|
Invictus เพราะอำนาจไม่สามารถเอาชนะใจคนได้
โดย
ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อต้นปี 2010 ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มาฉายและออกไปอย่างเงียบๆ คือเรื่อง Invictus แม้ว่าจะเป็นหนังที่มีชื่อเข้าชิงหลายต่อหลายเวที แต่ก็มีตลาดที่ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ดังกล่าวออกจะเป็นที่นิยมในนิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้เป็นอย่างมาก ขณะที่ในอเมริกากลับทำยอดขายได้ไม่เลวนัก ปิดบัญชีไปแบบเท่าทุนและรอกำไรจากดีวีดีแทน
แม้ว่าหนังจะผ่านไปและไม่ได้เป็นที่สนใจในสังคมไทยมากนัก เนื้อเรื่องนำมาจากคำกลอนสมัยวิกตอเรียน ประกอบกับการเอามาตีความโดยสื่อผ่านดาราแสดงนำอย่างมอร์แกน ฟรีแมน ที่สวมบทเป็นอดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลานั้น เป็นสิ่งที่น่า สนใจและอาจจะนำมาใช้ในสถานการณ์ในเมืองไทยทุกวันนี้ได้
เมื่อยี่สิบปีก่อน ชาวโลกต่างได้ยินชื่อเสียงของเนลสัน แมนเดลา ว่าเป็นผู้นำชาวผิวดำที่ได้รับการปล่อยตัวจากคุกในคดีการเมือง และสี่ถึงห้าปีต่อมาเราอาจจะได้ยินชื่อของสปริงบอร์ค ทีมรักบี้จากแอฟริกาใต้ที่เอาชนะทีมชาตินิวซีแลนด์ได้ในปี 1995 ซึ่งอาจจะเป็นข่าวเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ไทยที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับกีฬารักบี้มากนัก แต่ในต่างประเทศ ต่างเห็นว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ควรจะจดจำ ไว้ทีเดียว เพราะทำให้เกิดคำว่า Rainbow nation ขึ้นมาจำกัดความประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งต้องการสื่อความหมายของชาติแห่งความสมานฉันท์ ไม่ว่าจะมาจากชนชาติใดก็ตาม ตอนนั้นผมยังเป็นนักศึกษา และอยู่หอพัก ทำให้ผมได้ชมเกมการแข่งขันกับเพื่อน ชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งตอนนั้นผมเชียร์ทีมออลแบลคอย่างออกหน้าออกตา และอารมณ์เสียกับกรรมการที่แจกลูกโทษให้แอฟริกาใต้ จนตีเสมอนิวซีแลนด์ได้ รวมทั้งการให้แอฟริกาใต้แทคเกิลได้อย่างน่าเกลียดหลายต่อ หลายหน ต่อมาเมื่อผมได้ศึกษาเกี่ยวกับแอฟริกาใต้มากขึ้น ทำให้ผมเข้าใจได้ว่าทำไมรักบี้โลกในปี 1995 มีความสำคัญต่ออนาคตของแอฟริกาใต้เป็นอย่างมาก
ก่อนอื่นผมต้องขอเล่าก่อนว่าทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ในอดีตนั้นโดนปกครองโดยชาวผิวขาว เช่นนามิเบีย ซิมบับเว แอฟริกาใต้ บอสวานา แต่เมื่อเกิดกระแสสนับสนุนสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกระแสต่อต้าน ชาวผิวขาวที่กดขี่ชาวแอฟริกันด้วยนโยบายเหยียดสีผิว ทำให้เกิดการคืนอำนาจให้ชาวแอฟริกัน อย่างไรก็ตามปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือเมื่อชาวผิวสีซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามามีอำนาจ พวกเขาทำอย่างไร กับชนชั้นปกครองเดิม
