ก้าวย่างที่มองไปไกลกว่าแค่เป็น Land Link

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการก่อสร้าง-ปรับปรุงสนามบินในแขวงต่างๆ ของลาวที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่มีเสถียรภาพ ช่องทางการเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ของ สปป.ลาว ไม่อาจพึ่งสนามบินสุวรรณภูมิได้เพียงจุดเดียว

เครื่องบิน ATR 72 ของสายการบินลาว (Lao Airlines) เที่ยวบินจากเสียมเรียบกำลังลดระดับลงสู่รันเวย์สนามบินปากเซ หลังจากล้อสัมผัสพื้น เครื่องวิ่งต่อไปบนรันเวย์ ได้เพียง 1,000 เมตรเศษ เมื่อถึงหน้าอาคารผู้โดยสาร นักบินเบรกและบังคับเครื่องให้เลี้ยว ซ้ายเข้าสู่อาคารผู้โดยสารโดยทันที

หลังจากเครื่องจอดนิ่งสนิทเพียงชั่วครู่ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกประมาณ 20 คน ค่อยๆ เดินลงบันไดเครื่องบินมุ่งหน้าสู่อาคารผู้โดยสาร เจ้าหน้าที่สนามบิน 3-4 คน พร้อมรถลากกระเป๋า เข้ามาถ่ายเทสัมภาระของผู้โดยสารออกจากเครื่องเพื่อนำไปส่งยังอาคารผู้โดยสาร

เสียงพูดคุยกันเบาๆ ในกลุ่มเจ้าหน้าที่เหล่านั้น

“อุตส่าห์ขยายรันเวย์ให้ยาวไปเกือบ 3 พันเมตร แต่กลับใช้จริงแค่พันกว่าเมตร”

“นักบินเขายังชินอยู่อย่างนั้น แต่อีกหน่อยพอมีเครื่องใหญ่กว่ามาลงที่นี่ ก็คงได้ใช้ เต็มพื้นที่” เสียงอีกคนหนึ่งตอบ

สนามบินปากเซเพิ่งเสร็จสิ้นการปรับปรุงใหม่ระยะแรก รอบที่ 2 ไปเมื่อเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา โดยขยายพื้นที่รันเวย์จากเดิมที่ยาวเพียง 1,650 เมตร เป็น 2,400 เมตร

คาดว่าจะมีการส่งมอบงานปรับปรุงสนามบินครั้งนี้ ระหว่างบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ ผู้รับเหมา กับกรมการบินพลเรือน กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ได้ในเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้

การปรับปรุงสนามบินปากเซมีวัตถุ ประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่สามารถรองรับได้เพียงเครื่องระดับ ATR 72 ซึ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ ให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาดโบอิ้ง 737 หรือแอร์บัส เอ 320 ซึ่งสามารถบินระหว่างประเทศในแถบ เอเชียด้วยกันได้

ตามแผนแม่บทในการปรับปรุงสนามบินปากเซ แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ระยะ

ระยะแรกเป็นการขยายรันเวย์จากเดิมที่ยาว 1,650 เมตร เป็น 2,400 เมตร ขยายความกว้างรันเวย์จาก 36 เมตรเป็น 45 เมตร รวมทั้งการสร้างหอควบคุมการบิน หลังใหม่ สูง 5 ชั้น (24.8 เมตร) ขยายลานจอด ขยายทางวิ่งเข้าสู่ลานจอด รวมทั้งติดตั้งระบบไฟสนามบิน ฯลฯ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 320 ล้านบาท

ผู้สนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการนี้คือสำนักงานความร่วมมือพัฒนา เศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนของไทย โดยเป็นการปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจำนวน 230 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าอีก 90 ล้านบาท

