่บินผ่านและจอดที่ไทย
ที่สำคัญเราต้องเข้าใจก่อนว่า เครื่องบินเมื่อซื้อมาแล้ว จะจอดอยู่เฉย
ๆ ไม่ได้ ขาดทุน จึงจำเป็นต้องมีเที่ยวบินให้มากเพื่อสนองดีมานด์ หรือผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
สมมุติหนึ่งเที่ยวบินใช้เวลา 4 ชั่วโมง ทั้งเที่ยวไปและกลับ วันหนึ่งก็ 3
- 4 เที่ยว แต่ละเที่ยวก็จะเพิ่ม TRAFFIC JAM ให้เรา
นี่ยังไม่รวมไปถึงพม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว หรือจีน เมื่อเปิดประเทศเขาจะต้องมีเครื่องบินอีกและขอแลกสิทธิการบินกับไทย
ตามการคาดการณ์ของ FAA 10 ปีจากนี้ไปเที่ยวบินที่จะเข้าไทยจะเพิ่มอีก 200%
หรือราว 3 เท่าตัวของขณะนี้ ซึ่งยังไม่ได้รวมจีนอีกประเทศ ที่ใหญ่เทียบเท่าทวีปทวีปหนึ่งทีเดียว
ว่าเขาจะเปิดเที่ยวบินขึ้นด้วย
จุดที่จะเป็นปัญหาอีกประการหนึ่งคือ เครื่องบินที่บินข้ามมหาสมุทร มีข้อกำหนดว่า
EROP หรือเครื่องบินสองเครื่องยนต์จะบินข้ามมหาสมุทรไม่ได้ เพราะเห็นว่าไม่ปลอดภัยพอ
แต่ขณะนี้ได้มีการปรับเทคโนโลยี EROP แล้ว เชื่อว่าในเร็ว ๆ นี้ EROP จะบินข้ามมหาสมุทรได้
ถ้าเป็นอย่างนั้นเที่ยวบินเดิมที่ใช้ 747 เครื่องบินขนาดใหญ่ที่สามารถบินได้ในระยะไกลขึ้นก็จะหันมาใช้เครื่องบินแบบ
2 เครื่องยนต์อย่าง 757 หรือแอร์บัส 600 ตรงนี้สำคัญ เมื่อเทียบเครื่อง 747
หนึ่งเครื่องจะใช้เครื่องบินสองเครื่องยนต์สองตัว เนื่องจากเครื่องเล็กลง
จึงเป็นเหตุให้มีจำนวนเครื่องเพิ่มมากขึ้นอีก
นอกจากนี้แล้ว เครื่องบินจากญี่ปุ่น จากฮ่องกง ที่จะบินไปตะวันตก หรือทางยุโรป
ที่เป็นเครื่องบินที่บินข้ามมหาสมุทร ส่วนใหญ่จะข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก แต่อย่างที่สนามบินนาริตะ
ตอนนี้ก็แน่นหมดแล้ว เขาก็จะต้องเปลี่ยน TRAFFIC ของเขา หรือแม้แต่ที่ฮ่องกงก็เพิ่มได้ไม่หมด
ทำให้มีการไปเพิ่มที่เกาหลีใต้กันมาก
ปัจจุบันเรามีเครื่องบินจัมโบ้ 747 - 400 เครื่อง พวกนี้ทั่วโลกซื้อกันเยอะ
ที่มีการบินครั้งแรก ก็จากซีแอ้ทเทิล สหรัฐอเมริกามาไทย เครื่องพวกนี้เวลาบินมาทาง
SOUTH EAST ASIA ก็จะไม่มีที่ลงเขาก็จะแวะมาไทย จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า ไทยมีอัตราการเพิ่มของเที่ยวบินสูงสุด
มากกว่าที่อื่นแม้แต่สิงคโปร์
ดังนั้น ที่ว่าเที่ยวบินจะขยายตัว 3 เท่าตัว ผมว่าคงมากกว่าแน่เราจึงต้องคอยปรับขีดความสามารถให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
แต่เราก็มีปัญหาอย่างหนึ่งก็คือบุคลากร คนที่ทำงานเกี่ยวกับการบิน เป็นงานอย่างเดียวกับที่ประเทศอื่นทำ
ไม่ว่าจะเป็นงานคุมจราจรทางอากาศ หรือวิทยุสื่อสาร หรือด้านอื่น ล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาอังกฤษ
ซึ่งถือว่าเป็นการสากล ถ้าได้ทำงานกับต่างชาติเขาจะให้รายได้สูงจึงมักจะถูกดึงตัวไป
ตอนนี้จะเห็นว่าออสเตเลียจะถึงคนจากฮ่องกง พอถึงปี 2540 ปีที่จะต้องคืนเกาะฮ่องกงทำให้คนของฮ่องกงเองก็อยากหนีออกไปจะทำให้มีการแย่งตัวกันขึ้นอีก
แม้ว่าเวลานี้ไม่ถึงกับเป็นปัญหาการแย่งชิงตัวระหว่างประเทศ
แต่ไทยเราก็มีชื่อเสียงทางด้านนี้ นักบินของไทยเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเอเชียแปซิฟิกการที่เราได้รางวัล
THE TWENTYSECONDEDWARD WARNER AWARD เป็นรางวัลสูงสุดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
ก็ยิ่งทำให้ทั่วโลก รู้จักดีและมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้คนอื่นอยากขอซื้อตัวมากขึ้นก็ได้
