ศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ มือกฎหมายภาษีตลาดหุ้น


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

คนหนุ่มที่ปรากฏตัวเป็นที่สนใจของผู้เข้าร่วมสัมมนาเรื่อง"การคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ " ที่จัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกับสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรากฏว่า ศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ นักกฎหมายที่ วัยเพิ่งก้าวล่วง 35 ปีเพียงไม่กี่เดือนเป็นวิทยากรที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

เพราะแทนที่เขาจะพูดเรื่องการให้การคุ้มครองผู้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นว่าเขาพูดในประเด็นภาระภาษีสำหรับนักเล่นหุ้นทั้งหลายได้ค่อนข้างละเอียดลออและเข้าใจง่าย ที่สำคัญภาษีนั้นก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีแต่เสีย ไม่มีคำว่า "ได้ - เสีย" เหมือนเล่นหุ้น เพราะฉะนั้นถ้าใครมาให้เบาะแสว่าทำอย่างไรจึงจะเสียน้อยที่สุดหรือไม่เสียเลยยิ่งดีใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่คนย่อมให้ความสนใจเป็นพิเศษ

บางคนถึงกับตกใจเมื่อมาทราบว่าถ้ามัวแต่เพลินกับกำไรจากการเล่นหุ้นจนลืมไปจ่ายภาษีให้รัฐหรือจ่ายภาษีผิด ๆ ถูก ๆ อาจถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังมีหวังต้องล้มละลายเอาง่าย ๆ เพราะโดนค่าปรับถึง 200 % และเงินเพิ่มอีก 1.5 % ต่อเดือน

ศิริพงษ์ นับว่าเป็นนักกฎหมายทางด้านภาษีอากรที่อายุน้อยที่สุดในบรรดานักกฎหมายภาษีอากรที่มีอยู่ประมาณ 30 คนในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มภาษีอากรและธุรกิจกับหัวหน้ากลุ่มกฎหมายการเงินและการธนาคารของสำนักงานติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ และเป็นอุปนายกฝ่ายวิชาการสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

"บางคนอาจเข้าใจว่า กิจกรรมในตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับยกเว้นภาษีหมด แต่ความจริงแล้วมีรายละเอียดที่จะต้องแยกแยะอยู่มากพอสมควร" อุปนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยกล่าว

ศิริพงษ์ พูดถึงภาระภาษีของผู้เล่นหุ้นในตลาดว่าจะต้องแยกแยะออกมาศึกษาเป็น 2 ประเภทกล่าวคือประเภทที่มีรายได้จากเงินปันผล กับประเภทที่มีรายได้จากกำไรในการขายหุ้น

กรณีที่มีรายได้จากเงินปันผล ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาและเป็นบุคคลที่อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 180 วัน เมื่อได้รับเงินปันผลจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องถูกหักภาษีเงินได้ไว้ในอัตราก้าวหน้าคือตั้งแต่ 5 ถึง 55 % แต่เมื่อคำนวณภาษีรวมกันทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 15 % ของเงินปันผลที่จ่าย

เงินที่ถูกหักไว้ก่อนนี้ผู้ได้รับเงินปันผลมีสิทธิที่จะเลือกไม่นำไปรวมเป็นเงินได้ประจำปีประเภทอื่น ๆ คือยอมให้หักแล้วหักเลย ถ้าจ่ายเกินไปก็ไม่รับคืน หรือไม่ขอใช้เครดิตภาษีที่หักไว้นั้นในการ คำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีประจำปี ซึ่งถ้าเลือกวิธีนำรายได้จากเงินปันผลนี้ไปรวมคำนวณรายได้ประจำปีด้วย ก็จะได้รับเครดิตภาษี 30 % ของเงินปันผลที่ได้รับ

"นั่นหมายความว่าถ้านำรายได้จากเงินปันผลไปรวมคำนวณแล้วอาจจะมีภาษีคืน หรืออาจจะต้องจ่ายเพิ่มก็ได้ ฉะนั้นในกรณีเช่นนี้ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งจะต้องมีการวางแผนให้ดีเสียก่อน" ศิริพงษ์กล่าว

ในกรณีเดียวกันนี้ถ้าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเลือกกล่าวคือจะถูกหักภาษีแล้วหักเลย

ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลจำพวกบริษัทที่ได้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นก็เฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น ส่วนบริษัทธรรมดาทั่วไปจะได้รับยกเว้นเพียงครึ่งเดียว

