A Lot Of Thai ความท้าทาย... สไตล์เล็กพริกขี้หนู


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 กันยายน 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

๐ แม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่สำหรับคนตัวเล็กๆ การสร้างให้ประสบความสำเร็จเป็นความท้าทายไม่น้อย

๐ A Lot Of Thai : Home Cooking Classlมีมุมมองที่ต่างจากรายอื่น

๐ ที่นี่ใช้ความเป็นตัวตนฉีกหนีการแข่งขันที่ดุเดือดได้อย่างไร ?

๐ โรงเรียนสอนทำอาหารที่ชาวต่างชาติบอกต่อมากที่สุด

“A Lot Of Thai” กิจการสอนทำอาหารที่ดำเนินมากว่า 10 ปีแล้ว โดยผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ได้อย่างดี หลังจากที่มีประสบการณ์สอนทำอาหารให้กับโรงเรียนสอนทำอาหารแห่งหนึ่งมา 2 ปี แต่เพราะการเป็นลูกจ้างมีความอึดอัดจากการไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีนักจากนายจ้าง

“ศิริเพ็ญ ศรียาภัย” จึงเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารเล็กๆ ของเธอขึ้นมา และได้สามี “คมสัน ศรียาภัย” ที่เป็นลูกจ้างอยู่และมีปัญหาเดียวกันจึงลาออกจากงานเดิมมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ ด้วยความสามารถด้านกราฟฟิกดีไซน์ เขาช่วยทำให้โบร์ชัวร์เครื่องมือสื่อสารชิ้นสำคัญของ“A Lot Of Thai” ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างที่เธอคิดได้อย่างดี และยังเป็นผู้ช่วยสอนที่ดีอีกด้วย

กิจการสอนทำอาหารที่ทั้งสองคนช่วยกันสร้างจึงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายใน 2 ปีแรก ลูกค้าต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่หลั่งไหลมาเรียนที่ “A Lot Of Thai” ด้วยความเป็น “Home Cooking Class” ชั้นเรียนที่ใช้ส่วนหนึ่งของบ้านพักอาศัยมาเป็นสถานที่เรียนเปิดให้ชาวต่างชาติซึ่งสนใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยมาเรียนรู้ความเป็นครอบครัวใหญ่แบบไทยๆ ที่มีพ่อแม่ลูกและปู่ย่าตายายอยู่ด้วยกัน เป็นจุดขายหนึ่งที่แตกต่างจากโรงเรียนสอนทำอาหารอื่นๆ ซึ่งมักจะต้องการสร้างภาพลักษณ์และยกระดับเป็นสถาบัน และการอยู่ที่เชียงใหม่บ้านเกิดกับครอบครัวกลายเป็นจุดขาย แทนที่จะเป็นอุปสรรค

“เมื่อมาถึงเมืองไทย หัวข้อที่น่าสนใจสำหรับลูกค้าต่างชาติคือวัฒนธรรม หนึ่งในวัฒนธรรมคืออาหาร ความเป็นอยู่แบบไทย ซึ่งน่าจะผ่านจากครอบครัว การได้มาดูบ้านคนๆ หนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่จริงๆ เป็นเสน่ห์ ไม่ได้มีการเซ็ตอัพขึ้นมาให้สวยหรูและคนในครอบครัวออกมาต้อนรับ มาช่วยกันดูแลลูกค้า และเราสามารถอธิบายได้ทั้งเรื่องวิถีชีวิตควาเมป็นอยู่ และเรื่องทั่วไป ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกัน”

