|
ความน่ากลัวที่แท้จริงของ bin Laden
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
Al Qaeda ไม่เคยมีสมาชิกมากไปกว่าหลักร้อย แต่ความน่ากลัวที่แท้จริงอยู่ที่ความสามารถในการฝึกและเป็นแรงบันดาลใจของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมทั่วโลก
เดือนมกราคมปีนี้ Osama bin Laden ชมเชย Umar Farouk Abdulmutallab ชาวไนจีเรีย ที่เอาระเบิดซ่อนไว้ในกางเกงในพยายามระเบิดเครื่องบินสายการบินอเมริกัน Northwest เที่ยวบินที่ 253 ขณะบินอยู่เหนือ Detroit เมื่อวันคริสต์มาสปีที่แล้ว แม้เทปเสียงนั้นอาจเป็นหลักฐานว่า ผู้นำ Al Qaeda ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ทำให้สงสัยว่านั่นอาจเป็นเพียงการแอบอ้างของ bin Laden ว่าอยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายที่เป็นฝีมือของกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมของเขา ต่อมาปรากฏว่า กลุ่มที่อยู่เบื้องหลังแผนการวางระเบิดดังกล่าว คือกลุ่ม Al Qaeda บนคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งมีฐานอยู่ที่เยเมน ประเทศที่อยู่ห่างไปหลายพันไมล์จากชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน ซึ่งเชื่อกันว่า bin Laden กบดานอยู่ CIA ดูจะช่วยตอกย้ำความไม่เกี่ยวข้องของ bin Laden เมื่อ Leon Panetta ผู้อำนวยการ CIA เปิดเผยในเดือนมิถุนายนว่า ขณะนี้สมาชิก Al Qaeda ในอัฟกานิสถาน มีเหลืออยู่ไม่เกิน 50-100 คนเท่านั้น
ถ้าดูจากตัวเลขเพียงอย่างเดียว อาจดูเหมือน Al Qaeda กำลังจะสิ้นลาย และดูเหมือนเรากำลังจะชนะสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ความจริงคือ Al Qaeda เป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น ข้อมูลจาก FBI ระบุว่า Al Qaeda มีสมาชิกเพียง 200 คน ในขณะที่สามารถก่อวินาศกรรมช็อกโลก “9/11” และ Al Qaeda ก็มองตัวเองว่า เป็นผู้นำด้านอุดมการณ์และกลยุทธ์ ที่ต้องการเพียงมีอิทธิพลและถ่ายทอดกลยุทธ์การก่อการร้ายให้แก่กลุ่มติดอาวุธมุสลิมอื่นๆ ทั่วโลก มากกว่าที่จะลงมือด้วยตนเอง
อิทธิพลและกลยุทธ์ของ Al Qaeda ได้เผยแพร่ไปสู่กลุ่มติดอาวุธมุสลิมหลายกลุ่ม ทั้งในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ทั้งๆ ที่กลุ่มเหล่านั้นแทบไม่เคยมีการติดต่อใดๆ กับ bin Laden หรือ Al Qaeda เลย กลุ่มเหล่านี้มีทั้งกลุ่มที่ใหญ่ มาก อย่าง Afghan Taliban ซึ่งมีสมาชิกอย่างน้อย 25,000 คน และกลุ่มที่มีศักยภาพมาก อย่าง Pakistani Taliban ซึ่งมีฐานอยู่ในปากีสถาน แต่สามารถก่อการร้ายในชาติตะวันตก Baitullah Mehsud อดีตผู้นำกลุ่ม Pakistani Taliban ซึ่งถูกสหรัฐฯ สังหารไปแล้ว เคยส่งทีมมือระเบิดปลิดชีพตนเอง ไปโจมตีระบบขนส่งมวลชนในนครบาร์เซโลนาของสเปนในเดือนมกราคม 2008 แต่โชคดีที่กลุ่มมือระเบิดถูกจับกุมได้เสียก่อนที่จะลงมือ
หลังจากนั้นเพียงปีเดียว Mehsud ได้ตัว Faisal Shahzad ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน มาฝึกให้ก่อการร้ายในสหรัฐฯ Shahzad ไปปากีสถานในช่วงปี 2009-2010 เพื่อเรียนวิธีทำระเบิด เมื่อกลับมา ยังคอนเนตทิคัตที่เขาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ Shahzad ลงมือทำระเบิด นำไปใส่ไว้ในรถ SUV ของเขา ก่อนจะขับไปยัง Times Square นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาจุดชนวนระเบิดแต่โชคดีที่ระเบิดไม่ทำงาน Shahzad ถูกจับกุมได้ในอีกเพียง 2 วันถัดมาที่สนามบิน JFK ขณะหลบหนีออกจากสหรัฐฯ ไปยังดูไบ
ในแอฟริกา กลุ่ม Al-Shabab (แปลว่าคนหนุ่ม) กลุ่มติดอาวุธมุสลิมในโซมาเลีย ประกาศความจงรักภักดีต่อ Al Qaeda เมื่อเดือนกันยายน 2009 ขณะนี้กลุ่มดังกล่าวสามารถควบคุมพื้นที่ ภาคกลางของโซมาเลีย และโชว์ความสามารถในการก่อการร้ายนอกโซมาเลีย ด้วยการระเบิดกลุ่มแฟนบอลที่กำลังชมการแข่งขัน ฟุตบอลโลกที่อูกันดา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Al Qaeda บนคาบสมุทรอาหรับ หรือ AQAP ที่อยู่เบื้องหลังการพยายามระเบิดเครื่องบินสายการบินอเมริกันแต่ล้มเหลว เมื่อวันคริสต์มาส ปีที่แล้ว
