พี่น้องงามทวีซื้ออาร์แอนด์ดี 20 ล้านเหรียญ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

พูดถึงกลุ่มบริษัทพี่น้องงานทวี สำหรับคนในประเทศไทยอาจจะไม่ค่อยทราบว่ามีความยิ่งใหญ่เพียงไร แต่บรรดานักธุรกิจในต่างประเทศแล้วยี่ห้อนี้ถูกจัดชั้นว่าเป็นบริษัทชั้นดีมาก

กลุ่มพี่น้องงานทวีหรืออีกชื่อหนึ่งที่รู้จกกันดี "ชินเทียกบราเดอร์" ในต่างประเทศมีรากฐานเติบโตมาจากการทำธุรกจิสาวนปาล์มน้ำมัน ยางพารา และแร่ในภาคใต้โดย มีการส่งออกค้าขายกับทางมาเลเซียเป็นสำคัญ

ตลาดมาเลเซียเป็นศูนย์กลางการค้าแร่ น้ำมันปาล์มและยางพาราของโลกในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตและการค้า พรมแดนและความสัมพันธ์ทางการเมือง ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียนทำให้มาเลเซียและไทยมีการให้สิทธิพิเศษทางการค้าต่อกันความเหมาะสมในจุดนี้มีส่วนอย่างมาก ที่กระตุ้นให้งานทวีในภาคใต้เข้าไปสร้างเครือข่ายการผลิตการค้าในมาเลเซียจนปัจจุบันว่ากันว่าสินทรัพย์ธุรกิจของงานทวีในมาเลเซียมีมูลค่าไม่น้อยกว่าที่เมืองไทยเลย "บริษัทชินเทียกปาล์มออยย์ในมาลาเซียเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นในกัวลาลัมเปอร์มานานแล้ว" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกล่าวถึงบทบาทด้านหนึ่งของงานทวีในมาเลเซีย

มองจากประสบการณ์นี้งานทวีจึงไม่ใช่คนแปลกหน้าในสายตาบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดโลก เมื่อตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ในสหรัฐและยุโรปเติบโตอย่างรวดเร็วในต้นทศวรรษที่ 80 กลุ่มงานทวีก็ตระเตรียมช่องทางก้าวเข้าสู่ธุรกิจการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าที่กำลังต้องการของผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปและสหรัฐ ในฐานะที่ได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและการได้ส่งเสริมจากบีโอไอของรัฐบาล

ศิวะ งานทวี ทายาทคนหนึ่งของกลุ่มพี่น้องงานทวีหลักจากจบบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเอ็มโพเลียในสหรัฐ และเป็นคนที่ต้องการขยายธุรกิจของกลุ่มออกไปก่อนหน้าที่ศิวะจะข้ามาในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เขาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในธุรกิจเสาเข็มในนามบริษัท ทักษิณคอนกรีตที่ภาคใต้มาก่อน

ปี 2528 บริษัท งานทวีเซมิคอนดัคเตอร์ ผลิตแผงวงจรไฟฟ้าก็เกิดขึ้นภายใต้การส่งเสริมจากบีโอไอ บริษัทนี้ผลิตเพื่อป้อนบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในยุโรปเช่นเทเลฟุงเก้นในเยอรมนี การผลิตแผงวงจรไฟฟ้าถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่เข้าสู่อุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพราะหลังจากนั้นเพียงปีเดียว คือในปี 2529 ศิวะก็จัดตั้งบริษัท ชินเทียกอีเล็กทรอนิกส์ซิสเต็ม (ซีอีเอส) ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์โทรศัพท์พวกคีย์โฟนซิสเต็มป้อนให้กับบริษัทผลิตโทรศัพท์ในสหรัฐและอเมริกาเหนือเช่น บริษัทไทร์คอมมิวนิเคชั่น

"การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มันมีลักษณะการับจ้างผลิตตามแบบและสเป็กที่ลูกค้าในต่างประเทศกำหนดมา แต่กระนั้นก็ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ก็เป็นหัวใจของกลุ่มงานทวีนอกเหนือไปจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม" นักวิเคราะห์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯพูดให้ฟัง

ปัจจุบันกลุ่มงานทวีมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นกรุงเทพฯ คือบริษัทไทยไวร์โปรดักส์ผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูงสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง

การเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงในตลาดยุโรปที่กำลังจะรวมเป็นตลาดเดียวในปี 2535 เป็นแนวโน้มสำคัญที่เร่งเร้าให้ศิวะต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกมากขึ้นในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนโทรศัพท์

และสิ่งนี้คือที่มาการเข้าซื้อกิจการของไทร์คอมมิวนิเคชั่นในยุโรปและแคนาดา เมื่อมีนาคมนี้

ไทร์คอมฯเป็นบริษัทที่มีฐานะในสหรัฐเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่นิวยอร์กทำธุรกิจออกแบบและจำหน่ายระบบโทรศัพท์ทั่วยุโรปและสหรัฐมียอดขาย ปี 2532 ประมาณ 330 ล้านเหรียญ

ไทร์คอมฯเป็นคู่ค้าของชินเทียกอิเล็กทรอนิกส์ซิสเต็ม (ซีอีเอส) มา 3 ปีแล้วโดย ไทร์คอมฯเป็นผู้ว่าจ้างให้ซีอีเอสผลิตโฟนซิสเต็มตามแบบที่กำหนด ก่อนที่จะนำออกจำหน่ายทั่วยุโรปและสหรัฐที่ไทร์คอมมีเครือข่ายการจำหน่ายอยู่ซึ่งประกอบด้วยเยอรมนีอิตาลี และอังกฤษ

ที่แคนาดาไทร์คอมฯมีบริษัทวิจัยและพัฒนาด้านระบบโทรศัพท์ที่เข้มแข็งมากมีมืออาร์แอนด์ดีชั้นดีถึง 60 คน แบบและสเป็กของไทร์คอมฯทุกชิ้นที่สั่งให้ซีอีเอสประกอบมาจากที่นี่ทั้งนั้น

ซีอีเอสประกอบคีย์โฟนซิสเต็มป้อนให้ไทร์คอมฯประมาณ 20 % ของกำลังการผลิต

ศิวะเห็นว่าการที่จะเติบโตอย่างแท้จริงในอุตสาหกรรมนี้ต้องมีการผลิตที่มีรากฐานด้านอาร์แอนด์ดีของตนเอง และมีเครือข่ายการจำหน่ายในยุโรปที่เข้มแข็ง พอดีทางไทร์คอมฯที่สหรัฐกำลังต้องการขายเครือข่ายในยุโรปซึ่งทำรายได้เข้าบริษัทแม่เพียง 10 % ออกไปเพื่อต้องการแก้ปัญหาหนี้สินบางส่วนของบริษัทแม่

"มันมีสัญญานออกมาก่อนแล้ว 2 ประการด้วยกันคือ หนึ่ง-ราคาหุ้นในนิวยอร์กของไทร์คอมฯตกลงมาเรื่อย ๆ จาก 3 เหรียญจนมาเหลือแค่ 30 เซ็นต์ในตอนเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ สอง-แอลซีที่เปิดออกมาให้ซับพลายเออร์ในเกาหลีและไต้หวันเริ่มไม่คล่องตัว" แหล่งข่าวที่ปรึกษาการซื้อขายครั้งนี้เล่าถึงเบื้องหลังฉากหนึ่งที่มาของการเทคโอเวอร์ข้ามชาติ