แน่นอนครับเมื่อชาวผิวดำกลับเข้ามามีอำนาจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการล้างแค้น การกดขี่ชาวผิวขาวเพื่อเอาคืนต่อสิ่งที่พวกเขาสูญเสียไป เพราะว่าคือธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปที่เอาเพียงอารมณ์และความพึงพอใจของตนเป็นที่ตั้ง เพื่อระบายความโกรธแค้นที่สะสมเอากับคนที่พวกเขาอุปทานเอาว่าเป็นศัตรู สิ่งที่ตามมาคือการนำประเทศไปสู่วังวนของความขัดแย้ง ซึ่งอาจจะร้ายแรง ถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมือง ในที่สุดความขัดแย้งทั้งปวง จะดึงประเทศเหล่านั้นไปสู่ประเทศที่ล้มเหลว (Failed State) เช่นประเทศซิมบับเว ซึ่งเดิมทีโดนปกครองโดยฝรั่ง เรียกว่า โรดิเชียร์ เมื่อคืนอำนาจให้ชาวผิวสีแล้ว ปรากฏว่าประธานาธิบดีผิวดำอย่างมูกาเบได้เข้ายึดที่ดิน บริษัท บ้านเรือนของชาวผิวขาวหมด ทำให้ฝรั่งเผ่นออก มาจากซิมบับเว ทีนี้พวกชาวผิวดำพอไปยึดได้ก็ทำไม่เป็น เลยเจ๊งหมด สุดท้ายก็ล้มละลายทั้งประเทศ
ส่วนประเทศรวันดาก็เกิดปัญหาใกล้เคียงกันคือ ฝรั่งให้อำนาจปกครองกับชนชั้นปกครองเดิมคือ ทุตซีย์ ขณะที่ประชากรรากหญ้าโดยมากเรียกว่า ฮูตู พอพวกฮูตูลุกฮือขึ้นมาล้มล้างฝรั่ง พวกฝรั่งก็เปิดแนบ พวกฮูตูเลยแจกโบนัสใส่ทุตซีย์ด้วยการล้มล้างระบอบกษัตริย์และขุนนางในรวันดา ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกทุตซีย์ เมื่อไม่มีทั้งฝรั่งและชนชั้นปกครอง รวันดาเลยล่มสลาย ปัญหาเดียวกันยังตามไปหลอกหลอนประเทศต่างๆ ในแอฟริการวมทั้งนามิเบีย บอสวานา เอธิโอเปีย ซูดาน ไอวอรี่โคสต์ และไลบีเรีย เป็นต้น
ก่อนที่ผมจะพูดถึงแนวคิดสมานฉันท์ของเนลสัน แมนเดลา ผมขอเล่าถึงประเทศแอฟริกาใต้สักนิด ประเทศแอฟริกาใต้นั้นมีความสำคัญต่อโลกเพราะได้ทำให้เอกบุรุษของโลกสองคนคือ เนลสัน แมนเดลาและมหาตมะคานธีเกิดแนวคิดแบบอหิงสา
ก่อนที่ฝรั่งจะเข้ามายึดครองแอฟริกาใต้นั้น แผ่นดินแอฟริกาใต้ปกครองโดยชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ที่มีชื่อเสียงมากคือ ซูลู ฝรั่งที่มาถึงแอฟริกาใต้ พวกแรกคือชาวโปรตุเกส เนื่องจากนักสำรวจโปรตุเกสเดินทางผ่านแหลมกู้ดโฮปเพื่อไปเอเชีย แต่ก็ไม่ได้เข้ามาตั้งอาณานิคม ต่อมาเมื่อชาวดัตช์เริ่มทำการค้าขาย จึงได้มาตั้งเขตท่าเรือเล็กๆ ไว้พักสินค้า ซื้อขายเสบียงเพื่อเอาลงเรือต่อไปเอเชียที่แหลมกู้ดโฮป โดยเรียกว่า Fort de Goede Hoop หรือป้อมแห่ง กู้ดโฮป (ปัจจุบันคือเมืองเคปทาวน์) ในยุคนั้น ดัตช์ ไม่ได้คิดเรื่องอาณานิคม แต่การเจรจากับชาวพื้นเมือง ไม่เป็นผล ทำให้อาหารขาดแคลนทั้งในเมืองและต่อ กองเรือดัตช์ จุดนี้เองทำให้ชาวดัตช์ต้องออกไปยึดพื้นที่ทำกินเพื่อสร้างเสบียงให้กองเรือดัตช์ ต่อมาเมื่อได้พื้นที่ทำกินชาวดัตช์จำนวนไม่น้อยได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในแอฟริกาใต้ เพราะความหวังอันสูงสุดของชาวนาฝรั่งในยุคนั้นคือการมีที่นาเป็นของตนเอง ทำให้เกิดชื่อกลุ่มชาวดัตช์โพ้นทะเลที่เรียกตนเองว่า บัวร์ (Boer) ซึ่งแปลว่าชาวนานั่นเอง
