เกษตรฯ สั่งรับมือไข่ไก่ล้นตลาดปี 54 เร่งคนไทยบริโภค 200 ฟอง/ปี


ASTV ผู้จัดการรายวัน(27 กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.เกษตรฯ เตรียมรับมือปริมาณไข่เพิ่ม 4.5 ล้านฟอง/วัน ช่วงกลางปี 54 หลังการนำเข้าเพิ่มปริมาณไก่ยืนกรง 5.7 ล้านตัว พร้อมใช้การรณรงค์คนไทยบริโภคไข่เพิ่ม 200 ฟองต่อปี ผลศึกษา ชี้ ยังควรมี Egg Board ต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อระบบ

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เตรียมวางแนวทางรับมือสถานการณ์ผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปริมาณผลผลิตไก่ไข่จากการนำเข้าเพิ่มเติมจะส่งผลให้แม่ไก่ยืนกรงเพิ่มขึ้น 5.7 ล้านตัว ไข่ไก่ 4.5 ล้านฟองต่อวัน จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2554 พร้อมได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกสังกัด อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ในการรณรงค์บริโภคไข่ไก่จากเดิมจำนวน 165 ฟองต่อคนต่อปี ให้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย คือ 200 ฟองต่อคนต่อปี ให้ได้ในที่สุด

สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมขณะนี้ ปริมาณการส่งออกไข่ไก่ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 รวม 110 ล้านฟอง มูลค่า 283 ล้านบาท ลดลงจากจำนวน 267 ล้านฟอง ของช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 59 ซึ่งเป็นไปตามาตรการการชะลอการส่งออกไข่ไก่ชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาไข่ไก่ในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนแผนการผลิตปี 2553 ที่ได้วางปริมาณแม่ไก่ไข่พันธุ์พ่อ-แม่พันธุ์ (P.S.) 405,721 ตัว ปัจจับันมีการนำเข้าแล้ว 326,910 ตัว ส่วนการขอนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ ภายหลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นคนละส่วนของแผนการผลิตนั้น ปัจจุบันมีผู้ขอนำเข้าทั้งหมด 11 ราย นำเข้าไก่ไข่พันธุ์ จำนวน 62,888 ตัว และอีก 2 ราย แสดงความประสงค์ขอนำเข้าในปี 2554 จำนวน 28,000 ตัว

สำหรับผลการศึกษาปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) นั้น รมว.เกษตร กล่าวว่า ในเบื้องต้นมีความเห็นว่า ยังควรให้มี Egg Board ต่อไป เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงไก่ไข่ของประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย เพื่อบรรลุเป้าหมาย 3 ประการ คือ การแก้ปัญหาไข่ไก่ราคาแพง สร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับเกษตรกร และผู้บริโภคได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี

ทั้งนี้ ควรมีแผน 3 ระยะ แบ่งออกเป็น ระยะสั้น มีข้อเสนอแนะ อาทิ ควรปรับปรุง Egg Board ในส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองที่เป็นกลางและมีประสิทธิภาพ รวมถึงปรับนโยบายการนำเข้าไก่ไข่พันธุ์ให้กระจายผลผลิตลูกไก่ไปยังเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อิสระรวมตัวกันเป็นสถาบันเกษตรกรเพื่อจะได้รับสิทธิการผลิตลูกไก่ไข่เอง

ระยะกลาง ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พัฒนาสถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านการผลิตและการตลาด วิจัยและพัฒนาการแปรรูปไข่ไก่ให้มีความหลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งขยายตลาดผลิตภัณฑ์จากไข่ไก่ให้กว้างขวางมากขึ้นและส่งออกได้

ส่วนระยะยาว ควรพัฒนาโครงสร้างการเลี้ยงไก่ไข่ให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ทัดเทียมกัน รวมถึงพัฒนาเกษตรกรรายกลาง-รายย่อยให้เป็นธุรกิจเกษตรขนาดย่อย และยังมีการเสนอแนะถึงการกำหนดให้มีการสร้างพันธุ์ไก่ไข่ในประเทศเพื่อพึ่งพาตนเองให้เป็นวาระแห่งชาติอีกด้วย ซึ่งรายละเอียดข้อเสนอแนะทั้งหมดจะต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ต่อไป โดยจะรอผลการศึกษาซึ่งวิเคราะห์เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2553 เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่งและรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามขั้นตอนต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.