งานปรับปรุงระยะแรก เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 ตามกำหนดการเดิมจะต้องแล้วเสร็จและส่งมอบงานได้ในเดือน ตุลาคม 2552 ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว เที่ยวบินที่เคยบินมาลงยังสนามบินปากเซ ทั้งสายการบินลาว และบางกอกแอร์เวย์สของไทย ต้องงดใช้สนามบินแห่งนี้เป็นการชั่วคราว โดยสายการบินลาวได้เปลี่ยนจุดไปลงที่สนามบินสะหวันนะเขตแทน

การปรับปรุงระยะแรก รอบที่ 1 เสร็จสิ้นลงในเดือนตุลาคม 2552 สนามบิน เริ่มกลับมาเปิดใช้งาน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดใช้งานเพียง 3 เดือน กรมการบินพลเรือนประกาศปิดสนามบินปากเซเป็นการชั่วคราวอีกครั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากพบว่า พื้นรันเวย์เดิมระยะทาง 1,650 เมตร ได้เกิด รอยแตกร้าวขึ้น

พื้นรันเวย์ส่วนนี้สร้างโดยสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2515

“พื้นรันเวย์เดิมสร้างไว้ตั้งแต่เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน เป็นการเทคอนกรีตเป็นแผ่นๆ แต่ไม่ได้มีเชื่อมเหล็กระหว่างแผ่นคอนกรีตแต่ละแผ่นให้ยึดติดกัน อีกประการหนึ่งคือชั้นพื้นดินใต้แผ่นคอนกรีต มีน้ำใต้ดินสะสม ทำให้แผ่นคอนกรีตขยับเมื่อผ่านการใช้งานมานาน จึงทำให้เกิดรอยแตกร้าว” วันเพ็ง จันทะพอน รองอธิบดีกรมการบินพลเรือน บอก ผู้จัดการ 360° ถึงสาเหตุ

สมมาด พนเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง จึงสั่งให้รื้อพื้นรันเวย์ส่วนนี้ออกทั้งหมด แล้วสร้างใหม่ ให้เป็นผืนเดียวกันกับรันเวย์ส่วนขยาย 800 เมตร ที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อ 3 เดือนก่อน

การปรับปรุงรอบ 2 ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก 83 ล้านบาท โดยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ เป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่อง

เดือนพฤษภาคม 2553 การก่อสร้างเพื่อเชื่อมพื้นรันเวย์ให้เป็นผืนเดียวกันทั้ง 2,400 เมตร ก็เสร็จสมบูรณ์ สายการบินลาวได้กลับมาบินไปลงปากเซอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน โดยบินวันละ 2 เที่ยว คือเที่ยวบินระหว่างเวียงจันทน์-ปากเซ-เสียมเรียบ กับเที่ยวบินระหว่างหลวงพระบาง-ปากเซ-เสียมเรียบ โดยใช้เครื่องบิน ATR 72

งานส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของการเก็บรายละเอียด ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ 100% ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม

การปรับปรุงสนามบินปากเซระยะที่ 2 จะต่อเติมขยายลานจอดเครื่องบินและสร้างแท็กซี่เวย์เพิ่มอีก 1 เส้น เพราะลานจอดเครื่องบินเดิม ความกว้างของลานจอด ไม่ได้มาตรฐาน ต้องขยายให้ได้มาตรฐาน นอกจากนี้จะมีการสร้างรั้วคอนกรีตโดยรอบสนามบินและงานเบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น เพิ่มเครื่องอำนวยความสะดวกในอาคารผู้โดยสาร อาทิ สายพานลำเลียงสัมภาระผู้โดยสาร การซื้อรถดับเพลิงเพิ่มอีก 2 คัน ปัจจุบันมีอยู่แค่ 1 คัน รวมถึงรถพยาบาล เพื่อให้สนามบินปากเซได้มาตรฐานในการเป็นสนามบินนานาชาติ

งานส่วนนี้จะต้องใช้เงินลงทุนอีก 184 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก NEDA เช่นกัน คาดว่าจะมีการเปิดประมูล หาผู้รับเหมาได้ในเดือนมกราคม 2554

