เกมลวงตาคนไทยใช้บริการ “3G” การเมือง - เอกชนผลประโยชน์สุดๆ!


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 ตุลาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่ต้องประมูล 3G คนไทยก็มี 3G ใช้ ผู้บริโภคมือถือได้ประโยชน์จริงหรือ เป็นเพียงเกมบนกระดานผลประโยชน์ที่แลกกันระหว่างกลุ่มการเมืองผู้ครองอำนาจกับเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มุ่งแสวงหารายได้บนโอกาสทางธุรกิจใหม่บนคลื่น 3G

3G กลายเป็นลูกบอลที่มีมูลค่ามหาศาลที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้ต้องการเกี่ยวข้องได้เตะส่งกันไปมาเพื่อหาทางลงให้กับการเกิดขึ้นของบริการ 3G ให้ได้เร็วที่สุด

เห็นได้ชัดว่าหลังจากที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ระงับการประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G การค้นหาทางออกที่จะทำให้เกิดบริการ 3G เร็วที่สุดจะออกมาที่หัวหรือก้อยอย่างไร เนื่องจากทุกคนที่เกี่ยวข้องมองว่าหากต้องรอให้มีการประมูลครั้งใหม่อาจจะต้องร้องเพลงรอกันถึง 3 ปี ส่วนการเปลี่ยนสัญญาสัมปทานจาก 2G เป็น 3G น่าจะเป็นทางตันกับประเด็นทางกฎหมายที่ไม่สามารถดำเนินการได้

หวยจึงมาออกที่การเร่งผลักดัน 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งบริษัท ทีโอที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เร่งขยายโครงข่ายเพื่อให้สามารถบริการ 3G โดยเปิดให้เอกชนผู้รับสัมปทานเข้ามาเช่าใช้บริการ 3G ก่อนที่จะเกิดการประมูลในอนาคต

เค้าลางเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นว่าคนไทยจะได้ใช้บริการ 3G ในเร็ววันนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ทีโอที ลงทุนในโครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 วงเงิน 19,980 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 29,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการประกวดราคา 17,440 ล้านบาท เพิ่มจำนวนสถานีฐานจาก 5,220 แห่ง เป็น 5,320 แห่ง ลงทุนอุปกรณ์ขยายขีดความสามารถของโครงข่ายอีก 540 ล้านบาท ปรับปรุงโครงข่ายเดิมของบริษัทเอซีทีโมบาย จากระบบ 2G เป็น 3G ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท พร้อมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของทีโอที โดยตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารรวมทั้งการใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วกรุงเทพฯ และอีก 12-15 จังหวัด

นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนแปลงวิธีการประกวดราคาสากลเป็นวิธีการประกวดราคาทั่วไป เนื่องจากปัจจุบันบริษัทชั้นนำด้านโทรคมนาคมทุกบริษัทมีผู้แทน และสาขาอยู่ในประเทศไม่ต่ำกว่า 5 ราย ดังนั้นจึงมีผู้เข้าประกวดราคาในประเทศมากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ นำมาซึ่งข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาที่ดีที่สุด ซึ่งการใช้วิธีประกวดราคาทั่วไปในประเทศจะช่วยประหยัดเวลาได้ประมาณ 60 วัน ทำให้ทีโอทีพัฒนาโครงข่าย 3G ได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนรายอื่น

สำหรับแผนธุรกิจของทีโอทีมีการปรับเพิ่มลูกค้าเป้าหมายจาก 5 ล้าน เป็น 7.4 ล้านรายภายในปี 2558 มีส่วนแบ่งการตลาด 8% จากยอดรวมในตลาด 91 ล้านเลขหมาย เป้าส่วนแบ่งการตลาด 8% ของตลาดรวมพร้อมทั้งใช้วิธีการขายส่ง (wholesale) เป็นรูปแบบธุรกิจเพียงอย่างเดียวจากเดิมควบขายปลีกด้วย