๐ จุดเด่นที่แตกต่าง

จุดเด่นที่แตกต่างจากที่อื่นในแง่ของการเรียนการสอนมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรก “ตัวของเธอ” ซึ่งมีวิธีการสอนและภาษาที่เข้าใจง่าย ทำให้ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ ด้วยการใช้ภาษาที่อธิบายได้ชัดเจนแบบไม่ไขว้เขว การสอนโดยให้รู้คอนเซ็ปต์อาหารไทยภายในวันเดียวที่มาเรียนหรือภายใน 6 เมนูต่อคอร์สที่ได้ลงมือทำจะผสมผสาน ถ้ามาเรียนอีกจะถึงขั้นเก่งได้อย่างรวดเร็ว เพราะรู้ว่านักท่องเที่ยวมีข้อจำกัดเรื่องเวลา การแบ่งเป็นหมวดหมู่ประเภทของอาหารและไอเดียที่สร้างสรค์ได้ ให้รู้ความเหมือนและความต่างของอาหารแต่ละเมนู เพื่อให้รู้หลักการและการนำไปใช้ ทำให้เห็นภาพของอาหารไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ การนำสิ่งที่รู้อยู่แล้วมาเรียบเรียงและพูดให้ฟังอีกที เช่น การหั่นของต้องจับมีดใกล้ๆ เพื่อควบคุมมีดด้วยนิ้วชี้ได้สะดวก เหมือนวิชาฟิสิกข์ที่สอนว่าแท่งสั้นๆ ควบคุมง่ายกว่าแท่งยาวๆ หรือไม่ควรต้มน้ำมะนาว แต่ควรบีบตอนหลังสุดเพื่อให้ได้สารอาหารมากกว่า หรือไม่บอกว่าใช้เวลากี่นาที แต่บอกว่าเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นให้ทำสิ่งนี้ต่อไป เพราะลูกค้าต่างชาติชอบความมีเหตุผล และการทำอาหารคือการนำทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์มาผสมผสานกัน ถ้าลงตัวอาหารก็อร่อยและหน้าตาดูดี

นอกจากเรียนรู้อาหารไทย เธอยังศึกษาอาหารของแต่ละชาติและวัตถุดิบต่างๆ เพื่อสามารถแนะนำให้ลูกค้าที่มาเรียนนำไปปรับประยุกต์ทดแทนใช้ได้เมื่อกลับไปที่ประเทศของเขา รวมทั้ง เรียนรู้ศัพท์ ความหมาย และเทคนิคการทำอาหารในรายละเอียดและลึกซึ้ง เพราะนอกจากลูกค้าทั่วไปแล้ว ยังมีเชฟที่มีประสบการณ์สูงมาเรียนกับเธออีกด้วย

“เทคนิคในการทำอาหารเป็นอีกเรื่องที่เราต้องพูดเน้นให้ลูกค้ารู้สึกได้ว่าเป็นความเก่งและความคิดของเราที่รู้เรื่องนั้นๆ และเป็นทางลัดสำหรับลูกค้าที่เราได้มาจากประสบการณ์แบบไม่มีใครรู้เหมือนเรา”

ส่วนที่ 2 “ขนาดของชั้นเรียน” ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 8 คนต่อครั้ง จะไม่มีการเพิ่มมากกว่านี้เพราะเป็นการไม่เอาเปรียบลูกค้าและเน้นในเรื่องคุณภาพของการเรียนการสอนที่ได้จริงๆ ขณะที่ที่อื่นมักจะเปิดรับมากกว่าที่กำหนดไว้ ทำให้ลูกค้าเรียนได้ไม่เต็มที่

การทำ “Cook Book” เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่แสดงให้เป็นความคิดสร้างสรรค์โดยมองการใช้งานของลูกค้าเป็นตัวตั้ง เธอจึงออกแบบ Cook Book ที่ไม่เหมือนใคร เช่น ใช้สีสันสดใสแทนที่จะใช้สีขาวซึ่งดูสะอาดตาแต่เลอะเทอะง่ายเหมือนเล่มอื่นๆ ทั่วไป ใช้การอธิบายอย่างเข้าใจง่าย และจัดวางเนื้อหารูปเล่มเป็นแนวนอนเพื่อสะดวกในการใช้งานจริง เป็นต้น จึงกลายเป็น “จุดดึงดูด” ลูกค้าได้อย่างดีอีกเรื่องหนึ่ง

“ชุมชน” เป็นอีกจุดหนึ่งที่เธอเน้นและเป็นกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรได้อย่างดี เพราะแทนที่จะซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือโมเดิร์นเทรดที่มีสินค้าราคาถูกกว่ามากมาย แต่เธอกลับเลือกซื้อกับพ่อค้าแม่ค้าทั้งที่ราคาแพงกว่า เพราะเมื่อเธอซื้อของในชุมชน เมื่อเธอพาลูกค้าไปทัวร์ที่ตลาดก็จะได้รับการต้อนรับที่ดีจากชุมชน ในที่สุดดลูกค้าจะประทับใจ เป็นทั้งมิตรไมเตรีและการดูแลสังคมไปในตัว ค่าเรียนที่เธอได้จากลูกค้าหมุนเวียนมาสู่ชุมชน เป็นการแบ่งปันกันในทางหนึ่งอีกด้วย

