ปตท.ลุยผลิตก๊าซชีวภาพอัด เปิดแผนผลิตเชื้อเพลิงป้อนรถยนต์NGV


ASTV ผู้จัดการรายวัน(29 กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.จับมืออุบล ไบโอก๊าซ ผลิตก๊าซชีวภาพอัดจากน้ำเสียโรงงานแป้งมันมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ NGVในพื้นที่ภาคอีสาน ชี้ช่วยลดการขาดทุนการขายNGVของปตท.ก.ก.ละ 1 บาท เผยล่าสุดแบกขาดทุนสะสมจากการขาย NGV ไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท

วานนี้ (28 ก.ย.) นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการวิจัยและสาธิตการปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท อุบลไบโอก๊าซ จำกัด เพื่อผลิตและปรับปรุงคุณภาพคุณภาพก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียของโรงงานแป้งมันสำปะหลังให้เป็นก๊าซชีวภาพอัดหรือCompressed Bio-methane Gas (CBG) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมในการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์

นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้รับซื้อก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียของโรงงานแป้งมันสำปะหลังดังกล่าว เพื่อมาปรับปรุงคุณภาพและจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกให้รถยนต์ NGV ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะช่วยลดภาระการขาดทุนจากการขาย NGV ของปตท.ก.ก.ละ 1 บาท เนื่องจากลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนวางท่อจากแนวท่อส่งก๊าซฯ และสถานีบริการหลักในพื้นที่ห่างไกล คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปี 2554

โดยบริษัท อุบล ไบโอก๊าซ จะจัดส่งก๊าซชีวภาพให้ปตท.เพื่อปรับปรุงคุณภาพและผลิตก๊าซชีวภาพอัดในปริมาณ 2,362 ตัน/ปี เทียบเท่าการใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 2.3 ล้านลิตร/ปี ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในชุมชน หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จก็จะขยายการลงทุนโดยนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร ปศุสัตว์ และการบำบัดน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือนมาเป็นผลิตเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ที่ห่างไกลแนวท่อส่งก๊าซฯในอนาคต

ปัจจุบันต้นทุนการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) รวมค่าเนื้อก๊าซฯและค่าขนส่งอยู่ที่ก.ก.ละ 17-18 บาท ขณะที่ราคาขายNGVที่ภาครัฐกำหนดไว้อยู่ที่ 8.50 บาท/ก.ก. โดยมีเพดานราคาขายNGVที่ต่างจังหวัดไม่เกิน 10.34 บาท/ก.ก. ส่งผลให้ปตท.ต้องแบกรับภาระการขาดทุนถึงก.ก.ละ 6 บาท แต่ก็ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ก.ก.ละ 2 บาท ขณะที่ยอดขาย NGV เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นปีที่แล้วอยู่ที่วันละ 4,300 ตัน ขยับขึ้นเป็น 5,000 ตัน/วันในปัจจุบัน ส่งผลให้ปตท.แบกรับภาระขาดทุนสะสมในช่วง 6-7ปีรวมทั้งสิ้น 2.1 หมื่นล้านบาท

นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ปตท.ได้ลงนามความตกลง (MOU) กับฟาร์มสุกรที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำมูลสุกรมาทำก๊าซชีวภาพ ซึ่งขณะนี้บริษัทฟาร์มสุกรดังกล่าวอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เปรียบเทียบการลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบ

ทั้งนี้ ปตท.ได้มีการเสนอราคารับซื้อก๊าซชีวภาพในราคาที่เหมาะสมใกล้เคียงกับการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า แต่โครงการดังกล่าวมีจุดด้อยตรงที่หากเอกชนมีการนำพลังงานชีวมวลไปผลิตไฟฟ้าจะได้ Adder 0.30 บาท/หน่วย ดังนั้น ทางปตท.จึงเตรียมเสนอให้รัฐพิจารณาสนับสนุนการนำก๊าซชีวภาพดังกล่าวมาปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้ในรถยนต์โดยให้ Adder เช่นเดียวกับนำไปผลิตไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้ NGVเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ NGVอยู่ที่ 230 คัน/วัน ซึ่งใกล้เคียงปี 2551 ที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงสุดถึง 140 เหรียญสหรัฐ โดยช่วงนั้นการติดตั้งเครื่องในรถยนต์ NGVวันละ 240 คัน/วัน เนื่องจากผู้บริโภคเชื่อมั่นในเทคโนโลยี มีความปลอดภัยและประหยัดเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ติดNGVแล้ว 2.4 แสนคัน แบ่งเป็นรถขนาดใหญ่ 16% รถแท็กซี่ 27-28% ที่เหลือเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งตัวเลขรถยนต์ที่ติดNGVในขณะนี้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าปีนี้จะมีรถที่ติดNGVแค่ 2.12 แสนคัน ปัจจุบันปตท.มีปั๊มNGV 416 แห่งคาดว่าสิ้นปีนี้ 460 แห่งทั่วประเทศ

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวทางกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนการวิจัย 35 ล้านบาทจากเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 83 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42% ของเงินลงทุนรวม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.