ธนาคารออนไลน์


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือใกล้เคียงกับประชากรในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะบริการด้านบันเทิงและเกม แม้แต่สถาบันการเงินได้หันมาพัฒนาบริการการเงินบนโทรศัพท์มือถือมากขึ้น รวมไปถึงซิตี้แบงก์

บริการโมบาย แบงกิ้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้ใช้โทรศัพท์ที่สามารถใช้บริการธุรกรรมทางด้านการเงิน เช่น โอนเงิน ตรวจสอบยอดเงิน หรือจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเมื่อซื้อสินค้า พฤติกรรมเหล่านี้เริ่มกลายเป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์บางกลุ่มไปแล้ว เพราะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีถึง 12 ล้านคน

ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ธนาคารได้พัฒนาต่อยอดบริการจากโทรศัพท์มือถือ เพื่อสร้างกิจกรรมต่อเนื่องระหว่างธนาคารกับลูกค้า เหมือนดังเช่นธนาคารซิตี้แบงก์ได้เปิดตัวบริการใหม่ล่าสุดเรียกว่า Citi Locator

บริการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างธนาคารซีตี้แบงก์กับโทรศัพท์ไอโฟน ค่ายแอปเปิลที่ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีจีพีเอสในโทรศัพท์ไอโฟนทุกรุ่นพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อค้นหาสถานที่ต่างๆ

ซิตี้แบงก์ได้นำโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้ร่วมจัดรายการขายสินค้า บริการ และท่องเที่ยว กับร้านค้าต่างๆ ให้กับลูกค้าที่ถือบัตรเครดิต เพื่อให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งบริการโลเคเตอร์ ไม่ได้ให้บริการเฉพาะในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ให้บริการ 27 ประเทศทั่วโลก

การสร้างบริการใหม่ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือของซิตี้แบงก์ ได้เปิดให้บริการก่อนหน้านี้ เช่น Citi Alerts และ Citi Mobile และมีลูกค้าใช้บริการประมาณ 2 หมื่นราย จากลูกค้าบัตรเครดิตจำนวน 1 ล้านรายในปัจจุบัน และธนาคารคาดหวังว่าหลังจากเปิดบริการซิตี้โลเคเตอร์ จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20

ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สายงานธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยความต้องการของลูกค้าของธนาคารและผู้บริโภคทั่วไป พบว่าต้องการข้อมูล 3 อันดับแรก คือ ข้อมูลโปรโมชั่น สถานที่ตั้งของร้านค้าที่เสนอสิทธิประโยชน์ และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ซิตี้แบงก์จึงเลือกพัฒนาบริการ Citi Locator ต่อยอดบริการ Citi Mobile

อย่างไรก็ดี บริการซิตี้โลเคเตอร์ยังมีข้อจำกัดที่ต้องใช้บริการผ่านโทรศัพท์ไอโฟนเพียงยี่ห้อเดียว แต่ธนาคารมีแผนจะร่วมมือกับโทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่นๆ เช่น แบล็คเบอรี่ส์ แต่คาดว่าความร่วมมือกับโทรศัพท์เคลื่อนแต่ละยี่ห้อจะต้องใช้เวลา เพราะต้องใช้ เวลาในการพัฒนาแพลทฟอร์มอย่างน้อย 6 เดือน

ยืนยง เคน ทรงศิริเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธนาคาร ซิตี้แบงก์บอกว่า ธนาคารมีนโยบายพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า โดยเฉพาะช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือ

นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว ในสังคมออนไลน์ซิตี้แบงก์ได้เข้าไปมีส่วนร่วม อย่างเช่น facebook และ twitter เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับ facebook ธนาคารให้บริการภายใต้ชื่อว่า Citi Community (Thailand) เพื่อใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลสิทธิประโยชน์ของลูกค้าและความเคลื่อนไหวของธนาคาร ส่วน twitter ธนาคารได้สร้างกิจกรรมภายใต้ชื่อว่า CitibankDiningGuru ร่วม กับ ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ จัดรายการร่วมกับร้านอาหาร

การนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดธุรกิจการเงินของซิตี้แบงก์ เป็นอีกแผนการตลาดหนึ่งที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เกิดความต่อเนื่อง ความสำเร็จจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินแห่งนี้จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับบริการการเงินได้มากแค่ไหน เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้วิ่งเร็วเหลือเกิน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.