การปรับปรุงสนามบินปากเซ ถือเป็น 1 ในโครงการก่อสร้าง-ปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศของ สปป.ลาว โดยเริ่มจากการปรับปรุงสนามบินวัดไตที่นครหลวง เวียงจันทน์ เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2547 แล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2549 โดยมีบริษัทไทยวัฒน์เอนจิเนียริงจากไทยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก NEDA ในวงเงิน 320 ล้านบาท

สนามบินวัดไตได้ถูกยกระดับให้สามารถรองรับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ อย่างโบอิ้ง 747 ได้ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางอากาศ การค้า และการท่องเที่ยวของลาวที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ถัดจากนั้น ในปลายเดือนมีนาคม 2551 ที่ผ่านมา สปป.ลาวได้เปิดใช้สนามบิน หลวงน้ำทาที่แขวงหลวงน้ำทา แขวงชาย แดนลาว-จีนทางภาคเหนือ และเป็นต้นทางของถนนสาย R3a

สนามบินหลวงน้ำทาได้รับการก่อสร้างปรับปรุงใหม่ โดยบริษัท ส.เหมราช บริษัทรับเหมาก่อสร้างจากจังหวัดอุบล ราชธานีของไทย ให้มีความยาวของรันเวย์ 2,000 เมตร ความกว้าง 40 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด ATR 72 โดยสายการบินลาวเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างหลวงน้ำทา-เวียงจันทน์ (ไป-กลับ) ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ สัปดาห์ละ 6 เที่ยว

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2552 ได้ มีการวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มต้นก่อสร้างสนามบินหลวงพระบาง 2 มูลค่า 86.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัท CAMC Engineering จากจีน เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิม) ของจีน

สนามบินหลวงพระบาง 2 จะสร้าง เกือบจะขนานไปกับสนามบินเดิม แต่เบี่ยง แนวไปเล็กน้อย

สาเหตุที่จำเป็นต้องสร้างสนามบินแห่งใหม่ในจุดเดิมที่หลวงพระบาง เนื่อง จากแนวรันเวย์เดิมบังคับให้เครื่องบินที่จะบินลงหลวงพระบาง จะต้องบินผ่ากลาง ตัวเมือง ก่อให้เกิดมลภาวะทางด้านเสียงให้ กับเมืองหลวงพระบาง จึงจำเป็นต้องสร้างสนามบินแห่งใหม่ เพื่อเบี่ยงแนวทางลงของเครื่องบินให้ออกไปยังบริเวณชานเมืองแทน

นอกจากนี้สนามบินแห่งใหม่จะมีรันเวย์ยาว 2,900 เมตร ยาวกว่ารันเวย์สนามบินเดิมที่ยาวเพียง 2,200 เมตร และมีลานจอดเครื่องบินเพิ่มขึ้นจากเดิม เป็นการขยายขีดความสามารถในการรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น ในระดับโบอิ้ง 737 หรือแอร์บัส เอ 320 ทำให้สามารถขยายเส้นทางบินจากเดิมที่มีเพียงเที่ยวบินระยะใกล้ อาทิ จากประเทศไทยหรือจีนตอนใต้ที่บินมายังหลวงพระบาง เป็นเส้นทางที่ไกลขึ้นจากประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน ที่สามารถบินเข้ามายังเมืองมรดกโลกแห่งนี้ได้

การก่อสร้างสนามบินหลวงพระบาง 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2557 โดยระหว่างการก่อสร้างสนามบินใหม่ สนามบิน หลวงพระบางเดิมก็ยังเปิดใช้งานตามปกติ

กรมการบินพลเรือนของ สปป.ลาว ยังได้มีการเซ็นในบันทึกความเข้าใจกับบริษัท CAMC Engineering ในการสำรวจความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง-ปรับปรุงสนามบินอีก 3 แห่งในแขวงทางภาคเหนือ ได้แก่สนามบินเชียงขวาง สนามบินที่เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน และสนามบินที่เมือง ห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งเป็นปลายทางของเส้นทางสาย R3a

