ภาพของบริษัทผลิตภัณฑ์อิสาน จำกัดในวันนี้ คือภาพของบริษัทธุรกิจกระสอบปอที่สดใส
โดยเฉพาะเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ถ้าย้อนมอง 3 - 4 ปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์อิสานในอดีตก็คือบริษัทกระสอบอิสาน
จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ใครต่างมองด้วยสายตาอย่างเดียวกันว่า บริหารไม่ดี
มีแต่ขาดทุน กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายประกาศแปรรูปเป็นเอกชน
การที่ผลิตภัณฑ์อิสานได้รับอนุญาตเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้น ย่อมเป็นการบ่งบอกถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ
คือกำไรติดต่อกันและนับเป็น PILOT PROJECT ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสู่มือเอกชนที่ประสบความสำเร็จ
คนที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งของผลิตภัณฑ์อิสานก็คือ พงศ์พันธุ์ บุรณศิริ
กรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันซึ่งได้คลุกคลีอยู่ที่นี่นานมากกว่า 20 ปี
พงศ์พันธุ์เริ่มงานที่กระสอบอิสานจากการแนะนำของ สงบ พรรณรักษา เพื่อนร่วมรุ่นจากธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีอยู่
พงศ์พันธุ์เข้ามาในตำแหน่งผู้จัดการธุรการ โดยจะดูแลงานทั่วไปทั้งหมดที่โรงงาน
พงศ์พันธุ์เล่าถึงแรงจูงใจในการเข้ามาทำงานที่นี่ว่า อุตสาหกรรมกระสอบปอนับเป็นกิจการที่น่าสนใจซึ่งขณะนั้นยังมีไม่มาก
และเห็นว่าเป็นกิจการที่มีประโยชน์ต่อประเทศในแง่ที่ว่าเป็นรายได้หลักของประชาชนทางภาคอีสาน
เมื่อดูถึงทีมงานในตอนนั้น สงบเองต้องการทีมงานที่รู้ใจเพื่อช่วยบุกเบิกธุรกิจนี้ให้ก้าวหน้าและจะต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้
ขณะนั้นจินดา ยิมเรวัต ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานกรรมการบริษัทได้เข้ามาช่วยวางฐานการบริหารด้วย
ก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2530 กระสอบอิสานมีกำไรสะสม 235.3 ล้านบาท
หักขาดทุนสะสม 108.5 ล้านบาท เหลือมีกำไรสุทธิ126.8 ล้านบาท แม้ว่าจะมีบางปีที่ขาดทุนบ้างซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความผันผวนของตลาดโลกที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
ยกตัวอย่างช่วงตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา ราคากระสอบที่ชายกันในตลาดโลกที่เคยอยู่ในราคาใบละเกือบ
20 บาท ก็ตกวูบเหลือเพียงใบละ 12 - 13 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำรงวัตถุดิบคงคลังก็สูง
ดังนั้น ช่วงปี 2519 ถึง 2523 จึงเป็นช่วงที่กระสอบอิสานขาดทุนติดต่อกันประมาณเกือบ
50 ล้านบาท มีโรงงานกระสอบหลายแห่งมีอันต้องปิดตัวลงไป ทำให้ซัพพลายน้อย
เหตุนี้ในรอบวงจรการผลิตถัดไปทำให้บริษัทกระสอบอิสานเริ่มมีกำไรกระเตื้อง
ช่วงไล่เลี่ยกันนี้เองที่แรงงานเป็นใหญ่ มีการสไตร์มีการเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการต่าง
ๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ถือว่าปัญหาแรงงานเป็นเรื่องที่บริษัทนั้นจะดูแลรับผิดชอบเอง
ทางราชการจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ถ้ามีการเรียกร้องแล้วทางบริษัทนั้น ๆ แก้ไขปัญหาไม่ได้ก็จะกลายเป็นว่าบริษัทนั้นเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปัญหาแก่บ้านเมืองกิจการอย่างโรงกระสอบปอนี้ถือว่าเป็นกิจการแข่งขัน
พงศ์พันธุ์ย้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าไม่ใช่ธุรกิจผูกขาดแบบสาธารณูปโภค รายได้แต่ละปีจึงมีขึ้นลงแล้วแต่