เมื่อสัญญาณข่าวนี้รู้ถึงหูของศิวะเขารีบบินไปเจรจากับอีริค คาร์เตอร์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของไทร์คอมฯที่นิวยอร์กทันทีโดยมีทอมเพ็งการ์มือที่ปรึกษาด้านเทคโอเวอร์ของแบงเกอร์ทรัสต์ที่นิวยอร์กเป็นผู้ดำเนินการให้ แหล่งข่าวกล่าวว่าเหตุที่ศิวะรีบดำเนินการทันที เพราะทราบว่าในเวลานั้นบริษัทซับพลายเออร์ของไทร์คอมฯรายหนึ่งจากไต้หวัน กำลังเจรจาขอซื้ออยู่แต่ยังตกลงเรื่องราคากันไม่ได้ "ทางไต้หวันเสนอซื้อ 18 ล้านเหรียญซึ่งทางไทร์เห็นว่ายังต่ำไป" แหล่งข่าวกล่าวถึงความไม่สำเร็จของไต้หวัน

ว่ากันว่า ช่วงเดือนมีนาคมศิวะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเรื่องนี้โดยมี สถิตย์ อ๋องมณี แห่งทิสโก้ที่กรุงเทพเป็นที่ปรึกษาประสานงานกับทางทอม เพ็งการ์ ที่นิวยอร์กอย่างใกล้ชิดแล้วการตัดสินใจที่เด็ดขาดของศิวะการเจรจาซื้อไทร์คอมฯในยุโรปและอาร์แอนด์ดีในแคนาดาก็สำเร็จตัดหน้าไต้หวันที่ราคา 20 ล้านเหรียญ โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินที่ 1 ล้านแรกเมื่อเซ็นสัญญาซื้อและ 19 ล้านเหรียญที่เหลือในวันส่งมอบทรัพย์สิน

ศิวะบินไปเซ็นสัญญาด้วยตนเองถึงนิวยอร์กเมื่อกลางเดือนเมษายน

การซื้อครั้งนี้ของศิวะใช้เวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้นทุกอย่างก็เสร็จเรียบร้อย ซึ่งในวงการธุรกิจซื้อกิจการข้ามชาติของไทยนับว่ารวดเร็วมากนับตั้งแต่มีการทำกันมา

เหตุนี้เป็นเพราะส่วนสำคัญมาจากฐานะเครดิตของกลุ่มพี่น้องงานทวีเป็นที่ยอมรับในความเป็นลูกค้าชั้นดีในสายตาแบงเกอร์ทั่วโลก การซื้อไทร์คอมฯได้การสนับสนุนทางการเงินในรูปบริจโลน (BRIDGE LOAN) จากทิสโก้ นครธน ซิกโก้และนครหลวงจำนวน 520 ล้านบาท (20ล้านเหรียญ) โดยมีทิสโก้เป็นผู้นำการให้กู้ร่วมประมาณ 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการตั้งวงเงินไว้ไม่จำกัดให้ซีอีเอสใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพิ่มกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเพื่อป้อนให้ไทร์คอมฯจาก 20 % ของกำลังการผลิตเป็น 50 %

เงื่อนไขการให้กู้ร่วมครั้งนี้ ทางซีอีเอสใช้หุ้นบางส่วนของไทยไวร์โปร์ดักส์และทักษิณคอนกรีตเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันและมีระยะเวลาการชำระคืน 3 ปี

"จุดที่ซีอีเอสได้ประโยชน์อย่างมากจากการซื้อไทร์คอมฯ นอกเหนือจากเครือข่ายการจำหน่ายในยุโรปและยังได้อาร์แอนด์ดีที่แคนาดาที่เราถือว่าเป็นสินทรัพย์ชั้นดีที่มองไม่เห็น (INTANGIBLE ASSET) ซึ่งเราดีใจมากที่ได้บริษัทนี้มาด้วย" ศิวะเล่าให้ฟังถึงประโยชน์จากการซื้อครั้งนี้

นับจากนี้ไปกลุ่มพี่น้องงานทวีก็มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีก หลังจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยางพาราได้รับการพัฒนาการประกอบการครบวงจรไปแล้ว

การซื้อไทร์คอมฯคือการเปิดศักราชใหม่อีกหน้าหนึ่งของพี่น้องงานทวีในโลกธุรกิจอีเล็กทรอนิกส์ของไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.