ต่อมายุโรปเกิดสงครามใหญ่ กองทัพนโปเลียน เข้ายึดครองประเทศฮอลแลนด์และส่งกองเรือเข้ายึด ครองอาณานิคมของฮอลแลนด์รวมถึงแอฟริกาใต้ อังกฤษจึงต้องส่งราชนาวีเข้ายึดครองแอฟริกาใต้แทนฝรั่งเศส เพื่อรักษาที่มั่นของกลุ่มพันธมิตร ทีนี้พอไปยึดมาแล้วอังกฤษกลับไม่ยอมคืนให้ฮอลแลนด์ ทำให้อังกฤษยึดครองแอฟริกาใต้โดยสมบูรณ์ และอาณาเขตของอังกฤษ ก็ขยายไปชนกับราชอาณาจักร ซูลูเข้า เซอร์ เฮนรี่ บราเทิร์ล เฟรอ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแอฟริกาใต้ ฉวยโอกาสยื่นข้อเรียกร้อง ให้พระเจ้าเคสวาโย กษัตริย์ซูลูให้ทำตามข้อเรียกร้อง ซึ่งแม้ว่านักวิชาการยุคหลังต่างยอมรับว่าเคสวาโยจะเป็นกษัตริย์ที่ค่อนข้างประนีประนอมกับฝรั่งแล้ว ก็ยังยอมรับไม่ได้ เพราะเซอร์เฟรอเรียกร้องให้เคสวาโยยุบกองทัพซูลูทั้งหมด ห้ามเกณฑ์ทหาร หากจะตั้งกองทัพขึ้นมาใหม่ต้องได้รับความเห็นชอบและกำกับดูแลโดยอังกฤษ นโยบายต่างประเทศจากนี้ไปต้องให้อังกฤษจัดการ
เมื่อจะมายึดเอาบ้านเมืองกันขนาดนี้ ซูลูก็ต้องสู้ ในยุคหลังบาร์เทิล เฟรอมักมีภาพลักษณ์ของข้าราชการกังฉิน และเหยียดสีผิว เป็นต้นตอของความชั่วร้ายในแอฟริกาใต้อย่างที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องซูลูดอน ซึ่งเฟรอรู้ดีว่ายังไงเสียซูลูก็ไม่ยอมตกลง เลยระดมพล 15,000 นายเข้าปะทะกับกองทัพซูลูที่อิสอันดอลวานา ปรากฏว่าเกิดรายการที่ไม่คาดฝัน เพราะกองทัพซูลูแม้ปืนจะน้อยกว่า แต่แม่ทัพคนป่ารู้จุดอ่อนของปืนไรเฟิลยุคนั้นคือต้องใช้เวลานานมากกว่าจะบรรจุกระสุนได้แต่ละชุด จึงใช้วิธีหนุนเนื่องเข้าไปเรื่อยๆ พออังกฤษกระสุนหมดต้องบรรจุทหารซูลูก็เข้าถึงตัวและแทงด้วยหอกอย่างรวดเร็ว ปรากฏว่ากองทัพอังกฤษพ่ายแพ้อย่างยับเยินมาก แต่เมื่อชนะศึกแล้ว เคสวาโยกลัวว่าถ้าทหารซูลูบุกเข้าไปยึดแคว้นนาตาลและแอฟริกาใต้จะแหย่เสือหลับ ให้รัฐบาลอังกฤษที่ไม่ได้หนุนสงครามกับซูลูหันมาโจมตีอาณาจักรของตน จึงสั่งเลิกทัพกลับบ้าน
นักวิชาการหลายคนมองว่าถ้าซูลูบุกต่อไปจนยึด แอฟริกาใต้ได้ อังกฤษคงทำเหมือนกับอิตาลีที่จะยอมเจรจาสัญญาสงบศึกกับอบิสสิเนีย แต่วิธีประนีประนอมของเคสวาโยได้ผลตรงข้าม รัฐบาลอังกฤษมองว่าซูลูมีศักยภาพจำกัดแค่ป้องกันตนเองเลยส่งทหารมาเพิ่มถึง 25,000 นาย แต่การที่คนไม่ดีอย่างเฟรอจะโชคดีทุกๆอย่างก็คงกะไรอยู่ จึงเหมือนพระเจ้าส่งเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน องค์มกุฎราชกุมารของฝรั่งเศส พระราชโอรส เพียงพระองค์เดียวของพระจักรพรรดินโปเลียนที่สามให้ เสด็จไปร่วมรบด้วย เนื่องจากพระองค์เพิ่งสำเร็จการศึกษาวิชาทหารจากแซนเฮิร์ส ปรากฏว่าขณะที่เจ้าชาย นโปเลียนออกสำรวจพื้นที่และสอดแนม กลับไปปะทะกับกองทหารซูลูเข้า บรรดาทหารในหมวดต่างหนีเอาตัวรอด ในขณะที่เจ้าชายสู้กับทหารซูลูจนสิ้นพระชนม์เพราะโดนรุมแทงด้วยหอกถึง 18 แห่ง ทำให้พระนางเจ้าวิกตอเรียทรงพิโรธมาก เนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของมกุฎราชกุมารฝรั่งเศสได้นำมาซึ่งจุดจบของราชวงศ์ฝรั่งเศสด้วย
