|

ปรากฏการณ์อุตสาหกรรมเข้าไปไล่ที่มรดกโลก
โดย
ปิยะโชติ อินทรนิวาส
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
รัฐบาลไทยเตรียมการมานานแล้วที่จะนำ 17 อุทยานฯ และ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่ารวมเป็น “พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน”
แล้วไปขอขึ้นทะเบียนเป็น “แหล่งมรดกโลก” แต่แล้วเวลานี้ก็มีแผนจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราด้วย ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา” และ “อุทยานแห่งชาติตะรุเตา” เท่านั้น แต่แผนปั้นเป็นมรดกโลกก็น่าจะกระเทือนไม่แพ้กัน
26-27 กันยายน 2553 เกิดอีกหนึ่ง “แลนด์บริดจ์” ขึ้นในภาคใต้ตอนล่างและก็เป็นเส้นทางเชื่อมโยงตามแนวเดียวกับของโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดด้วยคือ “สงขลา-สตูล” แต่วัตถุประสงค์แตกต่างกัน แถมยัง มุ่งเน้นให้สังคมได้รับรู้อย่างกว้างขวางด้วย นั่นคือ “แลนด์บริดจ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรม สงขลา-สตูล”
แลนด์บริดจ์สายนี้ประเดิมด้วยการใช้ศิลปวัฒนธรรมทางดนตรีในสายธารเพื่อชีวิตเป็นแก่นแกนในการเชื่อมโยง 2 กลุ่ม คนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมคนละแบบ แต่มีความรู้สึกนึกคิดไปในทางเดียวกัน และแน่นอนเป็นผลพวงที่เกิดจากการเร่งเดินหน้า โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดของภาครัฐนั่นเอง
คอนเสิร์ต “คิดถึง...ทอดตาแลแผ่นดินด้ามขวาน” จัดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 26 กันยายน ที่โรง ยิมเนเซียม สนามกีฬาจิระนคร กลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการบอกเล่าเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้อันเนื่องมาจากโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดให้สังคมได้รับทราบ
โดยนอกจากจะให้ศิลปินเพื่อชีวิตอย่างสุรชัย จันทิมาธร และวงคาราวาน ระพินทร์ พุฒิชาติ ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง และวงซูซู แสงธรรมดา กิตติเสถียรพร พร้อมด้วยวงบาโรย วงหยาดน้ำค้าง และวง ฅ.กู้ชาติ ได้ใช้บทเพลงบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวแล้ว ยังได้เชิญผู้ที่ติดตามและศึกษาเรื่องนี้มาให้ข้อมูลบนเวทีคอนเสิร์ตด้วย
จากนั้นช่วงบ่ายของวันที่ 27 กันยายน เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล อุทยาน แห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ชมรมมัคคุเทศก์จังหวัดสตูล และชมรมศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ได้ร่วม กันจัดคอนเสิร์ต “รักษ์เภตรา-ตะรุเตา ทะเลบ้านเราเพื่อลูกหลาน” ณ บริเวณลานสิบแปดล้าน ริมอ่าวปากปารา ซึ่งเป็นจุดขึ้นบกของสะพานเชื่อมต่อมาจากท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่อยู่กลางทะเลในอำเภอละงู จังหวัดสตูล
บนเวทีคอนเสิร์ตที่ชายฝั่งอันดามัน นอกจากจะมีศิลปินชุดเดียวกับที่แสดง บนเวทีฝั่งอ่าวไทยมาร่วมแล้วยังมีพจนาถ พจนาพิทักษ์ จ็อบ บรรจบ วงกัวลาบารา ดำ สตูล ติ๊ก ไทลากูน สุเมธ สะพาน กุ้ง ชานชาลา อรัญ เหมรา และสิรพล อักษรพันธ์ มาร่วมขึ้นเวทีอีกด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ฝั่งอ่าวไทยจัดไปก่อนหน้า 1 วัน
ทั้งนี้ระหว่าง 2 เวทีคอนเสิร์ตใน 2 ฟากฝั่งทะเลภาคใต้ตอนล่าง ยังได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,700 ไร่เพื่อใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราด้วย โดยมีเป้าหมายให้ ได้กว่า 10,000 รายชื่อเพื่อจะนำไปยื่นต่อรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ความจริงแล้วหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราถูกสร้างขึ้น จะกระทบถึงทั้ง 2 อุทยานแห่งชาติทางทะเลในจังหวัดสตูลคือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่อยู่ติดกัน
อุทยานแห่งชาติตะรุเตามีพื้นที่รวมบนเกาะและทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ 51 เกาะ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในความใฝ่ฝันของทั้งคนไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ทั้งบนเกาะและในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่ อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงามไปด้วยกลุ่มปะการังหลากสีสวยสด
ปี 2479 กรมราชทัณฑ์ได้เลือกเกาะตะรุเตาจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน ใช้เป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาดและนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ปลายปี 2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดีกบฏบวรเดช (2476) และกบฏนายสิบ (2478) มากักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง
ในระหว่างสงครามเอเชียบูรพาระหว่างปี 2484-2488 เกาะตะรุเตาถูกตัด ขาดออกจากแผ่นดินใหญ่ เกิดปัญหาขาด แคลนอาหาร ยาและเครื่องใช้ต่างๆ ต้นปี 2487 ผู้คุมนักโทษทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นผ่านไปมา รัฐบาลไทยและทหารอังกฤษเข้าปราบสำเร็จปี 2489 และอีก 2 ปีต่อมากรมราชทัณฑ์จึงยกเลิก นิคมฝึกอาชีพตะรุเตา
เรื่องราวเหล่านี้ปองพล อดิเรกสาร ในนามปากกา พอล อดิเรกซ์ ได้นำไปเขียนเป็นนวนิยายเรื่อง “โจรสลัดตะรุเตา” จนโด่งดังไปทั่วโลกมาแล้ว