สนามบินที่น่าจะเริ่มต้นปรับปรุงได้ก่อนที่อื่น คือสนามบินเชียงขวาง ที่ สปป. ลาวกำลังยื่นต่อยูเนสโกเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

เดิมที่เชียงขวางมีสนามบินอยู่แล้ว สร้างโดยสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1982 มีรันเวย์ยาว 2,600 เมตร ปัจจุบันอยู่ในสภาพ ชำรุดทรุดโทรม

ตามผลการศึกษา สนามบินที่จะปรับปรุงใหม่จะขยายรันเวย์ให้ยาวขึ้นเป็น 3,000 เมตร เพื่อรองรับกับเครื่องบินขนาด ใหญ่ระดับโบอิ้ง 737 และแอร์บัส เอ 320 ซึ่งก็หมายถึงการขยายเส้นทางบิน จากเดิม ที่สามารถรองรับเฉพาะเที่ยวบินภาย ในประเทศ เป็นการรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศในทวีปเอเชียด้วยกัน

มีการประเมินมูลค่างานปรับปรุงสนามบินเชียงขวางไว้เบื้องต้นที่ 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจากเอ็กซิมของจีน เช่นเดียวกับที่สนามบินหลวงพระบาง 2

ส่วนสนามบินที่เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามอินโดจีนอีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีสนามบินอยู่ 1 แห่ง แต่มีขนาดเล็กมาก สามารถรองรับได้แต่เครื่องบินเล็ก ระดับเชสน่า และพื้นที่ของสนามบินแห่งนี้ก็ถูกจำกัด ไม่สามารถขยายได้อีก

จากการศึกษาเบื้องต้นได้สำรวจพบพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่แล้วอยู่บนภูเขา แต่รายละเอียดการก่อสร้างอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม

ส่วนสนามบินห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น แต่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากจีนที่ได้รับสัมปทานเข้าไปทำเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ที่บริเวณบ้านต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ได้เสนอตัวกับกรมการบินพลเรือน สปป.ลาวว่าจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างสนามบินขึ้นเองภายในโครงการ

ตามแผนที่กลุ่มดอกงิ้วคำเสนอจะสร้างเป็นสนามบินขนาดที่รองรับเครื่องโบอิ้ง 737 หรือแอร์บัส เอ 320 ใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์

เหตุผลที่กลุ่มดอกงิ้วคำต้องการลง ทุนก่อสร้างสนามบินดังกล่าว เพื่อดึงลูกค้า ที่อยู่ในต่างประเทศ ให้เข้ามาในโครงการ โดยเฉพาะลูกค้าในส่วนของกาสิโน โดยกลุ่มดอกงิ้วคำต้องการจะให้แขวงบ่อแก้วมีสนามบินขนาดใหญ่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด จึงไม่สามารถรอผลการศึกษาโครงการก่อสร้างสนามบินห้วยทรายของ CAMC Engineering บริษัทก่อสร้างสัญชาติเดียวกันได้ จึงอยากจะสร้างสนามบินขึ้นมาเอง

มีรายงานว่า การเสนอตัวก่อสร้างสนามบินขึ้นภายในโครงการเอ็นเตอร์เทน เม้นท์ คอมเพล็กซ์ ที่บ้านต้นผึ้งของกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำนั้นได้รับอนุมัติเบื้องต้นจากรัฐบาล สปป.ลาวแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนในการเซ็นบันทึกความเข้าใจระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้โครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ที่เมืองห้วยทรายของบริษัท CAMC Engineering ก็ต้องยกเลิก หรือหาพื้นที่ในการสร้างสนามบินใหม่ในแขวงอื่นๆ