พิเชษฐ์ ฤทธิสุนทร ที่ปรึกษาวิศวกรรมโครงข่าย 3G ทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีต้องติดตั้งสถานีฐานในเฟสแรกให้เสร็จครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มเติมเมื่อรวมกับโครงข่าย 500 สถานีฐานที่เปิดให้บริการไปตั้งแต่ 3 ธ.ค.52 จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึง 3G เร็วขึ้น ที่ผ่านมาความไม่แน่นอนของรัฐบาลหรือกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เอื้อกับการทำธุรกิจ ทำให้ทีโอทีไม่สามารถวางแผนธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ให้ MVNO เช่าใช้โครงข่าย 100% ต่างจากเดิมที่ให้เช่าแค่บางส่วน ถือเป็นการเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ คือต่อไปนี้เลขหมายโทรศัพท์มือถือของทีโอทีจะเป็นของ MVNO ไม่ใช่ของทีโอทีอีกต่อไป ถ้ากฎหมายไม่ควบคุมให้ดีพออาจเกิดปัญหาการฮั้วกันระหว่างเอกชนที่เป็น MVNO นอกจากนี้ อายุการให้บริการ 3G ไม่ได้ยาวนานอย่างที่คิด เพราะในอีก 4-5 ปี เทคโนโลยีใหม่กำลังจะมา ฉะนั้นปัญหาที่เกิดจากสัญญาสัมปทานเดิมต้องเคลียร์ให้ชัดเจนเพื่อให้ทีโอทีได้สิทธิ์ในโครงข่ายที่โอนมาอย่างครบถ้วน นำไปต่อยอดธุรกิจได้

“ประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่มีที่ไหนที่ลงทุนโครงข่ายเป็น 3G เพียวๆ แต่เป็นการเกาะเกี่ยวไปกับเทคโนโลยีอื่นด้วย ในไทยก็เช่นกัน เชื่อว่าการลงทุน 3G ของแต่ละบริษัทต้องเกาะไปกับ 2.5G การบริหารโครงข่ายตามสัญญาสัมปทานหลังหมดอายุให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

เอไอเอสพร้อมทุกอย่าง
ลุยบริการ 3G ของทีโอที

เมื่อความชัดในการขยายโครงข่าย 3G ของทีโอทีผ่านฉลุย เอไอเอสในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการภายใต้สัมปทานของทีโอที และเป็นพาร์ตเนอร์กับทีโอทีเสมอมา ก็พร้อมทันทีที่จะเข้าเจรจากับทีโอที ในการเป็นเอ็มวีเอ็นโอรายใหม่ที่จะเปิดให้บริการ 3G

“เอไอเอสต้องมีการเจรจากับทีโอทีอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งเอไอเอสพร้อมที่จะร่วมกับทีโอที ถึงระดับที่เป็นฟูลเอ็มวีเอ็นโอ หรือสร้างโครงข่ายให้ทีโอทีด้วย เพราะ 3G ทีโอทีเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากที่สุด” วิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าว

ที่ผ่านมาเอไอเอสเคยเจรจาเพื่อขอโรมมิ่งเครือข่าย 3G กับทีโอทีจำนวน 50,000 เลขหมาย แต่ไม่ได้มีการดำเนินการต่อเพราะเกรงปัญหาเรื่องคุณสมบัติการเข้าประมูล 3G ของ กทช. แต่เมื่อการประมูลไม่เกิดขึ้น การใช้โครงข่ายของทีโอทีจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเอกชนอย่างเอไอเอส เนื่องจากการขยายข่าย 3G ของทีโอทีครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยมีผู้ให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียวในขณะนี้ ที่สำคัญทีโอทีไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ เกี่ยวกับสิทธิในการให้บริการ 3G เพราะทีโอทีได้รับคลื่น 3G มาบริหารตั้งแต่ปี 2545

โครงข่าย 3G ของทีโอที วันนี้จึงเป็นทางออกสำหรับผู้ให้บริการทุกรายที่จะเข้ามาขอเช่าใช้โครงข่าย (โรมมิ่ง) และเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) กับทีโอที สำหรับเอกชน 5 ราย ที่เข้ามาแบบ MVNO กับทีโอที ได้แก่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย บริษัท ล็อกซเล่ย์ บริษัท ไออีซี บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น และบริษัท เอ็ม คอนซัลท์

3G ทีโอทีจะสำเร็จ
ต้องมีแผนที่ชัดเจน

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ให้ความเห็นว่าเงื่อนไขความสำเร็จตามแผนธุรกิจของทีโอที คือ ต้องสร้างความมั่นใจในการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและเชื่อถือได้ โดยทีโอทีต้องเร่งปรับโครงสร้างองค์กร จัดเตรียมความพร้อมของบุคลากรพิจารณารูปแบบการบริหารจัดการโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้จากโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อลดความเสี่ยงธุรกิจ และการลงทุนซ้ำซ้อน

