กว่าหนึ่งปีที่รอคอยของวรพงษ์และกิติ ปิยะอุย


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

วรพงษ์ ปิยะอุยปัจจุบันอายุ 61 ปีเขาเป็นน้องชายของคุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เจ้าของโรงแรมดุสิตธานี และตัววรพงษ์ก็เคยเป็นกรรมการผู้จัดการโรงแรมแห่งนั้นอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะลาออกมาทำกิจกรรมของตนเองเมื่อราวปี 2529

วรพงษ์แม้จะเคยเป็นกรรมการผู้จัดการของโรงแรมมีชื่อ แต่ตัวเขาเองกลับจบวิศวะจากสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เขามีความสนใจกิจการเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีมากเป็นพิเศษ

วรพงษ์ตั้ง บริษัท เจ้าคุณเกษตรพืชผลขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากธุรกิจขายสระว่ายน้ำสำเร็จรูปกับเป็นตัวแทนถือหุ้นในกิจการโรงแรมดุสิตธานี แล้วบริษัทเจ้าคุณเกษตรพืชผลยังมีธุรกิจหลักที่สำคัญและอาจมีผลต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่างมหาศาลในอนาคตนั่นคือ การผลิตสารให้ความหวานหรือสารไฮฟรุกโตส ไซรัป

สารฟรุกโตสเป็นสารที่ผลิตจากมันสำปะหลัง แล้วใช้กระบวนการแปรรูปแป้งให้เป็นสารให้ความหวานในรูปของของเหลว มีรูปร่างเหมือนกับน้ำเชื่อมเป็นอย่างมาก แต่สารฟรุกโตสจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ใสสะอาด เป็นเทคโนโลยีที่ค้นพบในอเมริกาเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว

โดยแท้จริงสารฟรุกโตสเป็นสารที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว คืออยู่ในผลไม้ที่มีรสหวานโดยทั่วไปนั้นเอง

สารฟรุกโตส มีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำตาลเกือบจะทุกประการนั่นคือให้ความหวาน ให้แคลอรีเท่ากันในความเข้มข้นเท่ากัน แม้แต่ราคาขายจากโรงงานก็พอ ๆ กันนั่นคือตันละ 7 - 8 พันบาท

ความแตกต่างระหว่างสารฟรุกโตสกับน้ำตาลก็คือกระบวนการผลิต สารฟรุกโตสผลิตจากมันสำปะหลังและเป็นของเหลวส่วนน้ำตาลมาจากอ้อยและเป็นของแข็ง

แต่เคล็ดลับความน่าสนใจองสารฟรุกโตสอยู่ที่การนำสารนี้ไปเป็นวัตถุดิบแทนน้ำตาลโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เพราะเมื่อนำสารฟรุกโตสไปใช้จะสามารถลดขั้นตอนการเคี่ยวน้ำตาลให้เป็นของเหลวก่อนที่จะไปผสมกับเครื่องดื่ม นั่นคือการลดขั้นตอนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งที่เห็นชัดคือลดส่วนประกอบของโรงงานในส่วนการเคี่ยวน้ำตาล ลดการใช้เชื้อเพลิง จะลดมากลดน้อยอยู่ที่นำสารนี้ไปใช้แทนน้ำตาลมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

สารนี้จึงเป็นที่สนใจในหมู่ผู้ผลิตน้ำอัดลมบ้านเราเป็นอันมาก โดยเฉพาะบริษัทไทยน้ำทิพย์และค่ายบริษัทเสริมสุข

วรพงษ์กับลูกชายของเขาคือ กิติ ปิยะอุย เริ่มลงมือสำรวจความต้องการของตลาดและความเป็นไปได้ตั้งแต่ปี 2529 และเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเลย

บริษัทเจ้าคุณเกษตรพืชผลจึงจัดตั้งขึ้นเพื่อโครงการดังกล่าว ลงทุนสร้างโรงงานกว่า 200 ล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 54 ไร่ ที่สระบุรีโรงงานสร้างเสร็จเรียบร้อยและพร้อมที่จะลงมือผลิตเพื่อป้อนตลาด โดยมีกำลังการผลิตในขั้นแรก 15,000 ตัน ใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังประมาณ 75,000 - 80,000 ตันต่อปี

แต่ในช่วงระหว่างที่กำลังก่อสร้างโรงงานอยู่นั่นเอง บริษัทเจ้าคุณฯก็เหมือนโดนฟ้าผ่า เมื่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทักท้วงว่า การผลิตสารดังกล่าวจะกระทบกระเทือนต่อชาวไร่อ้อยซึ่งผลิตอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาลหากโรงงานอุตสาหกรรมอื่นหันไปใช้สารฟรุกโตสกันเป็นจำนวนมาก รับรองชาวไร่อ้อยเดือดร้อนเพราะน้ำตาลล้นตลาดกันเป็นแถว