เมื่อจบศึกซูลูด้วยการไปยึดบ้านเมืองเขามาแล้ว ก็ได้เวลาที่ไปกดขี่ชาวบัวร์ ทำให้พวกดัตช์เริ่มแสดงความไม่พอใจกับการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้เกิดสงครามขึ้นหลายหน แต่สงครามกับพวกแอฟริกันเนอร์ (ฝรั่งในแอฟริกาใต้) ไม่ได้หมูอย่างสงครามกับคนป่าที่ไม่มีอาวุธทันสมัย ปรากฏว่าอังกฤษรบแพ้พวกบัวร์ทำให้ชาวบัวร์ถึงขั้นประกาศเอกราชในรัฐที่ตนปกครอง ตอนนั้นรัฐบาลลอนดอน หมดความอดทนกับเซอร์เฟรอที่ขยันหาเหามาใส่หัว อังกฤษ ประกอบกับคดีเก่าๆ ทั้งเรื่องไปรบกับซูลู หรือการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายนโปเลียน จึงส่งผลให้เฟรอโดนเด้งไปจากตำแหน่งทุกอย่าง แต่สงครามกับชาวบัวร์ยังผลัดกันแพ้ชนะหลายรอบ ฝรั่งชาวดัชต์ก็รบอย่างทรหด โดยเฉพาะมลรัฐทรานสวาล นาตาล และออเรนจ์ แต่เมื่อสงครามเริ่มยืดเยื้ออังกฤษขอให้ เครือจักรภพส่งทหารไปช่วยนิวซีแลนด์ ในยุคนั้นอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีเซดดอน เจ้าของฉายาเสาหลัก แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ได้เกณฑ์ทหารกว่าแปดพันนายไปช่วยอังกฤษจนได้ชัยชนะเหนือพวกบัวร์
เมื่อชาวแอฟริกันแพ้อย่างราบคาบแล้วเชื้อร้ายของเฟรอออกฤทธิ์ เพราะรัฐบาลทำการแบ่งชนชั้นปกครอง คือชาวอังกฤษกับชาวผิวขาวถือว่าเป็นเพียง กลุ่มเดียวที่มีอำนาจทางการปกครอง ชาวอินเดียและชาวผิวดำเป็นประชากรที่ไม่มีสิทธิใดๆ ยกเว้นเพียงรัฐซูลูแลนด์ เพราะบรรดาขุนศึกซูลูเริ่มก่อความไม่สงบ อังกฤษต้องเชิญเคสวาโยกลับมาเป็นกษัตริย์ในรัฐซูลู และให้ซูลูปกครองตนเองในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องเหยียดสีผิวได้แรงขึ้นมาเป็นระดับ ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 นักกฎหมายหนุ่มชาวอินเดียที่จบจากอังกฤษชื่อคานธีได้งานทนายความที่แอฟริกาใต้ ปรากฏว่าคานธีโดน เหยียดสีผิวสารพัด ทั้งห้ามนั่งชั้นหนึ่งในรถไฟแม้จะตีตั๋วชั้นหนึ่ง แต่ฝรั่งตีตั๋วชั้นสามมานั่งแทนได้เพราะผิวสี โดนห้ามนั่งเก้าอี้ในรถประจำทาง ทำให้คานธีซึ่งเดิมทีเป็นพวกสนับสนุนอังกฤษ เพราะวรรณะสูง ในอินเดียได้รับการยอมรับอย่างดีในอังกฤษและอินเดีย แต่พอโดนเปิดโลกทัศน์ที่แอฟริกาใต้ คานธีเกิดแนวคิดต่อสู้แบบอหิงสา และเป็นแรงผลักดันให้เกิดเอกราชในอินเดีย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียไม่ได้ทำให้แอฟริกาใต้หวั่นไหวแต่อย่างใด เมื่อสงครามเย็นคืบคลานเข้ามา ชาว แอฟริกาผิวขาวฉวยโอกาสจากการที่ชาวผิวสีในประเทศ ต่างๆ ไปเป็นคอมมิวนิสต์ จึงประกาศนโยบายเหยียดสีผิวสุดขั้วเรียกว่า Apartheid ซึ่งแปลว่าการแบ่งแยก โดย แบ่งเขตที่อยู่อาศัย