ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ที่นิพนธ์อายุเต็ม 28 ปี เขาได้พิสูจน์ถึงประสบการณ์ทางธุรกิจที่พอตัวในสถานการณ์ผันแปรที่หุ้นส่วนของเขาคือจิรวุฒิ
คุวานันท์ ทายาทโค้วยู่ฮะกรุ๊ปขอแลกเปลี่ยนฐานะจากหุ้นส่วน 40 % เป็นลูกค้าที่มีพื้นที่
1,715 ตารางเมตรแทนในโครงการที่ทั้งสองร่วมฝันที่จะทำคอนโดมิเนียมที่พักอาศัยที่ดีที่สุดและแพงที่สุดภายใต้ชื่อโครงการว่า
THE GRAMERCIE MOON TOWER CONDOMINIUM
โครงการ MOON TOWER มูลค่า 450 ล้านบาทนี้ถูกบันดาลให้เกิดขึ้นบนเนื้อที่
885 ตารางวา ที่สุขุมวิทซอย 59 เป็นคอนโดมิเนียมสูง 29 ชั้น มีพื้นที่ขาย
14,000 ตารางเมตร หรือ 61 ยูนิต ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 3.7 - 20 ล้านบาท ผู้ออกแบบ
และควบคุมงานก่อสร้างมูลค่า 20 ล้านบาทคือ บริษัท 012 ดีไซน์ของนิพนธ์นั่นเอง
แต่โครงการนี้ดำเนินการในรูปของบริษัทมูนทาวเวอร์ที่ก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วโดยมีทุนจดทะเบียน
30 ล้านบาท นิพนธ์ นิรันดร์วิชย เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีหุ้นส่วนใหญ่ถึง
60 % และจิรวุฒิ คุวานันท์ เป็นรองประธานกรรมการหริหารบริษัทมีหุ้นอยู่ 40
% โดยมีพลเอกสายหยุด เกิดผลเป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์
วันนี้การก่อสร้าง "MOON TOWER CONDOMINIUM" ภายใต้การบริหารของนิพนธ์ที่ไม่มีหุ้นส่วนชื่อจิรวุฒิได้คืบหน้าไปอย่างรวดเร็วเมื่อพ้นชั้นที่
6 หลังจากที่ต้องช้า เพราะงานฐานรากและการสร้างโพเดียมรูปครึ่งวงกลม "ตามแผนการก่อนสร้างจะสามารถสร้างได้ถึงเดือนละ
3 ชั้น และจะก่อสร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ชนิดไม่มีเศษไม้เหลือสักชิ้นเดียวในกลางปีหน้าแน่นอน"
นิพนธ์กรรมการผู้จัดการบริษัทมูนทาวเวอร์เล่าให้ฟัง
การวางแผนงานหลักด้านบริหารการก่อสร้าง การขายและการเงินจะต้องประสานและสอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียว
นิพนธ์โชคดีที่มีผู้ใหญ่เป็นที่ปรึกษาหลายคน อาทิเช่นที่ปรึกษาด้าน CONSTRUCTION
MANAGEMENT นิพนธ์ได้ใช้สายสัมพันธ์ที่เคยทำงานกับ มร.ลิมจิบโป กรรมการบริหารแห่งบริษัทล่ำชัง
ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างอันดับหนึ่งในประเทศสิงคโปร์และเป็นเจ้าของโรงแรม
HOLIDAY INN ที่ภูเก็ต
"เขาเอ็นดูผมเหมือนลูกเหมือนหลานและสอนผมตลอดด้านการพัฒนาก่อสร้างที่ดิน