นอกจากโครงการก่อสร้าง-ปรับปรุงสนามบินใหม่ 3 แห่งในแขวงทางภาคเหนือ แล้ว ในแขวงทางภาคใต้ นอกจากสนามบิน ปากเซที่เพิ่งเปิดใช้การใหม่ กรมการบินพลเรือนของ สปป.ลาว ยังมีแผนที่จะก่อสร้างสนามบินขึ้นที่แขวงอัตตะปือขึ้นอีก 1 แห่ง โดยยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้

โดยปัจจุบันแขวงอัตตะปือ ซึ่งเป็นแขวงที่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว เพราะมีชายแดนติดกับทั้งประเทศเวียดนาม และกัมพูชา แต่ยังไม่มีสนามบิน ดังนั้นหากมีการสร้างสนามบินขึ้นที่นี่ จะช่วยในการพัฒนาการท่องเที่ยวในแขวงนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สปป.ลาวถือว่าการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักอีกแหล่งหนึ่งของประเทศ นอกเหนือจากรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน และการเปิดสัมปทานในการขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ

เริ่มมีการวางนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวขึ้นอย่างกว้างขวางใน สปป.ลาว เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการทำให้ประเทศ หลุดพ้นจากความเป็นประเทศยากจน ที่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ในปี 2020

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวของ สปป.ลาวที่ผ่านมา ยังต้องพึ่งพิงประเทศไทยเป็นหลัก โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางสนามบินสุวรรณภูมิก่อน แล้วค่อยเดินทาง ต่อไปยัง สปป.ลาว

สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะสนามบินใน สปป.ลาวมีรันเวย์สั้น ไม่สามารถรองรับเที่ยวบินที่บินตรงมาจากต่างประเทศได้

แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระทบกับยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทาง เข้ามายังประเทศไทยลดน้อยลง ส่งผลกระทบถึงตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางต่อเข้าไปยัง สปป.ลาวลดน้อยลงตามไปด้วย

การมีสนามบินที่ใหญ่ขึ้นและกระจายไปตั้งอยู่ตามแขวงต่างๆ ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน ย่อมเป็นการเพิ่มช่องทางในการเดินทางเข้าไปยัง สปป.ลาวมากขึ้น โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิของไทยเหมือนเช่นในปัจจุบัน

ตามแผนการพัฒนาสนามบินของลาวโดยภาพรวมที่กล่าวถึงข้างต้น จะทำให้ในอนาคต สปป.ลาวจะมีสนามบินที่สามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเพียงวัดไต (เวียงจันทน์) หลวงพระบาง และปากเซเพียง 3 แห่งจะเพิ่มสนามบินห้วยทราย และเชียงขวางขึ้นอีก 2 แห่ง

ขณะเดียวกัน สนามบินที่สามารถรองรับสายการบินภายในประเทศ จากปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ที่พงสาลี หลวงน้ำทา อุดมไชย ไชยะบุรี สะหวันนะเขต ก็จะมีเพิ่มขึ้นที่ซำเหนือ (หัวพัน) และอัตตะปือ อีก 2 แห่ง

รวมทั้ง สปป.ลาวยังมีโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเพิ่มขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์อีก 1 แห่ง ที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 21 บนถนนสาย 13 ใต้ โดยมีพื้นที่รองรับรอไว้แล้ว 24 ตารางกิโลเมตร มากกว่าสนามบินวัดไต ซึ่งมีพื้นที่เพียง 10 ตารางกิโลเมตร

รัฐบาล สปป.ลาวกำหนดให้การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้แล้วเสร็จในปี 2558

ยุทธศาสตร์ในการพลิกจุดอ่อนของประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นจุดแข็งในการเป็น Land Link หรือพื้นที่ซึ่งสามารถเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ที่อยู่รอบด้านเข้าหากันของ สปป.ลาว

อาจไม่ได้มองแค่การ Link ทางบกอย่างเดียวเท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.