เรื่องคาราคาซังอยู่นานจนประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้นสั่งไม่ให้มีการสร้างหรือขยายโรงงานผลิตสารฟรุกโตสเช่นบริษัทเจ้าคุณฯออกมาอีก ส่วนกรณีบริษัทเจ้าคุณฯก็ให้ดำเนินการต่อไป แต่ห้ามนำมาผสมกับอาหารและเครื่องดื่มที่คนใช้บริโภคจนกว่าคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)จะพิจารณาอนุมัติ

"ถ้าอย.ไม่ให้ใช้ก็คงเป็นเวรเป็นกรรม เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น ตอนนั้นทุกคนมืดแปดด้านไปหมด" กิติ ปิยะอุยเล่าความหลังให้ฟัง

บริษัทเจ้าคุณฯแก้ปัญหาในช่วงนั้นโดยการผลิตสารฟรุกโตสเพียง 50 % ของกำลังการผลิตทั้งหมด และป้อนให้กับผู้เลี้ยงผึ้ง แต่กิติก็อธิบายว่าความต้องการไม่แน่นอนและขายได้ตามฤดูที่ผึ้งต้องการไม่กี่เดือนเท่านั้น

สภาพดังกล่าวดำรงอยู่ปีกว่า จนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อย. ก็อนุมัติให้นำสารฟรุกโตสผสมกับอาหารและเครื่องดื่มได้โดย "โค้ก"จะเป็นกรณีแรกที่ใช้ในเมืองไทย เพราะบริษัทไทยน้ำทิพย์เป็นบริษัทแรกที่พยายามจะนำสารฟรุกโตสมาผสมในเครื่องดื่มและเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตต่อ อย.

กรณีดังกล่าวเหมือนยกภูเขาออกจากอกโดยเฉพาะกับวรพงษ์และกิติ ปิยะอุย!

กิติอธิยายว่าอย. เชื่อในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค กับเชื่อในคำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงาน ซึ่งถ้าอย. อนุมัติไปแล้วคงไม่ไปกระทบกระเทือนชาวไร่อ้อยเป็นแน่

คำสั่งดังกล่าวมีผลอยู่สองนัย นั่นคือบริษัทเจ้าคุณฯจะเป็นผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมผลิตสาร ฟรุกโตสแต่ผู้เดียวแต่อีนัยคือบริษัทเจ้าคุณฯก็จะเติบโตไปได้ในขอบเขต จำกัดแค่ 15,000 ตันต่อปีเท่านั้นเอง ขณะที่ตัวเลขการซื้อน้ำตาลในหมู่บริษัทอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ 50 อันดับแรกเกือบ 3 แสนตันต่อปี โดยมีบริษัทไทยน้ำทิพย์เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ประมาณ 5 หมื่นตันต่อปี

กิติกล่าวว่า นั่นเป็นเรื่องอนาคตที่ผู้ใหญ่จะต้องเจรจากันต่อไปในเรื่องการเพิ่มกำลังการผลิตและขยายโรงงาน แต่ในปัจจุบันปัญหาอยู่ที่การจัดสรรสารฟรุกโตสไปสู่โรงงานต่าง ๆ เพราะในช่วงต้นของการตั้งโรงงานทางบริษัทเจ้าคุณฯกว้านหาลูกค้าไว้เยอะ แต่พอรัฐอนุมัติให้ผลิตได้แค่นี้ ทางบริษัทเจ้าคุณฯก็ต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดสรรไปก่อน

"ทางโค้กเองเราก็ต้องจัดสรรให้ แต่คงไม่มากนักเพราะต้องแบ่งให้คนอื่น ซึ่งเมื่อจำนวนปริมาณสินค้าที่จัดสรรให้เขาอาจจะน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของเขาทั้งหมด" กิติกล่าว

เขาปฏิเสธที่ระบุถึงลูกค้าของบริษัท เขาอธิบายว่าเพราะยังอยู่ในช่วงจัดสรรยังไม่มีการตกลงเป็นทางการที่จะส่งให้ใครบ้าง การเอ่ยชื่อไปก่อนคงไม่เหมาะสม

"ทางเสริมสุขเขาก็มาติดต่อเหมือนกัน แต่ยังไม่มีผลชัดเจน" กิติกล่าว

การเริ่มต้นครั้งนี้ของบริษัทเจ้าคุณฯดูจะเป็นเงื่อนปมแรกที่เพิ่งแก้เสร็จ ยังมีอีกหลายปมที่วรพงษ์และกิติจะต้องแก้กันต่อไป ทั้งเพื่อให้บริษัทเติบโตต่อไปโดยไม่กระทบกระเทือนกับคนจำนวนมาก

หากจะกล่าวว่าบริษัทเจ้าคุณเกษตรพืชผลเพิ่งจะเห็นฝั่งหลังจมลอยคออยู่กว่าปีนั้นคงไม่ผิดเลย เพราะครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเพื่อข้ามแผ่นดินเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.