สังคมให้แตกแยกระหว่างคนขาว คนดำ คนผิวสีกันอย่างชัดเจน แน่นอนครับ โรงเรียนดีๆ บ้านดีๆ อยู่ในเขตคนขาวหมด เรียกว่าเขตคนขาวในแอฟริกาใต้มีมาตรฐานเดียวกับอังกฤษ นิวซีแลนด์ หรือแคนาดา ส่วนเขตคนผิวดำนั้นยิ่งกว่าสลัมในประเทศกำลังพัฒนา ถนนที่แบ่งระหว่างสองเขตปกครอง จะมีรั้วกั้นเขตคนขาวกับคนดำอย่างชัดเจน ในยุคที่นโยบายนี้ นำมาใช้อย่างรุนแรง แม้แต่สิทธิประชาชน แอฟริกาใต้ก็ไม่ได้ให้คนดำแต่จะให้ลงทะเบียนตามเผ่าของตนแทน นโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นมักมาจากชาวแอฟริกัน เนอร์ เพราะพวกนี้โดนกดขี่โดยอังกฤษมาก่อน
เมื่อเกิดสงครามโลกพวกบัวร์จำนวนมากก็สนับสนุนนาซีเพราะเกิดจากสองเหตุผลคือเกลียดอังกฤษ ควบคู่ไปกับชาวแอฟริกันเนอร์นั้นส่วนมากเป็นดัตช์และมีเยอรมันปะปน รวมทั้งอดีตประธานาธิบดีโบทาร์ซึ่งเคยมีข่าวว่าไปร่วมกับกลุ่มนาซีในสมัยนั้น แม้ต่อมาจะปฏิเสธว่าไปร่วมเพราะเข้าใจว่าเป็นกลุ่มศาสนา คริสต์ก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไร นโยบายอพาไทด์นั้นไม่ได้ แตกต่างไปจากนโยบายนาซีมากนัก ยกเว้นแต่ไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่การใช้ตำรวจลับลอบฆ่าหรือจับคนดำระดับหัวหน้าไปเข้าคุกนรกบนเกาะรอบเบน รวมถึงเนลสัน แมนเดลานั้น เป็นนโยบายที่ไม่ต่างจากพวกเกสตาโปแต่อย่างใด แน่นอนครับ การกระทำดังกล่าวสร้างรอยร้าวฉานให้คนดำและคนขาวอย่างยากที่จะเยียวยา ในยุคนั้นแอฟริกาใต้โดนทั้งโลกบอยคอตจากการค้าหรือแม้แต่กีฬาในบรรดากีฬาทั้งหมด คนผิวขาวจะนิยมเล่นรักบี้ เพราะเป็นกีฬาที่ นิยมในหมู่สถาบันศึกษาชั้นนำของอังกฤษ ขณะที่คนผิวดำจะไปเล่นฟุตบอลแทน สนามรักบี้ของชาวผิวขาวจะเป็นสนามหญ้าอย่างดี ในขณะที่ชาวผิวดำ จะเล่นบอลข้างถนนเป็นหลัก
ทีมรักบี้แอฟริกาใต้นั้นเรียกว่าทีมสปริงบอร์ค มีสีเขียวและทองเป็นหลักและสัญลักษณ์เป็นเลียงผา เนื่องจากรักบี้เป็นกีฬาที่เล่นในหมู่คนขาว มีคนดำเล่น น้อยมากเพราะสภาพสังคม ประกอบกับรัฐบาลอังกฤษและนิวซีแลนด์กลัวความปลอดภัยของนักกีฬา ผิวสี รวมถึงเมารีเวลาไปเล่นกับทีมชาติแอฟริกาใต้ ทำให้อังกฤษและออลแบลคเลือกแต่ฝรั่งไปเล่น ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ทีมสปริงบอร์คเป็นสัญลักษณ์ของชาวผิวขาวและการเหยียดสีผิวโดยไม่ได้เจตนา ตรงนี้ ผู้อ่านอาจจะถามว่านิวซีแลนด์มีบทบาทตรงไหน ในปี 1981 ทีมสปริงบอร์คขอเดินทางมาแข่งกับออลแบลคของนิวซีแลนด์ ซึ่งสร้างกระแสต่อต้านพอสมควร เพราะชาวเมารีไม่พอใจที่นักกีฬาเมารีไม่สามารถไปเล่นในแอฟริกาใต้ได้