ด้าน สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่ ครม.อนุมัติให้ทีโอทีดำเนินโครงการ 3G พร้อมเปลี่ยนแปลงวิธีการประกวดราคาสากลเป็นวิธีการประกวดราคาทั่วไป เป็นการตัดสินใจที่ได้อย่างเสียอย่าง คือทำให้ประชาชนมีโอกาสได้ใช้ 3G เร็วขึ้น แต่โอกาสในการแข่งขันจากการเปิดประมูลทำได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ทีโอทีจะมีแต้มต่อในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 3G อย่างน้อย 2 ปีเต็ม จึงเป็นโอกาสทองที่จะอยู่รอดทางธุรกิจได้ แต่จะอยู่รอดได้จริงต้องทำ 2 อย่าง คือลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพให้มีโอกาสรั่วไหลน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน การที่รัฐตัดสินใจให้ทีโอทีขายส่งหมายถึงให้มีหน้าที่ทำเน็ตเวิร์กอย่างเดียว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลมีความชัดเจนในหน้าที่ของทีโอที ดังนั้น สิ่งที่ทีโอทีต้องทำคือการหาพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็นผู้เช่าใช้โครงข่ายแบบ “MVNO” ที่กระตือรือร้นทำตลาด

กสท หนุนดีแทค-ทรูมูฟ
บริการ 3G บนคลื่นเดิม

กสท มีการขยับแผนรับการที่เอกชนจะไม่มีบริการ 3G จากการประมูล โดย กสท เล็งโอกาสที่เกิดขึ้นในการปรับแผนธุรกิจและการสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ดีแทคและทรูมูฟให้บริการ HSPA (การให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม)

“ทุกคนอยากเห็น 3G รวมถึง กสท ด้วย ซึ่งในส่วนของ HSPA บริการ 3G บนคลื่นเดิมของดีแทคและทรูมูฟ กสท ก็เป็นคนผลักดันให้เกิด แต่การจะให้บริการได้แบบไหน มีข้อกฎหมายที่ซับซ้อนซึ่งต้องพิจารณา เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องทำให้ถูกตามกระบวนการ ประโยชน์ของสาธารณะต้องอยู่บนความถูกต้องของกฎหมายด้วย” จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าว

กสท มองว่าในความจริงแล้วยังมีบริการ 3G อื่นๆ ที่เปิดให้บริการอยู่ อย่างซีดีเอ็มเอในต่างจังหวัด 3G ของทีโอที HSPA ของดีแทคและทรูมูฟ ซึ่งในส่วนของการเปิดให้บริการ HSPA ของดีแทคและทรูมูฟ ที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ทาง กสท ก็ได้ผลักดันให้ทั้งสองบริษัททดสอบมากว่า 2 ปีแล้ว และจะมีการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสัญญาสัมปทานเพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น

“มติบอร์ดอนุญาตให้ดีแทคทดสอบไปแล้ว แต่ทรูมูฟยังมีประเด็นทางกฎหมาย ทำให้กรณีของดีแทคทำได้ง่ายกว่า เพราะตามสัญญาสัมปทานได้ให้สิทธิ์ในคลื่น 850 MHz อยู่แล้ว สามารถอัปเกรดได้ แต่ของทรูมูฟไม่ได้ระบุ จึงมีข้อปลีกย่อยทางกฎหมายที่ต่างกัน ต้องพิจารณาด้วยว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 22 หรือไม่ ส่วนการจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ต้องดูอีกที”

ขณะนี้บริการ HSPA ทั้งดีแทคและทรูมูฟได้ขอทดสอบไปแล้วกว่า 100 สถานีฐาน ส่วนจะมีการขยายเพิ่มอีกแค่ไหนก็แล้วแต่เอกชนจะยื่นขอมา ซึ่ง กสท พร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายว่าเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่เอกชนต้องตัดสินใจจะลงทุน

อีกด้านหนึ่งของ กสท คือความพยายามในการซื้อกิจการของฮัทช์ หลังจากคาราคาซังมานาน โดยมีแนวโน้มว่าจะสามารถซื้อกิจการฮัทช์ได้เร็ววันนี้ เนื่องจากทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มองตรงกันว่าจะต้องมีการปรับลดวงเงินที่จะเสนอซื้อใหม่ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ฮัทช์ให้บริการอยู่ในปัจจุบันใช้มานานแล้ว เป็นเทคโนโลยีเก่าที่ต้องมีการอัปเกรด ราคาที่กำหนดไว้ตอนแรกจึงควรปรับลดลงมาให้เหลือประมาณ 6,800 ล้านบาท

