|

Al Qaeda กับความตื่นตูมของสหรัฐฯ
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ความสูญเสียที่แท้จริงของสหรัฐฯ จากเหตุการณ์ 9/11
“9/11” ผ่านไปนาน 9 ปีแล้ว จะมีใครเริ่มเอะใจบ้างหรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว Al Qaeda อาจไม่น่าพรั่นพรึงอย่างที่คิด หลังจากที่เกิดเหตุวินาศกรรมช็อกโลกถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อ 9 ปีก่อน และรัฐบาลทั่วโลกต่างออกมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างเอาจริงเอาจัง Al Qaeda เครือข่ายก่อการร้ายของ Osama bin Laden ยังไม่เคยก่อวินาศกรรมต่อเป้าหมายที่มีคุณค่าสูงในสหรัฐฯ และในยุโรปเลยแม้แต่ครั้งเดียว ถึงแม้ว่า Al Qaeda จะมีอิทธิพลสูง ทำให้กลุ่มติดอาวุธที่เล็กกว่าก่อการร้ายได้หลายครั้ง แต่ตัว Al Qaeda กลับไม่เคยลงมือด้วยตัวเองแม้แต่ครั้งเดียว
หามิได้ นี่มิใช่การดูแคลนองค์กรดังกล่าว สหรัฐฯ เข้าใจเจตนาร้ายของศัตรูตัวฉกาจนี้ได้อย่างถูกต้อง แต่อาจมองผิดไปเกี่ยวกับความแข็งแกร่ง เหมือนที่เคยผิดพลาดมาแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1980 สหรัฐฯ เคยคิดว่าสหภาพโซเวียตกำลังขยายอำนาจ และอิทธิพล แต่ภายหลังจึงได้รู้ว่า แท้จริงแล้ว ช่วงเวลานั้นโซเวียต กำลังใกล้จะล่มสลายทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต่อมาในทศวรรษ 1990 สหรัฐฯ เคยแน่ใจว่า Saddam Hussein มีคลังแสง อาวุธนิวเคลียร์ แต่ในที่สุดก็พบว่าโรงงานในอิรักแทบไม่มีความสามารถในการผลิตแม้แต่สบู่เพียงก้อนหนึ่ง
ความผิดพลาดของสหรัฐฯ ครั้งนี้ใหญ่หลวงกว่าครั้งใดๆ เหตุการณ์ 9/11 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ช็อกคนอเมริกัน ส่งผลให้สหรัฐฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบครั้งใหญ่ แต่นั่นอาจเป็นการตื่นตูมที่เกิน กว่าเหตุหรือไม่
Washington Post ใช้เวลา 2 ปีรวบรวมข้อมูล เพื่อประมวล ให้เห็นว่า 9/11 ได้เปลี่ยนแปลงสหรัฐฯ ไปมากมายเพียงใด ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเด่นชัดคือนับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมา รัฐบาลอเมริกันได้ก่อตั้งหน่วยงานใหม่หรือปรับปรุงหน่วยงานเดิมอย่างน้อย 263 แห่ง เพื่อให้ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการก่อการร้าย จำนวนเงินงบประมาณที่หมดไปกับข่าวกรองพุ่งพรวดขึ้น 250% เป็น 75,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขที่เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงยิ่งกว่านี้ แต่เพียงเท่านี้ก็นับเป็นการใช้จ่ายด้านข่าวกรองที่สูงที่สุด ในโลก และสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านข่าวกรองของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมกัน
มีการสร้างอาคารใหม่ 33 หลัง เพื่อใช้เป็นที่ทำการของหน่วยงานที่เกี่ยวกับข่าวกรอง รวมพื้นที่ก่อสร้างทั้งสิ้นถึง 17 ล้าน ตารางฟุต หรือเหมือนกับมีรัฐสภา 22 หลัง บวกด้วยกระทรวงกลาโหมอีก 3 แห่ง ห่างจากทำเนียบขาวไปเพียง 5 ไมล์ กำลังมีการก่อสร้างสถานที่ราชการที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี ด้วยงบประมาณ 3,400 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้เป็นที่ตั้งของกระทรวงที่ใหญ่ที่สุด รองจากกระทรวงกลาโหมและกระทรวงกิจการทหารผ่านศึก นั่นคือ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ซึ่งมีข้าราชการอยู่ถึง 230,000 คน