อย่างไรก็ตาม เมารีบางส่วนออกมาสนับสนุน สมาคมรักบี้ เพราะจะได้เป็นการแสดงว่าทีมกีฬาที่ไม่จำกัดเรื่องเชื้อชาตินั้นเหนือกว่าทีมฝรั่งล้วน ซึ่งตรงกับแนวคิดของรัฐบาล รวมทั้งการไม่เอาการเมือง มายุ่งกับกีฬา ผลปรากฏว่าทีมออลแบลคที่ใช้นักกีฬา ฝรั่งร่วมกับเมารีและนำวัฒนธรรมเมารีคือ ฮักกะ หรือการเต้นข่มขู่ศัตรูก่อนออกรบมาใช้ ปรากฏว่าทีม ออลแบลคถล่มสปริงบอร์คย่อยยับที่ไครส์เชิร์ชกับโอ๊กแลนด์ แถมการแข่งนอกรอบรัฐบาลให้ทีมสปริงบอร์คแข่งกับทีมนิวซีแลนด์เมารี คือทีมนักกีฬาเมารี ซึ่งสปริงบอร์คทำได้แค่เสมอที่เนเปียร์ เรียกว่า สปริงบอร์คทัวร์ได้สร้างความอับอายให้สปริงบอร์คและแอฟริกันเนอร์ นอกจากนี้ยังได้ทำให้เกิดกระแสกับคนดำว่า ถ้าสปริงบอร์คแข่งกับทีมชาติไหน จะเชียร์ทีมตรงข้ามเพราะรักบี้ไม่ได้จำกัดสีผิวมีแต่ในแอฟริกาใต้
ถ้ามองความแตกแยกในแอฟริกาใต้ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ต่างกันทั้งชนชาติ สีผิว ความเชื่อทางการเมืองแล้ว เราอาจจะต้องมาตั้งคำถามว่าเขาแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะดูเหมือนกับว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ในตอนปลายของยุค 80 แอฟริกาใต้เปลี่ยนประธานาธิบดีจากโบทาร์มาเป็นเอฟ ดับบลิว เดอ เคิลร์ก ซึ่งแม้ว่าชาวแอฟริกาผิวดำและภาพยนตร์เรื่องอินวิคตัสชอบนำเดอ เคิลร์ก มาเทียบกับแมนเดลา และยกย่องแมนเดลามากกว่า ผมเองต้องขอบอกว่า เดอ เคิลร์กก็เป็นรัฐบุรุษของโลกคนหนึ่ง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำที่ดีนั้นไม่ใช่แต่เป็นผู้พูดที่สามารถ แต่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย การเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ใช่ฟังคนที่ประจบสอพลอ หรือคนที่สนับสนุนตนเอง แต่ต้องฟังคนที่เกลียด เราและคนที่ต่อต้านเราว่าเขาต้องการอะไร สิ่งที่ผมมองว่า เดอ เคิลร์ก มีความสำคัญไม่แพ้แมนเดลา เพราะเขาเป็นผู้ฟังที่ดี และรับรู้ว่าชาวผิวสีในแอฟริกาต้องการอะไรบ้าง เขาเริ่มจากการปล่อยตัวเนลสัน แมนเดลาจากคุก และเริ่มการเจรจา โดยการเลิกนโยบายอพาไทด์
ปัญหาที่ตามมาในสังคมคือ คนดำที่เพิ่งได้อิสระ ต่างต้องการล้างแค้นคนขาวหรือบรรดาชนชั้นปกครองในอดีต ตรงนี้เองถ้าแอฟริกาใต้ควบคุมไม่ดีก็อาจจะเกิด สองกรณีคือคนขาวยึดอำนาจคืนเพราะการจลาจลหรือไม่ก็เกิดเป็นกลียุค บ้านเมืองแตกแยกแบบซิมบับเว แต่จะกรณีใดก็ตาม ปัญหาย่อมตามมา เพราะถ้าไล่คนขาว เศรษฐกิจก็พัง ถ้าคนขาวยึดอำนาจก็จลาจลอีกนาน ตรง นี้เองที่ทำให้เนลสัน แมนเดลาเข้ามามีบทบาทในการสร้างความสมานฉันท์ โดยเอาทีมรักบี้สปริงบอร์คเป็นหนึ่งใน รากฐานของการสร้างความสมานฉันท์ โดยแปรสภาพจากทีมที่คนดำเกลียดให้เป็นทีมของประเทศแอฟริกาใต้
แมนเดลามีคำพูดดีๆ ทั้งจากภาพยนตร์และในชีวิตจริง แต่คำพูดดีๆ ที่ผมพบในภาพยนตร์นั้นเริ่มตั้งแต่ตอนที่แมนเดลาเข้าไปขอให้ฝรั่งทำงานต่อ โดยให้บอดี้การ์ดรอข้างนอก เพราะเขาพูดว่า หากคุณต้องการให้คนอื่นเชื่อสิ่งที่คุณพูด คุณต้องไม่แอบอยู่หลังคนที่ถือปืน เพราะนั่นเป็นการบังคับเขา หลายต่อหลายครั้งในภาพยนตร์มีคำพูดดีๆ ให้เป็นข้อคิดของการสมานฉันท์ เช่นตอนที่แมนเดลาเข้าไปพูดกับกับคนดำที่ต้องการทำลายทีมสปริงบอร์คและวัฒนธรรมของคนขาว ภาพยนตร์แสดงคำพูดที่สำคัญคือ หากคุณทำลายทุกอย่างที่เขารัก คุณก็จะพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า คุณเป็นทุกอย่างที่เขากลัว แต่การที่จะสร้างชาติใดๆ ก็ตาม เราต้องใช้อิฐทุกก้อนที่มีให้เรา แม้ว่าอิฐเหล่านั้นจะเป็นสีเขียวและทอง (สีของสปริงบอร์ค)