แม้ว่าดูเหมือนคนไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากบริการ 3G ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แต่คนไทยจะได้ประโยชน์นั้นจริงๆ หรือไม่ หรือกลายเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่กลุ่มการเมืองและเอกชนใช้เป็นตัวประกันในการอ้างความชอบธรรมของการเกิดขึ้นของ 3G เพราะวังวนของ 3G วันนี้ยังติดอยู่กับกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ได้เสียมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มการเมืองและเอกชน

ยิ่งการอนุมัติให้ทีโอทีขยายโครงการ 3G กว่า 19,000 ล้านบาท และการอนุมัติให้ กสท ซื้อกิจการของฮัทช์ ล้วนแล้วแต่เอื้อให้เกิดการหมกเม็ดเงินลงทุนของทั้งสองหน่วยงานจากผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ พร้อมๆ กับได้รับผลประโยชน์จากเอกชนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับทางเลือก 3G ในครั้งนี้ งานนี้จึงอาจเป็นการสมประโยชน์กันแค่สองฝ่ายระหว่างกลุ่มการเมืองกับเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

หุ้นสื่อสารยังน่าลงทุน
พื้นฐานดี - 3G มายิ่งพุ่ง

แหล่งข่าววงการโบรกเกอร์ ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มที่เอไอเอส ดีแทค และทรูจะให้บริการ 3G ภายใต้โครงข่ายของทีโอที และ กสท นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เอกชนทั้ง 3 รายสามารถขยายรูปแบบการให้บริการบนเครือข่าย 3G ให้กับผู้ใช้บริการได้ และน่าที่จะเป็นผลดีในช่วงสั้นๆ เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนทุกคนเฝ้าจับตามองว่าเอกชนทั้ง 3 รายจะได้ใบไลเซนส์ 3G หรือไม่ ทำให้หุ้นกลุ่มสื่อสารมีความคึกคักอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไม่แพ้หุ้นในกลุ่มอื่นๆ ที่ร้อนแรงอย่างกลุ่มแบงก์และกลุ่มพลังงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อการประมูล 3G ยังต้องรอการเกิดขึ้นของ กสทช.ที่คาดกันว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลากว่า 2-3 ปีถึงจะเห็นการให้บริการ 3G จากเอกชนที่ชนะการประมูล การให้บริการบนเครือข่ายของทีโอที และ กสท น่าจะเป็นผลดีต่อเอไอเอส ดีแทค และทรู ที่จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการให้บริการ 2G ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการใช้งานข้อมูลที่ทุกวันนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

“พอมีประเด็นเกี่ยวกับ 3G ขึ้นมาทีไร หุ้นสื่อสารก็จะพุ่งอย่างร้อนแรง เชื่อว่าการมีบริการ 3G ของเอกชนบนเครือข่ายทีโอที และ กสท นั้น น่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และจะยิ่งได้รับแรงสนับสนุนจากโบรกเกอร์ยิ่งขึ้นถ้าเกิดการประมูล 3G รอบใหม่”

ที่ผ่านมาหลังจากการประมูล 3G ต้องยุติไป บรรดาโบรกเกอร์ได้ออกมาแนะนำนักลงทุนทั้งหลายที่ต้องการลงทุนในหุ้นกลุ่มสื่อสารนี้ว่าให้นักลงทุนเปลี่ยนรูปแบบในการลงทุนหุ้นสื่อสาร จากหุ้นกำไรเติบโตสูง มามองหุ้นที่มีเงินปันผลสูงแทน ซึ่งการจ่ายปันผลงวดต่อไปจะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกปี 2554 บางรายก็แนะนำให้เก็บหุ้นสื่อสารตอนที่ราคาอ่อนตัว เพราะหุ้นกลุ่มนี้ถือเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี เมื่อมีข่าวดีจะเกิดการดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่นี้ต้องจับตากันว่าเมื่อทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรู สนใจที่จะเข้าไปให้บริการ 3G บนเครือข่ายของทีโอที และ กสท จะส่งผลให้ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นมากน้อยเพียงไร แต่ในความเป็นจริงนั้น 2 ค่ายใหญ่อย่างเอไอเอสและดีแทค ได้สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับผู้ถือหุ้นได้ทั้งในด้านราคาหุ้นและการจ่ายเงินปันผลอยู่แล้ว ยิ่งไม่ต้องเสียเงินไปกับการประมูล 3G 1-2 หมื่นล้านบาท เชื่อแน่ว่าเงินจำนวนนี้ต้องย้อนกลับมาสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.