แต่อย่างไรก็ตามสิทธิที่จะได้รับยกเว้นในกรณีนิติบุคคลนี้จะต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทนั้น ๆ เป็นผู้มีเงินได้ประเภทเงินปันผลเกินกว่า 15 % ของเงินได้รวมกันทั้งหมดของรอบบัญชีนั้น ๆ และจะต้องถือหุ้นที่ก่อให้เกิดปันผลนั้นทั้งก่อนและหลังมีปันผลไม่น้อยกว่า 3 เดือน คือรวมเวลาถือหุ้นนั้นไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ประเภทที่มีรายได้จาก กำไรจากการขายหุ้น ถ้าเป็นบุคคลธรรมดากฎหมายจะยกเว้นภาษีให้เฉพาะที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น

แต่ถ้าผู้ขายเป็นนิติบุคคลในประเทศหรือนิติบุคคลต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ผู้ขายจะต้องนำกำไรนั้นมาคำนวณเป็นเงินได้ประจำปี โดยไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และถ้าเป็นนิติบุคคลต่างประเทศและไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทยกฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 25 % ของกำไร และให้นำส่งสรรพากรภายใน วันที่ 7 ของเดือนถัดไป

ในกรณีเดียวกันถ้านิติบุคคลต่างประเทศนั้นเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทย กำไรนั้นจะได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย

นี่คือความซับซ้อนวกไปวนมาของการจัดเก็บและยกเว้นภาษี ซึ่งหากไม่มีการวางแผนกันอย่างละเอียดรอบคอบแล้วก็จะทำให้ผู้ลงทุนทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเสียประโยชน์ไปได้ เช่นอาจจะเสียภาษีเกินไปกว่าที่ควรจะเสียหรือเสียไม่พอหรือไม่นำพาก็อาจจะถูกปรับและต้องจ่ายเพิ่มเป็นจำนวนมากก็ได้

ศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องภาษีสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯนี้เป็นพิเศษในการขึ้นมาเป็นวิทยากรในการสัมมนาของเขา

การปรากฏตัวของนักกฎหมายหนุ่มคนนี้ครั้งแรกทำให้คนที่ร่วมสัมมนาวันนั้นไม่ค่อยมั่นใจนัก เพราะยังดูอายุน้อย ซึ่งต่างกับนักกฎหมายทั่วไปที่อายุค่อนข้างมาก แต่ศิริพงษ์ก็สามารถถ่ายทอดความรู้และวิธีการให้แก่ผู้ร่วมสัมมนาได้ค่อนข้างละเอียดและเข้าใจง่าย ซึ่งดูจะเรียกความเชื่อถือกลับมาได้มากพอสมควร

"เรื่องอายุน้อยนี่มีปัญหาอยู่เหมือนกันเมื่อพบกับลูกความครั้งแรก แต่ถ้าได้พูดคุยทำความรู้จักกันระดับหนึ่งแล้ว ผมเชื่อว่าปัญหาจะหมดไป และปัจจุบันนี้นักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็หันมาให้ความเชื่อถือแก่นักกฎหมายรุ่นใหม่ ๆ มากขึ้น" ศิริพงษ์กล่าวถึง อุปสรรคที่เกิดจากวัย

ว่ากันที่จริงแล้ว แม้จะดูอายุน้อยแต่ก็เป็นนักกฎหมายที่คร่ำหวอดอยู่ในอาชีพนี้มานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่จบปริญญาโทด้านการสืบสวนสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมจากมหาวิทยาลัยคาร์ดีฟประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2521 ซึ่งว่ากันที่จริงแล้วสายที่เขาเรียนมาก็ไม่ตรงกับด้านภาษีอากรโดยตรง เพราะความตั้งใจที่ไปเรียนทางด้านการสืบสวนสอบสวน และกระบวนการยุติธรรมนั้นก็เพราะต้องการเข้ามาทำงานในกรมตำรวจตามคำแนะนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับพ่อของเขา โพธิ์ ศุภกิจจานุสรณ์ คหบดีผู้มีชื่อเสียงของชลบุรีคนหนึ่งในสมัยนั้น

แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองหลังจากที่เขาเรียนจบมาพอดี ศิริพงษ์จึงตัดสินใจเข้าทำงานกับสำนักงานบัญชี SGV ของยุกติ ณ ถลาง ตามคำชักชวนของพิชัย สุรินทราบูรณ์ หัวหน้าฝ่ายภาษีอากรของ SGV ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพ่อเขาอีกคนหนึ่งจึงทำให้เขาได้เรียนรู้ภาษีอากรในแง่ของการปฏิบัติมากขึ้น

ศิริพงษ์อยู่ที่ SGV ได้ 8 ปีจึงเป็นการเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ด้านภาษีอากรให้แก่เขาเป็นอย่างมากทั้งจากการปฏิบัติงานแบบวันต่อวันและการฝึกอบรมระยะสั้น

SGV ส่งเขาไปฝึกอบรมและดูงานที่ศูนย์ฝึกอบรมที่ใหญ่ที่สุดของ SGV ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมในด้านการวางแผนภาษีในสัญญาทางธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ

แต่ด้วยเหตุที่ระเบียบของ SGV มีว่าไม่ให้สามีภรรยาทำงานอยู่ด้วยกัน เมื่อเขาแต่งงานกับนักบัญชีของ SGV เขาจึงขอลาออก แม้ทางสำนักงานจะยกเว้นให้ในกรณีของเขาเขาก็ไม่อาจละเมิดกฎของสำนักงานจึงต้องออกมาในที่สุด

ตำแหน่งสุดท้ายใน SGV ของศิริพงษ์คือหัวหน้าฝ่ายภาษีอากรซึ่งเป็นตำแหน่งที่นักกฎหมายภาษีอากรอาวุโสหลายคนเคยผ่านมาแล้วอย่างเช่น ดร.มานะ พิทยาภรณ์ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร และพิชัย สุรินทราบูรณ์

ดิลลิกี แอนด์ กิบบินส์ สำนักกฎหมายที่มีอายุกว่า 90 ปี ชักชวนให้ศิริพงษ์เข้าร่วมงานด้วยในเงื่อนไขที่เขาพอใจทั้งค่าตอบแทน เงินเดือนสวัสดิการ และการศึกษาต่อรวมทั้งการพัฒนาองค์กรโดยรวมที่เขาอยากจะทำ

หลังจากเข้ารับงานไม่ถึงปีติลลิกีก็ส่งเขาไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพทนายความชั้นสูง ซึ่งประกอบด้วยวิชาหลัก ๆ 4 คือวิชาภาษีอากร การวางแผนธุรกิจ กฎหมายหลักทรัพย์ และวิชาการเจรจาต่อรองและทำสัญญา ซึ่งเรียนกันทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติ

ผู้เข้าเรียนในหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอัยการทนายความและนิติกรอาวุโสในสหรัฐอเมริกา ในรุ่นของเขามีคน ต่างชาติเข้าเรียนด้วยเพียง 4 คนเท่านั้นคือตัวเขาเองกับสุรศักดิ์ วาจาสิทธิ ผู้พิพากษานักเรียนทุนจากกระทรวงยุติธรรม และนักกฎหมายชาวญี่ปุ่นกับเยอรมนีอีกประเทศละคน

จากนั้นก็เข้าฝึกงานกับสำนักงานกฎหมาย FOLEY,HOAG & ELIOT ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายที่มีชื่อของเมืองบอสตัน จากนั้นก็ไปฝึกงานที่วอชิงตัน จากนั้นจึงบินไปฝึกงานเพิ่มเติมด้านการวางแผนประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่กับรัฐบาลกับสถาบันฝึกอบรมทางธุรกิจชื่อ LLOYD INTERNATOINAL ที่กรุงลอนดอนก่อนที่จะบินกลับมาทำงานที่เมืองไทยเมื่อปลายปี 2532 ที่ผ่านมา

ในสำนักกฎหมายติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ เขารับผิดชอบเป็นหัวหน้ากลุ่มภาษีอากรและธุรกิจ และหัวหน้ากลุ่มกฎหมายการเงินและการธนาคาร เป็นหนึ่งในเก้าคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของสำนักกฎหมายแห่งนี้ และเป็นหนึ่งในสามคนที่กำลังเตรียมการขยายงานสำนักงานที่จะรุกตลาดในอินโดจีนในเร็ว ๆ นี้

เห็นประสบการณ์อย่างนี้ก็ต้องยอมรับว่าอายุน้อยนั้นมิได้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบวิชาชีพกฎหมายเลยในยุคปัจจุบัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.