โดยส่วนตัวผมต้องยอมรับว่าการสร้างความสมานฉันท์เป็นเรื่องยาก และน้อยคนที่จะคิดได้หรือทำสำเร็จ เพราะถ้านักการเมืองคนใดทำได้ คนคนนั้น จะเป็นรัฐบุรุษของโลกได้อย่างไม่ยาก นอกจากภาพยนตร์แล้ว ในชีวิตจริงแมนเดลามักจะมีคำพูดดีๆ เยอะมาก เช่น “There is no such things as part freedom เสรีภาพกึ่งหนึ่งไม่ใช่เสรีภาพ” ในความคิดของแมนเดลา ประชาธิปไตยไม่มีครึ่งใบ เพราะนั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่คำพูดที่ผมมองว่าเป็น benchmark ของแมนเดลาคือ
If you want to make peace with your enemy, you have to work with your enemy. Then he becomes your partner.
If you talk to a man in language he understands, that goes to his head. If you talk to him in his language, that goes to his heart.
ผมเชื่อว่าคำพูดของแมนเดลาเป็นสิ่งที่เขาได้ ทำจริงๆ เพราะเขาได้สร้างความสมานฉันท์จากการสร้างมิตร โดยทำให้คู่แข่งหรือศัตรูหันหน้ามาทำงานการเมืองร่วมกับเขา คำพูดที่ว่าถ้าเราพูดในภาษาที่เขาเข้าใจ คำพูดเราไปถึงสมองของเขา แต่ถ้าเราพูด ในภาษาของเขา คำพูดของเราจะไปถึงหัวใจของผู้ฟัง นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แมนเดลาใช้เวลาอย่างมาก ในการเรียนภาษาของแอฟริกันเนอร์ ซึ่งเป็นภาษาที่ผสมระหว่างอังกฤษ เยอรมัน และดัตช์ เพื่อที่จะลดช่องว่างของเขากับชาวผิวขาวลง
เรื่องความสมานฉันท์ในแอฟริกาใต้มาสำเร็จ เมื่อมีกีฬารักบี้โลกที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ แน่นอนครับ นิวซีแลนด์เป็นคนสร้างภาพให้เห็นว่า การที่มีทีมจากหลายเชื้อชาติย่อมเหนือกว่าทีมจากเชื้อชาติเดียว เมื่อแอฟริกาใต้ได้นำเอาคนดำอย่างเชสเตอร์มาร่วมทีมและชนะออลแบลคได้ในปีนั้น รักบี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสมานฉันท์และภูมิใจของชาวแอฟริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็นคนดำหรือขาว
ถ้าเอาบทเรียนของแอฟริกาใต้มาพิจารณาแล้ว เราจะพบได้ว่าการสมานฉันท์ที่ดีต้องประกอบด้วยห้าองค์ประกอบด้วยกัน ข้อแรกคือการเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้นำส่วนมากในโลกมักจะมีความคิดว่าเป็นผู้นำคนอื่นต้องตาม เพราะประชาชนต้องเชื่อผู้นำเพราะผู้นำรู้ดี แบบที่ฝรั่งชอบพูดว่า Trust us, because we know best
แต่ที่จริงแล้วปัญหามักจะเกิดขึ้นเพราะประชาชน ไม่ต้องการฟังคนที่ไม่ฟังเขา (It is no point to listen to someone who doesn’t listen to you) เพราะประชาชนก็เชื่อเหมือนกันว่า We trust ourselves, because we know best