แม้ว่า Al Qaeda อาจไม่สามารถก่อการร้ายที่น่าสะพรึงกลัวอย่างเหตุการณ์ 9/11 ได้อีก แต่ภายใน Al Qaeda ขณะนี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าหวั่นวิตกยิ่ง นั่นคือ การที่แกนนำระดับสูงทั้งของ Al Qaeda และกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจาก Al Qaeda กลายเป็นคนที่เป็นพลเรือนอเมริกันมาก Anwar al-Awlaki นักบวชมุสลิมชาวอเมริกันเชื้อสายเยเมน ซึ่งเติบโตในนิวเม็กซิโกของสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในกลุ่ม AQAP ซึ่งอยู่เบื้องหลัง Adulmutallab “มือระเบิดกางเกงใน” ชาวไนจีเรียที่พยายามระเบิด เครื่องบินของสายการบินอเมริกันเมื่อวันคริสต์มาส ข่าวว่า Awlaki มีส่วนในการทำให้ Adulmutallab กลายมาเป็นมือระเบิดด้วย ส่วน Adnan Shukrijumah ชาวอเมริกันเชื้อสายซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเติบโตในบรูคลิน รัฐฟลอริดา ขณะนี้เป็นหัวหน้าฝ่ายก่อการร้ายของ Al Qaeda ปีที่แล้ว Shukrijumah เป็นผู้สั่งการให้ Najibullah Zazi และชาวอเมริกันอีก 2 คน ไปโจมตีเป้าหมายหลายแห่งในสหรัฐฯ อีกคนคือ Omar Hammami จากแอละบามา ซึ่งเปลี่ยน ไปนับถือศาสนาอิสลาม เขาเป็นทั้งนักโฆษณาชวนเชื่อและผู้บัญชาการของกลุ่ม Al-Shabab ในโซมาเลีย สุดท้ายคือ David Headley จากชิคาโก มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเป้าหมายการโจมตีเมืองมุมไบของอินเดียเมื่อปี 2008 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 160 คน
ในปี 2009 มีคนสัญชาติอเมริกันหรือเป็นผู้อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ หรือศรัทธาในอุดมการณ์ของกลุ่มติดอาวุธมุสลิมทั้งหมด 43 คน ที่ถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายในสหรัฐฯ และในประเทศอื่นๆ นับเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา ส่วนในปีนี้มีชาวอเมริกันถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย หรือถูกตัดสินความผิดไปแล้วถึง 18 คน
ในขณะที่ bin Laden ยังสามารถคงสถานะการเป็นผู้นำด้านอุดมการณ์ที่ดึงดูดความศรัทธาของคนให้มาเป็นมือระเบิดได้ แต่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ ซึ่งถูกยกเครื่องใหม่หมดหลังจากเหตุการณ์ 9/11 เมื่อ 9 ปีก่อน โดยหมดงบประมาณไปราว 5 แสน ล้านดอลลาร์ กลับยังคงไม่สามารถหาข้อมูลที่แน่นอน ถึงที่หลบซ่อนของผู้นำ Al Qaeda ได้นับตั้งแต่ที่เขาหายตัวไปในเดือนธันวาคม 2001 คงมีแค่เพียงที่เชื่อกันว่า bin Laden กบดานอยู่ใน เขตชนเผ่าแถวชายแดนปากีสถานที่ติดกับอัฟกานิสถานเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้นำ Al Qaeda อาจจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แต่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ สามารถแกะรอยบรรดาผู้นำกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในเขตชนเผ่าชายแดนปากีสถานได้มากขึ้น เห็นได้จากสหรัฐฯ เคยส่งเครื่องบินรบไปโจมตีเขตดังกล่าวเพียง 3 ครั้งในปี 2007 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 34 ครั้งในปี 2008 และในปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 ครั้ง โดยสามารถสังหารแกนนำระดับกลางถึงระดับสูงของ Al Qaeda และ Taliban ได้อย่างน้อยกว่าสิบคน ผลจากการพยายามตามล่าตัว bin Laden ยังทำให้จำนวนเทปเสียงที่ออกมาจาก Ayman al-Zawahiri ผู้นำหมายเลขสองของ Al Qaeda ในปีนี้ลดลงเหลือน้อยที่สุดในรอบ 7 ปี ในขณะที่ตัว bin Laden ยิ่งปิดปากเงียบยิ่งกว่า บางที bin Laden ในวัยที่ล่วงเข้าสู่วัยกลางคน (เขาอายุครบ 53 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา) อาจจะพอใจแล้วที่อุดมการณ์ของเขาได้รับการสานต่อ แม้แต่จากคนที่เขาไม่เคยรู้จัก หรือไม่เคยเกี่ยวข้องกับ Al Qaeda เลยก็ตาม
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|