“เส้นทางสายไหม” สายใหม่ จาก BRIC ถึง BRICSs

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

“จีนกำลังพูดคุยกับพี่น้องของเราในแอฟริกา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากวิธีการของลัทธิล่าเมืองขึ้นของตะวันตกก่อนหน้านี้ที่ชอบยึดครองสิ่งต่างๆ ด้วยกำลัง...” - - จาค็อบ ซูมา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้[1]

คำประกาศของจาค็อบ ซูมา ประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ต่อหน้าสื่อมวลชน คณาจารย์ และนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน สถาบันการศึกษา ชั้นนำของจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553 ระหว่างการเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คล้ายกับเป็นระฆังเคาะให้คนทั่วโลกตื่นตัว และรับทราบว่า ศักราชใหม่ของการค้าของโลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้วผ่านเส้นทางสายใหม่สายใหม่ (The New Silk Road) ที่เชื่อมระหว่างกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)

ในการเดินทางไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการของผู้นำแอฟริกาใต้ที่เพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลกเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จาค็อบ ซูมา แสดงความจริงจัง ในการพัฒนาความสัมพันธ์ด้วยการหอบหิ้วผู้ติดตาม ไปด้วยคณะใหญ่อันประกอบไปด้วยรัฐมนตรี 13 คน ผู้ติดตามและนักธุรกิจอีกกว่า 370 คน

ภารกิจระหว่างการเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของซูมาไม่เพียงแค่การเข้าพบปะและพูดคุยกับสองผู้นำของจีนคือ หู จิ่นเทา ประธานาธิบดี และเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรี แต่ยังเป็นการร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจำนวนหลายสิบฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้า การเงิน และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่าง สแตนดาร์ต แบงก์ กรุ๊ปของแอฟริกาใต้ กับธนาคาร ไอซีบีซีของจีน การเชิญชวนไชน่า เนชั่นแนล นิวเคลียร์ คอร์ป (CNNC) เข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าและถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กับแอฟริกาใต้ การเจรจาข้อตกลงเพื่อเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นร้อยละ 20 ในบริษัทผิงอัน เฮลธ์ อินชัวรันซ์ของกลุ่มประกัน ดิสคัฟเวอรีที่อาจมีมูลค่ามากถึง 200 ล้านหยวน (หรือกว่า 1,000 ล้านบาท) เป็นต้น

เป็นที่ชัดเจนว่าประเทศแอฟริกาใต้ ยักษ์ใหญ่แห่ง กาฬทวีปที่มีประชากรราว 50 ล้านคน มีความประสงค์ที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศบริก (BRIC) หรือที่สื่อมวลชนจีนเรียกขานกันว่า “สี่ประเทศอิฐทองคำ อันประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ขณะที่สื่อมวลชนจีนก็ล้อซูมาว่ากำลังเพิ่มเติมตัวอักษร “S (South Africa)” เข้าไปต่อท้าย BRIC ให้กลายเป็น BRICS

BRIC มีความเป็นมาอย่างไร?

หมุนนาฬิกากลับไปเมื่อเก้าปีที่แล้วหลังเหตุการณ์ โศกนาฏกรรม 9/11 (11 กันยายน 2544) ชื่อ BRIC หรือ BRICs ถือกำเนิดขึ้นจากจิม โอนีล หัวหน้านักเศรษฐ-ศาสตร์แห่งบริษัทวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ โกลด์แมน แซคส์ โดยโอนีลเขียนชื่อ BRICs เป็นครั้งแรกในรายงานเศรษฐกิจ “Building Better Global Economics BRICs” ซึ่งเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2544 และให้ทัศนะว่า เหตุการณ์ 9/11 ทำให้เขาเชื่อว่า ดุลอำนาจของโลกกำลังจะเปลี่ยนไป โดยกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่จากซีกโลกตะวันตกกำลังจะมีบทบาทต่อโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ และโลกในอนาคตจะมิได้ถูกกำหนดตามรูปแบบของอเมริกานุวัตร (Americanization) แต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

ในรายงานชิ้นดังกล่าวโอนีลยังทำนายไว้ด้วยว่า ภายในปี 2554 (ค.ศ.2011) ขนาดของสมาชิกในกลุ่ม BRIC คือ เศรษฐกิจจีนจะใหญ่โตทัดเทียมกับเยอรมนี (วัดตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี) ส่วนขนาดเศรษฐกิจของบราซิลและอินเดียก็จะวิ่งไล่หลังประเทศอิตาลีอยู่ไม่ห่าง ขณะที่เมื่อมองในเรื่องของการค้า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ก็ฟันธงว่าจีน (รวมฮ่องกง) จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสูงยิ่งในระบบการค้าโลก ซึ่งนั่นย่อมทำให้เงินสกุลหยวน (CNY) กลายมาเป็นเงินสกุลหลักที่มีบทบาทอย่างยิ่งในแวดวงการค้าโลกด้วย[2]