ช่วงแรกที่เราทำงานหนักมากเรื่องราคากลางในการก่อสร้างซึ่งเราจะคาดการณ์หรือเดาไม่ได้เลยในโครงการใหญ่เช่นนี้
ผมได้ทำราคากลางถึง 4 ชุด โดยชุดที่ 4 ผมบินไปให้เขาทำถึงสิงคโปร์"
นิพนธ์เล่าให้ฟัง
"จากนั้นเราก็มาตัดสินการก่อสร้างในราวเดือนสิงหาปีที่แล้ว ซึ่งทำให้เราไม่เจอพิษจากปัญหาวัสดุก่อสร้างขาดแคลนในราวปลายปีหรือปัญหาผู้รับเหมาโขลกราคาซึ่งผมเข้าใจ
เพราะเขาไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็จึงบวกเพิ่ม ผมก็ช่วยแก้ปัญหาโดยช่วยเปิด
DEAL พิเศษขอราคาพิเศษกับ SUPPLIER ทั้งหมดเช่น ปูนซิเมนต์ไทยและบริษัทล็อกซเล่ย์
แล้วเราก็เอาใบจองทั้งหมดให้ผู้รับเหมาซึ่งเขาก็มั่นใจ และงานนี้เราสามารถต่อรองค่าก่อสร้างลงมาได้ถึง
100 กว่าล้านบาททีเดียว" นิพนธ์เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจก่อสร้างที่เขาคลุกคลีมาตั้งแต่เกิดในครอบครัวที่มีปู่เป็นเจ้าของโรงเลื่อย
ตาเป็นเจ้าของโรงแรมขนาดกลางและพ่อกับแม่คือสุรพันธ์และนิภาพรเป็นผู้รับเหมาะก่อสร้าง
และตัวเขาเองก็ได้จบมาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
แต่คนเราก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ไปหมดทุกเรื่องนิพนธ์ยังต้องเรียนรู้การบริหารการเงินของโครงการที่มีมูลค่า
450 ล้านนี้ด้วย กลังจากเกิดเหตุจิรวุฒิแลกเปลี่ยนหุ้นเป็นพื้นที่แทน นิพนธ์ก็ได้ตัดสินใจย้ายแหล่งเงินกู้จากธนาคารกรุงไทยซึ่งจิรวุฒิเอาชื่อเสียงและเครดิตไปค้ำประกันส่วนหนึ่งไว้ไปอยู่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งเคยให้เงินกู้นิพนธ์ในโครงการเจ้าพระยาลากูนมาแล้วงานนี้นิพนธ์เล่าให้ฟังว่า
"วงเงินกู้ที่เราได้มากกว่าที่เดิม คือประมาณ 300 กว่าล้านบาท โดยเราจะ
REFINANCE เงินกู้จากแบงก์กรุงไทยเดิมใช้ไปแล้ว 80 ล้านบาท และเราจะจัดเงินกู้วงเงิน
140 ล้านบาท INSTALLMENT FINANCE สำหรับลูกค้ารายย่อยในวันโอนกรรมสิทธิ์ด้วยที่เหลือก็เป็นเงินกู้สำหรับการก่อสร้าง"
แต่แผนการเงินจำเป็นต้องสอดคล้องกับแผนการขายและการตลาดนับตั้งแต่เปิดขายโครงการครั้งแรกในราวเดือนมีนาคามปีที่แล้ว
จิรวุฒิได้รับผิดชอบด้านนี้โดยเขาและนิพนธ์ได้ร่วมกันกำหนดแผนการขายขึ้นมา
3 ขั้น คือ ขั้นที่ขายดีที่สุด ขายดี และ ขายได้ โดยเฉลี่ยปกติ "มีการทำ
CASH FLOW ของโครงการเป็น 3 ส่วนเหมือนกัน ซึ่งผมพูดตรง ๆ ว่า จิรวุฒิสอนผมจะทำอย่างไร?"