ดีมานด์ซัพพลายและภาวะตลาดโลก แรงงานหลายส่วนไม่เข้าใจ เมื่อเห็นว่ารัฐวิสาหกิจอื่นได้สวัสดิการเพิ่มก็อยากได้ด้วย
ตอนนั้นมีทั้งแรงหนุนจากสหภาพส่วนกลาง นักศึกษาเข้ามาร่วมชุมนุมในโรงงานจนต้องหยุดการผลิตทั้งที่คนตั้งใจทำงานมีมากกว่าคนไม่ทำงาน
จากคนงานทั้งหมดสองพันกว่าคน
ขณะนั้น ทวีเกียรติ กฤษณามระ รองปลัดกระทรวงการคลังและประธานกรรมการบริษัทในปัจจุบันเป็นกรรมการอยู่
ได้ร่วมประชุมหารืออย่างขะมักเขม้นว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะแม้ว่าเครื่องจักรจะหยุดไปสองอาทิตย์แต่ความเสียหายต่อเนื่องไม่น้อยกว่า
6 เดือน ทำให้เสียบรรยากาศการทำงาน พอมีปัญหาไม่พอใจอะไรก็ต้องให้สหภาพมาเจรจาทำให้บริษัทประสบภาวะขาดทุน
พอหมดยุคแรงงานเป็นใหญ่ ขณะที่รัฐบาลเริ่มเอาจริงกับแรงงานที่ทำผิดกฎหมาย
เจ้าหน้าที่สหภาพหลายคนทำผิดขั้นตอนไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งขัดระเบียบลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ
"เราก็เอาจริงตามรัฐบาล เมื่อผิดก็ส่งฟ้องศาลดำเนินคดีไปแล้วจ่ายชดเชยไป"
พงศ์พันธุ์กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับแรงงานบางส่วนในช่วงต่อมา
"เท่ากับเป็นการถ่ายเลือด สหภาพที่เหลืออีกราว 70 - 80% ก็ยังอยู่กันจนถึงทุกวันนี้
จะสังเกตได้ว่าความไม่เข้าใจตอนนั้นเป็นเรื่องของการถูกยุมากกว่าและได้ข้อมูลด้านเดียว
ประกอบกับเป็นยุคประชาธิปไตยแบ่งบาน ทำให้มีการโต้แย้งอย่างฉกาจฉกรรจ์และฮึกเหิม
คิดว่าตนเองถูกทั้งหมด" พงศ์พันธุ์เล่าด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ตั้งใจทำงาน
เมื่อผู้นำสหภาพหลายคนถูกเลิกจ้างไป ก็เหลือคนที่รู้เรื่องและสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีขึ้นมาได้พอมีปัญหาก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี
มีการจัดสัมมนาอบรมวิชาการและโครงการอื่นเป็นประจำ ทำให้แรงงานได้พบปะโลกภายนอกก็ยิ่งทำให้แรงงานมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
มีการจัดโปรแกรมบ่อยมากตามนโยบายแผนที่กำหนดไว้ว่าปีหนึ่งจะมีกี่ครั้ง
ทั้งบนและล่าง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ขอกันไปเมื่อเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ก็มีการร่วมทบทวนกันใหม่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการที่แรงงานเคยขอให้ครอบคลุมแบบรัฐวิสาหกิจที่กระจายไปถึงพ่อแม่
ตอนหลังก็ได้คุยกันว่าควรให้เฉพาะตัวหรือแค่บุตร และในที่สุดก็ค่อยทยอยเลิกไป
แล้วคงสวัสดิการแค่เฉพาะตัวเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งเป็นการยืนบนฐานที่เท่าเทียมกัน
การผลิตกระสอบปอตัวที่เป็นปัญหาฉกาจฉกรรจ์ที่สุดก็คือค่าแรง พอขอขึ้นก็กระเทือนอย่างหนัก
ทำให้ค่าแรงเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 20% ของต้นทุนทั้งหมด ขณะที่อุตสาหกรรมหลายอย่างต้นทุนแรงงานไม่ถึง
10% และส่วนใหญ่ไม่เกิน 5% ด้วยซ้ำ พอขึ้นก็กระเทือนตามขนาด จึงทำให้ขาดทุนต่อเนื่องร่วม
50 ล้านบาท เหตุนี้การบริหารต้นทุนแรงงานจึงเป็นหัวใจการเพิ่มขีด ความสามารถในการทำกำไรพร้อม
ๆ กับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
พงศ์พันธุ์เชื่อว่าการที่รัฐวิสาหกิจจะมาแข่งกับเอกชนน่าจะสู้กันไม่ได้เพราะมีกรอบระเบียบหลายอย่างติดอยู่
แต่ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วจะต้องเจ๊งเสมอไป "ไม่ใช่เด็ดขาด อันนี้ขึ้นกับการบริหาร
อาจจะต้องมีแต้มต่อให้เรา เราไม่ใช่จะเล่นเก่งแต่ถ้าจะแข่งเรียกว่าต้องขอต่อหน่อย
เพราะมีกฎหมายมติ ครม. ระเบียบสำนักนายกฯ ระเบียบของกระทรวง หรือระเบียบการก่อตั้งขององค์กร