เมื่อเวลาผ่านมาเกือบครบสิบปี การคาดการณ์ดังกล่าวของโอนีลถือว่ามีความแม่นยำไม่น้อย เพราะวันนี้ขนาดเศรษฐกิจจีนมิเพียงใหญ่โตทัดเทียม เยอรมนี แต่กลับเติบโตแซงหน้าเยอรมนีและญี่ปุ่นขึ้นไปเตรียมท้าชิงกับสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านเศรษฐกิจของบราซิล อินเดีย และรัสเซีย ก็ไล่กวดตามหลังอิตาลีอยู่ไม่ห่าง

ย้อนกลับมาถึงว่าที่สมาชิกใหม่ของกลุ่ม BRIC ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับแอฟริกาใต้ ถือว่าแนบแน่นขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า โดยในปี 2551 ตัวเลขการค้าสูงถึง 107,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.29 ล้านล้านบาท) ต่อมาในปี 2552 ประเทศจีนกลายเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้แทนที่สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันสินค้าจากจีนก็ได้รับความนิยมจากชาวแอฟริกาใต้มากเสียจนทำให้แอฟริกาใต้ ขาดดุลการค้ากับจีนถึง 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในแง่ของการลงทุน ความต้องการทรัพยากรธรรมชาติมาหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ผลักดันให้จีนเข้าไปเสาะแสวงหาแหล่งพลังงาน แหล่งแร่และวัตถุดิบอันเหลือเฟือในแอฟริกาใต้และประเมินกันว่าบริษัทจีนได้ข้ามไปลงทุนในประเทศแห่งนี้แล้วกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

สตีเฟน คิง (ที่ไม่ใช่นักเขียนเรื่องสยองขวัญชื่อดัง) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งกลุ่มเอชเอสบีซีบอกว่า ศูนย์กลางของโลกการค้าของกลุ่มประเทศ ตลาดเกิดใหม่ และเส้นทางสายไหมสายใหม่นั้นอยู่ที่ประเทศจีน และบทบาทของประเทศเหล่านี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแวดวงการค้าโลก โดยองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ประเมินออกมาแล้วว่าระหว่างปี 2543-2551 (ค.ศ.2000-2008) อัตราเติบโตทางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กันเอง (Intra-Emerging-Market Trade) นั้นเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละกว่าร้อยละ 18 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า ตัวเลขการค้าระหว่างกลุ่มประเทศเกิดใหม่หลายเท่า[3]

ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่กระโดดไปทำธุรกิจในแอฟริกา เพื่อนสมาชิกในกลุ่ม BRIC อย่างบริษัท อินเดียกับบราซิลก็รุกเข้าไปในแอฟริกาด้วยเช่นกัน โดยในห้วง 6 ปีที่ผ่านมา ทาทา กรุ๊ป ผู้ผลิตรถยนต์ ชื่อดังจากแดนภารตะก็ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในกลุ่ม ประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้ ส่วนเวล (Vale) ผู้ผลิตแร่เหล็กรายใหญ่ของบราซิลก็ทุ่มเงินมหาศาล ลงทุนในเหมืองทองแดงและเหมืองเหล็กในประเทศแซมเบีย คองโก และกินี เช่นกัน

กิจกรรมการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในหมู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง BRIC และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นี้ จริงๆ แล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐ ยูโร หรือเยนญี่ปุ่นแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้เริ่มหันมาสุมหัวคิดกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะผลักดันให้มีการใช้เงินหยวนจีน รูปีอินเดีย หรือรีลบราซิล ให้แพร่หลายกว่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงและต้นทุนในการแลกเปลี่ยน

การกลับมาของ “เส้นทางสายไหม” และการเจริญเติบโตของ BRIC ที่กำลังจะขยายตัวกลายเป็น BRICS โดยไม่จำกัดแค่ 4-5 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน หรือแอฟริกาใต้ คล้ายเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังชาติตะวันตกและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายว่า ณ วันนี้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กำลังจับมือกันเพื่อลดทอนการพึ่งพิง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ่วงดุลความเสี่ยงจากการเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจและการขูดรีดจากชาติตะวันตก อดีตนักล่าอาณานิคมและนักแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจตัวยง

ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ พลวัตของปัจจัยเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนโลกทัศน์ทางการค้าของพวกเราไปอย่างสิ้นเชิง

ข้อมูลอ้างอิงจาก:
[1] Cheng Guangjin and Wu Jiao, Zuma praises China’s Africa role, China Daily, 26 Aug 2010.
[2] Jim O’Neil , Building Better Global Economic BRICs, November, 2001. หรือสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www2.goldmansachs.com/ideas/brics/building-better.html
[3] Simon Kennedy, Matthew Bristow and Shamim Adam, There’s a New Silk Road, and It Doesn’t Lead to the U.S., Bloomberg Businessweek, 9 Aug 2010.

อ่านเพิ่มเติม :
- การทูตรถไฟความเร็วสูง นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนเมษายน 2553
- The New Influence of China นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนธันวาคม 2552
- China’s High-Speed Dream นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552
- เซี่ยงไฮ้กับบทสนทนาของคนแปลกหน้า นิตยสารผู้จัดการ 360° ฉบับเดือนธันวาคม 2551
- Sinosphere over Africa นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนธันวาคม 2549
- จีนกับรถไฟความเร็วสูง นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2548


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.