ดังนั้น ความสำเร็จของการเป็นผู้นำที่ดีคือการรับฟังปัญหาจากคนที่ประสบปัญหาจริงๆ และต้องเป็นการรับฟังแบบไม่มีอคติ เลือกที่จะฟังคนที่เขาไม่ชอบเรา ผู้นำที่ดีต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังและเลือกที่จะฟังในสิ่งที่ตนต้องแก้ไข ไม่ใช่ไปคิดเอาเองว่าปัญหาอยู่ที่ไหนแล้วไป ทำเอาเอง แบบที่พุทธศาสนาเราสอนให้สุต หรือการฟัง
องค์ประกอบที่สองคือการคิดหรือจินตะ การคิดตามในสิ่งที่ผู้พูดสื่อสารถึงเรา ตามด้วยองค์ประกอบที่สามคือ ปุจฉา หรือการถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจ และสิ่งที่สี่คือลิขิต หรือการเขียน ตรงนี้หมายถึงการลงมือทำด้วย คือแก้ปัญหาให้ถูกจุด และองค์ประกอบสุดท้ายคือ เรียนรู้ที่จะสื่อสารในภาษาที่เขาใช้
แมนเดลาเป็นตัวอย่างของผู้นำที่ดีที่สามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาพื้นเมือง และยัง สามารถพูดภาษาแอฟริกันเนอร์ของพวกบัวร์ ที่สำคัญ เหนือสิ่งอื่นใดคือการให้อภัยต่อกัน บ้านเมืองถึงจะเกิดความสมานฉันท์ขึ้นได้
หากเราคิดง่ายๆ ว่าเอาหลักพุทธศาสนาคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มารวมกับสุต จินตะ ปุจฉา ลิขิต (สุ จิ ปุ ลิ) และเรียนรู้การเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้พูดที่ดีคือคนที่เลือกจะสื่อสารในสิ่งที่เข้าไปถึงหัวใจของผู้ฟัง ผมเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก เพราะว่าใน Invictus ได้พูดชัดเจนว่าสิ่งที่อำนาจไม่สามารถชนะได้คือใจคน แม้จะใช้อำนาจทำให้เขา บาดเจ็บบังคับให้เขาก้มหัวเคารพ แต่ไม่ได้แปลว่าใจของเขาจะเคารพผู้นำนั้นๆ My head is bloody, but unbowed เพราะมนุษย์เราเป็นนายของโชค ชะตาของตนเองและเป็นผู้ขับเคลื่อนจิตใจของเขา I am the master of my fate. I am the captain of my soul.
ดังนั้น สิ่งที่อำนาจไม่สามารถชนะได้คือใจของคนเรา การจะชนะใจของใครได้ไม่ใช่ใช้ปืนหรืออำนาจ แต่ต้องเอาใจซื้อใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และเราจะชนะทั้งใจของเราและชนะใจผู้อื่น ถ้าวัดกับแอฟริกาใต้ที่ต่างกันทั้งเชื้อชาติ สีผิว ความเชื่อทางการเมือง ศาสนาแล้ว ความแตกแยกในบ้านเรา โดยบรรดาเสื้อสีต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ผมมองว่าแก้ได้และเป็นเรื่องเล็กมากเสียด้วย
หากผู้นำไม่ว่าจะสีใดก็ตาม เอาใจเขามาใส่ใจ เราหันมาฟังแทนการพูด เมื่อเราฟังเขา เขาก็จะฟังเรา เมื่อเราฟังซึ่งกันและกันเราก็จะสามารถหาทางออกจากปัญหานั้นๆ ได้ เพียงแค่เราพร้อมที่จะรับฟังคนที่คิดต่างจากเราด้วยใจที่เปิดกว้าง ผมเชื่อว่ากี่หมื่นกี่แสนปัญหาต้องมีทางออกเสมอ เพราะทางออกที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจของเรา เมื่อเราชนะใจเราได้ เราเข้าใจคนที่เห็นต่างกับเราได้ เราชนะใจเขาได้ ทางแก้ไขปัญหาย่อมอยู่ไม่ไกล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|