นิพนธ์เล่าให้ฟัง
ถึงแม้แผนที่ตั้งเป้าไว้ในใจของคนหนุ่มทั้งสองจะดีแต่สถานการณ์ข่าวการลงทุกสร้างคอนโดมิเนียมในปี
2532 นั้นเกิดขึ้นทุกเดือน จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าใน 9 เดือนแรกของปีมีคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ในกรุงเทพเกิดมากถึง
146 โครงการซึ่งจะเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 32 - 35 โดยโครงการส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านสุขุมวิทมากที่สุดถึง
53 โครงการ และอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 14 โครงการ ส่วนที่เหลืออยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก
14 โครงการ
"การขายแข่งขันกันมากในโครงการที่มีทำเลย่านสุขุมวิททั้งหมด เพราะทุกโครงการมีขนาดใกล้เคียงกันคือประมาณ
2 ไร่และมีจุดเปรียบเทียบมาก และในช่วงแรกมีการตัดราคากันด้วย บางโครงการเอากำไรน้อยและยอมขาดทุนก็มี
ทำให้การขายของเราไม่เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้แต่เดิมว่าจะขายให้ได้จุดคุ้มทุนที่
68% ภายในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว" นิพนธ์เปิดเผย
ถึงจะขายได้ช้า แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้ใช้บริษัทบริหารการขายเช่น RICHARD
ELLISเพราะเหตุผลที่นิพนธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะถ้าบริษัทรับจ้างขายหมดเร็วก็มีผลเสียเมื่อมีการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทำให้เปลี่ยนแปลงราคาไม่ได้
ดังนั้นโครงการนี้จึงมี BROKER อิสระ 4 - 5 รายที่ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวชักชวนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเศรษฐีเมืองไทยและต่างประเทศ
คนหนึ่งในกลุ่มนี้ที่ขาย เศรษฐีและนักการเมืองฮ่องกง ได้ถึง 60 ล้านบาทก็คือ
TOMMY YOUNG ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวฮ่องกงที่ปักหลักในไทยนานถึง 19 ปี โดยทำธุรกิจส่งออกสินค้าไทยไปฮ่องกง
, ยุโรปและสหรัฐฯ TOMMY มีสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจและนักการเมืองชาวฮ่องกงอย่างดีและนี่คือสายสัมพันธ์ที่จิรวุฒิต้องการ
เขาติดต่อ TOMMY โดยผ่านทาง ดร.เชียรช่วง กัลยณมิตร ซึ่งขณะนั้น เป็นที่ปรึกษาของโค้วยู่ฮะกรุ๊ปอยู่แต่งานนี้
TOMMY YOUNG ก็ต้องร้าวฉานใจกับการกระทำของนิพนธ์ และจิรวุฒิ เพราะเขาถูกจับเข้าคุกในข้อหาเช็คเด้งที่เขาตีล่วงหน้าแทนลูกค้าชาวฮ่องกงนั้น
นิพนธ์กล่าวว่าเป็นเพราะได้มีการเตือนเมื่อถึงกำหนดเช็คจ่ายแล้วเป็นเดือนแต่มีการเด้งของเช็ค
2 - 3 ครั้งทำให้เขาต้องปล่อยให้เป็นเรื่องที่สำนักงานกฎหมายดร.อุกฤษ มงคลนาวินจัดการ
"ผมขายยูนิตละ 10 กว่าล้านก็มี ขายไปได้ทั้งหมด 60 ล้านบาท ซึ่งผมก็ทำให้เขาทุกอย่างโดยเขาให้ค่าธรรมเนียมนายหน้าผม