ว่าที่ ร.อ.ไพโรจน์ หอมช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บอกเล่ากับ ผู้จัดการ 360° ถึงผลกระทบที่จะมีตามมาจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราว่า ไม่ถึงขั้นต้องให้มีการขอเพิกถอนพื้นที่บางส่วนของอุทยานฯ แต่เนื่องจากจุดที่ตั้งท่าเรือห่างจากอุทยานฯ เพียงประมาณ 12 กิโล เมตร ผลกระทบที่จะได้รับจึงเป็นเรื่องของเส้นทางเดินเรือสินค้า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องหาทางออกร่วมกัน
เรือสินค้าที่จะเข้า-ออกท่าเรือน้ำลึก ปากบาราจะผ่านร่องน้ำที่ใกล้กับเกาะไข่ เกาะอาดัง และเกาะตุรุเตา ซึ่งจะทำให้เกิด คลื่นและตะกอนจากใบพัดเรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและการไหลของน้ำ เกิดมลพิษทางเสียง ซึ่งทั้งหมดจะกระทบต่อแนวปะการัง แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะ พะยูนที่จะไปกินหญ้าทะเลในบริเวณนั้น
ขณะที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราครอบคลุมพื้นที่ 494.38 ตารางกิโลเมตรหรือกว่า 3 แสนไร่ เป็นพื้นน้ำประมาณ 94.7 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 22 เกาะเรียงรายกระจัดกระจายตั้งแต่เขตอำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เรื่อยไปจนจรดอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
ความที่ส่วนมากเป็นเกาะเขาหินปูนและมีความลาดชันสูง บ้างเป็นโขดหิน หน้าผา ถ้ำ แถมรูปร่างก็แปลกตา จึงทำให้มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม มีเกาะขนาดใหญ่อยู่ 2 เกาะ คือ เกาะเภตราและเกาะเขาใหญ่ บนเกาะมีสภาพป่าสมบูรณ์มาก ส่วนที่เป็นหาดทรายก็เป็นทรายขาวสะอาด อีกทั้งในน้ำยังมีปะการังและแหล่งหญ้าทะเล จึงเป็นที่วางไข่และอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะเต่าทะเลหลายชนิด
การขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรากว่า 4,700 ไร่ ล้วนเป็นพื้นที่ในทะเล โดยในจำนวนนี้จะใช้พื้นที่ 292 ไร่ระหว่างเกาะเขาใหญ่กับเกาะลินต๊ะ ก่อสร้างแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตรขึ้นมา เพื่อให้เป็นส่วนของท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งระยะทางที่ห่างจากชายฝั่ง 4.2 กิโลเมตร จะสร้างสะพานที่เป็นทั้งถนนและรางรถไฟ เชื่อมเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ ส่วนพื้นที่น้ำที่เหลือ อีกราว 4,408 ไร่ถูกกำหนดให้ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือสินค้า
สำหรับผลกระทบนอกจากที่จะมีคลื่น ตะกอน ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและการไหลของน้ำ รวมถึงมลพิษทางเสียงที่เกิดจากการเดินเรือแบบเดียวกันแล้ว ในส่วนของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ยังมีข้อที่น่าวิตกกว่าคือ การที่เป็นจุดที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกจึงอาจจะเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามมา แถมใกล้กับจุดที่ตั้งท่าเรือและเส้นทางเดินเรือยังมีแนวปะการังที่ยังสมบูรณ์และสวยงาม มีแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่หลายร้อย ไร่ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน
“ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรามีท่าเรือท่องเที่ยวปากบาราตั้งอยู่ เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมาได้รับงบประมาณ 318 ล้านบาทขยายให้เป็นท่าเรืออเนกประสงค์และจะเสร็จในปี 2554 ท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอยู่ในบริเวณไม่ไกลกันนัก แต่เส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวไปเกาะตะรุเตากับเส้นทางเรือสินค้าในอนาคตจะทับกัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไข”
เทิดไทย ขวัญทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ เพื่อใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราคงต้องใช้เวลาอีก พอสมควร ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาอีกทอดหนึ่ง ก่อนที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลายปีมานี้รัฐบาลมีแผนที่จะนำทั้ง 2 อุทยานฯ ในจังหวัดสตูลไปรวมกับอุทยานแห่งชาติทั้งบกและทะเลอื่นๆ ตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน 15 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 1 แห่ง รวมทั้งหมดเป็น 18 แห่ง แล้วจัดตั้งเป็น “พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ ทะเลอันดามัน” เพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยลงทุนจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาเพื่อการนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2552 ขณะที่ในส่วนของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในปี 2525 ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็น “มรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves)” ไปแล้วด้วย
ดังนั้น การเกิดขึ้นของท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของแผนปลุกปั้นโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดให้เป็นจริงนั้น ย่อมต้องมีผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนเป็น “แหล่งมรดกโลก” ของพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|