ระบบความมั่นคงที่สหรัฐฯ ยกเครื่องใหม่ทั้งหมดนี้ ผลิตรายงาน 50,000 ชิ้นต่อปี หรือ 136 ชิ้นต่อวัน แน่นอนว่าจะต้องมี บางฉบับที่ไม่เคยถูกแตะต้องเลย เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่เคยอ่านรายงานเหล่านั้นบอกว่า ส่วนใหญ่ซ้ำๆ ซากๆ และเสียเวลาทำไปเปล่าๆ มีหน่วยงานถึง 51 แห่งใน 15 รัฐของสหรัฐฯ ที่ติดตามการไหลเข้าออกของเงิน ในองค์การก่อการร้ายต่างๆ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน แต่ต่างคนต่างทำงานและไม่เคยมีการประสานงานกันเลย
ขณะนี้สหรัฐฯ จ้างคนถึง 30,000 คน ให้มีหน้าที่เพียงดักฟัง โทรศัพท์และการสื่อสารอื่นๆ ในสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครในหน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ที่รู้สึกเอะใจในความผิดปกติของพันเอก Nidal Malik Hasan ที่ส่งข้อความข่มขู่ซ้ำๆ ในศูนย์แพทย์ทหาร Walter Reed ก่อนที่เขาจะก่อเหตุกราดยิงเพื่อนทหารด้วยกัน บิดาของชายไนจีเรียที่ได้ฉายา “มือระเบิดกางเกงใน” หรือมือระเบิดวันคริสต์มาส ได้แจ้งความผิด ปกติของบุตรชายต่อสถานทูตสหรัฐฯ ประจำไนจีเรีย แต่ข้อความของเขาไม่เคยไปถึงคนที่สมควรได้รู้ แผนการของมือระเบิดที่ซุกซ่อน ระเบิดไว้ใต้ชั้นใน หวังจะระเบิดเครื่องบินของสายการบินอเมริกันกลางอากาศในวันคริสต์มาสปีที่แล้ว ล้มเหลวลง เพียงเพราะความไร้ประสิทธิภาพของมือระเบิดเอง และความตื่นตัวของผู้โดยสาร
สิ่งที่ขยายตัวขึ้นพร้อมกับการตื่นตูมด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ คือการเพิ่มขึ้นของอำนาจรัฐ ขณะนี้อำนาจของรัฐบาล สหรัฐฯ ได้ครอบคลุมแทบทุกแง่มุมในชีวิตคนอเมริกัน แม้กระทั่งในส่วนที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับการก่อการร้าย ในหนังสือ Zeitoun ของ Dave Egger เขียนประชดรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรับมือเฮอร์ริเคน Katrina คือการจัดตั้งคุกที่คล้ายกับคุก Guantanamo ที่ฐานทัพสหรัฐฯ ในคิวบา เพื่อกักขังคนอเมริกัน 1,200 คน โดย ที่พวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นเวลานานหลายเดือน ไม่ต่างจากนักโทษต้องสงสัยก่อการร้ายที่ถูกขังลืมอยู่ที่ Guantanamo
ในอดีต แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะเคยใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินยามที่เกิดศึกสงคราม และอาจมีการใช้อำนาจมากเกินไปบ้าง แต่อำนาจนั้นก็จะหมดไปในทันทีที่สงครามสิ้นสุด แต่ขณะนี้สหรัฐฯ เหมือนอยู่ในสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่รู้ว่าเมื่อใดจึงจะสามารถประกาศชัยชนะได้ และเมื่อใดที่อำนาจฉุกเฉินนี้จะสิ้นสุดลง
ขณะนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ กำลังวิตกอย่างยิ่งที่รัฐมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ James Madison อดีตประธานาธิบดี คนที่ 4 และหนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ เคยกล่าวว่า ในบรรดาศัตรูทั้งหมดของเสรีภาพของประชาชน สงครามคือศัตรูที่ถูกเกลียดชังที่สุดและในช่วงของสงครามอำนาจของฝ่ายบริหารจะเพิ่มมากขึ้น Madison สรุปว่า ไม่มีชาติใดที่จะสามารถปกปักรักษาเสรีภาพเอาไว้ได้ ท่ามกลางสงครามที่ยังไม่สิ้นสุด
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|