ถ้าไปทีละคนยังไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่ถ้ายกทีมแย่แน่ และจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเพราะเมื่อต่างชาติเขาไม่มั่นใจในการบริหารและการบริการของเรา
เขาก็จะย้ายไปใช้บริการของที่อื่น
อย่างที่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ก็ต้องออกแรงให้คนที่มีอยู่ อยากอยู่กับเราต่อไปและดึงดูดให้คนใหม่อยากเข้ามาและอยู่ได้นานด้วย
ตอนนี้เรากำลังปรับค่าตอบแทน สวัสดิการต่าง ๆ ให้ทัดเทียมและแข่งขันกับผลตอบแทนที่เอกชนให้
เรื่องนี้ผมเชื่อว่าทางกระทรวงคมนาคมเข้าใจและรู้ปัญหาดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อสร้างความเข้าใจกับกระทรวงการคลัง
ซึ่งก็หวังว่าเมื่อเข้าใจปัญหาอย่างเดียวกันแล้ว ก็คงอนุมัติให้ปรับค่าตอบแทนให้เร็วที่สุด
เรื่องกำลังคน เราก็กำลังเพิ่มอีก 10 กว่าคน โดยส่งไปฝึกอบรมที่ประเทศอังกฤษ
จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงมาก แค่ 4 เดือน ใช้งบต่อคน เป็นล้านบาท ที่เราไม่ได้ฝึกที่นี่
เนื่องจากขีดความสามารถของเรายังฝึกทีเดียวจำนวนมากไม่ได้
ส่วนอุปกรณ์ในสิ้นปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้าเราจะมีเรดาร์ที่จะควบคุมเครือข่ายได้ทั่วประเทศไทยจากที่คุมได้ในเวลานี้ประมาณ
70 - 80% พอติดตั้งเสร็จเราจะมีขีดความสามารถในการรับการจราจรทางอากาศได้ถึงปี
2543 อย่างสบาย ๆ
แต่ก็มีปัญหาอีกว่า แม้เราจะมีเรดาร์ที่มีเครือข่ายคุมได้ทั่วประเทศ หากประเทศอื่น
ที่เขาจะบินมาไทยแล้วระหว่างทางผ่านประเทศที่มีเรดาร์ก็มีปัญหาอีก เขาก็บินไม่ได้ในอัตราที่จะเป็นหรือดังที่เราอยากจะเห็น
อาทิ จากกรุงเทพ - ฮ่องกง ถ้ามีช่วง 60 ไมล์ทะเล ที่เครื่องบินผ่านแต่ไม่มีเรดาร์
แทนที่เครื่องบินเครื่องนั้นจะบินห่างกันได้ในระยะ 5 ไมล์ทะเลก็ทำไม่ได้
แต่ต้องบินในระยะห่างกัน 15 นาทีหรือ 8 ไมล์ ระหว่างเครื่องบินแต่ละลำเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทางออกของปัญหาเรื่องเรดาร์ สำหรับเส้นทางบินทางตะวันออกนั้น จีนกำลังติดตั้งเรดาร์ที่เกาะไหหลำ
ซึ่งจะควบคุมจราจรทางอากาศบริเวณทางเหนือของญี่ปุ่น ไปยังขอบทวีปเอเชีย ริมมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังตอนใต้ของอินโดนีเซีย
ซึ่งจีนทำสัญญาซื้อไปแล้ว
ส่วนที่เป็นห่วงกันว่า ทางลาว เวียดนาม ไม่มีเรดาร์แล้วจะลำบาก ว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ละเอียดอ่อน
แต่เราไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่ เพราะเราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการในระบบของการจราจร
ต่อรองทางการเมืองได้
ด้านเส้นทางบินทางตะวันตก ที่จะไปยุโรปหรือ MIDDLEEAST มีที่บินผ่านประเทศที่ไม่มีเรดาร์เช่น
ผ่านพม่า อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน เป็นต้น นี่จะเป็นปัญหามาก อันนี้หนักใจ
จะเป็นปัญหาการขนส่งระหว่างไทยกับยุโรปเพราะปัจจุบันก็แน่นแล้ว ซึ่งถ้ามีการติดตั้งระบบเรดาร์
ก็จะทำให้เพิ่มเที่ยวบินได้
ผมคิดว่า องค์การพลเรือนการบินระหว่างประเทศหรือรัฐบาลจะต้องเร่งหาโอกาสที่ไปเชียร์ให้เขาตั้งเรดาร์ขึ้นมา
ในระยะ 15 - 20 ปีข้างหน้านี้ เรดาร์จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบเครือข่ายการจราจรทางอากาศ
ปัญหานี้ผมเชื่อว่ารัฐบาลรู้ความจำเป็นดีและได้ตั้งเป็นโจทย์อยู่แล้ว ต่อไปงานที่เกี่ยวข้องกับการบินจะเป็นงานที่น่าทึ่งและตื่นเต้น
การเตรียมพร้อมในการรับมือกับการจราจรทางอากาศที่เริ่มแออัดขึ้น จะต้องทำพร้อมกันทุกฝ่าย