2% แต่ผมก็ตัดให้เป็นส่วนลดของเพื่อนที่มาซื้อพักผ่อน โดยผมเป็นคนเขียนเช็คล่วงหน้า
ทีนี้ลูกค้าเขามาดูที่เมืองไทยยังไม่เห็นขึ้นโครงการสักที เขาก็ไม่กล้าผ่อนต่อผมก็ปลอบใจเขาว่าไม่เป็นไร
ไป ๆ มา ๆ เขาแจ้งตำรวจจับผมตอนทุ่มหนึ่งในข้อหาว่าผมไม่มีเงินจ่าย ทำให้ผมโมโหมากที่ช่วยเขาแล้วยังทำให้ผมเจ็บอีก
ต่อไปถ้าโครงการช้าผมไม่ช่วยแล้ว ให้เขาฟ้องร้องกันเอง" งานนี้ TOMMY
YOUNG ไม่ว่าอะไรแต่จะไม่มีการทำธุรกิจกับกลุ่มนี้ต่อไปแล้วส่วนลูกค้าก็ยังคงอยู่และได้ติดต่อชำระเงินโดยตรงกับบริษัทมูน
ทาวเวอร์
ในเดือนตุลาคมปี32 การบริหารการขายและการตลาดก็ตกอยู่ภายใต้การบริหารของนิพนธ์
โดยมีการย้ายสำนักงานขายจากโครงการที่สุขุมวิทซอย 59 มาอยู่ที่บริษัท 012
ดีไซน์ นิพนธ์คือผู้ควบคุมแผนทั้งหมดทั้งการเงิน การขายและการก่อสร้าง ขณะที่จิรวุฒยุ่งกับการดูแลบริหารกิจการของครอบครัว
ดังนั้นเมื่อเกิดข่าวครึกโครมของการแลกพื้นที่ 1,715 ตารางเมตรกับหุ้น
40% ของจิรวุฒในต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้ นิพนธ์จึงกล่าวว่าไม่มีผลกระทบใด ๆ
ทั้งสิ้นต่อโครงการเพราะทีมงานขายก็ยังเหมือนเดิมและนิพนธ์ได้เน้นแรงจูงใจลูกค้าด้วยการลงทุนเพิ่ม
10 ล้านบาททำ LOBBY FUNCTION HALL ให้หรูหราเหมือนโรงแรมชั้นหนึ่ง นอกจากนี้จุดตอกย้ำความมั่นใจทั้งลูกค้าเก่าและใหม่
คือความคืบหน้าของการก่อสร้างที่มาติกา นิรันดร์วิชย อดีตประชาสัมพันธ็โรงแรมเอราวัณซึ่งเป็นภรรยานิพนธ์เป็นผู้ดูแลอยู่
ขณะนี้โครงการ MOON TOWER ขายไปได้ 68 % ซึ่งรวมเอาพื้นที่ 1,715 ตารางเมตร
ซึ่จิรวุฒิเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์จะขายต่อให้ผู้อื่นด้วยทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่ที่เหลืออยู่
32 % ของพื้นที่ทั้งหมด 14,000 ตารางเมตร และแผนด้านราคาตั้งแต่เปิดโครงการใหม่
ๆ ได้ขายตารางเมตรละ 24,000 บาทขึ้นไปและได้มีการปรับราคาขาย 3 - 5 % ทุก
3 เดือน ขณะนี้ราคาขายโดยเฉลี่ยตารางเมตรละ 35,000 บาท
"ที่เหลือเราก็ยังขายได้เรื่อย ๆ เพราะตามแผนเราจะขายได้เหมดก่อนตึกเสร็จทำให้ไม่น่าห่วง
เพราะส่วนใหญ่ที่เหลือเป็นยุนิตเล็กและเป็นห้องชั้นล่าง ส่วนชั้นบน ๆ จะขายได้เร็วแม้ราคาจะสูงถึง
20 ล้านบาทก็ตาม เราก็ขายได้กับนักธุรกิจชาวยุโรปที่มีธุรกิจในเมืองไทยซึ่งเขาจะชอบยิ่งสูงยิ่งดี
แต่เราก็มีลูกค้าเป็นคนไทยมากที่สุดถึง 80 % เช่น คุณบัณฑูร ล่ำซำ หรือคุณอภิวัฒน์
นันทาภิวัฒน์ ก็ซื้อให้ลูกชายซึ่งจะกลับจากเมืองนอก" มาติกา นิรันดร์วิชย
กรรมการบริหารที่ดูแลการขายและการตลาดเล่าให้ฟัง
ณ วันนี้ภารกิจของนิพนธ์ นิรันดร์วิชยกับโครงการ "MOON TOWER"
น่าจะเป็นไปได้ดีเพราะ โครงการได้รอดพ้นสู่จุดคุ้มทุนแล้ว เพียงแต่รอการผลักดันให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุดตามกำหนดที่จะต้องเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า
หากไม่มีอะไรสะดุดเสียก่อน