๐ เติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในแง่การแข่งขันเธอบอกว่า ต้อง “รู้เขารู้เรา” และ “พัฒนาตัวเอง” อยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งสำคัญ โดยศึกษาด้วยตนเองทุกวิถีทาง ไม่ได้เรียนจากสถาบันที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่มีความรู้ไม่น้อยไปกว่ากัน แต่หากลูกค้าไม่มั่นใจจะแนะนำให้ไปทดลองเรียนที่อื่น เพื่อจะสัมผัสโดยตรงและเปรียบเทียบความแตกต่างได้เอง เพราะเชื่อว่าในที่สุดลูกค้าจะกลับมาเลือกเธอ

ล่าสุด เธอเพิ่งจะขึ้นราคาค่าเรียนเพราะวัตถุดิบต่างๆ ขึ้นราคาไปมากแล้ว นอกจากนี้ ยังเพื่อฉีกหนีการแข่งขันด้วยการใช้ราคาเป็นตัวสร้างความแตกต่างกับคู่แข่งและการแข่งขันที่เน้นการตัดราคา แต่เป็นการขึ้นราคาที่เหมาะสม และคำนึงถึงลูกค้าในกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบแบ๊กแพ็คให้สามารถจ่ายได้ ด้วยการขึ้นราคาหลักสูตรอีก 200 บาท จาก 1,000 บาท เป็น 1,200 บาทต่อหลักสูตร

ในอนาคต เธอยังเตรียมที่จะยกระดับด้วยการขอการรับรองหลักสูตรที่จะเขียนขึ้นมาใหม่ 150 ชั่วโมง จากกระทรวงศึกษาาธิการเพื่อให้ลูกค้าที่เป็นคนไทยนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาชีพได้ ส่วนการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจช่วงโลว์ซีซั่น ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติมาน้อย จึงคิดที่จะทำเป็นแพ๊กเกจ 1 เดือน โดยนำเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาผสมผสานกับการเรียนทำอาหาร โดยมองว่าเป็นการต่อยอดจากศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างดี

แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกทำให้ลูกค้าลดน้อยลงไปบ้าง แต่เธอก็มองว่ายังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก อย่างไรก็ตาม เธอเตรียมแผนเพื่อลดความเสี่ยงโดยอาจจะเปิดคาเฟ่เล็กๆ เป็นธุรกิจเสริม เพราะนอกจากฝีมือในการทำอาหารแล้ว ชื่อเสียงที่มีอยู่ไม่น้อยจากการที่ได้ขึ้นมาอยู่ในระดับหัวแถวของโรงเรียนสอนทำอาหารที่ได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติแบบปากต่อปาก จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นได้

“เราเช็กอยู่เรื่อยๆ ว่าเราอยู่ในจุดไหน ทั้งฟังเสียงลูกค้า และจากสื่อต่างๆ ที่เข้ามาหาเราเอง มีหลายสื่อที่เลือกเราไปลงในเนื้อหาของเขา เรารู้สึกภูมิใจ สื่อต่างชาติที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักอย่างมาก เพราะรายการของเขาออกไปทั่วโลก ก่อนหน้านี้มี Micheal Smith ที่ทำรายการ Chef Abroad ล่าสุด Gordon Ramsey ซึ่งทำรายการ The Great Escape เลือกเราให้เข้าร่วมรายการ ซึ่งตามแผนจะออกอากาศปีหน้า”

“แม้ว่าธุรกิจนี้จะแข่งขันสูง แต่เราเลือกการทำธุรกิจแบบผ่อนคลายหรือพอเพียง เพราะคิดว่าเป็นการทำให้เราสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน และไม่ต้องการให้การทำธุรกิจมากดดันชีวิตของเรา ที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายจะเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าก็ได้แล้ว ลูกค้ายอมรับและรู้จักเราอย่างดีคนที่บอกต่อก็จะรู้จักเราในชื่อยุ้ยว่าเป็นคนสอนทำอาหารไทยที่เข้าใจง่ายและรู้ลึก หรือการใช้อาหารไทยเป็นสื่อส่งผ่านวัฒนธรรมไทย แม้แต่การได้ร่วมงานกับคนดังซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะเลือกใครไปร่วมด้วย เราก็ได้มาแล้ว จากนี้เราก็พัฒนาต่อไปเท่านั้นเอง” เจ้าของโรงเรียนสอนทำอาหารที่ชาวต่างชาติบอกต่อมากที่สุด ทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.