ถ้าเปรียบเทียบการวิ่ง คนอื่นเขาวิ่งกันตรง ๆ เราต้องวิ่งข้ามรั้วอยู่เรื่อยหรือเจอกำแพงก็วิ่งไม่ได้
แต่ถึงเส้นชัยได้" เขาอุปมาอุปไมยให้ฟัง
กระสอบอิสานตั้งขึ้นโดยกลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ด้วยทุนจดทะเบียน 10
ล้านบาท เมื่อปี 2496 เพื่อสร้างงานให้แก่ชาวอีสาน แก้ปัญหาการนำเข้ากระสอบจากต่างประเทศ
และสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจในรูปของบริษัทเอกชน ทำได้ 6 ปีขาดทุนต่อเนื่องอย่างมาก
รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ยังเห็นความสำคัญจึงให้กระทรวงการคลังเข้าซื้อหุ้น
พอมาถึงปี 2530 กระทรวงการคลังมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่อุตสาหกรรมกระสอบไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค เป็นธุรกิจที่ไม่ตั้งใจให้ได้มา
เรียกว่าเป็นเรื่องตกกระไดพลอยโจนมากกว่า และปัจจุบันก็ไม่จำเป็นจะต้องมีรัฐวิสาหกิจกระสอบ
ช่วงที่ทางคลังสอบถามความเห็นในการแปรรูปพงศ์พันธุ์เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์และเน้นว่ายิ่งเร็วยิ่งดีเพราะเข้าใจเจตนาตรงกัน
และถ้าเป็นเอกชนเต็มตัวเร็วก็ยิ่งได้ประโยชน์ ทำให้แข่งขันและยืดหยุ่นในตลาดได้มากขึ้นซึ่งอาจจะกระทบผู้ปฏิบัติงานคนบางคนที่อยากได้แบบสบาย
ๆ "อันนี้เราไม่อยากให้มีอยู่แล้ว"
เดิมทางคลังไม่ได้คิดนำกระสอบอิสานซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็นผลิตภัณฑ์อิสานเข้าตลาดฯ
แต่จะให้ขายหุ้นแก่เอกชนทั้งหมดก็จะต้องประมูลขายแก่ผู้ที่ให้ราคาสูงสุดทำให้แรงงานเกือบสามพันคนไม่แน่ใจอนาคต
เพราะไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายทุนใหม่และเป็นอย่างไร ทำให้ไม่อยากให้ขายเป็นเหตุให้เกิดม็อบได้ง่ายหรือทำให้คนมีฝีมือรีบออกไปเพราะเสียขวัญ
ช่วงเดียวกันนั้นเองที่ตลาดฯ อยากให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาก แต่รัฐวิสาหกิจยังไม่มีใครอยากเข้าตลาดฯ
"ดูเหมือนผมจะเป็นรายแรก เวลานั้นผมเห็นว่าตลาดฯกำลังโต ถ้าเราเข้าไปก็ทำให้พัฒนาไปได้อีกมาก
พอไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของตลาดฯก็เห็นลู่ทางที่เป็นไปได้จึงเสนอคลัง คลังเห็นด้วยและต้องการให้เป็นตัวอย่างแก่รัฐวิสาหกิจอื่นด้วย"
พงศ์พันธุ์เล่าว่าตอนแรกจะเข้ากระดานจดทะเบียนด้วยซ้ำแต่กรรมการตลาดฯว่าธุรกิจกระสอบปอมีอัตราการผันแปรสูง
ทำให้สะกิดใจว่าเมื่อมีการบริหารที่ดีแล้วไม่น่าจะขาดทุน จึงเสนอว่า "ให้เราหาธุรกิจอื่นมาแทรกในเครือเสียก่อน
แล้วจึงให้เป็นบริษัทจดเบียน ซึ่งเราคิดว่าปีนี้เราจะยื่นเปลี่ยนจากกระดานสองเป็นกระดานหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน"
ประการสำคัญพงศ์พันธุ์ย้ำกับ "ผู้จัดการ" ว่าอุตสาหกรรมกระสอบปอทรงตัว
ถ้าทรงตัวก็เท่ากับถอยหลังขณะที่คนอื่นเดินหน้า จึงต้องหาธุรกิจอื่นแทน ก็คือโครงการกระสอบพลาสติก
หรือแม้แต่นิคมอุตสาหกรรมสระบุรีที่เริ่มดำเนินการไปแล้วเพื่อสร้างฐานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจผลิตภัณฑ์ปอยังคงดำเนินต่อไปเพราะปอเป็นไฟเบอร์ธรรมชาติที่ดีมาก
ตลาดด้านนี้ของยุโรปเพิ่มขึ้น อัตราการใช้เชือกทอพรมในยุโรปขยายตัว ขณะที่ไต้หวันซื้อเชือกจากเราไปทอเป็นพรมส่งขายสหรัฐ
ซึ่งพวกนี้จะต้องพัฒนาตลาดกันต่อไป
อนาคตกระสอบอิสานได้แก้ตกไปแล้วในด้านเงินทุนเมื่อเป็นบริษัทในตลาดหุ้นที่กำลังถูกนักลงทุนรุมซื้อกัน
จากนี้ไปก็อยู่ที่การมีทัศภาพที่ก้าวหน้าของพงศ์พันธุ์ที่จะนำกระสอบอิสานไปสู่การเป็นตัวแบบที่บรรดารัฐวิสาหกิจควรเอาเยี่ยงอย่าง